Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



นอกเหนือจากภาพจำของเหล่าวีรชนชาวธรรมศาสตร์แล้ว วาทกรรม "ธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน" ยังถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าสนใจในช่วงหนึ่งของคลิปวิดิโองานปฐมนิเทศ ซึ่งเป็นเรื่องราวของกลุ่มนักศึกษาที่ช่วยชาวบ้านทำหีบห่อกล้วยตาก พร้อมคำกล่าวปิดท้ายคือ "เราสามารถทำเพื่อประชาชนได้ตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษา"

อย่าเพิ่งเข้าใจผิด ฉันไม่ได้จะบอกว่าการทำแพคเกจจิ้งกล้วยตากเป็นสิ่งไร้สาระแต่อย่างใด ความรู้เท่าหางอึ่งทางด้านเศรษฐศาสตร์ของฉันพอจะบอกได้ว่า บรรจุภัณฑ์ที่ดีสามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ไม่น้อย และสามารถช่วยการทำมาหากินของชาวบ้านได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

แล้วทำไมฉันถึงต้องยกเรื่องนี้ขึ้นมาล่ะ?

เอาอย่างนี้แล้วกัน ฉันเริ่มจากการถามตัวเองตามประสาคนที่ไม่ฉลาดนักว่า "การทำกล้วยตากเป็นการแก้ปัญหาระดับไหน?" คิดไปคิดมาก็นึกขึ้นได้ว่า ถ้าคุณทำบรรจุภัณฑ์กล้วยตากให้หมู่บ้านหนึ่ง ก็จะมีเพียงคนในหมู่บ้านนั้นที่ได้ประโยชน์ ดังนั้นการ "รักประชาชน" ในแบบฉบับของกล้วยตาก จึงเป็นความรักที่มีประโยชน์ในระดับย่อย แต่มิได้นำไปสู่การตั้งคำถามถึงระบบการค้าที่ไม่เป็นธรรม (กล้วยถูกกดราคา) ระบบการจัดการภัยพิบัติที่ไร้ประสิทธิภาพ (น้ำท่วม น้ำแล้ง) หรือแม้แต่ระบบอำนาจในประเทศ ที่ปิดกั้นไม่ให้เกษตรกรเข้ามามีอำนาจต่อรองในเกมการเมืองอย่างแท้จริง

คุณอาจขมวดคิ้วเห็นแย้ง ผีเสื้อกระพือปีกยังทำให้เกิดพายุใหญ่ เด็ดดอกไม้ยังสะเทือนถึงดวงดาว แล้วทำไมหีบห่อกล้วยตากจะกระทุ้ง กระแทก ให้เกิดแรงกระเทือนไปถึงระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไม่ได้? แต่จนแล้วจนรอดฉันก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่า ถ้าโครงการขนาดเล็กสามารถเปลี่ยนทุกอย่างได้ เราจะมีรัฐบาล ระบบเศรษฐกิจ กฎหมาย หรือแม้แต่การเมืองการปกครองกันไปทำไม 

เรามีสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อที่จะทำในสิ่งที่ทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีกไม่สามารถตอบโจทย์ได้ไม่ใช่หรือ?

แน่นอนว่า ที่ฉันพูดมาทั้งหมดนั้น ฉันไม่ได้หมายถึงเฉพาะกล้วยตาก สวนกล้วย หรือคุณลุงชาวสวน แต่คุณสามารถแทนที่คำในสมการเป็นคำใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น พ่อค้า แม่ค้า ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน ประชาชนทั่วไป ฯลฯ

ดังนั้นคำถามต่อมาคือ แล้วการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ท้าทายโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมล่ะ ถูกพูดถึงบ้างหรือเปล่า? คำตอบก็คือ “มี” แต่ดูเหมือนว่าจะเป็น "พี่ชาวธรรมศาสตร์" รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ไปเสียหมด มีทั้งคนเดือนตุลา คนเดือนพฤษภา แต่ที่น่าแปลกใจคือ ไม่มี "พี่" ในยุคปัจจุบันที่ต่อสู้จนครอบครัวโดนคุกคามบ้าง ติดคุกบ้างไปหลายราย ราวกับว่าคนเหล่านี้ไม่เคยมีตัวตนอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของมหาลัยที่อ้างว่า "รักประชาชน" เลยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำป้าย "น้องป๋วย กาโน #เสียงสูง" ของกลุ่มการเมืองอิสระในมหาวิทยาลัย ก็ถูกเก็บกวาดเพื่อรักษา “ความสะอาด” ไปในเวลาอันรวดเร็ว ประหนึ่งว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

การรณรงค์ประชามติเพียงอย่างเดียวที่ไม่ถูกซุกไว้ใต้พรม ก็คงเหลือเพียงแค่ช่วงท้ายของงานเท่านั้น และแม้ว่าการรณรงค์ครั้งนี้จะถูกบรรจุหีบห่ออยู่ในวาทกรรมสะเทือนอารมณ์อย่าง "พี่เราตายที่นี่ คิดดูแล้วกันว่าจะกาอะไร" ฉันก็แอบนึกสงสัยตามประสาคนชอบหาเรื่อง ว่าทำไมพวกเขาไม่บอกว่ามี “พี่ของเรา” ติดคุกกันไปกี่คนจากการรณรงค์ประชามติครั้งนี้ แทนที่จะอ้างวีรชนเดือนตุลา ที่แทบจะหาความเกี่ยวข้องทางตรงกับประชามติครั้งนี้ไม่ได้

คิดอย่างทีเล่นทีจริงมาถึงจุดนี้ ฉันก็รู้สึกราวกับว่า ธรรมศาสตร์กำลังพยายามจะสร้างดินแดนมหัศจรรย์แห่งภาพฝันอันสวยหรูของอดีต โดยเขี่ยทิ้งภาพปัจจุบันอันฟอนเฟะ เช่นการมีอธิการเข้าไปร่วมสังฆกรรมกับคณะรัฐประหารอย่างหน้าชื่นตาบานในตำแหน่ง สนช. ไว้ใต้พรม เรากำลังพร่ำพูดถึงความรักที่มีต่อประชาชน โดยหลีกหนีความจริงที่ว่า เราไม่สามารถรักประชาชนไปในขณะเดียวกับที่เราหลับหูหลับตาและหันหลังให้การเมืองกระแสหลักได้

ฉันไม่ได้คาดหวังให้ชาวธรรมศาสตร์ต้องรักประชาชนด้วยการมีอุดมการณ์ทางการเมืองเพียงแบบใดแบบหนึ่ง แต่ฉันเพียงแค่สงสัยว่า วาทกรรม “ความรักประชาชน” กำลังถูกทำให้บิดเบี้ยวไปเช่นเดียวกับวาทกรรม “เรียกร้องสิทธิจนลืมหน้าที่” ซึ่งกลายเป็นตรรกะวิบัติที่มักถูกเผด็จการนำมาใช้กำราบประชาชนให้เชื่องอยู่หรือเปล่า

ในขณะเดียวกัน ฉันก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ายังมีความหวังอยู่ ความหวังที่ว่ายังมีคนเห็นความย้อนแย้งหลายอย่างในมหาวิทยาลัยของเรา เช่นเดียวกับที่ฉันเห็น ฉันขอฝันกลางวันต่อไปอีกสักนิดว่า สักวันเราอาจตระหนักถึงความจริงที่ว่า คนที่ร่ำไห้มิใช่บุคลาธิษฐานอย่างแม่โดม แต่คือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และถูกความรุนแรงเชิงโครงสร้างกดขี่ไม่ให้พวกเขาได้มีโอกาสขึ้นมาต่อรองกับผู้มีอำนาจต่างหาก

ฉันหวังมากไปไหมนะ?

0000

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ณัฐนันท์ วรินทรเวช อดีตนักกิจกรรมเยาวชน ปัจจุบันผันตัวมาเป็นนัก(อยาก)เขียน นักบ่น และเด็กมหา’ลัยธรรมดาๆ คนหนึ่ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net