อุ้มหายและการลอยนวลพ้นผิด: อาชญากรรมจากน้ำมือรัฐ

วันอังคารนี้ (29 ธ.ค. 58) ศาลฎีกากำหนดอ่านคำพิพากษาคดีการอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร หลังจากผ่านมา 10 ปี การอุ้มหาย หรือบังคับสูญหาย เป็นอาชญากรรมโดยรัฐอย่างนี้ที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทย และไม่เคยนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ รายงาพิเศษซึ่งได้รับรางวัลจากแอนเนสตี้อินเตอร์เนชั่นเนลปี 2557 นี้อธิบายปรากฎการณ์การอุ้มหายในไทย และเพราะอะไร การอุ้มหายยังเกิดอย่างต่อเนื่อง
 
เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546  นายจะวะ จะโล ชนเผ่าพื้นเมืองลาหู่ ถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงพร้อมอาวุธครบมือจับ ขณะเจ้าหน้าที่ตรวจค้นสวนลิ้นจี่ที่จังหวัดชายแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย แม้ว่าเจ้าหน้าที่ที่จับตัวเขารายงานผู้บังคับบัญชาว่า ไม่พบยาเสพติดที่นายจะวะ แต่ก็ตัดสินใจพาเขาไปควบคุมตัวที่ห้องขังในค่ายทหารพราน เจ้าหน้าที่เหยียบคอนายจะวะจนลิ้นห้อยออกมาและมีเลือดไหลออกมาปาก ทั้งยังถูกซ้อมและคุมขังอยู่ในค่าย ผู้ถูกคุมตัวชาติพันธุ์ลาหู่ถูกบังคับซ้ำสองให้เตะนายจะวะจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เจ้าหน้าที่ทิ้งร่างนายจะวะไว้บนพื้นจนเสียชีวิต จากนั้นก็นำร่างนายจะวะโยนลงหลุมและยิงซ้ำหลายครั้งจนแน่ใจว่าเขาตายจริง และสั่งให้ผู้ถูกคุมตัวสองคนฝังร่างนายจะวะ ไม่กี่วันต่อมาลูกสาวของนายจะวะเดินทางไปที่ค่ายทหารพรานสองครั้งเพื่อตามหาพ่อ ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ได้ปล่อยตัวนายจะวะแล้วและไม่ทราบเรื่องที่นายจะวะหายไปเป็นครั้งที่สอง ครั้งที่สองเจ้าหน้าที่บอกว่านายจะวะถูกพาไปที่เชียงใหม่
 
นายจะวะ จะโล ยังคงหายสาบสูญ
 
นายสีละ จะแฮ นายกสมาคมลาหู่ กล่าวว่า ชนเผ่าลาหู่กว่า 20 คน ถูกบังคับให้สูญหาย จากฝีมือทหารพรานหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ  
 
 
ชนเผ่าพื่นเมืองลาหู่ ประมาณ 120,000-150,000 คน อาศัยอยู่ที่อำเภอแม่อาย อำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ และ อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประชากรประมาณ 90% มีสัญชาติไทย   
 
 
ตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร ประกาศนโยบาย “สงครามยาเสพติด” เมื่อ พ.ศ. 2546 ชาวลาหู่ที่อาศัยอยู่ตะเข็บชายแดนระหว่างประเทศเมียนมาร์กับจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ ต่างตกอยู่ในความหวาดกลัว 
 
เจ้าหน้าที่รัฐเชื่อว่า อำเภอตะเข็บชายแดนเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการลักลอบขนยาเสพติด จากรัฐว้า ในประเทศเมียนมาร์ และ “ชาวเขา” บางส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด
 
“สงครามยาเสพติด” ทำให้ชาวลาหู่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากข้อสันนิษฐานบนพื้นฐานการเหมารวมและอคติของเจ้าหน้าที่รัฐว่า “ชาวเขา” เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่างๆ ชาวเขาลักลอบขนยาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่า และบุกรุกที่ดิน  
 
ในช่วงนี้เอง เจ้าหน้าที่รัฐ โดยมากเป็นทหารและทหารพรานจับกุมคุมขังผู้คนตามอำเภอใจ โดยอ้างว่าผู้ถูกควบคุมตัวอาจเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด หรือมีสิ่งผิดกฎหมายในครอบครอง  เมื่อถูกควบคุมตัวชาวบ้านจะถูกปิดตา ซ้อม และนำตัวไปยังค่ายทหาร ซึ่งจะถูกซ้อมซ้ำอีกและถูกเจ้าหน้าที่สอบสวน ผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกขังในหลุมดินกว้างประมาณ 2-3 เมตร ลึก 4 เมตร  หลุมหนึ่ง ๆ มีผู้ถูกควบคุมตัวราว 10 คน แต่บางครั้งอาจมีจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวแออัดกันถึง 40 คนต่อหลุม
 
ผู้ถูกควบคุมตัวส่วนมากถูกขังต่อเนื่องเจ็ดวัน แล้วจึงถูกนำตัวไปซักถามและทรมาน เช่น ใช้ไฟฟ้าช็อต ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับประทานอาหารวันละสองครั้ง ระยะเวลาควบคุมตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 เดือน แต่ก็มีบางคนถูกควบคุมตัวเพียง 45 วัน
 
สีละ บอกว่า “สภาพในหลุมขังเลวร้ายมาก เราทั้งกิน นอน ถ่ายเบา ถ่ายหนัก อยู่ในนั้น” 
 
 
สีละ จะแฮ นายกสมาคมชาวลาหู่
 
 
เรื่องเล่าของหลุมขังและการทรมานเป็นเรื่องที่ชาวลาหู่รู้กันอย่างแพร่หลาย หลายกรณีพบว่า ทันทีที่จับกุมตัวบุคคลได้ เจ้าหน้าที่จะยิงและซ้อมผู้ถูกจับกุมต่อหน้าชาวลาหู่คนอื่นๆ ในที่สาธารณะ เหยื่อและครอบครัวของเหยื่อไม่กล้าไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากเกรงว่าตนเองจะถูกอุ้มหายไปด้วย
 
นายกสมาคมชาวลาหู่กล่าวว่า “เป็นธรรมเนียมที่เจ้าหน้าที่จะจับชาวบ้าน และนำตัวมาซ้อมต่อหน้าชาวบ้านคนอื่นๆ”
 
สีละเป็นนักกิจกรรมลาหู่ที่เรียกร้องและต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเพื่อชาวลาหู่และชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มอื่นๆ ในประเทศไทย เขาเองเคยถูกควบคุมตัวในหลุมดินที่ค่ายทหารพรานสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อบังเอิญเจอกลุ่มทหารพรานระหว่างทางกลับบ้านจากสถานีตำรวจ ครั้งที่สองทหารมากักตัวขณะประชุมร่วมกับสมาชิกสมาคมลาหู่ สีละยังโชคดีกว่าชาวลาหู่คนอื่น ๆ เพราะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่เป็นอันตราย หลังจากภรรยาร้องเรียนกับนักการเมืองท้องถิ่น 
  
หลังสงครามกับยาเสพติดยุติลงเมื่อปลาย พ.ศ. 2546 การทรมาน วิสามัญฆาตกรรม และการบังคับให้สูญหายยังดำเนินอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐจะมาถึงหน้าบ้านและอ้างสิทธิเพื่อค้นหาสิ่งของผิดกฎหมายและสั่งค้นหาโดยไม่มีหมายค้นจากศาล หรือแม้กระทั่งใช้หมายปลอม เอาของมีค่าและยานพาหนะจากบ้านและกักตัวบุคคลโดยไม่ทราบสถานที่ในสถานกักกันที่ทางการ 
 
สีละกล่าวว่า ทุกวันนี้การกระทำดังกล่าวสร้างปัญหาใหม่เมื่อชาวลาหู่บางคนในพื้น ที่ที่ทำงานในสำนักงานการเมืองท้องถิ่นกล่าวหาคู่แข่งของตนว่า มีส่วนร่วมกับการค้ายาเสพติดหรือการครอบครองสิ่งที่ผิดกฎหมาย ชาวบ้านลาหู่บางคนถึงกับตัดสินใจหลบหนีไปอยู่ป่าหรือไปพม่า บางคนเข้าร่วมกลุ่มติดอาวุธเพียงเพื่อหลบหนีความโหดร้ายจากน้ำมือรัฐไทย 
  
สีละกล่าวว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดต้องรับผิดจากการก่ออาชญากรรมต่อชาวลาหู่
 
ห่างไปอีก 1,800 กิโลเมตร ณ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีปัญหาคุกรุ่น หลังจากโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในอำเภอบันนังสตา เป็นเป้าการเผาโรงเรียนถึง 8 ครั้ง เจ้าหน้าที่ความมั่นคงท้องถิ่นจับนายมะยาเต็ง มะรานอ ภารโรงในโรงเรียนไป เช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2550 ทหารพราน 50 นาย จากกรมทหารพรานที่ 41 ปิดล้อมหมู่บ้าน และตั้งด่านตรวจหน้าบ้านนายมะยาเต็ง  ประมาณเที่ยงวัน เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นบ้านนายมะยาเต็ง และสอบสวนว่าทำไมจึงปล่อยให้โรงเรียนถูกเผา และถามว่าลูกชายวัยรุ่นของนายมะยาเต็งอยู่ที่ไหน นายมะยาเต็งปฏิเสธและถูกจับโดยไม่มีหมายจับตามอำนาจภายใต้กฎอัยการศึก โดยเจ้าหน้าที่ยึดสิ่งของส่วนตัวหลายรายการ ตลอดจนรถกระบะไปด้วย
 
เรื่องของนายมะยาเต็งและนายจะวะเป็นหนึ่งในกรณีผู้ถูกบังคับสูญหายและถูกทรมานราว 70 คน ที่มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพบันทึกข้อมูลไว้ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพเป็นองค์กรเอกชน ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และทำงานเรื่องการบังคับสูญหาย การทรมาน และวิสามัญฆาตกรรม  
 
 
หนึ่งในกรณีเหล่านี้ มี 30 ราย ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่อต้านกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส และ สี่อำเภอในจังหวัดสงขลา ที่เพิ่งผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยาม เมื่อ พ.ศ.  2482  พื้นที่เหล่านี้มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิม ซึ่งไม่สันทัดภาษาไทย 
 
ชายแดนใต้มีประวัติศาสตร์การต่อต้านรัฐสยามมายาวนาน สถานการณ์เริ่มเลวร้ายลงอีก เมื่อ พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร ยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายเเดนใต้ (ศอบต.) และใช้กำลังตำรวจที่ไม่เป็นที่นิยมมาปฏิบัติหน้าที่แทน เมื่อ พ.ศ. 2545
 
หลังจากนั้นรัฐไทยตอบโต้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนใต้ด้วยการใช้นโยบายทางทหารเข้มข้น สืบเนื่่องจนถึงในรัฐบาลต่อ ๆ มาเพื่อเเก้ปัญหา โดยการส่งกำลังทหารลงพื้นที่จำนวนมาก เเละการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง เช่น พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รายงานของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพเรื่องการบังคับให้บุคคลสูญหายในประเทศไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 กล่าวว่า “มาตรการนี้ ผนวกกับการใช้ความรุนเเรงเเละการคุกคามจากกลุ่มเเบ่งเเยกดินเเดน ทำให้พลเรือนตกอยู่ในความหวาดกลัว  พบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจับกุมขุมขังตามอำเภอใจ การทรมาน วิสามัญฆาตกรรม  เเละการบังคับสูญหาย เป็นได้ทั่วไปในภาคใต้”

 

นโยบายที่นำไปสู่ความรุนเเรงโดยรัฐ

 
น่าสนใจว่านโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงมาจากผู้นำที่เป็นที่นิยมเเละได้รับเสียงส่วนใหญ่การเลือกตั้ง ทว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงภายใต้การบริหารของทักษิณเหมือนจะถูกลืมเมื่อประเทศถูกครอบงำด้วยความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสี 
 
ลักษณะของนโยบายที่มักนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เช่น การทรมาน วิสามัญฆาตกรรม และการบังคับสูญหายเป็นอย่างไร ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียมีคำตอบว่าลักษณะของนโยบายที่มักนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงมักเกิดจากการสร้างพื้นที่สีเทาให้เจ้าหน้าที่
 
“ในกรณีสงครามยาเสพติด เพียงเเค่นโยบายที่คลุมเครือก็พอเเล้วที่จะเปิดช่องว่างให้เกิดพื้นที่สีเทาขนาดใหญ่หลากหลายรูปแบบให้เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่รับคำสั่งให้  ‘จัดการปัญหายาเสพติด' แต่ทักษิณหรือผู้ใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดไม่บอกว่า เจ้าหน้าที่ควรดำเนินการอย่างไร ซึ่งฮาร์เบอร์คอร์นชี้ว่า วิธีนี้กลายเป็นการส่งสัญญาณว่าเจ้าหน้าที่สามารถทำอะไรก็ได้ที่จำเป็น  
 
ฮาร์เบอร์คอร์นกล่าวว่า นโยบายกำหนดให้เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายในพื้นที่ใช้วิธีเเบบ 'ตาต่อตา' ซึjงหมายความว่า ผู้ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดถูกจัดประเภทเป็น ‘ภัยความมั่นคง’ เจ้าหน้าที่จึงสามารถใช้วิธีที่เด็ดขาด รุนแรง เเละไร้ความปรานีได้ นอกจากนั้น แต่ละจังหวัดยังต้องดำเนินการจับกุมเเละยึดยาเสพติดให้ได้ตามโควต้าหากตำรวจและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้ตามโควต้าจะถูกลงโทษ 
 
ฮาร์เบอร์คอร์นกล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีจังหวัดชายเเดนใต้  พื้นที่สีเทาที่มาจากกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงที่บังคับใช้ในพื้นที่ โดยทั่วไปเเล้วกฎหมายความมั่นคงทำให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาตั้งเเต่ 7-30 วัน เเละยังอนุญาตให้ควบคุมตัวในสถานที่กักตัวอย่างไม่เป็นทางการ เช่น ค่ายทหาร หรือวัด ครอบครัวของผู้ถูกควบคุมตัวไม่ทราบว่าผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน หรือจะสอบถามเรื่องผู้ถูกควบคุมตัวได้ที่ไหน ทั้งยังมีการห้ามมิให้ทนายความเข้าพบ ตลอดจนกักตัวผู้ถูกควบคุมตัวไม่ให้พบผู้ใดทั้งสิ้น   
 

อาชญากรรมอย่างเป็นระบบจากน้ำมือรัฐ: กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร

 
กรณีการบังคับให้สูญหายที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายกรณีหนึ่ง คือ กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนมุสลิม วันที่ 12 มีนาคม 2557  เป็นวันครบรอบปีที่ 10 ของการหายตัวของทนายสมชาย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลทักษิณ 
  
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทนายสมชายเป็นทนายของผู้ต้องสงสัยมาเลย์มุสลิม ที่ถูกกล่าวหาว่าขโมยอาวุธจากค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2547 ทนายสมชายพบว่าลูกความถูกทรมานและบังคับให้รับสารภาพ ในขณะที่ถูกควบคุมตัวที่กองบังคับการปราบปราม  เชื่อว่าการทรมานที่ใช้มีทั้ง การทุบตี เตะ ใช้ไฟฟ้าช็อต และปัสสาวะเข้าปาก ทนายสมชายเปิดโปงข้ออ้างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามกระทำทรมาน ในวันต่อมา ที่เวทีเสวนาในกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงและผู้สื่อข่าว และทนายสมชายยังยื่นคำร้องกล่าวหาว่ามีการละเมิดต่อหน่วยงานรัฐหลายรายภายหลัง
 
 
ทนายสมชาย นีละไพจิตร  พบตัวครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547
 
 
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 ทนายสมชายกำลังขับรถยนต์อยู่ที่ถนนรามคำแหง เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. รถยนต์ที่ขับตามหลังทนายสมชายบังคับให้ทนายสมชายหยุดรถ พยานคนหนึ่งเห็นทนายสมชายพูดกับชาย 5 คน ที่บังคับให้ทนายสมชายขึ้นรถที่ตามมา หลังจากนั้นก็ไม่มีผู้พบเห็นทนายสมชายอีกเลย
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายถูกตั้งข้อหาปล้นและบังคับขืนใจ มีพยานชี้ตัว พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ว่าเป็นผู้ผลักทนายสมชายเข้าไปในรถ พ.ต.ต. เงิน เป็นทีมสอบสวนกรณีปล้นปืน และมีการชี้ตัวว่า พ.ต.ต. เงิน เป็นผู้ทำร้ายผู้ต้องสงสัยชาวมลายูในคดีกระทำทรมาน   
 
ประทับจิต นีละไพจิตร บุตรสาวทนายสมชายและนักวิจัยมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เคยให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ครั้งหนึ่งว่า ตนเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ 20 คนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมครั้งนี้  
 
หลักฐานที่น่าเชื่อถือประการหนึ่ง คือ บันทึกการใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลยทั้งห้า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547   ที่ทนายสมชายหายตัวไป  เจ้าหน้าที่ทั้งห้าโทรหากันเองถึง 75 ครั้ง ซึ่งแตกต่างจากจำนวนการโทรศัพท์หากันก่อนหน้าและหลังจากวันที่ 12 มีนาคม  แสดงว่าทั้งห้าคนไม่ได้ติดต่อกันมากนัก บันทึกการใช้โทรศัพท์แสดงให้เห็นว่า ทั้งห้าคนติดตามทนายสมชายตั้งเเต่เช้า จนกระทั่งทนายสมชายหายตัวไป  สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ มีจำเลยรายหนึ่งโทรหาคนที่สำนักนายกรัฐมนตรีหลังจากเกิดเหตุที่ถนนรามคำแหง  
 
เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 ศาลชั้นต้นตัดสินว่ามี พ.ต.ต. เงิน เพียงคนเดียวที่กระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวและกักขังผู้อื่นให้เสียอิสรภาพ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดสถานเบา  ต่อมา พ.ต.ต. เงิน ได้รับการประกันตัวออกไป วันเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ทราบว่านายสมชายเสียชีวิตแล้วจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ 
 
พ.ต.ต. เงินหายตัวไปตั้งแต่เดือน กันยายน  พ.ศ. 2551
 
นายอับดุลเลาะห์ อาบูการี พยานและลูกความคดีถูกทรมานของทนายสมชายก็หายตัวไปด้วย
 
ต่อมา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้องจำเลยคดีอุ้มทนายสมชายทุกคน เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอ และศาลมีคำสั่งว่า อังคณา  นีละไพจิตร ภริยาทนายสมชาย ไม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมแทนนายสมชายได้  โดยศาลให้เหตุผลว่า  ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่านายสมชายถูกสังหารหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถกระทำการด้วยตนเองได้  
 
กล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ ศาลอุทธรณ์ต้องการหลักฐานเป็นศพของเหยื่อการบังคับให้สูญหายก่อนมีคำพิพากษาว่าเหยื่อเสียชีวิตแล้ว  
 
ประเทศไทยยังไม่ได้บังคับใช้กฎหมายที่ทำให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรม ทำให้กฎหมายปัจจุบันรับรู้การบังคับสูญหายในฐานะคดีฆาตกรรม ซึ่งต้องพบศพผู้ตายก่อน 
 
ในเดือนพฤษภาคม 2557 ศาลฎีกาอ่านคำวินิจฉัยไม่รับหลังฐานบันทึกการใช้โทรศัพท์ที่ครอบครัวนีละไพจิตรยื่นเพิ่มเติมในชั้นฎีกา โดยให้เหตุผลว่า หลักฐานดังกล่าวไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะไม่ใช่การให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการโดยผู้ให้บริการโทรศัพท์และไม่มีเจ้าหน้าที่จากผู้ให้บริการมาเบิกความในศาล
  
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบคดีนี้ สมาชิกครอบครัวทนายสมชายและคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล หรือ ไอซีเจ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของดีเอสไออย่างรุนแรง  ว่าการทำงานของดีเอสไอไร้แรงจูงใจทางการเมืองจนไม่สามารถจัดหาผู้เชี่ยวชาญและหลักฐาน ทั้งยังปรากฏช่องโหว่หลายจุดในการเตรียมพยานหลักฐาน จึงมีผลให้ศาลปฏิเสธหลักฐานดังกล่าว ไอซีเจยังเรียกร้องให้ดีเอสไอตั้งข้อหาฆาตกรรมต่อจำเลยด้วย 
  
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ดีเอสไออ้างว่าแฟ้มคดีนายสมชายหายไปหลังจากผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลชุมนุมที่สำนักงานใหญ่ ดีเอสไอจึงไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแห่งคดีต่อไปได้ แต่ปรากฏภายหลังว่าข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง 
 
เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้บอกนางอังคณาว่า นายสมชายถูกทรมานจนตาย ณ ที่แห่งหนึ่ง ใกล้กับสำนักงาน กองบังคับการปราบปราม ศพถูกเผาและนำอัฐิไปทิ้งที่แม่น้ำแม่กลอง แม้ว่าดีเอสไอดูเหมือนจะรู้ชะตากรรมของทนายสมชาย  แต่ต่อมากลับประกาศเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ว่าจะพิจารณาปิดคดี 
  
ฮาร์เบอร์คอร์นกล่าวว่า กรณีทนายสมชายหายตัวเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า การบังคับให้บุคคลสูญหายในประเทศไทยได้กลายเป็นอาชญากรรมอย่างเป็นระบบ อาชญากรรมนี้มีการสมรู้ร่วมคิดจากเจ้าหน้าที่ทุกระดับ สายการบังคับบัญชาทำให้ไม่มีใครสามารถวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจที่ก่ออาชญากรรม จนกลายเป็นอาชญากรรมอย่างเป็นระบบ เพราะไม่มีผู้ใดต้องรับผิด
  
อังคณากล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีทนายสมชายถูกพักราชการเป็นเวลาสั้น ๆ ในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาใหม่และยังได้รับการเลื่อนขั้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วย
 
ฮาร์เบอร์คอร์นชี้ว่า “เจ้าหน้าที่ได้รับสัญญาณว่าสามารถกระทำเช่นนี้ได้ โดยไม่ได้รับโทษทัณฑ์ใดๆ  ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่อาจได้รับรางวัลจากการกระทำดังกล่าวด้วย”  
 

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด คือวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการบังคับให้บุคคลสูญหาย 

 
ความล้มเหลวที่น่าอดสูที่สุดของประเทศนี้ ในการฟ้องร้องเอาผิดหน่วยงานของรัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง คือ การบังคับให้บุคคลสูญหายหมู่ การทรมาน และการสังหารผู้ต้องสงสัยคอมมิวนิสต์ ทางตอนใต้ของจังหวัดพัทลุงในช่วงสงครามเย็น ซึ่งมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า การสังหารด้วย "ถังเเดง"  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายใต้การปกครองแบบเผด็จการต่อต้านคอมมิวนิสต์ภายใต้รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร 
  
 
ภาพด้านบนขวาแสดงให้เห็นวิธีการฆ่าผู้ต้องสงสัยคอมมิวนิสต์ ที่ถูกจับยัดลง 'ถังแดง' ส่วนภาพด้านซ้ายแสดงภาพอนุสาวรีย์รำลึกการฆาตกรรมถังเเดง ภาพ: บางกอกโพสต์ เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2546  
 
 
ชื่อเรียก "ถังเเดง" มาจากวิธีการสังหารผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์  เชื่อว่ามีผู้ต้องสงสัยหลายพันคนเสียชีวิตเพราะถูกจับเผาทั้งเป็นในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร  ในขณะที่ทำการเผาจะมีการเร่งเครื่องยนต์รถบรรทุกเพื่อกลบเสียงกรีดร้องของผู้ถูกสังหาร  ฮาร์เบอร์คอร์นเขียนไว้ในหนังสือ "ฆ่าลอยนวลในประเทศไทย: ความรุนแรงจากน้ำมือรัฐและการลอยนวลพ้นผิดที่พัทลุง” ว่า เมื่อ พ.ศ. 2515 ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตจากการถูกเผาในถังแดงราว 3,000 คน   
 
ความโหดร้ายนี้เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่การเปิดโปงอาชญากรรมนี้กลับดำเนินการโดยนักศึกษานักกิจกรรมช่วงที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆ เมื่อ พ.ศ. 2518 เพียงสองปีหลังจากการลุกฮือเมื่อ 14 ตุลาคม 2516  
 
 
อนุสาวรีย์ "ถังแดง" ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง 
 
 
ฮาร์เบอร์คอร์นกล่าวในงานวิจัยว่า การเปิดโปงนี้กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทย สื่อรายงานกรณีถังแดงอย่างแพร่หลาย ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลพลเรือนลงโทษผู้กระทำผิด กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีดังกล่าวช่วงกลาง พ.ศ. 2518 ประมาณหนึ่งเดือนให้หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ข้อสรุปว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกสังหาร แต่มีผู้เกี่ยวข้องเพียงเจ็ดสิบหรือแปดสิบคน แทนที่จะเป็นจำนวนหลายพันคน  แม้ว่ามีการระบุจำนวนผู้ได้รับผลกระทบแต่ไม่มีใครถูกลงโทษ หน่วยงานของรัฐที่พึงรับผิดต่อการสังหารยังคงทำงานตามต่อไปปกติ 
 
ฮาร์เบอร์คอร์นกล่าวว่า "การลอยนวลพ้นผิดและการบังคับให้บุคคลสูญหาย มีความสัมพันธ์กันโดยตรง ดิฉันประหลาดใจเสมอๆ เพราะมีการบังคับให้บุคคลสูญหาย การทรมาน วิสามัญฆาตกรรม และสังหารหมู่มากมาย แต่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำได้น้อยมาก"  
  
เนื่องจากไม่มีใครต้องรับผิด การบังคับให้บุคคลสูญหายและการวิสามัญฆาตกรรม ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นบรรทัดฐานและอาจเฟื่องฟูท่ามกลางวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดเสียด้วยซ้ำ 
 
หมายเหตุ: รายงานข่าวนี้ปรับมาจากรายงานซึ่งถูกเผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษใน Prachatai English ในชื่อ Crime of the State: Enforced disappearance, killings and impunity เมื่อเดือนมีนาคม 2557 และได้รับรางวัลชมเชย ประเภท สื่ออนไลน์ รางวัลสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ประจำปี 2557 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท