Skip to main content
sharethis

วิจารณ์ร่าง กม.คู่ชีวิต ฉบับกรมคุ้มครองสิทธิฯ ให้สิทธิหน้าที่น้อยที่สุด โฟกัสการจัดการทรัพย์สินเป็นหลัก ไม่เปิดให้รับบุตรบุญธรรม ย้ำคู่รักต่างเพศและคู่รักเพศเดียวกันศักดิ์ศรีต้องเท่ากัน ด้านนักกิจกรรมแอลจีบีทีคัดค้านเพราะกระบวนการ คสช. ไม่ชอบธรรม เนื้อหาผลิตซ้ำการเลือกปฏิบัติ เรียกร้องแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อความเสมอภาค

9 สิงหาคม 2555 คู่รักชายรักชายคู่หนึ่งตั้งใจเดินทางไปจดทะเบียนสมรสที่ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ แต่ทั้งสองคนถูกปฏิเสธจากนายทะเบียน ไม่อนุญาตให้พวกเขาทั้งสองจดทะเบียนสมรส เรื่องไม่จบแค่นั้น ทั้งสองร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาทั้งสองถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ 2550 ผลที่ตามมาคือคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ยกร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ.... ขึ้น ตามมาด้วยอีก 1 ร่างที่ร่วมกันจัดทำขึ้นระหว่างภาคประชาชนและคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

แต่ทุกอย่างก็สะดุดลงจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

กลางปี 2559 มีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือยูพีอาร์ (Universal Periodic Review: UPR) ของไทย องค์กรภาคประชาสังคมรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์แอลจีบีทีในไทย ซึ่งคาดการณ์ว่านี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ นำร่างกฎหมายฉบับนี้กลับมาทบทวนและปรับปรุงจนปัจจุบันเข้าสู่เวอร์ชั่นที่ 3

ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตของกรมคุ้มครองสิทธิฯ เวอร์ชั่น 3 ให้สิทธิน้อยที่สุด

ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร ทนายความและนักวิจัยประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ ผู้รับทุนวิจัย จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หัวข้อวิจัยเรื่อง ‘สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย’ อธิบายว่า ในร่างกฎหมายร่างที่ 1 ของกรมคุ้มครองสิทธิฯ ฐานคิดคือออกกฎหมายให้สั้นและรวดเร็วที่สุด ลดประเด็นโต้แย้งในสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นเวลาในการร่างจึงใช้แค่ 3 เดือนและมีเพียง 15 มาตรา หลักการคือให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต มาตราที่สำคัญคือให้อนุโลมสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องสิทธิหน้าที่ต่างๆ มาใช้ใน พ.ร.บ.คู่ชีวิต และบัญญัติว่าให้คู่ชีวิตมีสิทธิและหน้าที่เทียบเท่าคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ รวมทั้งกฎหมายอื่นด้วย เช่น ประกันสังคม ประมวลรัษฎากร เป็นต้น

“แต่ร่างนี้ไม่มีการระบุถึงการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันเลย เพราะการรับบุตรบุญธรรมมี 2 แบบคือรับเดี่ยวกับรับร่วม ถ้าเป็นคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สามารถรับร่วมกันได้ แต่ร่างของกรมคุ้มครองสิทธิร่างแรกไม่พูดถึงเลย”

ต่อมาในร่างกฎหมายเวอร์ชั่นที่ 2 ของกรมคุ้มครองสิทธิฯ ในปี 2559 ที่เกิดขึ้นภายหลังกระบวนการยูพีอาร์ ชวินโรจน์กล่าวว่าหลักการยังคงเดิมคือให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ แต่ไม่ให้สิทธิรับบุตรบุญธรรมเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือจำนวนมาตราเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 15 มาตราเป็น 60 มาตรา

“เพิ่มมาได้ยังไง เพิ่มจากการนำแนวคิดจากร่างของภาคประชาชนมาผนวก แต่ก็ไม่ได้เอามาทั้งหมด เพราะในร่างของภาคประชาชน อะไรที่อยากได้สิทธิจะมีการบัญญัติไว้ชัดเจน แต่ร่างของกรมคุ้มครองสิทธิร่างนี้จะลดการใช้คำว่าอนุโลม เพราะภาคประชาชนกังวลว่าการใช้คำว่าอนุโลม อาจอนุโลมไม่ได้ เช่น การอุ้มบุญอนุโลมไม่ได้ เพราะกฎหมายอุ้มบุญบอกว่าผู้ที่มีหน้าที่อุ้มบุญต้องเป็นสามีภรรยาตามกฎหมายเท่านั้น”

ขณะเดียวกันในร่างเวอร์ชั่น 2 อีกประการหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือการมีข้อยกเว้นในมาตรา 10 ที่ระบุว่าคู่สมรสมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรส เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ที่ไม่อาจปรับใช้กับคู่ชีวิตได้ หลังจากนั้นกรมคุ้มครองสิทธิได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและทำการปรับปรุงจนได้เป็นเวอร์ชั่น 3 โดยยังคงหลักการเหมือนเดิมและยังคงไม่ให้สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิ่งที่เปลี่ยนไปคือจำนวนมาตราเพิ่มขึ้นจาก 60 มาตราเป็น 63 มาตรา และจากเดิมที่ทุกร่างให้มหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายก็เปลี่ยนเป็นให้กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รักษาการ มีการตัดคำว่าสิทธิและหน้าที่เหมือนคู่สมรม ด้วยเหตุนี้เมื่ออ่านเนื้อหากฎหมายคู่ชีวิตจึงให้ความรู้สึกเหมือนกับการบัญญัติแค่ว่าคู่ชีวิตจะมีการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต และเรื่องมรดกเท่านั้น

“จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของร่างเหมือนกับจำกัดสิทธิมากขึ้นเรื่อยๆ ร่างที่ 3 จึงเป็นร่างที่ให้สิทธิหน้าที่น้อยที่สุดในบรรดาร่างที่กรมคุ้มครองสิทธิเคยร่างมา”

กระบวนการ คสช. ไม่ชอบธรรม-เนื้อหายังผลิตซ้ำการเลือกปฏิบัติ

ด้านชุมาพร แต่งเกลี้ยง จากกลุ่มโรงน้ำชา ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวกับประชาไทว่า มี 2 ประเด็นที่ทำให้เธอไม่เห็นด้วยกับกฎหมายคู่ชีวิตเวอร์ชั่น 3 ของกรมคุ้มครองสิทธิ

ประเด็นแรกคือความชอบธรรมในการออกกฎหมายในรัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพราะไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตย ขาดการยอมรับ การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ละเลยมิติชีวิต ความเป็นอยู่

“ถ้าต้องแก้แบบให้เกิดความเสมอภาคต้องแก้ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะคนเท่ากัน แล้วหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ทุกคนต้องใช้กฎหมายเหมือนกันหมด ผมจึงเสนอเรื่องนี้ในงานวิจัย ศักดิ์ศรีของคู่รักเพศเดียวกันและคู่รักต่างเพศต้องเท่ากัน”

“ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศที่ออกมาในยุค สนช. แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีร่างของภาคประชาชนที่นำความเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาบรรจุในตัวกฎหมาย แต่พอผ่านขั้นตอน สนช. หรือกฤษฎีกา กลับมีการต่อเติม ตัดแต่ง กระทั่งกลายเป็นกฎหมายที่พิการ ไม่การันตีความเท่าเทียมกันได้เลย เพราะเขาไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่อยู่กับความทุกข์ร้อนของปัญหาเข้าไปมีส่วนร่วม นี่คือการตัดตอนกระบวนการประชาธิปไตย”

ประเด็นที่ 2 เนื้อหาของร่างกฎหมายคู่ชีวิต ซึ่งชุมาพรเห็นว่าไม่ว่าจะมีกฎหมายแต่งงานสำหรับคู่รักเพศเดียวกันหรือไม่ แต่ถ้ากฎหมายนั้นเป็นกฎหมายสำหรับพลเมืองชั้นสองก็ยังถือเป็นการเลือกปฏิบัติอยู่ดี เธอแสดงความเห็นว่า เหตุใดจึงไม่แก้ที่หัวใจของเรื่องนี้ นั่นก็คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่ระบุว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปี บริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

“นี่คือสิ่งที่เราตั้งคำถามว่าทำไมไม่แก้ตรงจุดนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ว่าด้วยสถาบันครอบครัว เป็นสิ่งที่กลุ่มแนวคิดอนุรักษ์นิยมเดิมกอดไว้แน่นมากว่าเป็นสถาบันครอบครัวที่ต้องเคารพบูชา ความจริงของสังคม สถาบันครอบครัวมีความหลากหลาย

“ตัวร่างกฎหมายก็ยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่ เช่น ไม่แน่ใจกับคำว่า อนุโลม เพื่อให้ใช้ได้กับกฎหมายทุกตัวจะใช้ได้จริงหรือไม่ แล้วก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่รับรอง เช่น เรื่องบุตรบุญธรรม การรับรองบุตร หรือการใช้เทคโนโลยีทางด้านการแพทย์เพื่อให้ตั้งครรภ์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขายังมีอคติ ยังมีการตีตราว่าคนที่เป็นแอลจีบีทีหรือคนหลากหลายทางเพศไม่ควรมีลูก หรือมองที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ ถ้าดูกรณีน้องคาร์เมน เขาบอกเลยว่าพ่อน้องคาร์เมนไม่สามารถเอาน้องคาร์เมนไปได้ เพราะเป็นการแต่งงานเพศเดียวกันซึ่งประเทศไทยยังไม่ยอมรับ แต่เขาให้คาร์เมนกลับไปกับคู่เกย์เพราะมองที่ผลประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก เพราะพ่อน้องคาร์เมนรวยกว่าแม่ที่ตั้งครรภ์ ทำให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีการกีดกันที่ไม่ใช่แค่มิติเรื่องเพศ แต่ยังมีเรื่องชนชั้น

“ยิ่งเราใช้กฎหมายที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน มันยิ่งไม่สามารถการันตีได้เลยว่าจะคุ้มครองได้จริงๆ มันมีครอบครัวแอลจีบีทีอยู่จริง แต่กลายเป็นคุณพ่อ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ถือสิทธิในตัวเด็ก ปัญหาคือคู่ชีวิตที่ดูแลกันมาด้วยความรัก ถ้าเกิดการสูญเสียผู้ที่มีสิทธิปกครองเด็กตามกฎหมาย มันอาจจะตัดสิทธิคู่ชีวิตอีกคนในการดูแลเด็ก นี่เป็นเรื่องที่เรากังวล”

คู่รักเพศเดียวกัน-คู่รักต่างเพศ ศักดิ์ศรีต้องเท่ากัน

ในส่วนของชวินโรจน์ เขาเห็นว่าประเด็นที่น่ากังวลคือการให้กระทรวงยุติธรรมรักษาการ คู่ชีวิตต้องการจดทะเบียนต้องไปจดที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ซึ่งมีเพียงจังหวัดละ 1-2 แห่งเท่านั้น อีกทั้งจะเท่ากับเป็นการแบ่งพลเมืองของรัฐออกเป็นชั้นๆ คู่รักเพศเดียวกันจะมีสภาพเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง

อีกทั้งการที่ร่างกฎหมายคู่ชีวิตตัดคำว่า คู่ชีวิตมีสิทธิและหน้าที่เท่ากับคู่สมรส เท่ากับว่าสิทธิต่างๆ ที่คู่สมรสได้ เช่น ประกันสังคม ประมวลรัษฎากร คู่ชีวิตก็จะไม่ได้รับ ก็เท่ากับเป็นการไปลงทะเบียนไว้เฉยๆ ภาครัฐจะไม่ให้สิทธิใดๆ ชวินโรจน์ยังมีทัศนะไปในทิศทางเดียวกับชุมาพรว่า

“ถ้าต้องแก้แบบให้เกิดความเสมอภาคต้องแก้ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะคนเท่ากัน แล้วหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ทุกคนต้องใช้กฎหมายเหมือนกันหมด ผมจึงเสนอเรื่องนี้ในงานวิจัย ศักดิ์ศรีของคู่รักเพศเดียวกันและคู่รักต่างเพศต้องเท่ากัน”

กรมคุ้มครองสิทธิฯ แจงกำลังนำร่างมาปรับปรุง

นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ภายหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นไปส่วนหนึ่ง ขณะนี้ทางกรมได้นำร่างกฎหมายคู่ชีวิตกลับมาปรับปรุงอีกครั้ง ในเรื่องระบบการจดทะเบียน หน่วยงานรับผิดชอบ การหารือกับผู้นำทางศาสนา การจัดการให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เช่น ควรศึกษากฎหมายต่างประเทศหลายๆ แบบหรือไม่

กับข้อสังเกตที่ว่า เนื้อหาในร่างกฎหมายมีให้ความรู้สึกของการทำสัญญาแลกเปลี่ยนซื้อขายมากกว่าการจดทะเบียนสมรส นรีลักษณ์ กล่าวว่า

“มันมีความคล้ายกับสัญญามาก เราจึงต้องมาปรับปรุง จริงๆ ไม่ต้องมี พ.ร.บ. นี้ก็ได้ ก็ทำเหมือนนิติกรรมสัญญาไป แต่สถานะปัจจุบันของร่าง พ.ร.บ. นี้เน้นเฉพาะทรัพย์สินกับมรดกจึงต้องโฟกัสแค่นั้น แต่ทีมที่เรากำลังปรับคิดว่ายังไม่พอ ควรจะต้องรีวิวให้ครอบคลุมกว่านี้

“ส่วนประเด็นการรับบุตรบุญธรรมก็มีการพูดคุยกัน แต่มองว่ายังไกลไป ยากที่คนจะยอมรับ ยากที่จะผลักดัน อาจจะถูกกระแสสังคมต่อต้าน เราจะผลักดันในสิ่งที่เราคิดว่าผลักดันได้ในระยะต้น จึงจำกัดแค่เรื่องทรัพย์สินมรดก เรื่องบุตรบุญธรรมจะไว้เป็นขั้นต่อไป”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net