คุยกับคนรุ่นใหม่: เสรีภาพรอไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตคุณอยู่แล้ว

สัมภาษณ์สองคนรุ่นใหม่ ส่วนหนึ่งของทีมจัดนิทรรศการ 'ปล่อยปีก' Wonders of Freedom ระบุยินดีเปิดพื้นที่ให้หลากหลายความคิดเข้ามาแลกเปลี่ยน พร้อมยันชัด เสรีภาพไม่ใช่สิ่งที่รอได้

เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับนิทรรศการ ‘ปล่อยปีก’ Wonders of Freedom ธรรมชาติสร้างปีก  ปีกสร้างเสรีภาพ เสรีภาพสร้างชีวิต ซึ่งจัดขึ้นบริเวณชั้นหนึ่ง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1ไปจนถึงวันที่ 6 มี.ค. 2559 โดยงานนี้จัดขึ้นภายในนามโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) อันเกิดจากร่วมมือระดมความคิดเห็นของกลุ่มคนรุ่นใหม่หลากหลายกลุ่ม จากการนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยน ถกเถียงถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ปัญหาการเข้าถึงและจัดการทรัพยการ การศึกษา คนชายขอบ การบริโภค และเรื่องเพศสภาพ

จากการพูดคุยถกเถียงของกลุ่มคนที่หลากหลายทั้งทางความคิด และประเด็นปัญหาที่แต่ละกลุ่มจับตามอง นำไปสู่การตกผลึกร่วมกันว่า ใจกลางปัญหาทั้งหลายในสังคมไทยคือ การที่เรามีพื้นที่ของเสรีภาพน้อยเกินไป และอนาคตของประเทศกำลังถูกฝากไว้ในมือผู้ใหญ่แต่เพียงฝ่ายเดียว

ประชาไทพูดคุยกับสองคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในทีมผู้จัดนิทรรศการ ถึงความเป็นมาของการจัดกิจกรรม ความคาดหวังจากกิจกรรม รวมทั้งพูดคุยถึงความคิดเห็นเรื่องเสรีภาพ เหตุใดเสรีภาพจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจรอได้ และทำไมประเทศนี้จึงไม่ควรฝากไว้ในมือของผู้ใหญ่

00000

ภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ Show Proud

ยุทธนา ลุนสำโรง หรือ ต้อม หนึ่งในทีมผู้จัดงานเล่าถึงที่มาที่ไปของงานนิทรรศการครั้งนี้ว่า เริ่มต้นจากการที่คนรุ่นใหม่ที่มาจากฐานของมูลนิธิโกมล คีมทอง และฐานของโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และจากกลุ่มกิจกรรมอื่นๆ ได้มีโอกาส มีเวลามาร่วมเรียนรู้ร่วมกัน จนเกิดเป็นเครือข่ายคนรุ่นใหม่ ที่รวมทั้งนักกิจกรรม นักศึกษา หนอนหนังสือ ศิลปิน นักดนตรี และคนหนุ่มสาวที่เริ่มตั้งคำถามถึงปัญหาสังคมในด้านต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เมื่อรวมตัวกันได้เป็นเครือข่ายคนรุ่นใหม่ จึงเห็นพลังและศักยภาพบางอย่างที่จะทำอะไรร่วมกันได้

ต้อมเล่าให้ฟังต่อไปว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มาเจอกันมีความแตกต่างหลากหลายมาก มีทั้งกลุ่มที่จับตาในประเด็นการเข้าถึงและจัดการทรัพยากร เรื่องเพศและสุขอนามัยเจริญพันธุ์ เรื่องประชาธิปไตย การเมือง และสิทธิมนุษยชน เรื่องการศึกษา กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นนี้นอกจากจะมีความหลากหลายในเชิงประเด็นแล้ว ก็ยังมีความหลากหลายในทางการเมืองด้วย แต่มีสิ่งหนึ่งที่เห็นร่วมกันคือเรื่องของเสรีภาพ จึงได้ร่วมลงแรงจัดนิทรรศการครั้งนี้ขึ้น โดยใช้ธีม เสรีภาพ เป็นตัวเดินเรื่องแล้วเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

สำหรับที่มาของการตั้งชื่อนิทรรศการว่า ‘ปล่อยปีก’ นั้น กชกร ความเจริญ หรือ บิ๊ว หนึ่งในทีมจัดนิทรรศการเล่าถึงที่มาชื่อว่ามาจาก สถานการณ์ปัจจุบันปีกของเสรีภาพไม่สามารถขยับได้ถนัดนัก และมีคนส่วนหนึ่งในสังคมมองว่า การมีเสรีภาพมากเกินไปในสภาวการณ์ช่วงนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก พวกเขาจึงอยากเปิดพื้นที่โดยการปล่อยปีก และทำให้เห็นว่าการมีเสรีภาพดีอย่างไร

กิจกรรมที่เป็นไฮไลต์ภายในนิทรรศการ บิ๊วเล่าให้ฟังว่า ในวันที่ 6 มี.ค. จะมีการโต้วาทีระหว่างทีมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในญัตติเรื่อง “เสรีภาพไม่ต้องมีแค่ชีวิตสงบดีก็เพียงพอ” นอกจากนี้ยังมี Workshop ห้องเรียนจำลอง ห้องเรียนแบบใหม่ที่ทำลายโครงสร้างการสอนแบบเดิม เพราะเป็นห้องเรียนที่ผู้สอนไม่ได้มีหน้าที่ให้ความรู้ หากแต่เป็นผู้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เรียนเท่านั้น โดยห้องเรียนจำลองนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 5 มี.ค. เวลา 15.00-16.30 เปิดพูดคุยเรื่องค่านิยม 12 ประการ และจัดอีกครั้งในวันที่ 6 มี.ค. เวลาเดิมในหัวข้อเรื่อง ข่มขืน=กับประหาร โดยกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการผู้ศึกษาเปรียบเทียบระบบการศึกษาไทยและฟินแลนด์ กับหลักสูตรการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม เป็นอาจารย์ทั้งสองห้องเรียน และนอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาอีกหลายเวทีที่จะชักชวนพูดคุยเรื่องเสรีภาพในด้านต่างๆ

“จริงๆ แล้วกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการจะสื่อสารด้วยคือ คนทั่วไปในสังคม ที่ไม่ต้องเป็นนักกิจกรรมมาก่อน แต่มีความสงสัยในเรื่องเสรีภาพ ทำไมบางคนบอกว่าเสรีภาพดี ทำไมบางคนบอกว่าไม่ดี เราก็อยากจะชวนเขามาแลกเปลี่ยนกันในงาน คือคิดไม่ต้องเหมือนกันก็ได้ แต่อยากให้มาคุยกัน” บิ๊วกล่าว

เสรีภาพรอก่อนไม่ได้หรือ

มีความเชื่อของคนจำนวนหนึ่งของคนในสังคมไทยที่เห็นว่า เสรีภาพไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ ทว่ารอก่อนได้ไหม เพราะสถานการณ์ในช่วงเวลานี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่ปกติ ต้อมบอกเราถึงความเชื่อแบบนั้นว่า เสรีภาพเป็นสิ่งที่รอไม่ได้เพราะมันอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว ส่วนบิ๊วเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันต่อว่า ที่ว่าสถานการณ์ไม่ปกตินั้นไม่ปกติเพราะอะไร ต้องคุยกับให้ลึกลงไปอีก

“สุดท้ายแล้วเนี่ย เรายังยืนยันว่าเสรีภาพมันเป็นสิ่งที่รอก่อนไม่ได้ เพราะคำว่าเสรีภาพมันไม่ได้ผูกติดกับประเด็นทางการเมืองอย่างเดียวเท่านั้น มันอยู่ในทุกส่วนของชีวิต ถามว่าวันนี้การที่คุณไปไหนก็ได้โดยที่ไม่มีใครจับตัวคุณไว้มันเรียกว่าเสรีภาพหรือเปล่า การที่คนเดินออกไปแล้วเห็นว่ามีอาหารหลากหลายอย่างแล้วคุณสามารถเลือกกินได้ โดยไม่มีใครมาปิดกั้นทางเลือก มันคือเสรีภาพหรือเปล่า สุดท้ายมันอยู่ในชีวิตคุณอยู่แล้ว” ต้อมกล่าว

แม้แต่การจัดการพูดคุยเรื่องเสรีภาพเองก็ยังมีความเป็นห่วงเรื่องบางเรื่องจากเจ้าหน้าที่ทหาร บิ๊ว ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่จัดงานวันแรกได้มีเจ้าหน้าที่ทหารมาเยี่ยมเยือน โดยเข้ามาแสดงความเป็นห่วงในบางประเด็นเช่นการโต้วาที และเวทีอื่นๆ ว่าอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้ง จนต้องทำให้เจรจาพูดคุยอธิบายรายละเอียดให้ฟัง เจ้าหน้าที่จึงอนุญาตให้จัดกิจกรรมต่อไปได้

เมื่อถามถึงสโกแลนของการจัดงาน ซึ่งมีตอนหนึ่งที่ระบุว่า ‘ประเทศนี้ไม่ฝากไว้กับผู้ใหญ่เท่านั้น’ บิ๊วตอบว่า ผู้ใหญ่ หรือคนรุ่นใหม่ก็เป็นคนคนหนึ่งเท่ากันในสังคม ช่วงที่เรายังเป็นเด็ก หรือเป็นคนรุ่นใหม่ ก็เป็นช่วงทีมีการพัฒนาความคิดหลายๆ อย่าง ผู้ใหญ่บางคนอาจจะเห็นว่า เราเป็นเด็ก ความคิดยังไม่นิ่งพอ หรือยังโตไม่พอ แล้วมาปิดพื้นที่ในการแสดงความคิด ปิดพื้นที่เสรีภาพ อย่างนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

“เราอาจจะผิด หรือผู้ใหญ่อาจจะผิด หรืออาจจะถูกทั้งคู่ แต่ถูกคนละทาง แต่ตรงนี้ควรจะเปิดพื้นที่ให้ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ไม่ใช่มาปิดกั้นกันอย่างไม่มีเหตุผล” บิ๊วกล่าว

คลิกชมวิดีโอ 'ปล่อยปีก' คืออะไร? ที่นี่

ติดตามต่อได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Show Proud

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท