หัวคิว-กินงบ อีกหนึ่งปัจจัยใต้ไม่สงบ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ที่ปัตตานีมีคาร์บอมบ์เมื่อวันเสาร์ (27 ก.พ.) ผมอยู่ในพื้นที่พอดี...

คาร์บอมบ์ลูกนี้ชัดว่ามีเป้าหมายตอบโต้ ดิสเครดิตหน่วยงานความมั่นคง เพราะไปจุดระเบิดกันข้างๆ ฐานของตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เกิดไฟไหม้ฐานจนวอด แถมยังก่อเหตุกลางวันแสกๆ

จุดที่รถซุกระเบิดไปจอด เป็นหน้าร้านขายเบียร์ เดิมร้านนี้เป็นร้านขายอาหารของมุสลิม เพิ่งจะเปลี่ยนเป็นร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่ถึงเดือนก็มาเกิดเหตุ

เงื่อนไขของระเบิดจึงหลากหลายมากขึ้น เพราะเป็นการทำลายสถานที่อโคจรของคนต่างศาสนา ทั้งยังก่อเหตุก่อนการจัดกิจกรรม 3 ปีพูดคุยสันติภาพด้วย

เสียงระเบิดดังสนั่น สื่อมวลชนทั้งกระแสหลัก ทั้งโซเชียลฯ ก็รายงานกันคึกคัก ผมลงพื้นที่วัดปรอทความรู้สึกของผู้คนกลับพบว่าซึมๆ ไม่ค่อยมีใครสนใจพูดถึงกันมากมาย คงเป็นเพราะเบื่อหน่ายกับสถานการณ์ แต่แน่นอนว่าคาร์บอมบ์ลูกนี้ ทำให้ข้อมูลที่รัฐอ้างมาตลอดว่าชายแดนใต้กำลังดีขึ้น ไม่เป็นความจริง (ซึ่งคนที่อยู่ในพื้นที่ทุกวันก็ไม่เชื่อว่าจริงอยู่แล้ว)

เรื่องที่คนสามจังหวัดพูดกันมาก เมาท์กันทุกวง กลายเป็นการใช้งบประมาณของภาครัฐที่อัดโครงการพัฒนาลงมาในพื้นที่ ทั้งงบแผนบริหารจัดการน้ำ งบพัฒนาตำบลละ 5 ล้าน และงบอื่นๆ อีกหลายตัว

ก่อนหน้านี้รัฐบาลคุยว่ายุคนี้ เป็นยุคที่การแก้ไขปัญหาภาคใต้เป็นเอกภาพมากที่สุด เพราะให้ กอ.รมน.เป็นหน่วยนำ และบูรณาการงบเองทั้งหมด ทั้งยังใช้งบตรงกับความต้องการของประชาชน ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น

ฟังแล้วก็ครึ้มใจดี ยิ่งเหตุร้ายเกิดไม่ถี่เหมือนเก่า ก็ยิ่งเห็นคล้อยตามกับรัฐบาล แต่พอฟังเสียงจากชาวบ้านกลับได้ข้อมูลกันข้ามแบบสิ้นเชิง

อย่างในอำเภอหนึ่งของปัตตานี มีงบบริหารจัดการน้ำลงไป 15 ล้าน หน่วยถือปืน (และยังถืองบด้วยตามแผนบูรณาการ) หักหัวคิวไปก่อนเลย 20% พอโครงการลงไปในพื้นที่จริง ก็โดนหักหัวคิวอีกยุ่บยั่บจากผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ รายละ 5 แสนบ้าง 1 ล้านบ้าง ตามแต่ขนาดอิทธิพลที่แต่ละคนมี ถ้าจัดสรรไม่ดี มีโอกาสเข้าพื้นที่ไม่ได้   หลายรายที่ถูกฆ่า ถูกเผาอุปกรณ์ก่อสร้างก็มาจากเหตุนี้ ไม่ใช่ฝีมือขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ไหน

หน่วยงานพัฒนาฝ่ายพลเรือนที่เข้าไป ก็รุมทึ้งงบกันต่อ ชาวบ้านเล่าว่างบ 15 ล้าน เหลือทำโครงการจริงๆ แค่ครึ่ง แถมหลายๆ พื้นที่ก็ทำโครงการก่อสร้างโดยที่ชาวบ้านไม่ได้เห็นด้วย

อย่างอำเภอหนึ่งในปัตตานีที่พูดถึงนี้ ไปขุดบ่อกักเก็บน้ำในพรุแห่งหนึ่ง จุดที่เอาเครื่องจักรกลหนักเข้าไปขุดบ่อ ทำฝาย กลายเป็นจุดที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงสัตว์ ไม่ได้ต้องการบ่อน้ำ แต่หน่วยงานในพื้นที่ก็ชงเรื่องของบ สุดท้ายขุดดินให้เป็นบ่อ ยังเอาหน้าดินไปขายอีกต่างหาก

เมื่องบเหลือแค่ครึ่ง ผลงานการก่อสร้างจึงไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีทางได้คุณภาพ เรื่องจริงจากพื้นที่ที่หลายคนไม่เคยทราบ ก็คือหน่วยงานตรวจสอบการใช้งบเขาแทบไม่เคยลงพื้นที่จริงๆ เลย เนื่องจากมีสถานการณ์ความไม่สงบ วิธีการตรวจสอบจึงให้ผู้รับผิดชอบหอบแฟ้มและรูปถ่ายไปทำพิธีกรรมกันที่หาดใหญ่ ผู้รับเหมากับผู้รับผิดชอบโครงการก็เลี้ยงดูปูเสื่อกันไป แลกกับลายเซ็นว่าตรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว

เจ้าหน้าที่น้ำดีหลายคนในพื้นที่บอกว่า งานก่อสร้างในพื้นที่ถ้าตรวจสอบกันตามมาตรฐานจริงๆ ต้องถูกสั่งรื้อเกือบหมด อาคารบางแห่งตามแบบก่อสร้างมี 3 ชั้น สร้างจริงเหลือแค่ 2 ชั้นยังมีเลย

ผอ.หน่วยพัฒนาฝ่ายพลเรือน มีสำนักงานอยู่ที่หาดใหญ่ เมื่อไม่นานมีข่าวฮือฮากันยกใหญ่ว่ามีผู้รับเหมานำกระเช้าไปมอบให้ แต่ยังไม่ทันเดินเข้าไปดันทำปึ๊งธนบัตรหล่น จึงรู้กันว่าในกระเช้ามีแต่แบงก์พัน นับรวมๆ กันได้ถึง 2 ล้านบาท

คิดเล่นๆ ว่าจ่ายใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่ระดับ ผอ.ยัง 2 ล้าน แล้วงบทั้งโครงการจะเหลือเท่าไหร่ ผู้รับเหมาก็ต้องมีกำไร แล้วชาวบ้านจะได้อะไร นอกจากซากโครงการพัฒนา

เรื่องเล่าจากชาวบ้านสอนให้รู้ว่า งบจากโครงการพัฒนา และกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ ทั้งอิทธิพลเก่าแก่อย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. กับอิทธิพลใหม่อย่าง “หน่วยถือปืน” ในนามของผู้รักษาความสงบ หลายๆ ครั้งสร้างความรุนแรงในพื้นที่ มากกว่าขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเสียอีก

 

 

ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท