Skip to main content
sharethis

เผยรายชื่อคณะกรรมการย่อย ป.ย.ป. พบ เอนก-สุจิต-ปธิธาน-บุญสร้าง นั่งที่ปรึกษาและกรรมการ ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นทหาร และขรก. มีเพียงคนเดียวที่มาจากภาคธุรกิจเครือเซ็นทรัล ด้านประยุทธ์ เผยทาบทาม นพ.ประเวศ วะสี แต่ติดปัญหาเรื่องสุขภาพ ขอไม่เข้าร่วม

7 ก.พ. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ ได้มีการเผยแพร่คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 7/2560 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการย่อยในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 4.คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โคยคณะกรรมการทุกชุดมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานคณะกรรมการ ทั้งนี้คำสั่งดังกล่าว ได้มีการลงนามโดยนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 2560

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการที่ได้รับความสนใจ คือ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธาน โดยมีคณะกรรมการอย่างน้อย 33 คน มีที่ปรึกษาและกรรมการ อย่างน้อย 8 คน ประกอบด้วย

1.ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปัจจุบันคือ พรเพชร วิชิตชลชัย

2.ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ปัจจุบันคือ ร้อยเอกทินพันธุ์ นาคะตะ

3.ประธานคณะอนุกรรมการทุกคณะภายใต้คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (ถ้ามี)

4.พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 – 30 กันยายน พ.ศ. 2551) และเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

5.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เคยดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

6.สุจิต บุญบงการ อดีตประธานสภาพัฒนาการเมือง และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

7.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ เลขาธิการสภาตระกูลจิราธิวัฒน์รุ่นที่ 1 ซึ่งตระกูลเป็นเจ้าของธุรกิจในเครือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล

และ 8.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เคยเป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งได้เสนอผลการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง 6 แนวทาง โดยกำหนดให้มีการนิรโทษกรรมเฉพาะคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตหรือดคีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

นอกจากนี้ยังมีกรรมการอื่นๆ อีก 23 คน ประกอบด้วย 1.รองประธาน สนช.คนหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย 2.รองประธาน สปท.คนหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย 3.รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 4.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 5.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 6.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 7.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 8.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 9.ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ 10.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 11.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 12.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 13.ผู้บัญชาการทหารบก 14.ผู้บัญชาการทหารเรือ 15.ผู้บัญชาการทหารอากาศ 16.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 17.อัยการสูงสุด 18.เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม 19.เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า 20.ผู้แทน คสช. 21.ปลัดกระทรวงกลาโหม 22.ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ 23.ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยปลัดกระทรวงกลาโหม จะเป็นทั้งกรรมการและเลขานุการ

ภาพจากเว็บศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล

ประวิตรเตรียมใช้กลไก ทหาร-ตร.-ฝ่ายปกครอง ฟังความเห็นปชช.ทั่วประเทศ เตรียมปรองดอง

ขณะที่วันนี้ มติชนออนไลน์ รายงานว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายกฯ มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่าหลังจากนี้จะมีการเรียกประชุมคณะกรรกมารเตรียมการสร้างความปรองดองในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะตั้งอนุกรรมการรับฟังข้อคิดเห็น อนุกรรมการที่จะบูรณาการข้อคิดเห็นต่างๆ และอนุกรรมการทำข้อตกลงร่วมกัน

พลเอกประวิตร กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญคือต้องรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกฝ่าย โดยให้กองทัพ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงนำผลการศึกษาแนวทางปรองดองที่ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และคณิต ณ นคร อดีตประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ศึกษาไว้มาผสมผสานร่วมกันว่าจะอยู่กันอย่างสันติในอนาคตอย่างไร และจะนำแนวทางทั้งหมดมาชี้แจงให้ฝ่ายต่างๆ รับทราบว่าจะยึดถือเป็นแนวทางจะอยู่ร่วมกันในอนาคต พยายามทำให้มันได้ส่วนจะได้แค่ไหนก็แค่นั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกัน

เมื่อถามว่า คณะกรรมการที่จะรับฟังความคิดเห็นจะเชิญคณิต ณ นคร ประธานคอป. มาร่วมด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คงไม่มี เพราะคณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นการรับฟังเพื่อรวบรวมความคิดเห็นเท่านั้น โดยจะใช้ผู้ที่เป็นกลางผู้ใหญ่บางคนที่ไม่อยากมา อาจจะช่วยอยู่ข้างหลังก็ไม่เป็นไร

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าคนที่ช่วยแต่ไม่อยากเปิดหน้ามีเยอะหรือไม่ พล.อ.ประวิตร ตอบว่าเยอะ เมื่อถามย้ำว่าหลายฝ่ายเรียกร้องให้คนที่เป็นกลางพูดกับฝ่ายการเมือง พล.อ.ประวิตร ตอบว่า จะใช้คนที่เป็นกลางทั้งทหาร ตำรวจ ผู้ว่าฯ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มานั่งฟังให้เขาได้แสดงความคิดเห็น โดยจะไม่ไปเถียงกับใคร มีแต่รับฟังฝ่ายต่างๆ ว่าในอนาคตจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นอย่างไร แล้วเราจะมารวบรวมประเด็นทั้งหมดมาทำเป็นข้อคิดเห็นร่วมกัน โดยการรับฟังทั้งหมดจะพยายามทำให้ได้ในกรอบ 3 เดือน ส่วนการพิจารณาทำข้อตกลงนั้นยังไม่กำหนดกรอบเวลา ขอรับฟังความคิดเห็นมาก่อน เท่าที่ดูฝ่ายการเมืองก็เห็นชอบในการมาให้ข้อคิดเห็น และจะรับฟังทั้งหมด

ภาพจากเว็บศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล

ประยุทธ์ เผยทาบทาม นพ.ประเวศ วะสี มาร่วม ป.ย.ป. แต่ถูกปฏิเสธ โดยให้เหตุผลเรื่องสุขภาพ

ขณะที่ สำนักข่าวไทย รายงานว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า ได้ทาบทามบุคคลภายนอก กว่า 40 คน เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)   มีทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ และผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการปฏิรูป เพื่อจัดสรรให้ทำหน้าที่ในคณะกรรมการย่อยแต่ละคณะ

“ในส่วนของคณะกรรมการปรองดอง มีบุคคลที่ปรากฎในข่าวตอบรับเข้าร่วม 3-4 คน รวมถึง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ส่วน นพ.ประเวศ วะสี ราษฎร อาวุโส ไม่ขอเข้าร่วม โดยให้เหตุผลเรื่องสุขภาพ แต่พร้อมส่งคณะทำงานเข้าร่วมงานกับ ป.ย.ป.” นายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการชุดอื่นมีดังนี้

คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ มีอย่างน้อย 15 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) รองประธานฯ รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) รองประธานฯ มีรองนายกรัฐมนตรีรายหนึ่ง และประธานคณะอนุกรรมการทุกคณะภายใต้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (ถ้ามี) เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ มี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง รมว.มหาดไทย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ เป็นกรรมการ และ ผอ.สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ มีอย่างน้อย 15 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ รองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประการ) รองประธานฯ รองนายกรัฐมนตรี (พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย) รองประธานฯ มีรองนายกรัฐมนตรีรายหนึ่ง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และประธานคณะอนุกรรมการทุกคณะภายใต้คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ (ถ้ามี) เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ มีรองประธาน สนช. รายหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย รองประธาน สปท. รายหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ มี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ เมษินทรีย์) เป็นกรรมการและเลขานุการ มี ผอ.สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ มีอย่างน้อย 14 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ รองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง) รองประธานฯ มีรองนายกรัฐมนตรีรายหนึ่ง ประธาน สนช. ประธาน สปท. และประธานคณะอนุกรรมการทุกคณะภายใต้คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ (ถ้ามี) เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ รองประธาน สนช. รายหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย รองประธาน สปท. รายหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ ผอ.สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net