น.ศ. มจธ.สร้างเซลล์สัตว์ 3 มิติ เอื้อ นร.พิการสายตา เรียนวิทยาศาสตร์

นศ.มีเดียอาร์ท มจธ. ผลิตสื่อชีววิทยา 3 มิติ สัมผัสได้ พร้อมระบบเสียง ล้างข้อจำกัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์แก่ นร.พิการทางสายตา

บริเวณจัดแสดงงาน

โบชัวร์และหุ่นจำลอง

20 ส.ค. 2559 หลักสูตรมีเดียอาร์ทและเทคโนโลยีมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)  จัดนิทรรศการแสดงผลงานนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชามีเดียอาร์ท และสาขาวิชามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์

สื่อชีววิทยาดังกล่าว ออกแบบและสร้างสรรค์โดย กมลชนก อุปลพันธุ์, ยุรนันท์ คาน และศุภกร จูฑะสุวรรณ นักศึกษาสาขาวิชามีเดียทางการแพทย์ เพื่อนำเสนอเนื้อหาเรื่องเซลล์สัตว์สำหรับนักเรียนตาบอดระดับมัธยมศึกษา โดย ยุรนันท์ กล่าวว่า ต้องการทำหุ่นจำลองที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง  โดยใช้องค์ความรู้ที่เรียนมา หลังพบว่านักเรียนตาบอดเป็นคนกลุ่มหลักที่ใช้ประโยชน์จากหุ่นจำลองเพื่อการเรียนรู้มากที่สุด แต่กลับขาดแคลนสื่อชนิดดังกล่าว

“การเรียนวิทยาศาสตร์นั้นค่อนข้างยาก โดยเฉพาะชีววิทยาซึ่งเป็นรายวิชาที่มีรายละเอียดและองค์ประกอบต่างๆ จำนวนมาก ต้องอาศัยการท่องจำและทำความเข้าใจจากภาพหรือของจริงเป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง แต่ถ้าคุณตาบอดการเรียนวิทย์จะยากขึ้นอีกหลายเท่า นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีนักเรียนตาบอดที่เลือกศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย วิธีที่ดีที่สุดในการเรียนวิทย์สำหรับนักเรียนตาบอดนั้นคือการท่องจำ 90 เปอร์เซ็นต์ และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ต้องใช้การสัมผัสสื่อเข้าช่วยเพื่อสร้างจินตนาการ แต่ปัจจุบันสื่อที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียนตาบอดเป็นเพียงภาพนูนสองมิติเท่านั้น ซึ่งสำหรับคนที่มองไม่เห็นคงเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการ ดังนั้นเราจึงพัฒนาสื่อการเรียนรู้เรื่องเซลล์สัตว์ขึ้นมาในรูปแบบสามมิติ เพื่อช่วยให้การเรียนวิทย์ฯ ของนักเรียนตาบอดเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น” ยุรนันท์กล่าว

ยุรนันท์ กล่าวต่อว่า เหตุที่เลือกทำหุ่นจำลองเซลล์สัตว์ เพราะมีเนื้อหาที่ยากและลึกกว่าเซลล์พืช โดยหุ่นจำลองเซลล์สัตว์นี้ ประกอบด้วยหุ่นจำลองทั้งหมด 11 ชิ้น เริ่มตั้งแต่หุ่นจำลองลักษณะภายนอกของเซลล์สัตว์ และหุ่นจำลองที่อธิบายโครงสร้างภายในของเซลล์ หุ่นจำลององค์ประกอบต่างๆ ภายในเซลล์ อาทิ ไรโบโซม ไมโทคอนเดรีย และนิวเคลียส เป็นต้น ซึ่งเมื่อนักเรียนตาบอดได้สัมผัสหุ่นจำลองสามมิติแล้วจะช่วยให้สามารถจินตนาการภาพของลักษณะองค์ประกอบต่างๆ ของเซลล์ได้ชัดเจนและเกิดความเข้าใจมากขึ้น

“นอกจากสร้างหุ่นจำลองสามมิติแล้ว เรายังได้ออกแบบฐานการเรียนรู้ไว้ด้วย ให้นักเรียนได้เรียนรู้ทีละองค์ประกอบโดยจัดเรียงลำดับเนื้อหาขึ้นใหม่อ้างอิงจากหนังสือเรียนเพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจของนักเรียนที่ตาบอด และยังเพิ่มฟังก์ชันเสียงอธิบายลักษณะและข้อมูลเฉพาะของหุ่นจำลองทั้ง 11 ชิ้นควบคู่กันไป เพื่อให้นักเรียนเกิดการใช้ประสาทสัมผัสทั้งการฟังและการสัมผัสควบคู่กันไปในการเรียนรู้ ในหนึ่งชุดการเรียนรู้ 11 ฐาน ใช้เวลา 25 นาที โดยเราได้ทำคู่มือการใช้งานไว้ด้วย เพื่อความสะดวกแก่การติดตั้งและการนำไปใช้งานในภายหลัง ทั้งยังทำให้เกิดความถูกต้องของการนำเสนอเนื้อหาหากนำไปใช้ซ้ำในสถานที่อื่น”เธอกล่าว

กมลชนก กล่าวทิ้งท้ายว่า สื่อการเรียนรู้ชุดนี้ได้ถูกนำไปใช้จริงกับนักเรียนตาบอดจากโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัยทั้งสิ้น 11 คน พบว่าสามารถสร้างแรงดึงดูดในการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในบทเรียนวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนตาบอดได้มากขึ้น   พร้อมทั้งชี้ว่า คนที่มีความถนัดในด้านการผลิตสื่อมาช่วยกันพัฒนาสื่อที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับคนพิการทางสายตา ก็น่าจะทำให้นักเรียนตาบอดเปิดใจที่จะเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทั้งยังเป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยส่งเสริมศักยภาพให้กับผู้พิการในสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท