หรือโลกจะมีเพิ่มอีกทวีป? เมื่อ 11 นักธรณีวิทยาประกาศ 'ซีแลนเดีย' เป็นทวีปใหม่

ที่มาภาพ เว็บไซต์ geosociety.org

ในโรงเรียนหลายคนอาจจะได้เรียนตามตำราว่าโลกเรามี 7 ทวีป คือ แอฟริกา เอเชีย แอนตาร์กติกา ออสเตรเลีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ในเชิงวิชาการของธรณีวิทยาอาจจะจัดไว้แค่ 6 ทวีปคือรวมยุโรปกับเอเชียเป็นทวีปใหญ่ทวีปเดียวชื่อ "ยูเรเชีย" แต่นักธรณีวิทยา 11 คนร่วมกันนำเสนอผลการศึกษาวิจัยล่าสุดลงในวารสารสมาคมธรณีวิทยาสหรัฐฯ ฉบับล่าสุดที่จะออกในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2560 ระบุถึงทวีปใหม่ที่ชื่อ "ซีแลนเดีย" (Zealandia)

ที่ว่าเป็นทวีปใหม่นี้ไม่ได้หมายความว่ามีดินแดนผุดขึ้นมาใหม่หรือเป็นดินแดนที่เพิ่งค้นพบ แต่เป็นดินแดนที่มีอยู่แล้วในแบบพื้นที่นิวซีแลนด์และนิวแคลิโดเนีย แต่มีการศึกษาพบว่าพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่แนวหมู่เกาะเท่านั้นแต่ทั้งคู่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นทวีปที่แยกตัวออกมาจากออสเตรเลียมีอาณาเขตรวมกัน 4.9 ล้านตารางกิโลเมตร

กลุ่มนักวิจัยเหล่านี้มีอยู่ 10 คนที่ทำงานกับองค์กรหรือบริษัทในพื้นที่ "ทวีปใหม่" ส่วนอีกคนหนึ่งทำงานมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย ด้าน บรูซ ลูเยนดิก นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยในแห่งแคลิฟอร์เนียที่ไม่ได้เข้าร่วมการวิจัยก็บอกว่านักธรณีวิทยาคนอื่นๆ ก็มีแนวโน้มจะยอมรับข้อสรุปเรื่องทวีปใหม่นี้ เนื่องจากนักธรณีวิทยาที่ทำงานวิจัยครั้งนี้เป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นดีที่ทำการค้นคว้าหลักฐานอย่างเข้มข้นและเจาะลึก

คำว่า "ซีแลนเดีย" ก็ไม่ใช่คำใหม่แต่อย่างใด คำๆ นี้ลูเยนดิกเป็นผู้เสนอขึ้นมาเองในปี 2538 เขาไม่ได้เสนอในฐานะทวีปใหม่แต่เป็นการเรียกรวมเขตพื้นที่นิวซีแลนด์ นิวแคลิโดเนีย และชิ้นส่วนผืนดินกับส่วนที่แยกออกมาจากมหาทวีปกอนด์วานา ซึ่งเป็นทวีปใหญ่เมื่อ 200 ล้านปีก่อน แต่นักวิจัยก็เอาชื่อนี้ไปใช้กับการศึกษาจริงจังว่าพื้นที่ซีแลนเดียจัดเป็นทวีปหรือไม่โดยอาศัยเกณฑ์การตัดสินใจ 4 อย่าง ที่ใช้ตัดสินให้แผ่นเปลือกโลกแต่ละแห่งจัดเป็นทวีป

เกณฑ์ดังกล่าวได้แก่ 1.) การที่พื้นที่แผ่นเปลือกโลกนั้นๆ ต้องอยู่มีความสูงจากพื้นระดับมหาสมุทรค่อนข้างมาก 2.) มีความหลากกลายของหินสามประเภทคือหินอัคนี (จากภูเขาไฟ) หินแปร (ที่แปรสภาพจากความร้อน/แรงดัน) และหินตะกอน (ที่มาจากการกัดเซาะ) 3.) มีส่วนเปลือกที่หนากว่าและแน่นน้อยกว่าพื้นมหาสมุทร และ 4.) มีขอบเขตขนาดที่จำกัดมากพอจะจัดให้เป็นทวีปแทนที่จะเป็นจุลทวีป โดยที่ 3 เกณฑ์แรกมีนักธรณีวิทยาหลายคนประเมินไปแล้วก่อนหน้านี้ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เหลือแต่คำถามที่ว่ามันใหญ่พอจะนับเป็นทวีปหรือไม่

เมื่อมองเผินๆ แล้วซีแลนเดียอาจจะดูเหมือนเป็นพื้นดินที่แตกออกไม่ปะติดปะต่อกัน แต่จากการศึกษาล่าสุดมีการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมที่ให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับระดับความสูงและแรงโน้มถ่วงของพื้นทะเลบรรพกาลทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วซีแลนเดียเป็นเขตที่มีพื้นที่ต่อกัน และมีขนาดใหญ่กว่าจุลทวีป เทคโนโลยีการตรวจสอบระดับพื้นผิวโลกนี้เป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่นำไปใช้ตรวจสอบพื้นผิวดาวเคราะห์อย่างดาวอังคารและดาวศุกร์

นักวิจัยเหล่านี้เปรียบเทียบกับกรณีของอินเดียว่าอินเดียอาจจะใหญ่พอจะจัดเป็นทวีปมาก่อนแต่พื้นที่เปลือกโลกของอินเดียได้เคลื่อนเข้าชนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของยูเรเชียตั้งแต่เมื่อหลายล้านปีมาแล้ว ขณะที่ซีแลนเดียยังไม่ได้เคลื่อนเข้าชนกับเปลือกโลกส่วนของออสเตรเลีย มีพื้นผิวมหาสมุทรที่แยกสองทวีปออกเป็นระยะทาง 25 กม.

อีกเรื่องหนึ่งคือการที่ซีแลนเดียมีการแบ่งส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือและทางตอนใต้โดยแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นคือแผ่นเปลือกโลกออสเตรเลียกับแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก ทำให้ดูเผินๆ แล้วเหมือนพื้นที่นี้เป็นส่วนที่แตกออกมาจากทวีปมากกว่า แต่นักวิจัยก็ชี้ว่าพื้นที่อารเบีย อินเดีย และอเมริกากลางบางส่วนก็มีการพื้นที่แตกออกมาแบบเดียวกันแต่ก็ยังถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของทวีปใหญ่

จุดที่สำคัญในการตัดสินเรื่องนี้คือข้อมูลดาวเทียมที่บ่งบอกว่าซีแลนเดียไม่ใช่แค่จุลทวีปย่อยๆ ที่แตกออกแต่เป็นแผ่นเปลือกโลกที่เป็นผืนเดียวกัน เพียงแต่พื้นเปลือกโลกเหล่านี้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันอยู่ภายใต้น้ำทะเล มีแค่ร้อยละ 5 ที่ผุดขึ้นมาจนดูเหมือนเกาะทำให้ใช้เวลายาวนานในการค้นพบเรื่องนี้

แล้วเรื่องนี้จะส่งผลต่อโลกอย่างไร? กลุ่มนักวิจัยระบุว่าการจัดประเภทของซีแลนเดียเป็นมากกว่าแค่การทำให้มีชื่อทวีปใหม่ แต่มีความสำคัญทางวิทยาศาสตร์ในแง่การตีความว่าพื้นที่ใต้น้ำทะเลก็จัดเป็นพื้นที่ทวีปได้และมีความสำคัญในการสำรวจด้านธรณีพลวัตเพื่อศึกษาการแตกตัวและการเคลื่อนรวมของแผ่นเปลือกทวีป อีกทั้งลูเยนดิกยังบอกว่าเรื่องนี้จะส่งผลด้านเศรษฐศาสตร์ในแง่การนิยามว่าส่วนใดเป็นหรือไม่เป็นพื้นที่ของนิวซีแลนด์ด้วย ซึ่งตามข้อตกลงของสหประชาชาติการจัดพื้นที่ทวีปเหล่านี้อาจจะทำให้นิวซีแลนด์มีพื้นที่ทรัพยากรแนวชายฝั่งเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Earth Has a New Continent Called 'Zealandia', Study Reveals, Science Alert, 15-02-2017
http://www.sciencealert.com/earth-has-a-brand-new-continent-called-zealandia/

Zealandia: Earth’s Hidden Continent, The Geologocal Society of America, Volume 27 Issue 3 (March/April 2017)
https://www.geosociety.org/gsatoday/archive/27/3/article/GSATG321A.1.htm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท