Skip to main content
sharethis

ในรายงานของบางกอกโพสต์ เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ระบุว่าพร้อมที่จะช่วยเหลือรัฐบาลไทย-มาร่า ปาตานี หาทางออกทางการเมืองเพื่อคลี่คลายเหตุความไม่สงบชายแดนใต้ โดยเงื่อนไขที่ต้องเกิดขึ้นก่อนการเจรจา คือการเมืองที่นับรวมทุกคนและเปิดพื้นที่ให้ทุกกลุ่มแสดงความเห็น

14 ม.ค. 2559 อามีน มาดานี (Iyad Ameen Madani) เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี (Organisation of Islamic Cooperation - OIC) ระบุว่า มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือไทยและกลุ่มติดอาวุธในชายแดนใต้หาทางออกทางการเมืองเพื่อคลี่คลายเหตุความไม่สงบในชายแดนใต้

ตามในรายงานของบางกอกโพสต์ มาดานี ซึ่งพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร (13 ม.ค.) ให้สัมภาษณ์เมื่อ 13 ม.ค. ว่า คณะของโอไอซีได้รับการสนับสนุนเชิงบวกหลายด้านจากผู้นำไทยปัจจุบัน และเราสัมผัสได้ถึงทัศนคติที่จริงใจในการแก้ไขปัญหาภาคใต้

"พวกเราเสนอตัวเองเป็นผู้อำนวยความสะดวก อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสร้างความมั่นใจสำหรับกระบวนการทางการเมืองในภาคใต้ของไทย" มาดานีกล่าว โดยอ้างถึงข้อเสนอสร้างพื้นที่ทางการเมืองระหว่างสองฝ่าย และช่วยให้เกิดการพูดคุยกับกลุ่มติดอาวุธที่ชายแดนภาคใต้

มาดานีย้ำว่า โอไอซีไม่ได้เข้ามาเพื่อนำตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ "แต่เพื่อช่วยสนับสนุนขั้นตอนที่มีการเดินหน้าอยู่แล้ว"

ด้าน พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานการปฏิบัติหมายเลข 5 (รอง ผอ.ศปป.5) กอ.รมน. กล่าวว่า รับทราบถึงข้อเสนอของโอไอซีแล้ว แต่ยังไม่มีการหารือกันและยังไม่มีข้อเสนอที่เฉพาะเจาะจง

ในรายงานของบางกอกโพสต์ มีการสอบถาม เลขาธิการโอไอซี ถึงการพบปะกับกลุ่มมาร่า ปาตานี ที่กัวลาลัมเปอร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาด้วย (10 ม.ค.) มาดานีตอบว่าเป็นเพียงการพบปะทำความรู้จักกัน "เรารับประทานอาหารร่วมกัน แต่เราไม่ได้ส่งเสริมในสิ่งที่พวกเขาต้องการ"

อย่างไรก็ตาม มาดานี กล่าวว่า ทุกฝ่ายดูเหมือนต้องการหาทางออกทางการเมืองสำหรับปัญหาภาคใต้ "ส่วนหนึ่งก็คือการยอมรับวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์และมีความหลากหลาย และความหลากหลายนี้จะต้องช่วยเชิดชู ไม่ใช่ทำให้เอกภาพของชาติอ่อนแอลง"

มาดานีกล่าวว่ามีสามวิธีสำคัญในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ "หนึ่งคือ ไม่มีคำถามเกี่ยวกับความเป็นบูรณภาพของราชอาณาจักรไทย สอง รับรองเสรีภาพความเท่าเทียมของพลเมือง และสาม ศาสนาไม่ใช่รากฐานของปัญหา อย่างที่มุสลิมมีเสรีภาพในการแสดงออกทางศาสนา"

เขากล่าวว่า เงื่อนไขที่ต้องทำให้เสร็จก็คือการนับรวมทุกคนเข้ามาในสังคม ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเกิดขึ้นภายหลังจากนี้ แต่กระบวนการนี้จะต้องเปิดโอกาสให้แต่ละกลุ่มแสดงความต้องการทางการเมือง ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนกับแม่เหล็กดึงดูดทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ร่วมกัน

ถ้าพวกเขาทั้งสองฝ่ายไม่ใช่แค่ฝ่ายรัฐ ต้องการบรรลุทางออกทางการเมือง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ทางการเมืองเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเสรี

ด้าน พล.ต.นักรบ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่คัดค้านบทบาทของเลขาธิการโอไอซีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกลุ่มใดๆ ก็ตามในกระบวนการทางการเมือง "เรามีวิธีดำเนินการเหมือนกัน และทั้งมาร่า ปาตานี และรัฐบาลไทยต้องการหารือกันมากกว่านี้ แต่ผู้จัดการหารืออย่างมาเลเซียอาจจะไม่สะดวก" พล.ต.นักรบกล่าว

พล.ต.นักรบกล่าวด้วยว่า คณะหารือทวิภาคีระหว่าง พล.อ.อักษรา เกิดผล และ อาวัง จาบัต พบปะกันมาแล้ว 4 ครั้ง ในขณะที่คณะทำงานทางเทคนิคนำโดยตัวเขา และ มูฮัมหมัด ซุกรี ฮารี พบกันเพียงครั้งเดียวเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ต่อกรณีวิกฤตโรฮิงญา เลขาธิการโอไอซีกล่าวว่า มีความหวังว่าทัศนคติต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาในพม่าจะมีความเปลี่ยนแปลง และโอไอซีเองควรได้รับอนุญาตให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับประชาชนทุกคนในพม่า ไม่ใช่เพียงแค่ชาวโรฮิงญา

เขากล่าวว่า ชาวโรฮิงญาถูกถอนสัญชาติ และเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ชาติอย่างไทยและบังกลาเทศ รวมทั้งชาติอาเซียน ต้องช่วยหาที่พักพิง

ส่วนกรณีที่ทางการไทยผลักดันชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน มาดานีกล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง "เมื่อพวกเขาเดินทางมายังกรุงเทพฯ หรือที่ใดก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นกับพวกเขาต้องได้รับการพิจารณาอย่างละเอียด ข้อกล่าวหาต่อบุคคลจะต้องถูกพิสูจน์และมีการคัดกรอง โอไอซีพบว่าการส่งพวกเขากลับไม่เป็นการตอบคำถามเหล่านี้" เลขาธิการโอไอซีกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net