Skip to main content
sharethis

'เลาฟั้ง' สส.ชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล ส่องงบ 6 หน่วยงานแก้ปัญหาที่ดินปี'67 น้อยจนต้องถามหาความจริงใจ เกษตรกรไร้เอกสารสิทธิ์เสี่ยงเผชิญ 2 วิกฤต เอลนิโญ-EUDR พร้อมเสนอแนะต้องเปลี่ยนวิธีจัดสรรงบฯ ใหม่ ให้ชาวบ้านเข้าถึงสิทธิที่ดินทำกินอย่างทั่วถึง

 

5 ม.ค. 2567 ยูทูบ TPchannel ถ่ายทอดสดออนไลน์วานนี้ (4 ม.ค.) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญที่ 2) ประจำวันที่ 4 ม.ค.2566 ที่รัฐสภา เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่าเขาไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 เนื่องจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขที่ดิน ไม่ตอบโจทย์การแก้ไขวิกฤตของประชาชนได้จริง

ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำคนไร้สิทธิที่ดินทำกิน

เลาฟั้ง ยกกรณีของ 'แสง' (นามสมมติ) วัยกลางคน รายหนึ่ง เธออาศัยที่บ้านแม่เลาะ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เธอและสามีมีบุตรด้วยกัน 4 คน มีอาชีพเป็นเกษตรกร มีที่ดิน 2 แปลง แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื่องจากอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ครอบครัวแสงและสามีปลูกข้าว และถั่วเหลือง ไว้กินและขายเป็นเงินสำหรับเลี้ยงดูครอบครัว

ในปี 2558 คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) มีนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” เจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารสนธิกำลังเข้าตรวจยึดที่ดินของชาวบ้านที่หมู่บ้านแม่เลาะ และที่ดินของแสง ถูกยึดไป 1 แปลง โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นพื้นที่บุกรุกป่า เมื่อเหลือที่ดินทำกินแปลงเดียว แสงจึงใช้ปลูกถั่วเหลือง เพื่อนำเงินไปซื้อข้าว แต่ปลูกได้เฉพาะหน้าฝนเท่านั้น เนื่องจากไม่มีนา เมื่อไม่สามารถที่จะปลูกได้และขายได้เงินน้อย ประกอบกับลูกสาวคนโตป่วยเป็นโรคไต และต้องพาไปฟอกไตที่จังหวัดเชียงใหม่ เดือนละ 1 ครั้ง ทำให้แต่ละเดือนต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น สามีของแสง ต้องไปทำงานรับจ้างในจังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้เวลาได้ผ่านไป 8 ปี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่ดินที่ถูกยึด เหมือนว่าจะถูกยึดถาวร ที่ดินที่เหลืออยู่ไม่มีท่าทีว่าจะได้รับเอกสารสิทธิ์ ไม่มีระบบชลประทานทำให้หน้าแล้งไม่มีน้ำ ไม่มีการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ

เลาฟั้ง ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นของแสง เกี่ยวอะไรกับงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลที่เรากำลังพูดถึงนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวชาติพันธุ์หมู่บ้านแม่เลาะไม่ได้เกิดขึ้นกับคนโชคร้ายเพียงบางคน หากแต่มีคนไทยจำนวนมากกว่า 2 ล้านครอบครัวกำลังตกอยู่สถานการณ์เดียวกับแสง และครอบครัว 

ไม่ได้มีแค่ชาติพันธุ์บ้านแม่เลาะคนเดียว

เลาฟั้ง กล่าวต่อว่า ข้อมูลที่ปรากฏอย่างเป็นทางการขณะนี้มีคนไทยที่ถือครองที่ดินอยู่อาศัย และทำกิน โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งรัฐเรียกว่าบุกรุกป่าจำนวน 16.7 ล้านไร่ สำหรับกลุ่มที่มีสถานะดีขึ้นมาหน่อย มีโอกาสที่จะได้รับเอกสารสิทธิ์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ไปทำให้ คือกลุ่มที่ถือเอกสาร สค.1 จำนวน 1.5 ล้านไร่ และกลุ่มที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน 14 ล้านไร่ และกลุ่มไร้ที่ดิน 120,000 ครอบครัว สถานะนี้ทำให้พวกเขาเหมือนบุกรุกป่าในที่ดินของตัวเอง เขาสามารถถูกตรวจยึดและดำเนินคดีเมื่อไรก็ได้ 

“แสงไม่ได้โชคร้าย แต่เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการละเลย หรือจงใจของผู้มีอำนาจ นี่เป็นวิกฤตของคนจน คนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่เคยถูกมองเห็น” เลาฟั้ง กล่าว

จริงใจแก้ไขปัญหาออกเอกสารสิทธิ์หรือไม่ ลองดูที่งบฯ

เลาฟั้ง ระบุต่อว่า เราจะดูว่ารัฐบาลจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ไม่มีเอกสิทธิ์หรือไม่ ต้องดูที่งบฯ จัดทำเอกสารสิทธิ์แก่ประชาชนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ถ้าตั้งน้อย หรือสอดไส้ แสดงว่ารัฐบาลตั้งใจที่จะไม่ทำ

เลาฟั้ง ตรวจสอบเอกสารงบประมาณที่เกี่ยวกับที่ดินกระจายอยู่อย่างน้อย 6 หน่วยงาน พบปัญหาว่าบางหน่วยงานได้งบฯ น้อยมาก ขณะเดียวกัน หน่วยงานอย่าง กรมที่ดิน ได้งบประมาณเยอะ แต่งบฯ ที่เกี่ยวกับการรังวัดที่ดิน และออกเอกสารสิทธิ์กลับมีน้อย และถูกแบ่งเป็นงบฯ ก่อสร้างอาหาร ทำให้มีความเคลือบแคลงเรื่องการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน จะสามารถทำได้จริงหรือไม่

ยกตัวอย่าง กรณีกรมที่ดิน มี 2 โครงการ 1. โครงการออกโฉนดที่ดิน งบประมาณ 220 ล้านบาท และ 2. โครงการจัดที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 149 ล้านบาท รวม 369 ล้านบาท ซึ่งเหมือนจะเยอะ แต่งบฯ ใช้สำรวจรังวัดและจัดทำที่ดินทำกิน แก้ไขปัญหาที่ดิน มีแค่ 235 ล้านบาท หรือ 68% ที่เหลือเป็นงบก่อสร้าง

โครงการจัดที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปกติใช้จัดที่ดินให้ชาวบ้านเพียง 32 ล้านบาท หรือ 21% ของงบฯ เท่านั้น ที่เหลือ 79 % เอาไปใช้ก่อสร้าง นอกจากนั้นเมื่อดูสถิติเทียบย้อนหลังก็ชวนให้ตั้งคำถาม เพราะงบฯ ปี 2567 ถูกตั้งไว้กว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่กลับลดพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการลง

เลาฟั้ง ระบุต่อว่า เมื่อดูจำนวนการออกโฉนดที่ดินของกรมที่ดินที่ผ่านมา จำนวนเอกสาร และโฉนดที่ดิน เพิ่มขึ้น 3.2 ล้านแปลง แต่ตัวเลขพื้นที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แสดงว่าการออกโฉนดที่ดินทำแต่เพียงการรังวัด เพื่อซอยแบ่งแปลงโฉนดเดิม อาจเพื่อทำบ้านจัดสรร แบ่งมรดกที่ดิน และซอยที่ดินเพื่อแบ่งขาย ไม่ได้รังวัดสำรวจที่ดินเพื่อออกโฉนดรายใหม่ให้กับประชาชนที่ต้องการ

ธนาคารที่ดิน ความหวังคนจน ได้งบฯ ไม่ถึงครึ่ง

สำหรับธนาคารที่ดิน หรือสถาบันบริหารจัดการที่ดิน (บจท.) ถือเป็นความหวังของคนจนที่มีจำนวนมากกว่า 620,000 ครอบครัว ให้สามารถเข้าถึงสิทธิในที่ดิน และเป็นกลไกป้องกันให้ที่ดินเกษตรกรไม่หลุดไปยังนายทุน แต่เมื่อดูร่างแผนงบประมาณแล้วตั้งงบฯ 500 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายดำเนินการ 15 พื้นที่ ดูเหมือนเยอะ แต่เมื่อดูจากยุทธศาสตร์ 5 ปีของ บจท. แล้ว งบกลับไม่ถึงครึ่งหนึ่งตามยุทธศาสตร์ที่ บจท.วางไว้

สส.ชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า ธนาคารที่ดินมีความสำคัญในการกระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชน เพราะฉะนั้น ควรได้รับเงินสนับสนุนอย่างเพียงพอจากรัฐบาล อย่างน้อยต้องตั้งงบประมาณสมทบธนาคารที่ดินไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทตามยุทธศาสตร์ของ บจท. ถ้ายังตั้งงบฯ น้อยอย่างนี้จะเป็นความหวังของคนจนได้อย่างไร

งบฯ กรมป่าไม้-อุทยาน เน้นสร้าง แล้วประชาชนอยู่ไหน

เลาฟั้ง ระบุว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานที่มีที่ดินที่ต้องดำเนินการเร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชนให้มากที่สุด 16.7 ล้านไร่เป็นอย่างน้อย เป็นกลุ่มที่ถูกจัดเป็นผู้บุกรุกป่าในที่ดินของตัวเอง และไร้ซึ่งสิทธิทั้งปวง ขณะนี้นโยบายอนุญาตให้ทำประโยชน์ชั่วคราวแบบมีเงื่อนไข มีลักษณะเดียวกับการเช่าที่ให้เขตป่า ชาวบ้านเรียกว่ามัดมือชก

'กรมป่าไม้' ตั้งงบประมาณแก้ไขปัญหาที่ดิน 1,300 ล้านบาท แต่ถูกสำนักงบประมาณ ตัดเหลือ 292 ล้านบาท หรือได้แค่ 13% ของที่ขอไป ในจำนวนนี้ใช้แก้ไขปัญหาที่ดินจริงๆ 84 ล้านบาท หรือ 28 % งบฯ ส่วนใหญ่ถูกใช้ในการซื้อรถ และก่อสร้าง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินให้ชาวบ้าน

สำหรับกรมอุทยาน ตั้งงบฯ แก้ไขปัญหาที่ดินเอาไว้ 321 ล้านบาท เป็นงบฯ สำหรับเตรียมข้อมูลเพื่อออกหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ 106 ล้านบาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ 250 ชุมชน นอกจากนี้ พบด้วยว่า 214 ล้านบาท หรือ 66% ถูกนำไปใช้ซื้อรถ และก่อสร้าง ที่ไม่เกี่ยวกับออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชน 

เสนอโยกงบฯ ปราบปราม มาแก้ไขปัญหาที่ดิน

เลาฟั้ง กล่าวว่า ส่วนงบฯ ปกป้องและปราบปรามไว้สูงมาก โดยปี 2567 ตั้งรวมกัน 3,722 ล้านบาท สูงกว่างบฯ แก้ไขปัญหาที่ดิน 6 เท่า คำถามคือทำไมไม่เอางบประมาณส่วนนี้ไปไว้ในงบฯ แก้ไขปัญหาที่ดิน เพราะหากสามารถจัดทำรังวัดแนวเขต ออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ประชาชนแล้วเสร็จ ก็จะไม่มีใครสามารถบุกรุกแผ้วถางป่าได้อีกต่อไป

อีกงบประมาณที่อยากให้รัฐบาลทบทวน คืองบฯ ฟื้นฟูป่า 1,160 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายฟื้นฟู 63,000 ไร่ ฟังแล้วเหมือนจะดูดี เพราะจะทำให้ประเทศไทย มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 6 หมื่นไร่ แต่พอไปสืบค้นดู พบว่าพื้นที่เป้าหมายปลูกป่านั้นไปโผล่ในพื้นที่ดินทำกินของชาวบ้าน นี่คืองบประมาณแย่งยึดสิทธิของชาวบ้านนี่เอง

กระทรวงเกษตรฯ งบออก สปก. เปลี่ยน สปก.เป็นที่ดินการเกษตร น้อย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบในที่ดิน สปก. และนิคมสหกรณ์ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ได้ตั้งงบประมาณเกี่ยวกับการออก สปก.ทั้งหมด 186 ล้านบาท ในการดำเนินการในพื้นที่ สปก.มี 2 ประการ การเปลี่ยน สปก.ให้เป็นโฉนดการเกษตร ตามนโยบายของรัฐบาล และดำเนินการรังวัดเพื่อออก สปก.รายใหม่ มีทั้งหมด 14 ล้านไร่ทั่วประเทศ ขณะที่การเปลี่ยน สปก.ให้เป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร ไม่พบการตั้งงบประมาณไว้ สำหรับดำเนินการเป็นการเฉพาะ 

การรังวัดและออก สปก.ใหม่ให้กับประชาชนนั้นควรร่างแผนงบประมาณไม่ได้กำหนดชัดว่าตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการกี่ราย กี่แปลง หรือใช้งบประมาณเท่าไร หมายความว่าการเปลี่ยน สปก.ให้เป็นโฉนดการเกษตร การออก สปก.รายใหม่ การตรวจสอบที่ดิน สปก. ล้วนอยู่ในงบประมาณก้อนนี้ทั้งหมด และเฉลี่ยแล้วตกจังหวัดละ 2.4 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่น้อย รัฐบาลจะเปลี่ยนโฉมหน้า สปก.ให้มีสถานะเทียบเท่ากับโฉนด แต่ตั้งงบฯ ไว้น้อย คำถามคือตกลงจะทำจริงหรือเปล่า

นอกจากนี้ เลาฟั้ง อภิปรายถึงปัญหางบฯ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ได้งบฯ แก้ไขที่ดินทำกินในนิคมสหกรณ์ น้อยมาก โดยได้ 2.2 ล้านบาท จาก 13 แห่ง

ทำ One Map ล่าช้า

หน่วยงานที่ 5 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ตั้งงบฯ 19 ล้านบาท สำหรับทำการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ ที่เรียกว่า "One Map" การปรับปรุงแผนที่ One Map เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานราชการ และประชาชน โดยเฉพาะกรณีที่มีแนวเขตที่ทับซ้อนกับป่า เช่น แนวเขตปฏิรูปที่ดินทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เจ้าหน้าที่จะไม่ไปออก สปก.ให้ หากไม่มีการเพิกถอนพื้นที่แนวเขตป่าส่วนที่ทับซ้อนเสียก่อน ซึ่งความจริงแล้ว ตามแผนปฏิบัติเดิม ต้องทำให้แล้วเสร็จ พ.ศ. 2535 แต่ปัจจุบัน ผ่านไปแล้ว 7 ปี ใช้งบประมาณแล้ว 5 พันล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จ 33 จังหวัด เฉลี่ยแล้วใช้งบฯ 178 ล้านบาท 

ข้อสังเกตก็คือว่าช่วงที่ผ่านมาทำงานช้ากว่ากำหนดมาก แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่อยากให้แล้วเสร็จ เพราะการทำแผนที่ One Map ประชาชนได้ประโยชน์ แต่ผู้มีอำนาจและนายทุนที่ดินเสียผลประโยชน์ เมื่อดูร่างแผนงบประมาณ 2567 รัฐบาลกำหนดเป้าหมายเพียง 27 จังหวัด ทั้งที่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้ทั่วประเทศเลยก็ได้ เพราะการทำแผนที่ One Map ใช้วิธีการบูรณาการให้แต่ละจังหวัด โดยผู้ว่าฯ เป็นเจ้าภาพ บูรณาการทำจังหวัดใครจังหวัดมัน ที่เหลือ 40 กว่าจังหวัด สามารถทำได้พร้อมๆ กันเลยก็ได้ ไม่ต้องรอ หรือรัฐบาลนี้ไม่ต้องการทำให้แล้วเสร็จเช่นกัน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ผู้มีอำนาจหรือนายทุนที่ดิน

ชาวบ้านไร้เอกสารสิทธิ์ เสี่ยงเผชิญ 2 วิกฤตเอลนิโญ-ระเบียบโลกใหม่ 'EUDR' 

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า การออกเอกสารสิทธิ์ให้ประชาชนล่าช้า นอกจากประชาชนสูญเสียโอกาสการใช้ที่ดิน และการช่วยเหลือจากรัฐ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ต้องเผชิญวิกฤตที่ดินอย่างน้อย 2 ประการ 

1. วิกฤตภัยแล้งจากปรากฏการณ์ เอลนิโญ ที่รุนแรงและต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ปี และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ เกษตรกร และรัฐจะจำกัดการช่วยเหลือเฉพาะที่ๆ มีเอกสารสิทธิ์ สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์กว่า 30 ล้านไร่ และไม่มีโอกาสเข้าถึงโครงความช่วยช่วยเหลือจากภาครัฐ

2. วิกฤตระเบียบโลกใหม่ด้านสิ่งแวดล้อม จะไม่อนุญาตให้มีการค้าขายสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า ซึ่งหมายความรวมถึงผลผลิตที่มาจากที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ด้วย

เมื่อเดือน มิ.ย. 2566 สหภาพยุโรป ได้ประกาศปลอดสินค้าที่มาจากการทำลายป่า เรียกว่า EUDR (กฎระเบียบที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป) กำหนดให้การนำเข้าสินค้า 7 ประเภท ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์จากสินค้าแปรรูป ต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า หรือมาจากพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์

จากการศึกษาของธนาคารกรุงศรีฯ ระบุว่า กฎหมาย "EUDR" จะกระทบภาคการเกษตรของไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสินค้า 7 ประเภทนี้ ซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 64,000 ล้านบาท เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมของไทยจำนวนมากไม่มีเอกสารรับรองสิทธิ์

เร่งรัดการทำเอกสารสิทธิ์ ลดงบฯ รายจ่ายไม่จำเป็น 

สส.ชาติพันธ์ุ ระบุว่า เขามีข้อเสนอถึงรัฐบาลดังนี้

ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์

  • กรณีที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ให้เพิ่มงบฯ สำหรับจัดซื้อเครื่องมือสำหรับรังวัดจัดทำแนวเขตที่ดินทันสมัย
  • เพิ่มงบฯ ลงพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการให้สามารถลงพื้นที่ ที่สำคัญที่สุดต้องตัดงบฯ ซื้อรถยนต์และงบที่ไม่จำเป็นออก แก้ไขปัญหาที่ดิน แต่เอาไปสร้างอะไรที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน

ไร้ที่ดินทำกิน

  • กรณีช่วยเหลือคนไร้ที่ดิน 620,000 ครอบครัว ให้ตั้งงบประมาณสำหรับเร่งรัดออก พ.ร.บ.จัดตั้งธนาคารที่ดิน พร้อมระเบียบต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 
  • ต้องเร่งตั้งงบประมาณตามยุทธศาสตร์ที่ดิน ของ บจท. อย่างน้อย 1,000-1500 ล้านบาท งบประมาณนี้ถูกกำหนดไว้ในแผน บจท.แล้ว แต่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ สำหรับรัฐบาลชุดนี้ให้เพียงแค่ไม่ถึงครึ่ง

ปัญหาที่ดินทับซ้อน

  • แนวเขตที่ดินทับซ้อน ต้องตั้งงบประมาณให้กระทรวงมหาดไทยเร่งบูรณาการจัดทำแผนที่ One Map ให้แล้วเสร็จ อย่าลืมว่ามีที่ดินของประชาชนที่ถูกพื้นที่ป่าทับจำนวนมาก ถ้าสามารถที่จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ จะทำให้พื้นที่จำนวนมากของประชาชนดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์ได้ 
  • พัฒนาติดตั้งระบบสารสนเทศที่ดินสำหรับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และให้บริการแก่ประชาชน 

"รัฐบาลเคยประกาศนโยบายออกเอกสารสิทธิ์ 50 ล้านไร่ทั่วประเทศ และมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินจริง จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการจัดงบประมาณใหม่ เพราะหากยังจัดสรรงบประมาณแบบเดิม งบฯ แบบเดิมๆ แบบนี้เราคงไม่มีโอกาสที่จะมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เอกสารสิทธิ์ที่ดินที่จะตกถึงมือของประชาชนอย่างถ้วนหน้าได้จริงคงไม่เกิดขึ้น คนชายขอบ คนชาติพันธุ์ คงไม่มีโอกาสที่จะได้รับสิทธิในที่ดินอย่างแท้จริง และวิกฤตที่ดินจะแก้ไขได้อย่างไร" เลาฟั้ง ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net