ฉะร่าง พ.ร.บ.แร่ เซ็นเช็คเปล่าให้อำนาจรัฐ ตัดการมีส่วนร่วม ปชช.

กสม.จัดรับฟังข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... นักกฎหมายและนักวิชาการสิ่งแวดล้อมชี้ พ.ร.บ.ใหม่ เหมือนเซ็นเช็คเปล่าให้รัฐ ไว้ใจอำนาจรัฐมากเกินไปว่าจะไม่ละเมิดสิทธิประชาชน เน้นเศรษฐกิจเป็นหลักโดยไม่สนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซ้ำไม่มีเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

4 พ.ค. 2559 เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุม 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีการจัดรับฟังข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะอนุกรรมการด้านเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎเพื่อส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และมหาวิทยาลัยรังสิต 

สุรชัย ตรงงาม กรรมการและเลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับนี้ 1.กำลังสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายลูกหลายฉบับ โดยมีความเชื่อมั่นว่าผู้ที่ออกกฎหมายจะเคารพสิทธิและปกป้องสิทธิของประชาชน เป็นการเผชิญโชคมากเกินไป 2.หลักการมีส่วนร่วมมีเพียงใน มาตรา 53 ที่ให้มีการติดประกาศการขอประทานบัตรไม่น้อยกว่า 30 วัน เมื่อครบกำหนดเวลาให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่หรือเจ้าหนักงานท้องถิ่น จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งหลักการสำคัญหลายเรื่องในทางกฎหมาย ให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ไปออกกฎเกณฑ์ในรายละเอียดจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและต่อสิทธิการมีส่วนร่วมหรือการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน

สุรชัย กล่าวยกตัวอย่างมาตรา 13 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจนำพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง มาประกาศประมูลแหล่งแร่ในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ผู้ชนะการประมูลได้สิทธิในการสำรวจแร่และทำเหมืองในพื้นที่นั้น วรรค 2 เขียนว่า หลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการประมูล และการยกเลิกการประมูล ตลอดจนการให้ประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนดตามคำแนะนำของกรรมการ ในทางกฎหมาย มาตรานี้เปรียบเหมือนเป็นการเขียนเช็คเปล่า พูดง่ายๆ ว่าประชาชนจะต้องเชื่อว่าราชการและคณะกรรมการเหล่านี้มีความสุจริตเป็นที่ตั้งในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้

หรือในมาตรา 28 ที่มีเนื้อหาว่า เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการทำเหมือง การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดมาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยมลพิษ หรือสิ่งอื่นใดที่อาจมีการกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการทำเหมือง การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม และหลักเกณฑ์หรือวิธีการให้ความคุ้มครองแก่คนงานและความปลอดภัยแก่บุคคลภายนอก พูดง่ายๆ คือให้รัฐมนตรีฯ มีอำนาจกำหนดมาตรฐาน ดังนั้น ลองนึกว่าการออกประกาศหรือระเบียบเหล่านี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยแม้จะมีการกำหนดค่ามาตรฐานไว้ก็จริง แต่ทางปฏิบัติมีปัญหา ดังนั้นค่ามาตรฐานไม่ใช่ตัวหลักประกันทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การใช้อำนาจออกมาตรฐานหรือวิธีการควบคุมทั้งหมดควรถูกตรวจสอบได้ และมีหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม และสิ่งสำคัญคือควรคำนึงถึงสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน ซึ่งไม่มีสิทธินี้ใน พ.ร.บ.แร่

ส่วนมาตรา 124 ให้อำนาจทางปกครองกับหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ หากพบว่ามีการกระทำที่ทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแลสุขภาพ ก็สามารถสั่งให้แก้ไข สั่งพัก ระงับ หรือเพิกถอนได้ อันนี้เป็นหลักการที่ดี แต่ผมมีความเห็นว่า ตามมาตรา 124 วรรค 3 ถ้าผู้ประกอบการไม่ปรับปรุงแก้ไขหรือการประกอบกิจการอาจทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษหรือรุนแรง อันเป็นเหตุให้อันตรายแก่ชีวิต สุขภาพ หรือทรัพย์สินของประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมโดยไม่อาจแก้ไขได้ ตรงนี้เป็นปัญหาเชิงคดีอย่างมากในทางเทคนิค เพราะข้อคิดเห็นทางวิชาการไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ ดังนั้น การเติมเงื่อนไขว่า ‘ไม่อาจแก้ไขได้’ ลงไปนั้นใน มาตรา 124 จะทำให้การดำเนินกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงยังดำเนินไปได้จนกว่าจะถูกคำสั่งเพิกถอนอาญาบัตรหรือใบอนุญาต

ด้าน สมิทธ์ ตุงคะสมิต นักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.... นี้คล้ายเหมือนเป็นการตัดแปะ เพราะที่สุดแล้วเจตจำนงของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับนี้ยังมองว่า แร่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องหิน ดินทราย ดีบุก แต่ยังรวมไปถึงทองคำ น้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่อง พ.ร.บ.ขุมสมบัติชาติ

ในมุมมอง พ.ร.บ.แร่ ในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้เชื่อมโยงกับเรื่องผังเมืองหรือสาธารณะสุข พ.ร.บ.นี้แยกส่วนกับเรื่องอื่นโดยสิ้นเชิง เพราะกรณีของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ต่างๆ มันเกิดจากช่องว่างของกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.แร่ พูดถึงการออกประทานบัตร เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ส่วนเรื่องของการดูแลประชาชน การชดเชยให้ประชาชน ไม่มีการระบุอย่างชัดเจน ในแง่ของการตีความก็มีความตีความหลากหลายไม่มีความชัดเจนในตัวบทกฎหมาย เป็นปัญหาแรกที่เห็นจากฐานะที่ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่สนใจประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม

สมิทธ์ กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ขาดเอกภาพ เพราะให้น้ำหนักกับเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก จะเห็นชัดเจนว่าในมาตรา 9 ใน พ.ร.บ.แร่ ฉบับนี้ ที่ห้ามไม่ให้ทำเหมืองในพื้นที่ที่แผนแม่บทบริหารแร่กำหนดให้มีการสงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้ แต่มีข้อยกเว้นว่า ‘เว้นแต่มีความจำเป็นในทางเศรษฐกิจและไม่สามารถหาพื้นที่อื่นทดแทนได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี’ ซึ่งการเขียนแบบนี้ สมิทธ์เห็นว่าเหมือนกับการให้ตรงไหนเป็น Mining Zone ก็ได้ ถ้ามีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และอะไรคือตัวชี้วัดความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ไปอยู่ที่นักวิชาการ คนถืออำนาจเรื่องแหล่งแร่กำหนด ดังนั้น องค์ความรู้ไม่ได้ถูกนำมาให้ปรากฏแก่สาธารณชน

“ในส่วนที่มอบหมายให้รัฐจัดการ โดยขึ้นอยู่กับกระทรวง 2 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากร และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้พัฒนาแผนแม่บทในการจัดการแร่นั้น คิดว่าเป็นกระบวนการที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก ดังนั้น เมื่อพูดถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนมันจึงยาก เพราะเป็นการจัดการรวมศูนย์และเป็นเจตนารมณ์ของคนบางกลุ่ม พ.ร.บ.ชุดนี้จึงไม่มีการกระจายอำนาจให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนจัดการหรือรู้เห็นว่าลายแทงสมบัติมีอะไรบ้าง อยู่ตรงไหน ถ้าจะอ้างเรื่องความมั่นคง ก็มองว่ายิ่งประชาชนรู้มากก็จะยิ่งมั่นคง ไม่มีหมวดไหนเลยที่กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” สมิทธ์ กล่าว

ขณะที่ประเด็นการตั้งคณะกรรมการแร่ ภาพรวมการจัดการแร่ยังอยู่แค่ 2 กระทรวงหลัก องค์ประกอบของคณะกรรมการแร่ส่วนใหญ่เป็นราชการและนักวิชาการมากกว่าประชาชน ดังนั้น ควรมีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการให้มีสัดส่วนที่มีประชาชนและนักวิชาการหลายส่วนที่เกี่ยวข้องมากกว่านี้  ทำให้บทบาทหรือข้าราชการประจำลดลงมากกว่านี้ โดยในบทเฉพาะกาลเขียนไว้ว่า ในกรณีที่ยังไม่มีการแต่งตั้งคระกรรมการแร่ที่เป็นคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญภายใน 180 วัน ให้คนที่ทำหน้าที่อยู่ภายใน ซึ่งก็คือคนที่เป็นข้าราชการประจำทำหน้าที่เสมือนเป็นคณะกรรมการแร่ได้เลย ซึ่งระยะเวลา 180 วันหรือ 6 เดือน สามารถทำอะไรได้มากมาย เช่นการไม่แต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นภาคประชาชนเข้าไปนั่งในกรรมการแร่ ก็สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เป็นต้น

สมิทธ์ ขยายความว่า การกระจายอำนาจมี 2 ส่วน ในส่วนที่ให้ออกอาชญาบัตรกับในส่วนที่ให้อนุญาตทำเหมือง เจตนารมณ์จริงๆ คือทำเพื่อบริษัทเหมือง การให้ขออนุญาตทำเหมืองไม่เกิน 100 ไร่ สามารถขอโดยอาศัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ขณะที่ปัจจุบันภาคประชาชนมีความขัดแย้งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างรุนแรงอยู่ ความน่าเป็นห่วงในมาตรา 50 กับมาตรา51 ก็คือแปลงเล็กที่ขอเป็นประเภท 1 ซึ่งน้อยกว่า 100 ไร่ สามารถมารวมเป็นแปลงใหญ่ได้โดยการบริหารจัดการ หมายความว่าผู้ขอประทานบัตรสามารถขอเป็นแปลงย่อยแล้วไปรวมเป็นแปลงใหญ่ได้ และสามารถใช้ Nominee ในพื้นที่เพื่อขออนุญาตอาชญาบัตรหรือการขออนุญาตสำรวจแร่ แล้วจึงไปขอประทานบัตรหรือใบอนุญาตสำหรับทำเหมืองที่มีอายุ 30 ปี และเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ มารวมกันเป็นแปลงใหญ่ได้

สมิทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาชัดเจนว่าเราสู้เพื่อดูแลสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ต่างๆ ได้น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ทั้งสิ้น อย่างที่สู้เรื่องเหมืองทองคำที่จังหวัดพิจิตร แทนที่เราจะสามารถอ้างอิง พ.ร.บ.ฉบับเก่าได้ ทั้งที่ในมาตรา 133 ให้สันนิษฐานว่าความผิดหรือสิ่งที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวเกิดจากการกระทำของผู้ได้รับอนุญาตรายนั้น แม้ว่ากฎหมายเขียนไว้ชัดเจนแล้ว ก็ยังไม่สามารถใช้บังคับได้

“ในส่วนของการฟื้นฟูไม่มีการเขียนเรื่องการฟื้นฟูแหล่งแร่ ไม่มีการยกเรื่องการฟื้นฟูในส่วนที่ทำแร่ไปแล้ว ไม่ว่าจะกรณีคลิตี้ เหมืองแร่เหมืองเลย หรือเหมืองทองคำที่พิจิตร โดยพื้นที่ที่เป็นบ่อเก็บกากแร่อย่างพิจิตร มองจากภาพถ่ายทางอากาศเห็นว่าเป็นเนื้อที่ 2,000 กว่าไร่ ตรงนั้นทำการเกษตรไม่ได้แล้ว จะต้องใช้เทคโนโลยีอะไรมาบำบัด ต้องใช้เงินเท่าไหร่ หรือค่าภาคหลวงที่เก็บก็ฟื้นฟูไม่ไหวอยู่ดี เพราะการสลายโลหะนานมาก การขุดโลหะหนักขึ้นมาแล้วกองไว้ คิดดูว่าจะสร้างผลกระทบมากขนาดไหนให้แก่พื้นที่บริเวณนั้น” สมิทธ์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท