เสวนาหลังพม่าเลือกตั้ง: การเมืองเปลี่ยนหลังผ่อนปรนทางเศรษฐกิจ-ต่างประเทศกดดัน

เสวนาหลังการเลือกตั้งพม่า สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี เปรียบเทียบทางแพร่งไทย-พม่า ยุคเนวิน-สฤษดิ์ พม่าเลือกกลับหลังหันปิดประเทศตั้งแต่ 2505 แต่หลังการลุกฮือปี 2532 ต้องยอมเปิดทางเศรษฐกิจ สุดท้ายแรงกดดันต่างประเทศทำให้ต้องยอมเปลี่ยนผ่านอำนาจในที่สุด ด้านคืนใส ใจเย็น ชี้ความท้าทายต่อไปคือการเจรจากลุ่มชาติพันธุ์และแนวทางสหพันธรัฐนิยม

ในการเสวนาหัวข้อ "What Myanmar’s election means for ASEAN" จัดโดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (IDS) และ มูลนิธิคอนราด อาเดนาว (KAS) ประเทศเยอรมนี ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา เป็นการอภิปรายถึงการเลือกตั้งพม่าที่ผ่านมาว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อประชาคมอาเซียน โดย ขิ่น โอมา ประธานเครือข่ายเพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนา และผู้ประสานงาน Burma partnership ลลิตา หาญวงศ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวภูมิภาค หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และคืนใส ใจเย็น ผู้อำนวยการสถาบัน Pyidaungsu Institute และผู้ก่อตั้งสำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) ดำเนินรายการโดย นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยก่อนหน้านี้เป็นการนำเสนอการอภิปรายของลลิตา หาญวงศ์ และขิ่น โอมาไปแล้วนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ปัจจัยเปลี่ยนพม่า: การเปิดเศรษฐกิจหลังปี 88 – ต่างประเทศกดดัน และประชาสังคม

ภาพการสวนสนามของทหารพม่า ในวันกองทัพพม่าปีที่ 68 เมื่อ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ที่เนปิดอว์ นอกจากการสวนสนามแล้วยังมีการแสดงปืนใหญ่แบบอัตตาจร และจรวดต่อสู้อากาศยานชนิด  S-125 Neva ผลิตในรัสเซียด้วย  (ที่มา: แฟ้มภาพ/New Light of Myanmar, 28 March 2013)

ต่อมา สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี กล่าวถึงปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า โดยกล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัจจัยการเปลี่ยนของพม่า (change agent) จริงๆ คือ เศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวมาก ทรัพยากรจะไม่จำกัดอยู่กับผู้มีอำนาจรัฐ พูดตรงๆ คือ ทหารบริหารเศรษฐกิจไม่เป็น ไม่มีประเทศไหนเศรษฐกิจเจริญเติบโตเพราะการบริหารโดยทหาร นอกจากนี้ประชาสังคมนอกภาครัฐ ซึ่งรวมถึงภาคเศรษฐกิจด้วย ต้องการเรียกร้องพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น นำไปสู่การมีประชาธิปไตย

สำหรับแรงกดดันจากต่างประเทศ สมัยก่อนมีการถกเถียงว่าการเปลี่ยนแปลงในพม่าจะเกิดจากการกดดันต่างประเทศหรือไม่ ผมประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงในพม่ารอบนี้ 80% น่าจะมาจากการกดดันต่างประเทศ

ในทศวรรษที่ 1960 ไทยกับพม่าอยู่ในจุดเริ่มต้นคล้ายกัน ทั้ง 2 ประเทศถูกยึดอำนาจโดยทหารสมบูรณ์แบบ ในพม่าเป็นผลงานของนายพลเนวิน ประเทศไทยคือจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ทำต่างกันคือแผนทางเศรษฐกิจ เนวินเลี้ยวซ้ายไปสังคมนิยม ไม่ใช่แบบมาร์กซิสต์ แต่เป็น พุทธสังคมนิยม คนไทยตอนนี้ได้ยินแล้วอาจจะชอบ แต่ถ้าได้ลองสักครั้งแล้วอาจจะเปลี่ยนใจ

สมัยนั้นผู้นำพม่าคิดว่าคนครอบงำเศรษฐกิจคือจีนกับอินเดีย รัฐจึงต้องเข้าไปควบคุมเศรษฐกิจแล้วดำเนินการเองทั้งหมด แต่แผนทางเศรษฐกิจของเนวินไม่ใช่แผนเศรษฐกิจจริงๆ แผนเศรษฐกิจแบบเนวินได้เปลี่ยนประเทศที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้กลายเป็นประเทศยากจน

ส่วนสฤษดิ์หันไปหาตะวันตกเต็มที่ เกลียดคอมมิวนิสต์ทั้งคู่ เนวินก็ไม่ชอบคอมมิวนิสต์ แต่เพราะความเกลียดอาณานิคมอังกฤษ จึงทำให้เนวินโดดเดี่ยวจากโลกเลย แต่สฤษดิ์ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ต่อสู้กับอาณานิคมก็หันไปหาโลกตะวันตก การตัดสินใจของสฤษดิ์ทำให้เศรษฐกิจเติบโตยิ่งขึ้น มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีการสร้างถนนมิตรภาพโดยสหรัฐอเมริกา มีการเติบโตของมหาวิทยาลัย มีรัฐวิสาหกิจ ทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมีการขยายของโครงสร้างสังคมไทย

ตอนเหตุการณ์ 14 ตุลา มีคนอธิบายว่าเป็นผลมาจากการขยายโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ ระบอบทหารไปกับโลกไม่ได้แล้ว แม้ในช่วง ค.ศ.1973 จะเริ่มยุคปลายสงครามเย็นแล้ว ประเทศรอบๆ ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ได้ผลประโยชน์จากการค้าขาย สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็อยู่ในเทรนด์แบบนี้เหมือนกัน คือการผูกกับโลกจะทำให้ได้ผลประโยชน์แน่ๆ

แต่พม่ายังอยู่กับการปิดประเทศ จนประชาชนทนไม่ไหวจนระเบิดออกในการต่อสู้เมื่อปี ค.ศ. 1988 เหตุผลที่เกิดการต่อสู้เมื่อ ค.ศ. 1988 ง่ายมากและโง่มาก คือ เนวินยกเลิกธนบัตร ซึ่งไม่ใช่สาเหตุเพราะเศรษฐกิจ แต่เป็นเพราะเชื่อเรื่องโชคลาง

สำหรับนักศึกษาที่พ่อแม่ส่งมาเรียน ก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ประชาชนเดือดร้อน เพราะเนวินยกเลิกธนบัตรแล้วแลกคืนไม่ได้ การลุกฮือจึงทำให้ระบอบเนวินเลยล่มสลาย

แต่กองทัพพม่ายังอยู่ต่อไป เพราะมีความกลัวเรื่องความมั่นคง ภัยกองทัพพม่าที่คิดว่าเป็นภัย และกองทัพประสบความสำเร็จในการสร้างว่าเป็นภัย คือ “ชนกลุ่มน้อย” โดยอ้างว่าประเทศอาจจะแตกเป็นเสี่ยงๆ กลายเป็นประเทศใครประเทศมัน ดังนั้น กองทัพพม่าหลังปี 1988 ก็อ้างอยู่ต่อไปเพื่อไม่ให้ประเทศแตกเป็นเสี่ยง ขณะที่นักศึกษาที่รอดจากการปราบปราม ก็ไปตั้งแนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวล ABSDF อาศัยกองทัพกะเหรี่ยงต่อสู้กับทหารพม่าที่แนวชายแดน

พม่าจึงอยู่ในอาการที่ปกครองต่อด้วยเผด็จการทหารต่อได้อีก การเปลี่ยนจากระบอบเนวิน มาเป็น SLORC และต่อมาคือ SPDC ไม่ได้สร้างนัยยะทางการเมือง แต่ได้สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ นายพลพม่าเริ่มรู้จักเงินและการค้า หลังปี ค.ศ. 1988 แม้พม่าจะมีอาการเคร่งครัดทางการเมืองมาก แต่กองทัพพม่าเริ่มทำมาหากิน ให้สัมปทานป่าไม้นายทุนไทย สัมปทานเหมืองแร่ ประมง อันนี้คือแรงกระตุ้นหนึ่ง พม่าเริ่มรู้จักทำเศรษฐกิจ เริ่มเข้าใจว่าการลงทุนจากต่างประเทศจำเป็น ไม่อย่างนั้นอดๆ อยากๆ และคนพม่าที่เดินทางออกมาจากพม่าหลัง ค.ศ. 1988 คือมาทำมาหากิน โดยเฉพาะเข้ามาในประเทศไทย ทำงานเพื่อส่งเงินกลับบ้าน ชนชั้นนำพม่าเริ่มส่งลูกมาเรียนเอแบค เรียนจบกลับไปสร้างธุรกิจ แต่ก็เป็น Crony (ทุนอุปถัมภ์) ใกล้ชิดกองทัพ นอกจากนี้ทุกบางประเภทที่มายาเสพย์ติดก็ไปฟอกตัวกลายเป็นธุรกิจการค้า ก่อสร้าง ธนาคาร นายทุนเหล่านี้ไปผนวกกับกองทัพอย่างสนิทสนม อย่างไรก็ตาม ถ้าพวกเขาร่ำรวย พวกเขาจะเรียกร้องความเสรี โดยพม่าที่ผ่านมาการสะสมทุนจึงกระจุกกับผู้มีอำนาจทางการเมืองเหล่านี้

ในพม่า เคยมีกรณีนายพลที่ถูกจับคดีคอร์รัปชั่น แต่ก่อนเคยจัดงานแต่งงานลูกสาวตัวเอง เพื่อฟอกเงิน เงินช่วยงานแต่งงานใช้เวลาปิดประตูนับ 7 วัน 7 คืน แล้วส่งมาฟอกที่ไทย สิ่งที่เกิดขึ้น สภาพที่เกิดในพม่าประชาชนทั่วไปก็เห็น ก็รู้ มีคนต่อต้าน เมื่อเศรษฐกิจพม่าผิดพลาดเกิดปัญหาน้ำมันแพงใน ค.ศ. 2007 พระเกิดจับประเด็นกลายเป็นการประท้วงของมวลชนในปีนั้นได้ เพราะชาวบ้านเดือดร้อนน้ำมันแพง พม่าขายน้ำมันแพงมาก ก๊าซไม่พอใช้ แต่ดันมีส่งมาขายประเทศไทย ไฟไม่พอ ในย่างกุ้ง คนต้องปั่นไฟใช้เอง แต่แก๊สกลับส่งมาขายไทย

ทั้งนี้ในช่วงปราบปรามพระสงฆ์ กองทัพพม่าสามารถยิงกบาลพระได้ ตีพระได้เฉยๆ โดยที่ไม่ได้รู้สึกบาปด้วย และเรื่องก็เกิดใต้จมูก เต็ง เส่ง เพราะช่วงนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ในช่วงปลายรัฐบาลทหาร มีการเติบโตของทุนจีนในพม่า ซึ่งมาจากการที่พม่าอยากเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่คบตะวันตกไม่ได้ ทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้ นักธุรกิจต้องขนเงินสดไปลงทุน

ก่อนการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2010 พม่าไม่สามารถเปิดเศรษฐกิจได้เต็มที่ การจับกุมออง ซาน ซูจี ครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ถูกยุโรปประณาม ในขณะที่จีนใกล้ชิดพม่าชายแดนติดต่อก่อน จีนอาศัยเหตุนี้จึงเข้ามาลงทุนในพม่าง่ายขึ้น จีนต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ พม่าก็ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยอาศัยเงินจากจีน

จีนต้องการทางออกทะเล มีการก่อสร้างท่อขนน้ำมันเจาก์ผิ่ว ในรัฐอาระกัน เพื่อส่งไปยังคุนหมิง ทางใต้ของจีน ขุดทรัพยากรแร่ธาตุ ก็ทำให้ทหารพม่ามองเห็นประเด็นว่าราคาที่ต้องจ่ายเพื่อรักษาอำนาจคือ ต้องยอมให้จีนมาลงทุน ให้มีงบมาซื้ออาวุธ ขายก๊าซให้ไทยไม่พอ จีนเลยมาเอาหยก เอาไม้ สร้างเขื่อน สร้างถนน ขุดก๊าซ เป็นราคาที่พม่าจ่ายให้จีนไม่น้อย มาถึงวันหนึ่งเมื่อมีเสียงเรียกร้องมาก คนในกองทัพก็ต้องคิด มีการหารือในพรรครัฐบาลยูเอสดีพี ว่าจะเลือกทางไหน

ทางเลือกของพม่า หนึ่ง ไปทางจีน ก็ต้องจ่าย ขณะที่สอง สหรัฐอเมริกากำลังกลับเข้ามาในแปซิฟิก รู้ว่าพม่าเป็นจุดสำคัญด้านมหาสมุทรอินเดีย จีนมีประตูหลังบ้านที่แข็งแรง แต่สหรัฐอเมริกาไม่มี สหรัฐอเมริกาต้องประนีประนอมหลักการบางอย่างจึงเริ่มมีการผ่อนคลายกับพม่า

แม้ว่าในการเลือกตั้งปี 2010 พรรคเอ็นแอลดีจะคว่ำบาตรการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หลังจากนั้น ออง ซาน ซูจี มีการเจรจากับเต็ง เส่ง แล้วลงเลือกตั้งซ่อมในปี 2012 ผลก็คือพรรคเอ็นแอลดี กวาดที่นั่งเกือบทั้งหมดในการเลือกตั้งซ่อม

ด้วยเหตุนี้ ทำให้คนพม่าเห็น 2 มิติ การผ่อนคลายทางการเมือง และ การปฏิรูปที่ตะวันตกนำเสนอไม่ได้เลวร้ายมากนัก และช่วยให้พม่ารักษาระยะห่างจากปักกิ่งได้ ตอนที่เต็ง เส่ง ขึ้นมาก็สามารถที่จะระงับการสร้างเขื่อนในรัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นโครงการของจีนได้

สำหรับการเลือกตั้งในพม่าปี 2015 ถามว่าถล่มทลายไหม คำตอบคือ ทุกอย่างผิดคาด แค่นับคะแนนหน่วยแรก ก็หงายหลังแล้วไม่เหลือให้พรรคยูเอสดีพี แม้แต่น้อย

ทั้งนี้ผลการเลือกต้้งทำให้ ออง ซาน ซูจี มีอำนาจความชอบธรรมมาก เพราะได้คะแนนสนับสนุนจากประชาชน เมื่อถามว่า เอ็นแอลดี มีกลุ่มทุนไหม ก็สะท้อนออกมาจากสื่อ เช่น Eleven Media หรือเครือ Max Myanmar ประกาศสนับสนุนเอ็นแอลดี หลายองค์กรธุรกิจก็เริ่มเหยียบเรือสองแคม แต่กลุ่มทุนที่จะอยู่กับพรรคยูเอสดีพีต่อไปก็ยังมี อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญคือกองทัพพม่าจะยอมถอยขนาดไหน

ศุกลักษณ์กล่าวส่งท้ายว่า โดยสรุปอะไรที่ทำให้กองทัพพม่าถอยได้ หนึ่ง ความจำเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ ตอนที่นายพลพม่าถูก ลี กวน ยู รวมเล่มด่า (ในหนังสือ One Man's View of the World) อาจจะยังไม่เข้าใจที่ถูกด่าว่าบริหารเศรษฐกิจไม่เป็นเป็นอย่างไร แต่พม่าขณะนี้ต้องการการลงทุน และหวังให้มีทางเลือกทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ดังนั้น ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญสุด และถัดจากนั้นคือการขยายตัวของ Civil society ซึ่งหมายถึงพวกที่มีกำลังซื้อด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับพรรคที่ชนะการเลือกตั้งอย่างเอ็นแอลดี ไม่มีนักเทคนิค ไม่มีผู้บริหาร ไม่มีคนที่มีทักษะการบริหารมากเท่ากับคนที่อยู่พรรคยูเอสดีพี พอ ออง ซาน ซูจี ถูกรัฐธรรมนูญห้ามลงตำแหน่งสำคัญ คนในพรรคก็มองหาคนอายุ 80-90 มารับตำแหน่งแทนซึ่งผมว่าบ้าแล้ว

สุภลักษณ์กล่าวอีกว่า ที่อื่นๆ การเติบโตชนชั้นกลางเป็นผลดีต่อประชาธิปไตย แต่ในประเทศไทยไม่เป็นอย่างนั้น เรื่องนี้เรายังศึกษาไม่พอ

 

ความท้าทายหลังเลือกตั้งคือการเจรจากลุ่มชาติพันธุ์ และแนวทางสหพันธรัฐนิยม

คืนใส ใจเย็น ผู้อำนวยการสถาบันปิตองสุเพื่อสันติภาพและการเจรจา (Pyidaungsu Institute for Peace and Dialogue) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกับคนขับแท็กซี่ เขาบอกว่าจะเลือก “พรรคนกยูง” (หมายถึงพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี) เมื่อถามว่า “ท่านสุภาพสตรี” (หมายถึงออง ซาน ซูจี) จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ คนขับแท็กซี่ตอบว่า ปัญหาก็มีเยอะนะ แต่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้นๆ หรือไม่นั้น ไม่ทราบ “แต่เราได้ตัดสินใจแล้วว่าได้เลือก ออง ซาน ซูจี และสถานการณ์คงไม่ร้ายแรงไปกว่านี้อีกแล้ว เราสุดทนแล้วกับรัฐบาลในปัจจุบัน”

คืนใส กล่าวต่อไปว่า ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง บอกว่าไม่มีประชาธิปไตยหากไม่มีสันติภาพ นี่เป็นสิ่งที่เขาพูดไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้วหลังจากเข้ามามีอำนาจ สันติภาพไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีทางเกิดได้หากไม่มีสันติภาพ

ก่อนหน้านี้กองทัพพม่าละเมิดคำสัญญาปางโหลง ค.ศ. 1947 ที่ตอนนั้นผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ตกลงกับนายพลออง ซาน บิดาของออง ซาน ซูจี โดยมีเงื่อนไขว่า 1) จะให้กลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจบริหารท้องถิ่น 2) สิทธิบริหารจัดการการเงินตัวเอง แต่ปัจจุบันนี้ ออง ซาน ซูจี ก็ให้คำสัญญาคล้ายๆ กันในการปราศรัยเมื่อปี ค.ศ.1989 ในวันที่ 12 ก.พ. ค.ศ. 1989 วันสหภาพพม่า โดยเรียกสิ่งนั้นว่า “ประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐนิยม” และต่อมาในการปราศรัยที่ตองจี เมืองหลวงของรัฐฉานเมื่อ 6 ก.ย. ค.ศ. 2015 ออง ซาน ซูจี กล่าวว่าจะต้องมีการประชุมปางโหลงครั้งที่ 2

ที่ผ่านมาในการปราศรัยช่วงการเลือกตั้ง ออง ซาน ซูจี ก็กล่าวถึงสันติภาพ และกระบวนการปรองดองแห่งชาติ และที่ผ่านมาพรรคเอ็นแอลดีเองก็เข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพที่ริเริ่มโดยรัฐบาลเต็ง เส่ง นอกจากนี้ ออง ซาน ซูจีเองก็พูดว่าจะสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ที่มีคณะรัฐมนตรีมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งมาจากพรรคยูเอสดีพี แม้ว่าในรัฐธรรมนูญพม่า ออง ซาน ซูจี จะไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้ แต่ออง ซาน ซูจีเคยแถลงข่าวระบุว่าจะอยู่ในตำแหน่งเหนือประธานาธิบดี และจะตัดสินใจทุกขั้นตอน

สำหรับการเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม ลงนามเมื่อ 15 ต.ค. นั้น คืนใส กล่าวถึงรายละเอียดของสัญญาว่า มี 33 ข้อนี้ พูดถึงเรื่องหยุดยิงด้วย และมีรายละเอียดเนื้อหาเป็นเรื่องการจัดการทางการเมือง อย่างไรก็ตามทางฝ่ายพม่า กำหนดเงื่อนไขว่าจะไม่ยินยอม 3 ประการ ได้แก่ 1) ไม่ให้สหภาพแตกสลาย 2) ไม่ให้เอกภาพแห่งชาติแตกสลาย และ 3) ให้อธิปไตยของชาติยั่งยืนต่อไป

โดยที่ผ่านมา ฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์เรียกร้องให้มีประชาธิปไตยที่ยืนหยัดอยู่บนระบอบสหพันธรัฐนิยม อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งทั่วไป 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พื้นที่ซึ่งพม่าไม่ให้จัดการเลือกตั้งเกิดขึ้นในรัฐฉาน 7 อำเภอ แบ่งเป็นเขตว้า 4 อำเภอ เมืองลา 1 อำเภอ และมีเขตของประชากรชาติพันธุ์ไทใหญ่กับอาข่าอีก 2 อำเภอ เพราะมีการสู้รบกันมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ซึ่งรวมกันแล้วทำให้ที่นั่ง ส.ส. ว่างลง 7 ที่นั่ง และผู้แทนสภาประจำรัฐว่างลง 14 ที่นั่ง

โดยที่ไม่กี่วันมานี้ ฝ่ายพม่ากับกองทัพรัฐฉานภาคเหนือมีการเจรจากัน โดยคืนใส ในพื้นที่รัฐฉาน กลุ่มว้ากับเมืองลา จะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ทั้งนี้ทั้ง 2 กลุ่ม หยุดยิงกับรัฐบาลพม่าและไม่ได้สู้รบกับพม่ามา 26 ปีแล้ว แต่ในช่วงการเลือกตั้ง ทั้ง 2 กลุ่มไม่ให้พรรคการเมืองใดๆ เข้าไปหาเสียงในพื้นที่ การเลือกตั้งจึงจัดไม่ได้ อีกประเด็นหนึ่งคือ ดินแดนทั้ง 2 กลุ่ม ติดต่อกับทางจีน และทั้ง 2 กลุ่มเคยเป็นอดีตทหารพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลจีน หลายฝ่ายเชื่อว่า ว้ากับเมืองลา ได้รับการสนับสนุนทางอาวุธจากจีน เพราะฉะนั้นเรื่องว้า และเมืองลา ไม่ใช่เรื่องภายในประเทศ แต่เป็นปัญหาระหว่างประเทศ

คืนใส กล่าวทิ้งท้ายว่า บทเรียนสำหรับสองชาติไทย-พม่า นั้น ต่างเป็นชาติที่อยู่ระหว่างชาติมหาอำนาจหรือชาติมหาอำนาจระดับภูมิภาคทั้งคู่ เราต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราถึงจะอยู่รอด เราต้องปฏิรูปการศึกษาของเรา ในพม่ายังไม่มีการปฏิรูปการศึกษา ในระยะยาวมีความจำเป็น ปัจจุบันนี้ ถ้าฝรั่งเศสและเยอรมันมาเป็นคู่มิตรกัน ทำไมจะเป็นไทยและพม่าไม่ได้ล่ะ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทั้งไทยและพม่าจะอยู่รอด และทั้งภูมิภาคก็จะอยู่รอดร่วมกัน และเพื่อที่จะทำสิ่งนี้ผมคิดว่าเป็นเวลาที่เราจะต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท