Skip to main content
sharethis

ทางการเกาหลีใต้และญี่ปุ่นสามารถเจรจาตกลงกันในประเด็นเรื่อง "หญิงบำเรอ" ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สำเร็จโดยที่ทางการญี่ปุ่นยอมขอโทษต่อเหยื่อชาวเกาหลีและจะมีการให้ทุนช่วยเหลือพวกเธอด้วยวงเงิน 1,000 ล้านเยน

28 ธ.ค. 2558 ประเด็นเรื่อง "หญิงบำเรอ" เป็นหนึ่งในประเด็นข้อพิพาทสำคัญระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จากช่วงประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีข้อกล่าวหาว่าทหารญี่ปุ่นบังคับให้หญิงชาวเกาหลีเป็นทาสรับใช้ทางเพศ โดยล่าสุด สำนักข่าวเทเลกราฟรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาทางการเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็สามารถเจรจาตกลงกันในเรื่องนี้ได้ในที่สุด

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นกล่าวกับประธานาธิบดี ปาร์คกึนเฮ ของเกาหลีใต้ว่า การตกลงดังกล่าวนี้ถือเป็นการเปิดยุคสมัยใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น โดยตัวแทนฝ่ายญี่ปุ่นคือคิชิดะ ฟุมิโอะ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเปิดเผยว่าญี่ปุ่นจะให้เงินทุนช่วยเหลือต่อเหยื่อชาวเกาหลีที่เคยถูกบังคับให้เป็น "หญิงบำเรอ" ด้วยวงเงิน 1,000 ล้านเยน (ราว 300 ล้านบาท)

ทางการญี่ปุ่นยังแสดงออกในเชิงขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้นโดยคิชิดะเปิดเผยว่าผู้หญิงที่ถูกบังคับให้เป็นหญิงบำเรอในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คือผู้ที่ถูกทำลายเกียรติยศและศักดิ์ศรีจนทำให้เกิดบาดแผลในจิตใจ และรัฐบาลญี่ปุ่นถือว่ามีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างมาก อีกทั้งคิชิตะยังระบุว่านายกรัฐมนตรีอาเบะก็ได้แสดงการ "ขอโทษและสำนึกผิดจากก้นบึ้งของหัวใจ" ในเรื่องนี้

ด้านเกาหลีใต้ระบุว่าข้อพิพาทจะยุติโดยสมบูรณ์และไม่มีผลย้อนกลับถ้าหากญี่ปุ่นสามารถทำตามที่สัญญาได้

ก่อนหน้านี้เคยมีการกล่าวหาว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นจับคนมาเป็นหญิงบำเรอมากถึง 200,000 คน ซึ่งมีชาวเกาหลีอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามเทเลกราฟรายงานว่าหญิงบำเรอที่เป็นชาวเกาหลีใต้มีอยู่เพียง 46 คนเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะเคยสัญญาว่จะให้เงินทุนหรือเงินกู้ยืมแก่อดีตพื้นที่ที่เคยถูกพวกเขายึดเป็นอาณานิคมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ทางการเกาหลีก็วิจารณ์ว่าเงินชดเชยดังกล่าวไม่ครอบคลุมในด้านการชดเชยให้เหยื่อที่ถูกกระทำในช่วงสงครามรวมถึงหญิงบำเรอ โดยผู้นำเกาหลีใต้เคยประกาศว่าประเด็นนี้ถือเป็นสิ่งกีดขวางที่ใหญ่ที่สุดในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจนกว่าจะมีการตกลงร่วมกันได้

ก่อนหน้านี้อาเบะเคยทำให้ประเด็นนี้คุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้งหลังกล่าวในเชิงตั้งคำถามว่าหญิงบำเรอในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกบังคับจริงหรือไม่ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนท่าทีหันมากล่าวขอโทษเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยออกแถลงการณ์ขอโทษในเรื่องนี้ไว้แล้วเมื่อปี 2536 ในการเจรจาล่าสุดนี้ฝ่ายญี่ปุ่นเองก็เรียกร้องให้เกาหลีใต้นำรูปปั้นเด็กผู้หญิงเท้าเปล่าซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนหญิงบำเรอออกจากสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล โดยฝ่ายตัวแทนเกาหลีให้สัญญาว่าจะมีการหารือกับรัฐบาลในเรื่องนี้

ทั้งสองประเทศหาข้อตกลงในเรื่องนี้ได้หลังจากที่มีการเจรจามาแล้ว 12 ยกตั้งแต่เดือน เม.ย. 2557 ทั้งในประเด็นหญิงบำเรอและประเด็นความขัดแย้งด้านการเล่าประวัติศาสตร์สงครามโลกและข้อพิพาทเขตแดน โดยไมเคิล คูเซค ศาตราจารย์ด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยวาเซดะในกรุงโตเกียวกล่าวว่า การเจรจาตกลงกันในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการกดดันจากสหรัฐฯ เนื่องจากทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นต่างก็เป็นประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ต่างก็มีกองกำลังของสหรัฐฯ และครอบครัวอยู่ในเขตแดนของพวกเขาจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม คูเซควิเคราะห์ว่าการหารือที่ได้ข้อยุติในครั้งนี้จะถูกต่อต้านจากคนบางส่วนในทั้งสองประเทศเช่นกลุ่มขวาจัดในญี่ปุ่น และในเกาหลีใต้ก็มีกระแสต่อต้านจากกลุ่มเสรีนิยมที่อาจจะเรียกร้องให้ปาร์คกึนเฮลาออก

ทั้งนี้ สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าอดีตผู้ที่เคยตกเป็นหญิงบำเรอชาวเกาหลีใต้บางส่วนยังคงไม่พอใจข้อตกลงนี้เนื่องจากในข้อตกลงไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าผู้เคยตกเป็นหญิงบำเรอจะได้รับ "การชดเชยโดยตรง" จากรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ใช้คำว่าเป็นเงิน "ช่วยเหลือส่งเสริม" เพื่อฟื้นฟูเกียรติยศศักดิ์ศรีและเยียวยาจิตใจ

ลียุงซู อดีตหญิงบำเรออายุ 88 ปีกล่าวว่า เธอสงสัยว่าการหารือกันระหว่างรัฐบาล 2 ฝ่ายนี้มีการคำนึงถึงเหยื่อจริงหรือไม่ เพราะถึงแม้ตัวเธอจะไม่ได้ต้องการเงินแต่ถ้าหากญี่ปุ่นยอมรับเรื่องผิดบาปที่ประเทศตนทำลงไปจริงพวกเขาก็ควรให้เงินชดเชยโดยตรงจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการ


เรียบเรียงจาก

Japan and South Korea reach historic deal on 'comfort women' abused during Second World War, The Telegraph, 28-12-2015
http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/12071152/Japan-and-South-Korea-near-agreement-on-comfort-women-abused-during-World-War-II.html

Japan and South Korea agree WW2 'comfort women' deal, BBC, 28-12-2015
http://www.bbc.com/news/world-asia-35188135

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net