แด่. . .ไผ่ ดาวดิน การอดอาหารประท้วง สันติวิธีที่ผิดที่ผิดทาง ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลังจากถูกจับด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายประชามติ ไผ่ ดาวดิน มุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมด้วยการอดอาหารประท้วงแทนการประกันตัวสู้คดี เวลาผ่านไปหลายวัน สิ่งที่เราได้ยินเกี่ยวกับไผ่ ก็คืออาการป่วยที่น่าเป็นห่วงสำหรับบรรดาผู้ติดตามการเคลื่อนไหวของเขาเสมอมา. . .

เรารอว่านักสันติวิธีจะออกมาพูดอะไรบ้าง เรารอว่า กสม.จะเห็นประเด็นเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ น่าเสียดายที่ไผ่ไม่เพียงแต่ไม่ได้รับความเห็นใจจากศัตรูคือผู้มีอำนาจรัฐ หรือรัฐบาลในขณะนี้ แม้แต่นักสันติวิธีที่โดดเด่นทางสังคม หรือนักสิทธิมนุษยชนทั้งหลายก็แทบไม่รู้สึกอ่อนไหวต่อการประท้วงของเขาแม้แต่น้อย เพราะอะไรหรือ ?

สำหรับผมแล้ว . . . การอดอาหารประท้วงรัฐบาลของไผ่ ดาวดิน จะไม่ก่อให้เกิดผลในทางบวกอะไรจากผู้กุมอำนาจรัฐหรือผู้มีอำนาจในสังคม นี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ อาการเพิกเฉยต่อการอดอาหารของไผ่นั้นเป็นเรื่องปกติที่สุด ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร จะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแล้วก็ควรจะพูดว่า การเลือกอดอาหารประท้วงเป็นวิธีที่ผิดตั้งแต่แรกแล้ว ทำไม ? เราอาจนึกถึงพลานุภาพของการอดอาหารประท้วงของมหาตมา คานธี เราอาจรู้สึกทึ่งในความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของอินเดียที่คน ๆ หนึ่งสามารถนำเรื่องการอดอาหารมาเป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมืองอย่างได้ผล มีบางอย่างที่นักสันติวิธีชาวไทยหรือใครก็ตามที่รับรู้เรื่องราวการอดอาหารประท้วงของมหาตมา คานธีนั้นเข้าใจผิดพลาดอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ก็ยังไม่ได้พิจารณาประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ให้ดี

การอดอาหารประท้วงนั้นในด้านหนึ่งมีความสัมพันธ์กับรากฐานทางวัฒนธรรม แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่จะทำให้การอดอาหารประท้วงได้ผลตามที่มุ่งหมาย เงื่อนไขสำคัญคืออะไร ลองพิจารณาจากกรณีที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและสิ่งที่คานธีได้บอกเล่าไว้เกี่ยวกับการอดอาหารประท้วง

ในพระไตรปิฎก เล่าว่า พระภิกษุบางรูปก่อนบวชเป็นพระนั้นเป็นพราหมณ์มาก่อน เขาเป็นบุตรของตระกูลพราหมณ์แต่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังธรรมก็เลื่อมใสศรัทธาขอบวชเป็นพระ แต่พระพุทธเจ้าทรงให้ไปขออนุญาตจากพ่อแม่ก่อน เขาไปขออนุญาตจากพ่อแม่ แต่ไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากเป็นบุตรคนเดียวของตระกูล  เมื่ออ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ได้ผล พวกเขาจึงอดอาหารประท้วงจนพ่อแม่ยอมอนุญาตให้บวชได้ในที่สุด จะเห็นว่า การอดอาหารเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ในกรณีนี้

เมื่อมหาตมา คานธีเริ่มก่อตั้งชุมชนสัตยาเคราะห์ที่นิคม Phoenix ที่แอฟริกาใต้และนำชุมชนจากไร่ Tolstoy มาไว้ที่นิคม Phoenix   เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยจึงเดินทางไปทำธุระที่เมืองโยฮันเนสเบิร์ค คานธีได้ข่าวว่าชาวนิคมคู่หนึ่งทำความผิดพลาดทางศีลธรรมอย่างฉกรรจ์ ข่าวนี้สร้างความปวดร้าวใจแก่คานธีมาก ท่านถือว่าตนเองมีส่วนต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วย  ท่านครุ่นคิดถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่ตนเองจะต้องกระทำเพื่อชำระความผิดอันเป็นบาปมหันต์ของคนในนิคม ท่านถือว่าท่านมีหน้าที่สำคัญที่จะทำให้คนทั้งสองสำนึกในความผิดบาปของตนและความร้ายแรงที่เกิดขึ้นการกระทำนั้น หลังตรึกตรองอยู่นานก็เห็นว่า การอดอาหารประท้วงเป็นวิธีการที่ดี คานธีอดอาหารเป็นเวลา 7 วัน และขอรับประทานอาหารเพียงมื้อเดียวตลอด 4 เดือนครึ่ง

ท่านเขียนเล่าถึงผลที่เกิดขึ้นไว้ในหนังสือ “ชีวประวัติของข้าพเจ้า” (แปลโดย กรุณา กุศลาสัย) ว่า  “ข้าพเจ้ารู้สึกสบายใจและคลายความว้าวุ่นลงหลงจากที่ได้ตัดสินใจกระทำเช่นนี้ อารมณ์ขุ่นมัวที่มีต่อผู้กระทำผิดทั้งสองก็เหือดหายไปและมีความเวทนาสงสารขึ้นมาแทนที่. . .พอไปถึงนิคม Phoenix ก็ได้ไต่ถามและทราบถึงเรื่องที่จำเป็นต้องทราบ แม้ว่าการอดอาหารของข้าพเจ้าจะได้ก่อให้เกิดความโทมนัสแก่ทุกฝ่าย แต่ก็ได้ทำให้บรรยากาศของนิคมบริสุทธิ์ขึ้น สมาชิกของนิคมทุกคนต่างตระหนักถึงความร้ายแรงของเรื่องน่าบัดสีที่ได้เกิดขึ้น และความสัมพันธ์ระหว่างข้าพเจ้ากับนักศึกษาก็ใกล้ชิดกันและเป็นกันเองมากยิ่งขึ้น”   

สืบเนื่องจากเหตุการณ์เดียวกันนี้ คานธีต้องการอดอาหารอีกเป็นเวลา 14 วัน คานธีเล่าถึงผลลัพภ์ของการอดอาหารครั้งนี้ไว้ว่า “ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า ผลลัพภ์ที่ได้เกิดขึ้นนั้นดีเกินคาด อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าไม่ต้องการจะพิสูจน์ด้วยตัวอย่างเหล่านี้ ให้เกิดความเชื่อขึ้นมาว่าครูอาจารย์ควรใช้การอดอาหารเป็นการแก้ไขความบกพร่องของศิษย์ไปเสียทุกกรณี ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็มีความเชื่อมั่นว่า หากใช้ให้ถูกต้องกับกาลเทศะแล้ว การอดอาหารก็เป็นวิธีแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องได้อย่างดีวิธีหนึ่ง ขออย่างเดียวคือให้ผู้ใช้ใช้ด้วยความสุขุมและถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ก็แล้วกัน” 

จากคำพูดดังกล่าวนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า การอดอาหารประท้วงจะบังเกิดผลดีนั้นต้องมี “กาละและเทศะ” ในส่วนผู้ที่จะใช้วิธีการนี้ก็ต้องใช้ด้วยความสุขุมและ “ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่” คานธีไม่ได้อธิบายว่าถูกต้องตามอำนาจหน้าที่หมายถึงอะไร อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือท่านได้กล่าวถึงเงื่อนไขที่จะทำให้การอดอาหารล้มเหลวคือ “หากขาดความรักใคร่กันอย่างบริสุทธิ์ใจระหว่างศิษย์กับอาจารย์ หรือหากอาจารย์ไม่เกิดความโทมนัสอย่างจริงจังในความผิดที่ศิษย์กระทำแล้วไซร้ การอดอาหารก็เป็นเรื่องที่ไร้สาระหรืออาจจะเป็นอันตรายเสียด้วยซ้ำไป” 

คำเตือนจากคานธีเรื่องการใช้วิธีอดอาหารประท้วงข้างต้นนี้คือ ต้องใช้อย่างรู้ “กาละและเทศะ” และถูกต้อง “ตามอำนาจหน้าที่”  การอดอาหารจึงไม่ใช่เรื่องมือสากลที่จะได้ผลไปทุกหนแห่ง มันขึ้นกับเงื่อนไขหลายประการ ผมคิดว่าเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่คานธีกล่าวไว้ก็คือ “ความรักอันบริสุทธิ์ใจ” ที่มีต่อกันระหว่างผู้อดอาหารประท้วงและผู้ที่ถูกประท้วง (ศิษย์กับอาจารย์) เรื่องนี้ทำให้เราย้อนกลับไปคิดได้ว่า ทำไม พราหมณ์หนุ่มที่อดอาหารประท้วงจึงได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ให้ไปบวชในพุทธศาสนา เงื่อนไขสำคัญคือ “ความรัก” ที่พ่อแม่มีต่อลูกของตน ความรักที่พ่อแม่มีต่อลูกทำให้พ่อแม่ไม่อยากเห็นลูกตายต่อหน้า ความอาทรต่อลูกทำให้พ่อแม่อ่อนไหวต่อการอดอาหารทรมานร่างกาย การอดอาหารจึงมีพลังเมื่อมันอยู่ในเงื่อนไขความสัมพันธ์บางชนิดเท่านั้น 

ถ้าเราศึกษาประวัติคานธีให้ละเอียดขึ้น เราจะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้ว คานธีไม่ได้อดอาหารประท้วงศัตรู ไม่ได้อดอาหารเพื่อร้องขอความเห็นใจจากผู้มีอำนาจที่กดขี่ แต่อดอาหารในกรณีที่ประชาชนของคานธี (ผู้ที่เคารพนับถือ) ละเมิดกฎสันติวิธีหันไปใช้ความรุนแรงตอบโต้ผู้มีอำนาจรัฐที่ใช้ความรุนแรง หรือผู้ศรัทธาในคานธีมีความขัดแย้งกันเองและดึงดันจะทำสิ่งที่ละเมิดกฎของสันติวิธี พูดง่าย ๆ ก็คือ คานธีอดอาหารประท้วงพวกเดียวกัน 

ประเด็นนี้ ผมไม่ทราบว่าผู้เชี่ยวชาญเรื่องสันติวิธีในสังคมไทยจะเคยตระหนักมากแค่ไหน  ผมยังไม่พบเห็นว่ามีใครพูดถึงเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การอดอาหารของคานธีมีพลังในสังคมอินเดียจากคำอธิบายของคานธีเอง (หรือมีแต่ผมไม่ทราบ)  การไม่ศึกษาเงื่อนไขสำคัญทำให้เราจึงมักคิดว่า การอดอาหารประท้วง เป็นสันติวิธีที่เหมาะที่ควรจะนำมาใช้เพราะมันแสดงถึงการต่อต้านที่สันติ 

การอดอาหารประท้วงของไผ่ไม่มีผลอะไรต่อผู้กุมอำนาจรัฐ เพราะไม่เพียงแต่เขาไม่ได้ “รัก” ไผ่ ดาวดิน แต่พวกเขายังเห็นเป็นไผ่ ดาวดิน เป็น “ศัตรู” อีกด้วย การมอดม้วยของศัตรูจากการอดอาหารย่อมไม่อาจกระตุ้นต่อมศีลธรรมของบรรดาคนดีคนใดก็ตามที่เห็น “ไผ่ ดาวดิน” เป็นพวกก่อกวนความสงบสุขได้ แม้แต่นักสันติวิธีและนักสิทธิมนุษยชนก็ยังไม่รู้สึกสะเทือนไหวต่อการกระทำของไผ่

นั่นเพราะการอดอาหารต้องมีกาละและเทศะ ใช้อย่างถูกต้องตาม “อำนาจหน้าที่”  และทั้งสองฝ่ายต้องมี “ความรักอันบริสุทธิ์ต่อกัน” ไม่เช่นนั้นแล้ว อดอาหารจนตายก็ไม่อาจทำให้เกิดความสะเทือนไหวในอารมณ์ความรู้สึกของผู้ถูกประท้วงแต่ประการใด   

สิ่งที่ดีที่สุดตอนนี้คือรักษาชีวิตไว้และสู้ด้วยวิธีอื่นที่เหมาะสมกว่า 

0000

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท