Skip to main content
sharethis

อดีตกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสแนะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสชี้แจงข้อสงสัยเรื่องการแต่งตั้ง ผอ.คนใหม่ต่อพนักงานให้ชัดเจนกว่านี้ ชี้หากพนักงานไม่พอใจก็มีสิทธิที่จะส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความได้ แต่ส่วนตัวมองว่าควรสร้างการสื่อสารภายในมากกว่า

4 ก.พ. 2559 ภายหลังคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ซึ่งมี ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เป็นประธาน มีมติสองในสามให้ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้อำนวยการ ส.ส.ท.คนใหม่ และได้เริ่มงานแล้วในวันที่ 1 ก.พ. ท่ามกลางการตั้งคำถามของพนักงานต่อคุณสมบัติของ ผอ.คนใหม่ที่อาจไม่ตรงกับที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมีประสบการณ์เชี่ยวชาญงานสื่อสารมวลชน

มีเดียอินไซด์เอาท์ จัดเสวนาเรื่องนี้เป็นครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “ทบทวนภารกิจไทยพีบีเอส ทีวีสาธารณะ” โดยเชิญวิทยากร 3 คนคือ อดีตกรรมการนโยบาย, พนักงานไทยพีบีเอสที่ยื่นจดหมายตั้งคำถามเรื่องคุณสมบัติผู้อำนวยการ  และ ประธานสภาผู้ชมฯ

เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อดีตกรรมการนโยบายฯ ซึ่งพ้นตำแหน่งไปเมื่อปี 2555 กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า กฎหมายกำหนดคุณสมบัติผู้อำนวยการว่าต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ หรือการสื่อสารมวลชน แต่ก็มีคำแถลงจากกรรมการนโยบายชุดปัจจุบันว่า สื่อเปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว คนมาทำหน้าที่ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญด้านสื่อ แม้เคารพต่อการตัดสินใจดังกล่าวของคณะกรรมการนโยบายแต่ก็เป็นห่วงเพราะการตีความขยายขอบเขตของกฎหมายดังกล่าวจะถูกยึดถือปฏิบัติ และควรสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานให้ชัดเจนกว่านี้ หากพนักงานไม่พอใจก็มีสิทธิที่จะส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าควรสร้างการสื่อสารภายใน

“การตีความกฎหมายแบบนี้จะถูกยึดถือปฏิบัติ ไม่ได้อคติกับบุคคลและยังยอมรับการบริหารองค์กรด้วย แต่มันได้สร้างคำอธิบายใหม่ ต่อไปนี้คนที่จะมาเป็น ผอ.คือคนที่ประสบความสำเร็จในการใช้สื่อรณรงค์กับสังคม” เอื้อจิตกล่าว 

เมื่อถามว่า คนที่ประสบความสำเร็จในการทำรณรงค์ สสส.กับการบริหารสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสไปกันได้ไหม เอื้อจิตกล่าวว่า ไม่อยากตัดสินหนึ่งบวกหนึ่งเสมอไป ไม่รู้จะตอบโดยตัดสินไปล่วงหน้าได้อย่างไร อาจเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้และให้กำลังใจกันแล้ว

“ในด้านหนึ่งก็ชื่นชมพนักงานที่มีข้อสงสัยแล้วสื่อสาร ตอนประธานกรรมการนโยบายบอกว่าจะตอบหรือไม่ตอบก็ได้ ดิฉันตอบว่าไม่ได้ เพราะมีจริยธรรมองค์กรที่บอกว่าต้องตรวจสอบได้ ทุกคนปรารถนาดีต่อองค์กร แต่เมื่อถึงจุดที่กรรมการนโยบายเลือกแล้ว พนักงานหรือคนไม่ได้รับเลือกจะดำเนินการอย่างไรต่อก็เป็นสิทธิ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงคือ เราต้องไม่ทำอะไรที่เกิดผลเสียต่อองค์กร ถ้าทำอะไรที่ยืดเยื้อยาวนานก็จะส่งผลต่อทัศนคติต่อตัวองค์กร” เอื้อจิตกล่าว

“คำอธิบายไม่ควรเป็นคำอธิบายที่ข้อกำหนดในกฎหมายอ่อนกว่าที่กฎหมายเป็น การตอบอย่างนี้เกาไม่ถูกที่คัน ตอบแบบหัวสี่เหลี่ยมเป๊ะ ต้องบอกเลยว่าคนนี้มีคุณสมบัติโดดเด่น ใช้ความกล้าของตนเองแล้วอธิบายว่าทำไมจึงตัดสินเช่นนั้น ในเมื่ออำนาจเป็นของท่านอยู่แล้ว ท่านตอบให้พนักงานเขาเห็น เช่น เรามีเครื่องไม้เครื่องมือและทักษะข่าวแล้ว ยังขาดยุทธศาสตร์สังคม ให้สังคมรู้สึกสื่อสาธารณะเป็นของเขา ท่านต้องตอบพนักงานว่าคาดหวังอะไร จะเติมเต็มทักษะเรื่องสื่ออย่างไร พนักงานจะได้รู้สึกว่าร่วมลงเรือลำเดียวกัน อย่าลอยตัว ตัดสินแล้วปิดม่าน ไม่ได้อยู่สูงส่งนะ กรรมการนโยบาย” เอื้อจิตกล่าว

“ไม่ต้องประกาศกับสื่อแล้วก็ได้เพราะตอนนี้องค์กรบอบช้ำแล้ว แต่ต้องสื่อสารกับพนักงาน สื่อสารภายในองค์กร ชี้แจงแบบเปิดรับฟัง ไม่ต้องไปกลัว ให้เขาเห็นว่าเลือกโดยความห่วงใยองค์กร อย่าปล่อยให้ผู้อำนวยการคนใหม่โดดเดี่ยว ตอนนี้ทุกคนเข้าม่านหมด” เอื้อจิตกล่าว

เมื่อถามว่าเป็นเรื่องถูกต้องไหมกับภารกิจขับเคลื่อนสังคมของสื่อสาธารณะ เอื้อจิตกล่าวว่า สื่อสาธารณะต้องขับเคลื่อนสังคมอยู่แล้ว แต่ภารกิจในความเป็นสื่อมีภารกิจมากมาย ขณะเดียวกันสื่อสาธารณะก็มีมาตรฐานสากลอยู่ เช่น ความถูกต้องเที่ยงตรงและเชื่อใจได้ อย่างไรก็ตาม คำพูดไม่สำคัญเท่าการทำงานต่อไปนี้ ถามว่าที่ผ่านมาไม่เคยกรรมการนโยบายที่จะใช้สื่อลงไปทำงานในชุมชนเหรอ เชื่อว่าคนทำงานก็เคยเจอ อย่างเดียวที่อย่าทำคืออย่ามองมันเป็นเครื่องมือ แต่เผอิญการขับเคลื่อนสังคมเป็นคำในเชิงบวกแต่มักถูกตีความว่ามีเป้าหมายแล้วเอาสื่อไปใช้เป็นเครื่องมือ ซึ่งอันที่จริงสื่อสาธารณะมีมิติทั้ง ข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น กระทั่งสุนทรียะ และโดยตัวมันทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมอยู่แล้ว โดยมีหัวใจสำคัญสองสิ่งคือ ไม่รับใช้รัฐบาล และ ไม่กลัวเรื่องธุรกิจ

หทัยรัตน์ พหลรัตน์ พนักงานไทยพีบีเอส กล่าวว่า งานนี้มาในฐานะพนักงานคนหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ตัวแทนเพื่อนๆ ที่เคลื่อนไหว

“เรายังรู้สึกว่าคำตอบต่อหลักเกณฑ์ที่เขียนในกฎหมายยังไม่ได้รับการตอบอย่างชัดเจน มันมีคำถามอีกมากที่จะต้องทบทวนร่วมกันเพราะไทยพีบีเอสก็อายุเก้าปีแล้ว คราวนี้ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ของไทยพีบีเอสหรือเปล่า เราจะเดินไปอย่างนี้จริงๆ ไหม ต่อไปคนที่เป็นเอเจนซี่ก็เป็น ผอ.ได้ใช่ไหม” หทัยรัตน์กล่าว

หทัยรัตน์กล่าวต่อว่า เมื่อศุกร์ที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมาพนักงานได้ยื่นหนังสือถามกรรมการนโยบายอีกรอบว่า จะให้พนักงานได้ฟังคำชี้แจงหรือไม่ โดยพยายามผลักดันให้เกิดการชี้แจงในทาวน์ฮออล์ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ระหว่างผู้บริหารและพนักงานทั้งหมด ซึ่งนี่เป็นวัฒนธรรมภายในของไทยพีบีเอส เราคิดว่าเป็นประโยชน์ขององค์กรและเป็นประโยชน์สาธารณะด้วย เราควรเปิดเวทีแบบอารยชนเพื่อมาชี้แจงกันให้เข้าใจ ความคาดหวังคือจะนำพาองค์กรให้มีความแข็งแรง ผสานกำลังพนักงานให้เดินหน้าไปได้ ในสภาวะของความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ

“เมื่อยังไม่พอใจในคำตอบ ก็จะถามต่อไปเรื่อยๆ” หทัยรัตน์กล่าว

หทัยรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้ ผอ.ทำงานมา 4 วัน ตอนนี้อยู่ระหว่างทำความเข้าใจกับสำนักต่างๆ และโชว์วิสัยทัศน์ หมอเองก็มีเจตนาดีในการสร้างไทยพีบีเอสให้ได้รับการยอมรับ ให้มีคนชมมากขึ้น คุณหมอบอกว่าจะไม่คำนึงถึงเรทติ้งมากนักแต่คำนึงถึงคุณภาพ

อานนท์ มีศรี ประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส กล่าวว่า โดยส่วนตัวยอมรับการตัดสินใจของทุกฝ่าย แมวสีอะไรก็ได้ ถ้าจับหนูได้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net