Skip to main content
sharethis

12 พ.ย. 58 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบวาระ 3 ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง พ.ศ. .... เป็นกฎหมาย ด้วยมติเอกฉันท์ 192 เสียง ส่งผลให้มีกฎหมายเป็นการเฉพาะเพื่อดูแลกิจการและสิทธิประโยชน์ ของกำลังพลสำรอง รวมทั้งช่วยผู้ประกอบการให้มีความชัดเจนในการจัดสรรทรัพยากรบุคคลที่ต้องเข้าเป็นกำลังพลสำรอง

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กำลังพลสำรอง พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว (วาระ 2) เพื่อให้มีกฎหมายเฉพาะสำหรับกำลังพลสำรองในการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงกลาโหม ด้วยการกำหนดประเภทบุคคลที่จะเป็นกำลังพลสำรอง การดำเนินการเกี่ยวกับกิจการกำลังพลสำรอง การกำหนดถึงสิทธิและหน้าที่ของกำลังพลสำรองในการเข้ารับราชการทหารให้มีความชัดเจน ความครอบคลุมกำลังพลสำรองทั่วประเทศซึ่งมีจำนวนกว่า 12 ล้านคน ทั้งนี้ หลังการพิจารณาตามวาระดังกล่าวแล้ว ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบผ่านวาระ 3 ให้มีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง พ.ศ. .... ด้วยเสียง 192 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นชอบ

ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีหลักการสำคัญเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม โดยกำหนดประเภทบุคคลที่จะเป็นกำลังพลสำรอง ทั้งนี้ ได้บัญญัติคำนิยาม “กำลังพลสำรอง” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นกำลังสำรองประเภทที่ 1 ตามกฎหมายว่าด้วยการระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม

สำหรับบุคคลที่เข้าเป็นกำลังพลสำรองนั้น ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้รับสมัครจากบุคคลที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม คัดเลือกจากนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ นายทหารสัญญาบัตรนอกกอง โดยการเรียกกำลังพลสำรองให้กระทำได้ในกรณีจำเป็น เพื่อปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเป็นการเฉพาะ หรือเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ การระดมพลให้กระทำได้ในเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก หรือมีการรบหรือการสงคราม

ทั้งนี้ กำลังพลสำรองมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ค่าเบี้ยเลี้ยงฯ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด แต่หากผู้ใดหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่มาหรือมาแต่ไม่เข้ารับราชการทหาร ไม่ว่าเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร เพื่อปฏิบัติราชการ หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมหรือในการระดมพล มีโทษปรับและจำคุกไม่เกิน 4 ปี แต่หากอยู่ไม่ครบกำหนดเวลาตามกำหนดในคำสั่งเรียก ถือว่ามีความผิดฐานหนีราชการและต้องโทษตามกฎหมายว่าด้วยอาญาทหาร คณะกรรมาธิการฯมีข้อสังเกตว่า กรณีที่กำลังพลสำรองเป็นลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าจ้าง ในขณะที่เข้ารับราชการทหารตามกฎหมายว่า ด้วยการคุ้มครองแรงงาน แต่หากประกอบอาชีพอิสระจะไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ดังนั้น ควรมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับบุคคลเหล่านี้ด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net