TDRI เสนอโมเดลกำกับสื่อยุคหลอมรวม ชี้เน็ตกำกับ-ปิดกั้นยาก รัฐต้องอยู่กับความเป็นจริง

TDRI เสนอแนวทางกำกับสื่อยุคหลอมรวม เสนอกำกับร่วม ชี้ อินเทอร์เน็ตกำกับ-ปิดกั้นยาก รัฐต้องอยู่กับความเป็นจริง ออกแบบระบบที่รักษาสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการสร้างสื่อที่มีคุณภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคม

26 ก.พ. 2559 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดเสวนาสาธารณะ “ทางเลือกในการปฏิรูปสื่อ กับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่โรงแรมสวิสโอเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ โดยในงานเริ่มด้วยการนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง "การกำกับดูแลสื่อในยุคหลอมรวม" ก่อนตามด้วยการเสวนา (อ่านที่นี่)

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI และหัวหน้าโครงการวิจัยการปฏิรูปสื่อ นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง "การกำกับดูแลสื่อในยุคหลอมรวม" (ดูเอกสารประกอบที่นี่) ซึ่งเป็นงานวิจัยของ TDRI ร่วมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ นำโดยพิรงรอง รามสูตว่า การหลอมรวมสื่อทำให้เส้นแบ่งระหว่างการแพร่ภาพกระจายเสียงกับโทรคมนาคมเลือนรางลง การกำกับแบบเดิมที่แยกทั้งสองเรื่องออกจากกันจะทำให้ไม่สามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิผล

สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน เนื้อหาสื่อเดียวกัน สามารถเผยแพร่ได้หลายช่องทาง โดยที่ในแต่ละช่องทางก็จะมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น คลิปวิดีโอคลิปหนึ่ง ถ้าเผยแพร่ทางทีวี อาจเจอการกำกับดูแลตรวจสอบจำนวนมากทั้งเรื่องการเซ็นเซอร์และการบริหารจัดการคลื่นความถี่ ถ้าเผยแพร่ในเคเบิลทีวี อาจมีภาระในการทำตามกฎอื่นๆ เช่น กฎมัสแคร์รี ส่วนหากเผยแพร่ทางยูทูบ จะมีกฎระเบียบน้อยกว่ากันเยอะมาก แต่อาจจะมีกฎเรื่องของการรักษาความเป็นส่วนตัว หากไปเผยแพร่ทางแอปพลิเคชันไลน์ หรือมูฟวี่แอปก็จะกำกับดูแลลำบากยิ่งขึ้น เหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่หน่วยงานรัฐกำลังตั้งคำถามและสังคมยังต้องถกเถียงไปอีกพักใหญ่

ในอนาคต ภาพของการกำกับดูแลสื่อที่จะเกิดขึ้น จะเอียงข้างไปทางการที่ผู้ผลิตสื่อจะเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพราะเป็นช่องทางที่ถูกกำกับดูแลน้อยกว่า ขณะที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตก้าวไกลไปกว่าเทคโนโลยีของทีวี เพราะฉะนั้น อินเทอร์เน็ตจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ และจะกำกับดูแลยากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ สมเกียรติชี้ว่า หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ในอนาคต จะมีบทบาทน้อยลง โดยเหลือเพียงการกำกับดูแลในมิติของเศรษฐกิจ คือการกำกับแพลตฟอร์ม แต่การกำกับดูแลเนื้อหาจะยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรเนื้อหาจะหลุดรอดได้ตลอดเวลา ถึงจะบล็อคเว็บ ก็จะมีวิธีที่เว็บเดียวกันไปปรากฏที่อื่น แม้ว่าอาจจะทำให้สื่อสารช้าลงแต่ก็จะเกิดอยู่ดี เราจะอยู่กับโลกแบบนี้ต่อไป

เป้าหมายของการปฏิรูปสื่อ ประกอบด้วยคุณภาพและพหุนิยมของสื่อ เสรีภาพและความเสมอภาคในการสื่อสาร และประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ จึงมีข้อเสนอให้ดำเนินการ 7 เรื่อง ได้แก่

1. ปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรกำกับดูแลให้เป็น convergent regulator โดยทำให้ กสทช.เหลือคณะเดียวและลดจำนวนลงเหลือ 7-9 คน และรัฐธรรมนูญจะต้องรับประกันสิทธิในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ และเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน รวมถึงความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแล
2. ออกแบบการกำกับดูแลที่ลดต้นทุน-ความเสี่ยงของผู้ประกอบกิจการ โดยมีข้อเสนอในระยะสั้นคือ แก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างตลาดรอง (secondary market) สำหรับเปลี่ยนมือคลื่นความถี่สำหรับคลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบกิจการได้มาผ่านการประมูล
3. สร้างกฎกติการองรับการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ระหว่างผู้ประกอบกิจการ
4. นำทรัพยากรมาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดกรอบเวลาของ Analogue Switch-Off (ASO) และเตรียมการจัดสรรคลื่นแบบหลอมรวม
5. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพ ความหลากหลาย และพหุนิยมในสื่อ
6. คุ้มครองผู้บริโภค และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
7. สนับสนุนการกำกับดูแลร่วม

ในส่วนของข้อเสนอเรื่องการกำกับดูแลร่วม สมเกียรติชี้ว่า ที่ผ่านมา ไทยมีระบบกำกับดูแลสองระบบ หนึ่งคือ การกำกับดูแลโดยรัฐ โดยรัฐเข้าไปปิดกั้น บล็อค หรือฟ้องร้องผู้ประกอบการ กับอีกระบบคือการกำกับดูแลกันเองของกลุ่มวิชาชีพสื่อ ซึ่งมีปัญหาทั้งสองระบบ ระบบแรก รัฐเข้าไปแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเยอะมาก ขณะที่ระบบกำกับดูแลกันเอง ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยพบว่าเรื่องร้องเรียนเข้าสู่หน่วยงานกำกับกันเองลดลงเรื่อยๆ สะท้อนว่ามีปัญหา จึงเสนอการกำกับดูแลร่วม (co-regulation)

เขาเสนอแนวทางดำเนินการระยะสั้นว่า ควรต้องกำหนดหลักเกณฑ์การดูแลเนื้อหาให้ชัดเจน โดยเฉพาะการกำกับดูแลเนื้อหาตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยแบ่งแยกระหว่างเนื้อหาที่ผิดกฎหมายกับผิดจริยธรรม รวมถึงแยกโฆษณาที่เอาเปรียบผู้บริโภคกับโฆษณาที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เนื่องจากทั้งสองเรื่องมีวิธีจัดการแตกต่างกัน รวมถึงควรกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีช่องทางรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้วย

สมเกียรติ อธิบายว่า กรณีผู้ประกอบวิชาชีพ  ทีวี เคเบิลทีวี หรือวิทยุ กระทำผิดกฎหมายให้ กสทช.ดำเนินการทางปกครอง อาทิ เตือน ปรับ พักใช้ใบอนุญาต ส่วน นสพ. ใช้ พ.ร.บ.การพิมพ์ ส่วนการกระทำผิดจริยธรรม เสนอให้มีแนวทางปฏิบัติ 3 ขั้น คือ 1.กำกับดูแลตนเองในองค์กร หากไม่สำเร็จก็ไปสู่ 2. กำกับดูแลกันเองโดยสภาวิชาชีพ โดยควรมีการกำหนดให้สื่อวิทยุโทรทัศน์และ นสพ. เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพ ซึ่งอาจมีหลายสภาวิชาชีพได้ และสุดท้าย หากไม่พอใจก็ไปที่ 3. กำกับดูแลร่วม โดยสภาวิชาชีพเป็นผู้ตัดสินเรื่องจริยธรรม ส่วนรัฐพิจารณาบังคับให้เกิดผล

ปัญหาที่ยาก คือ กรณีสื่อออนไลน์ ซึ่งจะมีการสร้างเนื้อหาสองส่วนโดย 1.ผู้ใช้สื่อ 2.ผู้ผลิตสารสนเทศออนไลน์ ซึ่งทำหน้าที่คล้ายผู้ประกอบการสื่อ แต่ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบการ ซึ่งเขาเสนอว่า กรณีผู้ผลิตสารสนเทศออนไลน์ มีเนื้อหาผิดกฎหมาย ให้ใช้ระบบแจ้งเตือนและนำออก (notice and take down) กรณีมีสารสนเทศที่ละเมิดลิขสิทธิ์แล้วเจ้าของลิขสิทธิ์มาพบและแจ้งเตือน หากนำเนื้อหานั้นออกแล้ว จะไม่มีความผิดทางกฎหมาย แต่หากแจ้งแล้วไม่นำออกจะมีความผิดร่วมด้วยกับเจ้าของเนื้อหา กรณีผิดจริยธรรม ให้ใช้การกำกับดูแลตนเองของผู้ผลิตสารสนเทศนั้น

ส่วนกรณีผู้ใช้สื่อไปสร้างเนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมาย เนื่องจากประชาชนทั่วไปใช้ผู้รับใบอนุญาต จึงไม่มีกลไกของ กสทช.ที่จะไปดำเนินการทางปกครอง จึงอาจเยียวยาผ่านกระบวนการยุติธรรม ด้วยการฟ้องร้องคดีแพ่งหรือคดีอาญา แต่หากผู้ใช้สื่อ สร้างเนื้อหาที่ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่สร้างความเสียหายบางลักษณะที่ไม่เป็นธรรม เขาเสนอว่า ในสังคมที่เปิดกว้างต้องยอมรับว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ อาจกระทบกันได้บ้าง แต่ควรมีการกำกับดูแลตนเองของตัวกลาง เช่น ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ต้องกำกับดูแลไม่ให้ผิดจริยธรรม หรือกระทบกระทั่งกันมากเกินไป

พร้อมกันนี้ เสนอให้ทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ได้สัดได้ส่วน เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เสนอให้แก้ไขให้ใช้สำหรับการกระทำผิดที่โจมตีต่อระบบ ไม่เกี่ยวกับเรื่องเนื้อหา

สมเกียรติ สรุปว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปสู่การหลอมรวมสื่อ ซึ่งการกำกับดูแลก็ต้องปรับตาม ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า การกำกับดูแลทำได้ง่ายยากไม่เหมือนกัน วิทยุโทรทัศน์ กำกับง่ายกว่าผ่านการใช้ระบบใบอนุญาต ส่วนอินเทอร์เน็ตนั้นยากจะกำกับและปิดกั้น เพราะฉะนั้นรัฐและหน่วยงานกำกับดูแลต้องอยู่กับความเป็นจริง และออกแบบระบบที่รักษาสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความเห็นและการสร้างสื่อที่มีคุณภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท