กรณีจลาจลเรือนจำปัตตานี กรณี 'ปีศาจ' คดีความมั่นคงที่ตามติดถึงเรือนจำ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เหตุการณ์การก่อจลาจลในเรือนจำปัตตานีเมื่อวันที่ 15 ก.ค.จบลงด้วยความสูญเสียที่เจ้าหน้าที่บอกว่ามีมูลค่าราว 4 ล้านบาท จากการเผาอาคาร 3 หลัง ทำลายทรัพย์สิน แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือการเสียชีวิตของผู้คนอีก 3 คนที่ล้วนแต่เป็นนักโทษ “ชั้นดี” ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ บวกกับการบาดเจ็บของผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่ง

ผู้บัญชาการเรือนจำรวมทั้งกระทรวงยุติธรรมยืนยันว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนเหตุการณ์หนนี้

แต่ในเบื้องต้นนั้น จากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ถึงสองรอบของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยรอบแรกที่ปัตตานี มีนายวีรนันท์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด พล.ต.ต.ทนงศักดิ์ วังสุภา ผบก.ภ.จ.ปัตตานี นายนพพร รัตนวัย ผบ.เรือนจำกลางปัตตานี และนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามปัตตานี ส่วนในช่วงบ่ายโดยปลัดกระทรวงยุติธรรมนายชาญเชาว์ ไชยานุกิจก็จัดแถลงข่าวอีกรอบ รวมทั้งการออกจดหมายชี้แจงของกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พอจะสรุปได้ว่า

ประการแรกนั้น กลุ่มที่ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังกลุ่มที่ทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด เจ้าหน้าที่มีชื่อแกนนำเป็นผตข.สองคนซึ่งเป็นนักโทษในคดีกลุ่มนี้  ประการที่สอง ความไม่พอใจของกลุ่มที่ก่อเหตุนั้นสืบเนื่องมาจากเรื่องของระเบียบปฎิบัติของเรือนจำที่เข้มงวดมากขึ้นในเรื่องของการเข้าเยี่ยม การตรวจค้นและอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อจะตรวจสอบป้องกันและปราบปรามในเรื่องปัญหายาเสพติด  ประการที่ 3 เจ้าหน้าที่สรุปตรงกันว่า ในกลุ่มผตข.ที่ก่อเหตุนั้นไม่มีนักโทษคดีความมั่นคงเข้าไปเกี่ยวข้อง ในเรือนจำปัตตานีนั้นมีนักโทษคดีความมั่นคงรับโทษอยู่ราวห้าสิบกว่าคน คนเหล่านี้อยู่อย่างสงบเรียบร้อยในส่วนของตน  ประการที่ 4 ผตข.ที่เป็นนักโทษคดีความมั่นคง มูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะหรือที่เรียกกันสั้นๆว่าอันวาร์ที่มีชื่อปรากฎในสื่อบางรายว่า เป็นแกนนำการก่อเหตุนั้น แท้ที่จริงแล้วเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่ในฐานะล่ามเท่านั้น และประการที่ 5  ปลัดกระทรวงยุติธรรมนายชาญเชาว์ระบุว่า เอกสารระบุข้อเรียกร้องของกลุ่มผตข.ที่ก่อเหตุ อันปรากฎเป็นการเขียนด้วยลายมือจำนวน 2 แผ่นที่มีผู้นำออกมาเผยแพร่ในคืนวันเกิดเหตุนั้น ไม่ได้มาจากจนท.กรมราชทัณฑ์แต่อย่างใด เมื่อผู้สื่อข่าวถาม นายชาญเชาว์ระบุเพียงว่า เรื่องนี้ต้องไปตรวจสอบเพิ่มเติม  

ข้อสรุปของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้เห็นได้ชัดว่า กลุ่มนักโทษคดีความมั่นคงในกรณีจลาจลนี้ไม่มีบทบาทในการหนุนเสริม หากแต่เป็นบทบาทในการช่วยคลี่คลายปัญหามากกว่า เนื้อหาของการประท้วงจึงเป็นเรื่องของความไม่พอใจต่อปัญหาในเรือนจำ และมีเค้าว่าจะเป็นการแสดงปฎิกิริยาเพราะความเหลืออด ที่อาจจะไม่ได้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า

ถ้าหากติดตามรายงานข่าวในคืนวันเกิดเหตุจะพบว่า ภาพเอกสารลายมือสองแผ่นที่ว่านี้ได้ถูกนำไปนำเสนอในการรายงานข่าวของสื่อรายสำคัญๆไม่ว่าจะเป็นสื่อเวบไซท์หรือสื่อใหญ่รายใดๆระดับประเทศ รวมไปถึงในไลน์กลุ่มและเฟซบุ๊กเพจที่ติดตามสถานการณ์ต่างๆมากมาย ไม่นับเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ช่วยกันแชร์ แทบทุกฝ่ายถือเสมือนว่ากระดาษสองแผ่นนี้บรรจุข้อเรียกร้องของนักโทษที่ก่อเหตุไม่สงบ ขณะที่บนหัวกระดาษมีชื่อนายมูฮาหมัดอัณวัร หายีเต๊ะหรืออันวาร์อยู่ด้วย ในขณะที่อีกด้านหนึ่งข่าวยังมีรายละเอียดไม่ชัดเจนว่ากลุ่มคนที่ก่อความวุ่นวายนั้นมีใครบ้าง ผลกระทบของการนำเสนอ “เอกสารข้อเรียกร้อง” นี้ทำให้เกิดประเด็นขึ้นมาทันที

เนื้อหาของข้อเรียกร้อง 14 ประการที่ออกมา หลายคนที่อ่านแสดงปฎิกิริยาชัดเจนว่า “มากเกินไป” ความเห็นอกเห็นใจของคนในสังคมต่อคนในเรือนจำก็เหมือนกับทัศนะที่มีต่อคนมีไม่มีอำนาจต่อรองคนอื่นในสังคม คือมีให้น้อยอยู่แล้วโดยทั่วไป เมื่อเจอข้อเรียกร้องที่พวกเขาเห็นว่ามากไปเข้าไปอีก หลายเสียงที่ประสานกันเข้าไปตามกลุ่มไลน์ เพจ และสื่อจึงเรียกร้องกันเซ็งแซ่ให้ใช้มาตรการที่แรง หลายคนประกาศสนับสนุนมาตรการตาต่อตาฟันต่อฟัน ชีวิตของนักโทษเป็นกลุ่มคนที่สังคมอย่างสังคมไทยไม่เคยแยแสอยู่แล้ว ยิ่งมามีข้อเรียกร้องที่เห็นกันว่า “เกินควร” คุณค่าของพวกเขามีน้อยอยู่แล้ว ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก

แต่ประการสำคัญที่น่าสนใจ คือภาพความเชื่อมโยงของกลุ่มนักโทษคดีความมั่นคงกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่ดูเด่นชัดขึ้นทันทีจากกระดาษเพียงสองแผ่นนี้ เนื่องจากชื่อของอันวาร์ที่ปรากฎบนหัวกระดาษทำให้เกิดภาพของความเป็นแกนนำ ทำให้ภาพการก่อเหตุจลาจลในเรือนจำปัตตานีก็กลายภาพเป็นการกระทำที่มีเป้าหมายทางการเมืองและความมั่นคงแอบแฝง  ภาพของคนที่อาจจะอึดอัดกับความเข้มงวดของสถานที่ การประท้วงแม้จะด้วยความรุนแรงทว่าเป็นอาการของคนที่ทนไม่ไหวและไม่ยั้งคิดหายไป การที่สามารถนำเสนอข้อเรียกร้องได้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ มี “แกนนำ” ที่ชัดเจน แถมยังเป็นคนที่มีแนวคิดเป็นภัยต่อความมั่นคง ทำให้ไม่ยากที่ในสายตาคนนอกย่อมมีแนวโน้มที่จะทให้เกิดการอนุมานกันไปได้ว่า งานหนนี้น่าจะมีเค้าความน่าคร้ามเกรงของปัญหาภัยความมั่นคงเป็นเงาทะมึนอยู่ด้านหลังเหตุการณ์อย่างแน่นอน

ในอดีตที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์บอกเราว่า วิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการปราบหรือสลายฝูงชนมักมีปัญหาเสมอว่าใช้มาตรการ “แรง” เกินควร ยิ่งมีเหตุผลสนับสนุนให้ใช้มาตรการที่แรงยิ่งทำให้โอกาสในอันที่จะเกิดการสูญเสียยิ่งมีมากขึ้น แม้ว่าในคืนวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จะสลายเหตุการณ์ความวุ่นวายในเรือนจำปัตตานีได้ด้วยความเรียบร้อยพอสมควร การดำเนินมาตรการเป็นไปตามลำดับจากเบาไปหาหนักดังที่เจ้าหน้าที่ชี้แจง ความสูญเสียยังไม่หนักหนา แต่ใครจะรู้ว่า หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในช่วงตอนของการเข้าดำเนินการ เราอาจจะได้เห็นความสูญเสียมากกว่านี้

สิ่งที่คณะกรรมการน่าจะแสวงหาคำตอบ คือเรื่องที่ว่า กระดาษสองแผ่นนี้ใครเป็นผู้ทำขึ้น ข้อเรียกร้องที่บรรจุอยู่ในนั้นเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วงในเรือนจำจริงหรือไม่ หากไม่ใช่ ข้อเรียกร้องเหล่านี้คนทำเอามาจากไหน เพื่ออะไร ที่สำคัญใครเป็นผู้เผยแพร่กระดาษสองแผ่นนี้ออกไป ถึงมือสื่อมวลชนได้อย่างไร

ในส่วนของสื่อมวลชนเองก็มีคำถามเช่นกัน สื่อที่ได้รับเอกสารเหล่านี้มีข้อกริ่งเกรงหรือไม่ว่าตนเองอาจจะได้รับเอกสารที่ “ไม่จริง”  และการนำเสนอข่าวตามเอกสารที่เห็นที่อาจไม่จริงโดยไม่มีการตั้งข้อสังเกตหรือข้อสงสัยใดๆเลยอาจจะกลายเป็นการนำเสนอความจริงที่ไม่ “ครบ” ที่ทำความสูญเสียต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างรุนแรงได้หรือไม่ หรือว่าสิทธิของคนในเรือนจำไม่อยู่ในสายตาของพวกเขา

ครอบครัวของอันวาร์บอกชัดตั้งแต่ในคืนวันที่ 15 ก.ค. ว่าเอกสารสองแผ่นนี้มีปัญหา เนื่องจากลายมือนั้นไม่ใช่ลายมือของเจ้าตัว ตลอดจนการสะกดนามสกุลก็สะกดผิด คำชี้แจงเรื่องนี้ภรรยาอันวาร์โพสต์ในสเตตัสในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีผู้นำไปเผยแพร่ต่อในกลุ่มไลน์ เพจต่างๆ แม้กระทั่งเพจของหน่วยงานกู้ชีพที่นำเสนอข่าวเหตุการณ์เกาะติดทั้งคืนก็มีผู้นำไปวางไว้ไม่ห่างไปจากภาพเอกสารลายมือสองแผ่นที่เพจก็นำเสนอด้วย เป็นเรื่องที่ยากที่สื่อที่เกาะติดการรายงานข่าวในพื้นที่จะอ้างว่าไม่เห็นได้

กับผู้เกี่ยวข้องบางส่วน มีปรากฎการณ์บางอย่างที่น่าสนใจด้วยว่ามีบทบาทต่อการขยายผลปัญหา กลุ่มไลน์ติดตามปัญหาภาคใต้บางกลุ่ม สมาชิกกลุ่มถึงขนาดปฎิเสธไม่รับฟังข้อมูลจากครอบครัว ทำให้เห็นได้ชัดว่า การไม่รับข้อมูลอันนี้เป็นผลมาจากอคติมากกว่าปัญหาการเข้าไม่ถึงข้อมูล

หรือว่านี่จะเป็นปัญหาที่เกิดกับสื่อที่เสนอข่าวชิ้นนี้ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น คล้อยหลังการแถลงข่าวของแหล่งข่าวสองกลุ่มใหญ่ที่ทำหน้าที่แก้ปัญหาการก่อจลาจล ไม่ว่าที่ปัตตานีหรือที่กรุงเทพฯ ยังปรากฎมีสื่อนำเสนอข้อความที่เป็น “เท็จ” เกี่ยวกับเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง มีการหยิบยกเรื่องของอันวาร์ขึ้นมานำเสนอในฐานะเป็น  “แกนนำคดีความมั่นคงป่วนเรือนจำปัตตานี”   ทั้งๆที่เจ้าหน้าที่บอกไปแล้วว่าอันวาร์เข้ามาทำหน้าที่เป็นล่ามให้เท่านั้น ในขณะที่การนำเสนอข้อมูลภูมิหลังเรื่องราวของคดีที่ทำให้ต้องรับโทษในเรือนจำก็ผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย ทั้งที่ข้อมูลในส่วนนี้ไม่ได้หายากเย็น การนำเสนอแบบผิดพลาดจึงไม่ได้ส่อลักษณะของการไม่ “ทำการบ้าน”

การนำเสนอข่าวการก่อเหตุจลาจลในเรือนจำปัตตานี ทำให้เรื่องของการประท้วงที่โดยเนื้อหาเป็นปัญหาอาชญากรรม กลายไปเป็นการก่อเหตุที่มีแรงจูงใจ เป็นปัญหาความมั่นคงที่เผลอๆอาจมี “ขบวนการ” เข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นการสร้างภาพปีศาจความมั่นคงอยู่เบื้องหลังการจลาจล จะเพื่อเหตุผลใดต้องใช้ความรู้ในทางประวัติศาสตร์ตัดสินกันเอาเอง

ในพื้นที่ความขัดแย้ง ข้อมูลข่าวสารเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ disinformation คือการบิดเบือนข่าวสารเพื่อการชวนเชื่อ มันถูกนำมาใช้ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อเป้าหมายสนับสนุนการใช้กำลัง ในอดีตเราเคยเห็นการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างสงบด้วยการป้ายสีว่าคนชุมนุมมีเจตนาร้ายเป็นภัยความมั่นคง  ในครั้งนี้ดูเหมือนเราจะหลุดรอดเหตุการณ์บางอย่างมาได้อย่างฉิวเฉียด ไม่เช่นนั้นผู้คนในบางส่วนอาจจะต้องทบทวนตัวเองว่าบทบาทของจะต่างไปจากในยุค 6 ตุลาอย่างไร

กล้าหรือไม่ที่จะทบทวนบทเรียนกัน โดยเฉพาะในขณะนี้ที่มีเสียงเรียกร้องจากหลายคนในพื้นที่แล้วว่าให้ครอบครัวของนายมูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะฟ้องร้องสื่อที่ลงรายงานเท็จเกี่ยวกับเจ้าตัวในเรื่องนี้

0000

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท