Skip to main content
sharethis

ภาพจากพม่า ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกโดยรัฐบาลพลเรือน โดยการเลือกตั้งครั้งหลังสุดสมัยรัฐบาลพลเรือนเกิดขึ้นเมื่อ 55 ปีที่แล้ว เมื่อกุมภาพันธ์ 2503 ก่อนจบลงด้วยรัฐประหารโดยนายพลเนวินในเดือนมีนาคม 2505 ทำให้พม่าถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารกินเวลากว่า 48 ปี กระทั่งมีการจัดการเลือกตั้งโดยรัฐบาลทหารเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2553 และเริ่มถ่ายโอนอำนาจบางส่วนในสมัยรัฐบาลเต็ง เส่ง นำมาสู่การเลือกตั้งทั่วไป 8 พฤศจิกายน 2558 ดังกล่าว

โดยการลงคะแนนในการเลือกตั้ง 8 พฤศจิกายนนี้ จะเริ่มระหว่างเวลา 06.00 - 16.00 น. โดยจะเป็นการเลือกตั้ง 3 ระดับได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนประชาชน หรือ ส.ส. 323 ที่นั่ง จาก 330 ที่นั่ง โดยอีก 7 เขตที่เหลือ และรวมกันกว่า 600 หมู่บ้าน ในเขตอื่นทั่วประเทศ กกต. ประกาศงดจัดเลือกตั้ง เนื่องจากสถานการณ์ความปลอดภัย

การเลือกตั้งพม่าในระดับที่เหลือได้แก่ สภาชนชาติ หรือ ส.ว. 168 ที่นั่ง และสภาท้องถิ่นประจำรัฐและภาค 14 แห่ง ขณะที่ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ปกครองพิเศษ จะได้เลือกตั้งสภาของเขตปกครองพิเศษเพิ่มด้วย

โดยที่รัฐธรรมนูญพม่าปี ค.ศ. 2008 กำหนดให้สมาชิกสภาทุกระดับมาจากการเลือกตั้ง 3 ใน 4 และอีก 1 ใน 4 จะมาจากการแต่งตั้งโดยกองทัพ ขณะเดียวกันยังมีเนื้อหาที่ทำให้ ออง ซาน ซูจี แกนนำพรรคฝ่ายค้านพม่าขาดคุณสมบัติเป็นประธานาธิบดีด้วยเนื่องจากคู่สมรสและบุตรเป็นชาวต่างชาติ แต่ออง ซาน ซูจี ได้แถลงว่าถ้าชนะการเลือกตั้ง พรรคเอ็นแอลดีจะจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และตัวเธอจะขอมีตำแหน่ง "อยู่เหนือประธานาธิบดี" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

000

ลานโล่งด้านหน้าสวนมหาพันธุละ ศาลาว่าการนครย่างกุ้ง ซึ่งในสมัยของรัฐบาลประธานาธิบดีเต็ง เส่ง สถานที่ดังกล่าวมักถูกใช้เป็นที่จัดการชุมนุมทางการเมือง และมักจบด้วยการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยอ้างว่าไม่มีการทำเรื่องขออนุญาตใช้สถานที่ชุมนุม โดยล่าสุดเมื่อ 4 พ.ย. มีการนำแผงกั้นมาวางปิดกั้นทางบริเวณลานโล่งดังกล่าว

ซูซูเอ ผู้สมัครสภาท้องถิ่นภาคย่างกุ้ง จากพรรคประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (DHRP) ซึ่งเป็นพรรคของชุมชนมุสลิมในพม่า ระหว่างตระเวนรถหาเสียงในเขตเจ้าก์ตะด่า ทั้งนี้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ชุมชนมุสลิมในพม่าตกเป็นเป้าหมายถูกสร้างความเกลียดชังโดยกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรง "มะบะต๊ะ" และเกิดจลาจลระหว่างศาสนาหลายครั้งในประเทศ ขณะที่พรรคการเมืองหลักทั้งพรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา หรือยูเอสดีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดี ก็ไม่ยอมส่งผู้สมัครที่เป็นชาวมุสลิมลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้

ป้ายหาเสียงของพรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา หรือพรรคยูเอสดีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ในภาพมีรูปผู้สมัคร 3 ราย ซ้ายมือเป็นผู้สมัคร ส.ส. คือ ซอวิน กลางคือผู้สมัคร ส.ว. คือ มิงอ่อง และขวามือคือผู้สมัครสภาท้องถิ่นภาคย่างกุ้ง เมียะซิน

ทั้งนี้พรรคยูเอสดีพี ซึ่งแปลงสภาพมาจากกลไกเดิมของรัฐบาลทหาร และเอาชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2553 ใช้คำขวัญว่า "เราได้เปลี่ยนแปลงมาแล้ว โปดเลือกเพื่ออนาคตที่ดีกว่า"พร้อมกำกับเครื่องหมาย "เช็คถูก" กำกับไว้ให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทำเครื่องหมายในช่องทำคะแนนด้วย

ป้ายหาเสียงของพรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือเอ็นดีเอฟ พรรคเล็กซึ่งแยกตัวออกมาจากพรรคเอ็นแอลดี และลงสมัครเลือกตั้งในปี 2553 จนได้ที่นั่งในสภา มาถึงการเลือกตั้งปี 2558 คู่แข่งที่พรรคเล็กต้องเผชิญ ไม่ใช่พรรครัฐบาล แต่กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านเอ็นแอลดี ที่กลับมาทวงที่นั่งเดิมในการเลือกตั้งที่เคยเอาชนะถล่มทลายเมื่อปี 2533

ทีมงานหาเสียงของผู้สมัครพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ที่มีแกนนำคือออง ซาน ซูจี ทั้งนี้หลังการลุกฮือในปี 2531 นำมาสู่การเลือกตั้งปี 2533 พรรคเอ็นแอลดีเคยเอาชนะการเลือกตั้งเหนือพรรครัฐบาลทหาร "พรรคเอกภาพแห่งชาติ" หรือ "เอ็นยูพี" ในเวลานั้นอย่างถล่มทลาย แต่รัฐบาลทหารไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ขณะที่ออง ซาน ซูจี ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้านเนื่องจากถูกกักบริเวณ จนกระทั่งเพิ่งได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป 7 พฤศจิกายน 2553

ทั้งนี้พรรคเอ็นแอลดี เริ่มมีที่นั่งในสภา หลังยอมลงสมัครในการเลือกตั้งซ่อมเดือนเมษายนปี 2555 ซึ่งเอาชนะพรรครัฐบาลถล่มทลาย ได้ที่นั่ง 41 ที่นั่ง จากที่มีการแข่งขันกัน 42 ที่นั่ง โดยได้ ส.ส. 37 ที่นั่ง และที่นั่ง ส.ว. 4 ที่นั่ง

จีเมียะ ผู้สมัครสภาท้องถิ่นภาคย่างกุ้ง พรรคเอ็นแอลดี หาเสียงในเขตเจ้าก์ตะด่า ภาคย่างกุ้ง เมื่อ 4 พ.ย. ทั้งนี้ในช่วงเย็น ตามท้องถนนของย่างกุ้ง จะเห็นขบวนรถปราศรัยขนาดย่อมของพรรคเอ็นแอลดีตระเวนไปตามซอกซอยต่างๆ และขบวนจะหยุดเป็นระยะในย่านแฟลตที่มีผู้อาศัยหนาแน่น เพื่อให้ผู้สมัครกล่าวแนะนำตัว

ภายในสำนักงานพรรค ที่ถนนเซกกันธา นครย่างกุ้ง เมื่อ 5 พ.ย. 2558 งวยลิน (ยืน) เลขาธิการกลางพรรคประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่ (ดีพีเอนเอส) อยู่ระหว่างขะมักเขม้นทำงานจัดการช่วงรณรงค์หาเสียงของพรรค ทั้งนี้พรรคดีพีเอ็นเอสส่งผู้สมัครทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ทั่วพม่า 21 เขต แบ่งเป็น ส.ว. 7 เขต ส.ส. 14 เขต

โดยพรรคดังกล่าวเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยอดีตนักศึกษารุ่น '88 หรือผู้ที่เข้าร่วมในการลุกฮือเมื่อปี พ.ศ. 2531 และภายหลังถูกปราบปรามจึงเข้าป่าจับอาวุธในนามแนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย (All Burma Students' Democratic Front - ABSDF) ต่อสู้กับรัฐบาลพม่ากว่า 20 ปี ทั้งนี้หลังเต็ง เส่ง เข้ามาเป็นประธานาธิบดี ได้เริ่มการเจรจากับกลุ่มติดอาวุธทั่วประเทศเมื่อปลายปี 2554 และกลุ่ม ABSDF เป็นหนึ่งในนั้น โดยในปี 2555 รัฐบาลพม่าประกาศยกเลิกบัญชีดำ แกนนำพรรค DPNS อ่อง โมซอ และนายแพทย์นาย อ่อง แกนนำ ABSDF และหลังจากนั้นพรรคจึงเริ่มเข้ามาทำงานทางการเมือง และลงเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป 8 พ.ย. 2558 ดังกล่าว

ขบวนรถแห่ปราศรัยของพรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา หรือ ยูเอสดีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลพม่า ตระเวนไปทั่วย่างกุ้งทุกช่วงบ่ายในสัปดาหสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง ทั้งนี้แม้การหาเสียงในภาคย่างกุ้งจะเป็นสถานการณ์ลำบากของพรรครัฐบาล เนื่องจากการหวนกลับมาทวงคืนที่นั่งของพรรคเอ็นแอลดี แต่พรรครัฐบาลก็เพิ่งระดมจัดปราศรัยใหญ่ไปเมื่อวันศุกร์ที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมตอบโต้คำแถลงเรื่องที่ออง ซาน ซูจี ระบุว่า "จะอยู่เหนือประธานาธิบดี" โดย นาดา จ่อ ซวา แกนนำพรรคยูเอสดีพี กล่าวว่ามีที่ไหนกันตำแหน่ง "เหนือประธานาธิบดี" รัฐธรรมนูญก็กำหนดอยู่แล้วว่าประธานาธิบดีอยู่เหนือตำแหน่งทั้งปวง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยที่พรรคยูเอสดีพี ยังหวังฐานเสียงสนับสนุนที่หนาแน่นในพื้นที่ซึ่งมีประชากรชาติพันธุ์พม่าหนาแน่นอย่างเขตเนปิดอว์ ภาคมัณฑะเลย์ ภาคพะโค ภาคมะกวย รวมทั้งภาคอิระวดีตอนบน รวมทั้งพื้นที่ซึ่งมีกำลังพลของกองทัพพม่าและครอบครัวประจำการ โดยที่ก่อนหน้านี้ ผบ.สส.กองทัพพม่า พล.อ.อาวุโส มิ้น อ่อง หล่าย กล่าวว่าขอให้กำลังพลเลือก "พรรคที่เข้าใจกองทัพพม่า"

ผู้สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี ฟังการปราศรัยย่อยของพรรคที่ลานหน้าสถานีรถไฟย่างกุ้ง เมื่อคืนวันที่ 5 พ.ย. ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง 8 พ.ย. (ชมภาพเพิ่มเติม/อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ผู้สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี หลังเลิกฟังปราศรัยที่ลานหน้าสถานีรถไฟย่างกุ้ง เมื่อคืนวันที่ 5 พ.ย. โดยที่หลังเสื้อของชายในภาพคนหนึ่ง เป็นเครื่องหมายเช็คถูก เนื่องจากการเลือกตั้งในพม่า กกต.พม่า กำหนดให้ประทับตราเครื่องหมายเช็คถูก ลงในช่องทำคะแนน นัยว่าเป็นการถือเคล็ดว่าเลือกผู้แทนได้ถูกต้อง

การรณรงค์เลือกตั้งของพรรครวมเขตมอญเพื่อประชาธิปไตย (AMRDP) ในภาคทวาย ทางตอนใต้ของพม่า ทั้งนี้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2553 พรรคมอญเคยได้ ส.ว. จำนวน 4 คน และ ส.ส. จำนวน 3 คน (เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณมนตรี จันทวงศ์ โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ)

ป้ายของพรรคการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในภาคทวาย ทางตอนใต้ของพม่า (เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณมนตรี จันทวงศ์ โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net