Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: google doodle ประจำวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2016

 

วันนี้เป็นวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ซึ่งเราทุกคนน่าจะพอทราบกันดีว่า มีแค่เพียงทุกๆ 4 ปีครั้ง และปีที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์นั้นเรียกว่า Leap Year หรือ ปีอธิกสุรธิน

ซึ่งที่มาของปีอธิกสุรธินนั้น จะว่าเกี่ยวกับดาราศาสตร์ก็เกี่ยว แต่จะว่าไม่เกี่ยวก็ไม่เกี่ยว

ตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์แต่แรกๆ ก็ทำให้เราเข้าใจว่าเราสามารถใช้ตำแหน่งดวงอาทิตย์กับดวงดาว ในการอ้างอิงฤดูกาลที่จะมาถึงได้ และเราเริ่มมีการนับ "ปี" โดยเทียบกับจำนวนวัน ว่าดวงอาทิตย์ขึ้นกี่ครั้งต่อหนึ่งปี ทำให้เราค้นพบว่าหนึ่งปีนั้นมี 365 วัน จึงเกิดการทำปฏิทินสุริยคติขึ้น โดยแบ่งหนึ่งปีออกเป็น 12 เดือน และเดือนที่เราอยู่จะบอกได้ว่าเป็นฤดูอะไร เช่นสำหรับประเทศในซีกโลกเหนือแล้วนั้นฤดูหนาวจะอยู่ช่วงประมาณตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี

แต่เมื่อเราใช้ปฏิทินที่มีปีละ 365 วันไปหลายๆ ปีนั้น กลับพบว่าฤดูหนาวจะค่อยๆ เลื่อนขึ้นมาเร็วขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ฤดูหนาวมาก่อนเดือนพฤศจิกายน ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่าแท้จริงแล้วหนึ่งปีนั้นยาวกว่า 365 วันเล็กน้อย ประมาณ 365.25 วัน ในสมัยโรมันจึงมีการพยายาม "ทด" โดยเพิ่มเดือนเข้าไปหนึ่งเดือนเพื่อรักษาให้เดือนกุมภาพันธุ์ยังเป็นฤดูหนาวอยู่ แต่การเพิ่มเดือนเข้าไปทั้งเดือนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และเป็นที่สับสนอยู่เสมอ

ต่อมา จักรพรรดิ์ จูเลียส ซีซาร์แห่งจักรวรรดิ์โรมันจึงได้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบปฏิทิน โดยการเปลี่ยนเป็นการเพิ่มเพียงแค่หนึ่งวัน ทุกๆ 4 ปี จึงได้ใกล้เคียงกับระยะเวลาเฉลี่ยหนึ่งปี = 365.25 วันมากยิ่งขึ้น และสามารถเพิ่มได้สม่ำเสมอกันมากขึ้น โดยยึดหลักว่าทุกๆ ปีคริสตศักราชที่หารด้วยเลข 4 ลงตัวจะนับเป็นปีอธิกสุรทิน และจะมีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เรียกปฏิทินนี้ว่าปฏิทินจูเลียน (Julian Calendar)

แต่เรื่องไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปหลายศตวรรษกลับพบว่าฤดูหนาวได้มีการเลื่อนไปอีกเล็กน้อยจากเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งหมดนี้เนื่องจากว่าระยะเวลาหนึ่งปีนั้นจริงๆ แล้วน้อยกว่า 365.25 วันเล็กน้อย อยู่ที่ 365.2425 วัน ระบบปฏิทินจูเลียนจึงเท่ากับว่าเป็นการทดวัน "เกิน" ไป เป็นระยะเวลา 0.03 วันทุกๆ 4 ปี เมื่อผ่านไป 100 ปีจึงเท่ากับว่าทดวันเกินไป 0.75 วัน โป๊ป กรีกอรีที่ 13 จึงได้มีการเสนอให้ยกเลิกการทดวันในปีอธิกสุรทินทุกๆ 100 ปี นั่นคือปีใดที่หารด้วย 100 ลงตัว (ซึ่งจะหารด้วย 4 ลงตัวด้วย) จะยกเว้นให้ไม่เป็นปีอธิกสุรธิน แต่การทำเช่นนี้นั้นเท่ากับว่าเราจะทดวัน "ขาด" ไปอีกเล็กน้อย 0.25 วัน ทุกๆ 100 ปี โป๊ปกรีกอรีจึงได้เพิ่มกฎมาอีกว่าแต่ปีใดที่หารด้วย 400 ลงตัวก็ยังคงให้นับเป็นปีอธิกสุรทินใหม่ จึงกำเนิดเป็นปฏิทินกรีกอเรียนที่เราใช้กันทุกวันนี้

สรุปอีกครั้งว่า ในปฏิทินกรีกอเรียน ปีจะมีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ก็ต่อเมื่อเลขปีคริสตศักราช หารด้วย 4 ลงตัว แต่ต้องหารด้วย 100 ไม่ลงตัว เว้นแต่จะหารด้วย 400 ลงตัวเช่นกัน

นั่นก็คือ ปี 2016 นั้นหารด้วย 4 ลงตัว แต่ 100 ไม่ลงตัว นับเป็นปีอธิกสุรธิน

ทั้งหมดนี้ เราอาจจะพูดได้ว่ามีการเริ่มต้นมาจากการพยายามจะจัดปฏิทินให้ตรงกับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ แต่เราจะพบว่ารายละเอียดส่วนมากนั้นเป็นเพียงเรื่องของการพยายามจะหารจำนวนนับให้ลงตัวกัน จึงเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ที่ต้องการจะยึดถือปฏิทินที่นับได้ จึงเป็นเรื่องของสังคมศาสตร์ แต่ก็มีเรื่องของจักรพรรดิ์โรมันที่พยายามจะสร้างชื่อของตัวเอง จึงเป็นเรื่องของการเมือง และศาสนจักรที่พยายามจะสร้างมาตรฐาน จึงเป็นเรื่องศาสนศาสตร์ไปด้วย

แต่เราต้องไม่ลืมว่า ธรรมชาติและจักรวาลนั้นมันไม่ได้สนใจหรอกว่า ปีนี้นับเป็น "ตัวเลข" อะไร และปีอธิกสุรธินเป็นเรื่องของ "มนุษย์" เพียงเท่านั้น 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟซบุ๊ก มติพล ตั้งมติธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net