Skip to main content
sharethis

6 ต.ค. 2559 คลิปจากงาน "6 ตุลาฯ ชาวจุฬาฯ มองอนาคต" จัดขึ้นเพื่อรำลึก 40 ปี 6 ตุลา 19 ที่ชั้น 13 อาคารเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วง "ปาฐกถา: การเมืองของคนรุ่นใหม่" โดยเริ่มต้นเป็นการกล่าวถึงโจชัว หว่อง โดย เนติวิทย์ โชติพัฒน์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกล่าวปาฐกถาโดย โจชัว หว่อง เลขาธิการพรรค Demosistō จากฮ่องกง

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล กล่าวขอบคุณ โจชัว หว่อง ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนในงานเสวนาแม้จะต้องเสวนาทางไกลก็ตาม พร้อมขอโทษโจชัว หว่อง แทนรัฐบาลไทย

ปาฐกถา "การเมืองของคนรุ่นใหม่" โดย โจชัว หว่อง ผ่านโปรแกรมสนทนาทางไกล

 

โดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เริ่มกล่าวแนะนำ โจชัว หว่อง โดยเขาเริ่มต้นกล่าวว่ายินดีอย่างยิ่งที่จะได้มาแนะนำเพื่อนร่วมอุดมการณ์นั่นคือ โจชัว หว่อง โดยจะแนะนำเป็นภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษจะแสดงอยู่บนกระดาน สำหรับประวัติและการทำกิจกรรมของโจชัว หว่อง ให้ไปเสิร์ชเอาในวิกิพีเดียเอานะครับ

"ผมจะพูดถึงความรู้สึกของผมที่มีต่อเขานะครับ" จากนั้นเขากล่าวต่อไปว่า "จริงๆ แล้วในวันเสาร์ที่จะถึงนี้นะครับ โจชัว หว่อง เราและเพื่อนๆ กว่า 10 คนวางแผนไว้แล้วว่าจะพานายไปเที่ยวอยุธยา และไปชมละครเวทีเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ นอกจากนั้นก็คงจะพานายไปเยี่ยมชุมชนและองค์กรต่างๆ ที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน เพื่อจะโชว์นายว่า แม้ว่าตอนนี้ประเทศเราสถานการณ์จะไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก แต่เราก็ยังมีผู้ใหญ่ที่ใจกว้าง คือประเทศเรายังมีดีอยู่"

"เราคิดว่ารัฐบาลของเรา จะเริ่มให้พื้นที่เสรีภาพกับผู้คน โดยเฉพาะเมื่อนายมาพูดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยิ่งเป็นคณะรัฐศาสตร์ด้วย ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร พวกผู้ใหญ่ก็น่าจะเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่หลากหลายทางความคิด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นแค่ความฝัน"

"เวลาพิสูจน์แล้ว จากครั้งที่แล้วที่เราไปคุยกันในฮ่องกง ด้วยความหวังมันกลับกลายเป็นความเสียใจน่าอัปยศอดสู นายต้องเสียเวลากว่า 13 ชั่วโมง ในห้องกักขังเล็กๆ และจะติดต่อแม้กระทั่งพ่อแม่ หรือทนายของนายก็ยังไม่ได้ เมื่อเขาเออออกันอย่างนี้ ผู้ใหญ่เออออกันแบบนี้ไม่ให้นายเข้ามา เราก็คงมีแต่ได้แค่หดหู่ ยอมทน ก้มหน้า ยอมรับปัจจุบันของประเทศ และอนาคตของประเทศที่พวกเขาต้องการจะยึดกุมไปอย่างไม่ยอมปล่อยมือเสียที"

"เราต้องขอโทษนายด้วยโจชัว หว่อง เราขอโทษนายแทนรัฐบาลของเรา ที่ปฏิบัติตัวกับนายเยี่ยงนี้ จริงๆ เราแทบไม่คิดเลยว่าเขาจะทำแบบนี้"

"จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ปฏิเสธแค่นายคนเดียวหรอก แต่เขาทำแบบนี้มาหลายต่อหลายครั้ง และไม่เคยจำบทเรียนและสอบตกเรื่องนี้ตลอด เราขอขอบคุณนาย ที่อุตสาห์รับคำเชิญเรา และแม้เพื่อนๆ ของนายห่วงใยไม่อยากให้มาเมืองไทยตั้งแต่ต้น เพราะเป็นห่วงเรื่องอันตรายของประเทศนี้ เพราะประเทศของเราไม่รู้จักความมั่นคงของรัฐในมิติอื่นๆ และไม่เป็นตัวของตัวเอง นายก็อุตสาห์รับคำเชิญของเรา และยังประสงค์จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเหล่าเยาวชน นิสิต นักศึกษาในประเทศไทย แม้จะกลับฮ่องกงแล้ว แต่นายก็ยินดีที่จะสไกป์มาให้พวกเราในที่นี้ แม้ว่านายจะไม่สามารถพูดอะไรบางเรื่องในประเทศนี้ได้ก็ตาม"

"สุดท้ายนี้เราในฐานะตัวแทนผู้จัดงานคนหนึ่ง ขอขอบคุณโจชัว หว่อง นายเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเรา เสียงของนายและการกระทำได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อำนาจที่ดูเหมือนมั่นคง แท้จริงเต็มไปด้วยความกลัวและหลงหยิ่งผยองในตัวเอง เราหวังว่าจะได้มีการสื่อสารกันแบบนี้อีก และในรูปแบบอื่นๆ การเมืองของคนรุ่นใหม่ ตอนนี้อาจจะยังเป็นอุดมคติที่ยังเคว้งคว้าง แต่ในปัจจุบันวันนี้เราจะพยายามสานฝันให้ถึงอนาคตให้ได้ ปาฐกถาของนายจะบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ของการสร้างสังคมที่คนรุ่นใหม่ร่วมกำหนดอนาคตได้อย่างแน่นอน"

โดยตอนท้ายเนติวิทย์ได้ขอให้ผู้ร่วมเสวนาเปล่งคำขวัญ "Long Live Democracy in Hong Kong" หรือ "ประชาธิปไตยฮ่องกงจงเจริญ" อีกด้วย

000

ปาฐกถา "การเมืองของคนรุ่นใหม่" โดย โจชัว หว่อง

ต่อมาเป็นการปาฐกถาของ โจชัว หว่อง หัวข้อ "การเมืองของคนรุ่นใหม่"  โดย โจชัว หว่อง แนะนำตัวเองว่าเข้าเรียนรัฐศาสตร์อยู่ที่ โอเพ่น ยูนิเวอร์ซิตี้ ฮ่องกง จากนั้นเล่าว่าเมื่อตอนที่อังกฤษส่งมอบอำนาจปกครองของฮ่องกงคืนให้กับจีนในปี ค.ศ. 1997 เขายังอายุเพียง 1 ขวบ โดยก่อนส่งมอบมีการตกลงกันให้การปกครองฮ่องกงอยู่ภายใต้หลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ มีหลักการเรื่องการปกครองตนเอง การแยกอำนาจ และประกันเสรีภาพ

แต่ในเวลาต่อมา ทางการจีนพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นผ่านการแก้ไขตำราเรียนของฮ่องกง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตนด้วยการตั้งกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ชื่อ "Scolarim" มาตั้งแต่ปี 2011 โดยมีแรงสนับสนุนมาจากประชาชนในฮ่องกง รวมทั้งครูและนักเรียนก็เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านการแก้ไขหลักสูตรการศึกษา โดยยุทธวิธีที่นำมาใช้ ยังใช้การอดอาหาร การชุมนุมใหญ่ จนนำไปสู่การตัดสินใจยกเลิกการแก้ไขตำราเรียน

โจชัว หว่อง ชี้ว่า แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวของนักเรียนมัธยม แต่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่นักเรียนก็สามารถสั่งสมประสบการณ์ และเคลื่อนไหวได้อย่างมีพลัง และประสบความสำเร็จในการทำให้รัฐบาลรับฟังข้อเท็จจริงได้

ต่อมาเขากล่าวถึงบทบาททางการเมืองของเยาวชนฮ่องกงว่า ในปี 2014 เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงปฏิรูประบบเลือกตั้ง ให้ยึดหลักการ 1 คน 1 เสียง มีทั้งนักเรียนมัธยม นักศึกษามหาวิทยาลัย และผู้ปกครองมาร่วมชุมนุมกว่าแสนคน สามารถจัดการชุมนุมอยู่หน้าที่ทำการรัฐบาลได้ในวันที่ 28 กันยายน 2014 แต่แล้วก็ถูกตอบโต้จากตำรวจที่ใช้แก๊สน้ำตา ผู้ชุมนุมจึงใช้ร่มกำบัง เป็นที่มาของ "ขบวนการฏิวัติร่ม"

โจชัว หว่อง กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้แม้การชุมนุมของพวกเขาจะไม่ประสบผลสำเร็จเสียทีเดียว แต่คนรุ่นใหม่ยังสามารถมีบทบาทเปลี่ยนแปลงการเมืองได้ โดยพวกเขาจัดตั้งพรรค "Demosistō" หรือ เดโมซิสโต เป็นพรรคการเมืองของคนหนุ่มสาว มีตัวเขาเป็นเลขาธิการ และนาธาน หลอ ควุน-จุง หรือ นาธาน หลอ เพื่อนของเขาที่เป็นแกนนำชุมนุมปี 2014 ก็เป็นประธานพรรค

โดยในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติฮ่องกงซึ่งเป็นระบบครึ่งใบ (เลือกตั้งครึ่งหนึ่ง เลือกผ่านสมาคมครึ่งหนึ่ง) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พรรคเดโมซิสโต ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งด้วย โดยที่นาธาน หลอ วัย 23 ปี ชนะการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงอายุน้อยที่สุด โดยเขาได้คะแนนเสียง 50,818 คะแนน ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 ในเขตเลือกตั้งเกาะฮ่องกง

โจชัว หว่อง ระบุด้วยว่า "คนหนุ่มสาวสามารถต่อสู้ให้เป็นตัวอย่างทั้งทางด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนได้ และแม้จะไม่สามารถกำหนดได้แน่ชัดว่า ไทย หรือ ฮ่องกงจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเต็มที่ได้เมื่อใด แต่ด้วยวัยเยาว์ของคนหนุ่มสาวทำให้เวลาอยู่ข้างพวกเรา" และกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "ทุกวันนี้พวกคุณกำลังครอบงำอนาคตของเราอยู่ แต่วันหนึ่งข้างหน้าเราจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของพวกคุณได้ในที่สุด"

ในตอนท้ายพิธีกรเวทีได้เซอร์ไพรซ์ โจชัว หว่อง ในโอกาสใกล้ครบรอบวันคล้ายวันเกิด จึงเชิญชวนผู้ร่วมฟังปาฐกถาร้องเพลง "เพลงแฮปปีเบิร์ดเดย์ทูยู" ให้โจชัว หว่อง ขณะที่เจ้าตัวยิ้มหลังจากได้รับคำอวยพร โดยเขากล่าวขอบคุณ และอวยพรชาวไทยด้วยว่า "Long Live Democracy in Thailand" เป็นการปิดท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net