Skip to main content
sharethis

นอกเหนือจากอุตสาหกรรมประมงและเกี่ยวเนื่อง, ก่อสร้าง และคนทำงานบ้านแล้ว ในภาคท่องเที่ยวก็มีการใช้ ‘แรงงานข้ามชาติ’ โดยเฉพาะ ‘ธุรกิจโรงแรม’ ที่มีงานหนัก การจ้างงานไม่มั่นคง ให้ออกจากงานช่วงโลว์ซีซั่น-เลิกจ้างไม่มีค่าชดเชย

จากกรณีการขายธุรกิจโรงแรม ‘ปาร์คนายเลิศ’ ที่มีพนักงานกว่า 388 คน ต้องถูกเลิกจ้าง รวมทั้งกรณีการปราบปรามเครือข่ายธุรกิจทัวร์ศูนย์เหรียญและโรงแรมนอมินีต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลใจต่องการจ้างงานในภาคท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวแนวโน้มการเลิกจ้างในภาคท่องเที่ยวก็น่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก

แต่ส่วนใหญ่แล้ว ‘แรงงานที่มองไม่เห็น’ อย่าง ‘แรงงานข้ามชาติ’ มักจะได้รับผลกระทบก่อนเพื่อน ทั้งการจ้างงานแบบยืดหยุ่น ไม่จ้างประจำ ให้ออกจากงานช่วงโลว์ซีซั่น แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ปล่อยไปตามยถากรรมในช่วงที่โรงแรมไม่จ้างงาน) รวมทั้งหากมีการลดต้นทุน แรงงานข้ามชาติก็มักจะถูกเลิกจ้างก่อนแรงงานไทยและบ่อยครั้งก็ไม่ได้รับการชดเชยตามกฎหมายใด ๆ

ในรายงาน ‘No Holidays for the Burmese: A follow up study of the working conditions for Burmese migrants at hotels and their suppliers in Thailand’ ขององค์กร Schyst Resande ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนของสวีเดนที่เผยแพร่เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ระบุว่าแม้ภาคใต้ของประเทศไทยจะเปรียบเหมือนสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวชาวสวีเดน แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติชาวพม่ากลับต้องทำงานหนัก ถูกกดขี่ขูดรีด เนื่องจากโรงแรมหลายแห่งละเลยมาตรฐานทางจริยธรรมในการทำธุรกิจ

รายงานได้เปิดเผยถึงการใช้แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมโรงแรมในภาคใต้ของไทยที่ทำธุรกิจกับบริษัทนำเที่ยวชั้นนำของสวีเดน อันได้แก่ Apollo (REWE Group), Fritidsresor (TUI Group เป็นบริษัทนำเที่ยวแบบเครื่องบินเหมาลำที่ใหญ่ที่สุดของสวีเดน) และ Ving (Thomas Cook Group)

ผู้วิจัยได้ทำการภาษณ์แรงงานชาวพม่า 29 ราย (ชาย 17 หญิง 12) ที่ทำงานในโรงแรมในพื้นที่เขาหลัก จ.พังงา และโรงแรมใน จ.ภูเก็ต เมื่อเดือน มิ.ย. 2558 โดย 18 ราย เป็นพนักงานทำความสะอาด, พนักงานเสิร์ฟ และผู้ดูแลสวน ส่วนอีก 11 รายทำงานในแผนกซักรีด และแผนกครัว โดยแรงงานทั้งหมดได้รับค่าจ้างที่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ต้องทำงานเกินเวลา และมีวันหยุดน้อยกว่าพนักงานชาวไทย รวมทั้งมีการใช้แรงงานเด็กด้วย

ตัวอย่างสภาพการทำงานของแรงงานที่ให้ข้อมูลกับงานวิจัย ได้แก่ Nwe Nwe พนักงานทำความหญิงวัย 16 ปี (เธอเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 15 ปี) ทุกวันเธอเริ่มทำงานในเวลา 7.00 น. ต้องทำความสะอาดห้องพักรวม 16 ห้อง ซึ่งหากเธอทำได้รวดเร็วก็จะมีช่วงเวลาพักกลางวันบ้าง เธอทำงานโดยไม่มีวันหยุดใด ๆ เธอระบุว่าโรงแรมที่เธอทำงานอยู่มักจะหักเงินเดือนจากความผิดพลาดในการทำงาน เช่น หากเธอลืมตรวจเช็คมินิบาร์ว่าผู้เข้าพักรับประทานอะไรไปบ้างเธอก็ต้องชดใช้แทน ครั้งหนึ่งเธอเคยทำแก้วแตกและต้องถูกปรับเงินถึง 800 บาท

ในรายงานยังระบุว่าแรงงานชาวพม่าเหล่านี้ทำงานอย่างหนักวันละ 14-17 ชั่วโมงทุกวันโดยไม่มีวันหยุด และโรงแรมมักจะจ่ายค่าทำงานล่วงเวลา (OT) ให้กับแรงงานชาวพม่าอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้หากจะมีการเลิกจ้าง แรงงานชาวพม่าก็มักจะถูกให้ออกจากงานโดยไม่มีการชดเชยใด ๆ

ในด้านสภาพที่พักและความเป็นอยู่หลังจากการทำงานนั้นก็มีสภาพย่ำแย่ (ดูได้จากภาพข้างล่าง)

ส่วนใหญ่แล้วแรงงานชาวพม่าจะทำงานในโรงแรมหรูหรา ให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติกระเป๋าหนัก แต่นี่คือสภาพที่อยู่อาศัยและความเป็นอยู่หลังเลิกงานของพวกเขา (ที่มาภาพ: Martin Gemzell จากรายงาน No Holidays for the Burmese: A follow up study of the working conditions for Burmese migrants at hotels and their suppliers in Thailand)

อนึ่ง ย้อนไปเมื่อปี 2551 หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของสวีเดนยังเคยเสนอ รายงานข่าว ว่าโรงแรมในภาคใต้ของไทยที่มีชาวสวีเดนไปพำนักอาศัยอยู่หลายแห่งนั้นไม่ได้เข้มงวดเรื่องโสเภณี โดยพนักงานของโรงแรมอนุญาตให้โสเภณีขึ้นไปบนห้องพักกับแขกโดยบางครั้งอาจมีการจ่ายเงินให้ แม้ว่าการค้าประเวณีจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายของไทยก็ตาม

 

แรงกระเพื่อมหลังรายงานถูกเปิดเผย

หลังจากรายงานฉบับนี้ได้เผยแพร่ในเดือน ธ.ค. 2558 และมีสื่อช่วยประโคมข่าว ทำให้ไทยขยับตัวดังนี้

เดือน ม.ค. 2559 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานออกมาระบุว่าได้มอบหมายให้พนักงานตรวจแรงงาน เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต ลงพื้นที่ตรวจสอบและให้ความรู้แก่สถานประกอบกิจการประเภทโรงแรมพบว่า จ.พังงา มีผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม จำนวน 128 แห่ง มีลูกจ้างรวม 8,587 คน ในจำนวนนี้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวในโรงแรมบริเวณบ้านเขาหลัก จำนวน 24 แห่ง พบว่า มีโรงแรม 5 แห่ง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คือ ไม่จัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน 2 แห่ง จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 1 แห่ง และไม่จัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ 2 แห่ง โดยมีสถานประกิจการปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่แล้ว 3 แห่ง ยังคงเหลือ 2 แห่ง อยู่ระหว่างติดตามผลการออกคำสั่ง

 สำหรับ จ.ภูเก็ต มีธุรกิจโรงแรมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คน จำนวน 196 แห่ง มีลูกจ้างรวม 5,305 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีการจ้างแรงงานต่างด้าว 95 แห่ง จากการตรวจโรงแรม 24 แห่ง ไม่พบการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่พบการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 8 แห่ง แบ่งเป็น ไม่จัดให้มีข้อบังคับการทำงาน 3 แห่ง ซึ่งขณะนี้ปฏิบัติถูกต้องตามคำสั่งเจ้าหน้าที่แล้ว ไม่จัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ 2 แห่ง และไม่จัดทำทะเบียนการจ่ายค่าจ้าง 3 แห่ง โดยอยู่ระหว่างการติดตามผล

เดือน มิ.ย. 2559 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โครงการนำร่อง (Pilot Project) ของการเผยแพร่หลักการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจ (The UN Guiding Principles on Business and Human Rights-UNGP) ที่ จ.ภูเก็ต ระบุว่า ปัจจุบันประชาคมโลกให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยเคารพหลักสิทธิมนุษยชนตาม หลักการดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ (1) ให้รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชน (2) ให้ภาคธุรกิจเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน (The Corporate Responsibility to Respect) และ (3) ผู้ถูกละเมิดสิทธิต้องเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ เหตุผลที่ กสม. เลือกธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมเป็นโครงการนำร่องในการเผยแพร่หลักการดังกล่าว เนื่องจาก กสม. ได้เล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจการท่องเที่ยวต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก และจากการจัดอันดับของเว็บไซต์ทริปแอดไวเซอร์ (www.tripadvisor.com) ได้จัดอันดับจังหวัดภูเก็ตเป็นหนึ่งในสิบสถานที่จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก นับได้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมใน จ.ภูเก็ต มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ กสม. มีความมุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างความตระหนักให้ภาคธุรกิจเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการดำเนินธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมการเติบโตของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมอย่างมั่นคง (Stable) และยั่งยืน (Sustainable) อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรับทราบว่าขณะนี้ประเทศไทยและภาคธุรกิจของไทย โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมได้ตระหนักถึงความสำคัญของหลักการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจ (UNGP) เพื่อการเคารพสิทธิมนุษยชนและนำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจอันจะยังประโยชน์แก่การสร้างรายได้และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

 

ภาคเหนือก็มี ยิ่งธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก แรงงานข้ามชาติยิ่งลำบาก

ประชาไทได้สอบถามตัวอย่างสภาพการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ (ถูกกฎหมายมีใบอนุญาต) ของโรงแรมระดับ 3 ดาวแห่งหนึ่ง ในเมืองท่องเที่ยวอย่าง จ.เชียงใหม่ เมื่อช่วงกลางปี 2559 ที่ผ่านมา พบสภาพการจ้างดังนี้

หากบรรจุเป็นพนักงานประจำในตำแหน่งเดียวกันนั้น พนักงานคนไทยจะได้เงินเดือนเดือนละ 10,000 บาท ส่วนแรงงานข้ามชาติ 9,000 บาท แต่หากไม่ได้เป็นพนักงานประจำจะได้รายวันวันละ 300 บาท แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ทำงานในแผนกทำความสะอาดห้องและ แผนกซักรีด แม้จะเป็นแรงงานที่มีใบอนุญาตถูกกฎหมายแต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ เพราะฝ่ายบุคคลของโรงแรมมักจะให้เหตุผลว่าไม่ผ่านทดลองงาน 3 เดือน แล้วก็มีการจ้างเข้ามาลองงานใหม่แบบนี้เรื่อย ๆ  แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีการ ‘เข้า-ออก’ ของแรงงานในอัตราที่สูงเนื่องจากเป็นงานที่หนักและผู้บังคับบัญชาระดับที่สูงขึ้นไปมักจะเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ

นอกจากนี้การแจ้งงานแบบ ‘เฉพาะช่วง’ ไม่จ้างงานประจำของธุรกิจโรงแรมในภาคเหนือก็เป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ตั้งแต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเมื่อปี 2556 มาแล้ว

ส่วนการสำรวจธุรกิจขนาดในภาคท่องเที่ยวเล็ก เช่น โฮมสเตย์ เกสต์เฮ้าต์ รีสอตขนาดเล็ก ที่อยู่ในอำเภอรอบนอก พบว่าก็มักจะมีการใช้แรงงานแรงงานข้ามชาติอย่างหนัก ทำงานสารพัดตำแหน่ง (พนักงานทำความสะอาด ซักรีด คนสวน ทำอาหาร รับใช้นายจ้าง) ชั่วโมงทำงานยาวนาน เนื่องต้องอาศัยอยู่กินในที่ทำงาน บางส่วนมีการใช้แรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต เนื่องด้วยธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้กระจายตัวอยู่ตามอำเภอรอบนอก ซึ่งไม่สะดวกแก่การเข้าไปตรวจสอบของหน่วยงานภาครัฐ และความช่วยเหลือขององค์กรต่าง ๆ ทั้งในด้านการติดตามว่าสภาพการจ้าง-การทำงานถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีการจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรมและไม่ละเมิดสิทธิลูกจ้างหรือไม่ เป็นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net