2 นักสิทธิมองกรณีรัฐยอมถอนข้อสงวนอนุสัญญาว่าด้วยขจัดเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ

รัฐบาลถอนข้อสงวนอนุสัญญาว่าด้วยขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบที่ทำมาตั้งแต่ปี 45 ระบุเป็นพัฒนาการสำคัญของไทยต่อเวทีโลก ด้าน 2 นักสิทธิชี้ไทยยอมปฏิบัติตามหลักการทุกข้อแล้วและอาจออกกฎหมายบังคับ ส่วนผลต่อปัญหาชายแดนใต้มีไม่มาก แต่แนะรัฐควรตรวจสอบและหยุดยั้งบุคคล-หน่วยงานรัฐที่เลือกปฏิบัติต่อประชาชนมลายูมุสลิม

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวกรณีคณะรัฐมนตรีของไทยมีมติถอนข้อสงวนข้อบทที่ 4 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบในการประชุมเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 และมติดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมบางส่วน เช่น ในเพจของเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ (Justice For Peace) หรือ JOP

มตินี้มีความน่าสนใจพอสมควรโดยเฉพาะต่อกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งส่วนหนึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์และที่ผ่านมาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขความรุนแรงในพื้นที่ ดังนั้น มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนี้มีความหมายว่าอย่างไรและจะส่งผลอย่างไร ในมุมมองนักสิทธิมนุษยชนที่ติดตามปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอดมีความเห็นเรื่องนี้

คนแรกคือ นางสาวพุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนไทย จากองค์กรฟอร์ติไฟย์ ไรท์ (Fortify Rights) คนที่สองคือ นาวสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

มติ ครม.ถอนข้อสงวนของอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ
สำหรับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เรื่องการถอนข้อสงวนข้อบทที่ 4 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอก็คือ

1. เห็นชอบให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อบทที่ 4 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ
2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการถอนข้อสงวนข้อบทที่ 4 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบต่อองค์การสหประชาชาติต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง ซึ่งกระทรวงยุติธรรมรายงานว่า
1. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination: CERD) เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับรองโดยข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ 2106 ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 20 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2508 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2512 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านและขจัดการเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ฉบับที่แล้ว 177 ประเทศ และลงนามในอนุสัญญาฯ แล้ว จำนวน 6 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน 2559)
 
สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ และให้จัดทำข้อสงวนข้อบทที่ 4 ซึ่ง กต. ได้ดำเนินการภาคยานุวัติเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ส่งผลให้อนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับกับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นต้นมา

2. อนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านและขจัดการเหยียดผิว และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ โดยข้อบทที่ 4 ของอนุสัญญาฯ กำหนดให้รัฐภาคีประณามการโฆษณาชวนเชื่อทั้งมวลและองค์กรทั้งปวงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดหรือทฤษฎีของความเหนือกว่าของชนชาติหนึ่งเชื้อชาติใด หรือของกลุ่มบุคคลตามสีผิวหรือเผ่าพันธุ์กำเนิด หรือที่พยายามให้เหตุผลรองรับ หรือส่งเสริมความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติหรือการเลือกปฏิบัติในรูปแบบใดก็ตาม และตกลงที่จะจัดให้มีมาตรการในทางบวกในทันทีที่จะขจัดการกระตุ้นหรือการกระทำที่เลือกปฏิบัติและเพื่อการนี้ จะดำเนินการต่างๆ โดยคำนึงถึงหลักการที่ปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและสิทธิต่างๆ
 
3. การถอนข้อสงวนในส่วนข้อบทที่ 4 ของอนุสัญญาฯ เป็นการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ไทยได้รับไว้ในชั้นการนำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 1 และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยต้องส่งรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ภายในปี 2559 ซึ่งการถอนข้อสงวนดังกล่าว จะเป็นพัฒนาการที่สำคัญอีกประการที่ประเทศไทยสามารถนำเสนอต่อเวทีโลก อันจะส่งผลเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ

พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนไทย จากองค์กรฟอร์ติไฟย์ ไรท์ (Fortify Rights) มีคำอธิบายต่อมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นข้อๆ ดังนี้

1. มติคณะรัฐมนตรีในกรณีนี้หมายถึงว่า ไทยได้ยกเลิกข้อสงวนข้อที่ 4 ที่เคยตั้งไว้ตั้งแต่ปีที่เข้าเป็นรัฐภาคีในปี 2546 ข้อสงวนที่ 4 มีสาระสำคัญในการประณามการโฆษณาชวนเชื่อที่กระตุ้นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ประกาศให้องค์กร กิจกรรมที่ส่งเสริมการเลือกปฏิบัติเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของรัฐส่งเสริมหรือกระตุ้นให้มีการเลือกปฏิบัติ เมื่อไทยยกเลิกก็หมายความว่าต่อจากนี้ไทยจะปฏิบัติตามปฏิญญาข้อ 4 นี้ด้วยความเต็มใจ

2. การดำเนินการ รัฐบาลไทยโดยกระทรวงต่างประเทศจะแจ้งไปทางคณะทำงานของสหประชาชาติในประเด็นนี้ว่าไทยขอยกเลิกข้อสงวน หมายความว่าไทยยินยอมจะปฏิบัติตามหลักการทุกข้อที่มีอยู่ในอนุสัญญานี้ ในส่วนกฎหมายภายใน รัฐบาลอาจจะออกกฎหมายเพื่อให้การกิจกรรมที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ในกรณีหากไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับความผิดลักษณะนี้มาก่อน หรืออาจจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะความจริงกฎหมายไทยก็น่าจะมีอยู่แล้ว แต่วัตถุประสงค์หลักคือการแสดงความร่วมมือระดับนานาชาติว่าไทยเคารพและเห็นด้วยกับกติการะหว่างประเทศ

3. ผลที่มีต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความจริงการที่ไทยถอนข้อสงวนถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว ผลต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะมีไม่มากนัก ประเด็นคือถ้ารัฐบาลไทยถอนข้อสงวนข้อนี้แล้ว รัฐบาลควรตรวจสอบและหยุดยั้งการกระทำของบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานรัฐหน่วยใดที่แสดงออกถึงการเลือกปฏิบัติหรือยุยงให้มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อประชาชนชาวมลายูมุสลิม หรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

4. คนในพื้นที่ควรต้องคอยตรวจสอบว่ามีกิจกรรมหรือการโฆษณาชวนเชื่อใดๆ ที่เข้าข่ายการเลือกปฏิบัติหรือการยุยงหรือเปล่า และแจ้งให้รัฐทราบหากมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการ ภาคประชาชนสามารถที่จะส่งเรื่องร้องเรียนไปยังคณะมนตรีในอนุสัญญานี้ได้ เพื่อให้คณะมนตรีแสดงความห่วงกังวลและมีข้อเสนอแนะกลับมายังรัฐบาลไทยให้ดำเนินการ

ด้าน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีคำอธิบายในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ดังนี้
1. มติคณะรัฐมนตรีในกรณีนี้หมายถึงประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีในอนุสัญญาฯ จะขอถอนข้อสงวน
หมายถึงจะตีความการคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนทั้งคนในรัฐ และคนชาติอื่นๆ ที่เข้ามาในรัฐไทย ให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสากลฉบับนี้ เมื่อก่อนเขียนไว้ว่าจะคุ้มครองตามกรอบรัฐธรรมนูญไทยเท่านั้น

2. ที่มาที่ไปอย่างไรและการดำเนินการขั้นต่อไปจะเป็นอย่างไร เนื่องจากประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้ การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ องค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2555 มีผลการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิด้านการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ทางคณะกรรมาการได้มีข้อเสนอแนะ ต่อประเทศไทย ประการแรกและสำคัญที่สุดคือ
(ดาวน์โหลดรายงาน CERD.C.THA.CO.1-3 Thai ได้ในที่นี่)
เรื่องการขอให้ถอนข้อสงวนที่ว่ารัฐไทยจะปฏิบัติตามข้อกำหนดตามอนุสัญญานี้แต่เฉพาะที่สอดคล้องกับกรอบรัฐธรรมนูญของไทย แต่ทางคณะกรรมการเห็นว่าข้อสงวนนี้ขัดกับหลักของการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศ กล่าวคือ ถือว่า “ไม่ยอมรับ” พันธกรณีซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตรัฐธรรมนูญและกฎหมายในประเทศนั้นไม่สอดคล้องกับพันธกรณีข้อ 2 ของอนุสัญญาฉบับนี้เอง เพราะอนุสัญญาฉบับนี้เสนอให้รัฐภาคีใช้กลไกทั้งปวง รวมทั้งกฎหมายในการห้ามและยุติการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ

3. กรณีนี้จะส่งผลต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร เพราะมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ คลิกอ่านที่นี่

4. คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องทำอะไรบ้าง กลไกสิทธิฯแบบนี้ต้องรอเวลามีการทบทวนรายงานฉบับนี้ดีหน่อยทุก 2 ปี บางฉบับ 4 ปี ภาคประชาสังคมก็ต้องทำด้วย โดยต้องตรวจสอบและรายงานไปที่คณะกรรมการ เขาจึงจะทราบว่ามีการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและมีอย่างไร มีการจดบันทึกให้ละเอียด แล้วส่งไปให้ทางคณะกรรมการมาติติงประเทศไทยว่าทำไมไม่ทำตามข้อเสนอแนะ (อ่านที่นี่)

ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมไม่อาจจะแค่ตั้งคำถามเท่านั้น แต่ยังต้องทำรายงานด้วย เป็นบทบาทของภาคประชาสังคมในพื้นที่ ที่ต้องทำงานเพื่อให้รัฐปฏิบัติตามพันธกรณี หรือให้ประเทศอื่นๆ ที่เป็นรัฐภาคีในอนุสัญญานี้ช่วยกระตุ้นเตือนรัฐบาลไทย เช่น เมื่อมีการส่งรายงานเรื่องการตรวจดีเอ็นเอ ทางยูเอ็นก็เขียนจดหมายถามกลับมา เป็นต้น

คลิกอ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
http://www.isranews.org/south-news/Academic-arena/45-2009-11-15-11-18-09/15806--qq-q-q.html
http://www.sac.or.th/databases/cultureandrights/cultural-rights-forum/list-of-readings/1753-2/
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท