รายงาน: วิเคราะห์คดีน้องคาร์เมน-LGBT ครอบครัวต้องห้าม?

วิเคราะห์คดีน้องคาร์เมน ศาลพิจารณาจากผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง นักวิชาการชี้ไม่ช่วยสร้างบรรทัดฐานด้านสิทธิในการมีครอบครัวของ LGBT ขณะที่สังคมยังติดกับมายาคติเรื่องครอบครัวที่สมบูรณ์ พ่อ-แม่-ลูก LGBT เลี้ยงเด็กไม่ได้ เร่งผลักดันกฎหมายคู่ชีวิตเพื่อสิทธิการสร้างชีวิตคู่ที่เท่าเทียม

ครอบครัวของน้องคาร์เมน ภาพจาก http://socialnews.teenee.com/penkhao/2244.html

คดีน้องคาร์เมนที่ใช้เวลาไต่สวนยืดเยื้อกว่า 1 ปี ซึ่งในที่สุดก็จบลงตามที่รับทราบกันโดยทั่วไปว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้ตัดสินให้ฝ่ายผู้ร้องที่เป็นคู่รักชายรักชายชาวต่างประเทศได้รับสิทธิในการดูแลน้องคาร์เมน

ส่วนหนึ่งของเนื้อหาคำพิพากษาระบุว่า อีกทั้งข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการไต่สวนพยานผู้ร้องก็รับฟังได้ว่า ผู้ร้องอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงด้วยความรักและเอาใจใส่ และถึงแม้ผู้ร้องเป็นคนรักร่วมเพศ แต่ความเป็นคนรักร่วมเพศมิใช่อุปสรรคที่จะทำให้ผู้ร้องไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงให้ได้รับความสุขและความอบอุ่นเท่ากับเด็กอื่นๆ

คำถามที่ตามมาคือ คำพิพากษาครั้งนี้ได้วางบรรทัดฐานบางประการเกี่ยวกับประเด็นสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในการมีบุตรหรือไม่ เกิดแรงกระเพื่อมต่อนิยามความเป็นครอบครัว ความเป็นพ่อ-แม่จากคำพิพากษานี้หรือไม่ และสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในการสร้างครอบครัวที่แตกต่างจากนิยามเดิมๆ เปิดกว้างขึ้นหรือไม่

‘ครอบครัวมายาคติที่ถึงเวลาต้องเปลี่ยน

มัจฉา พรอินทร์ ผู้อำนวยการโครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน นักศึกษาปริญญาโท สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในฐานะหญิงรักหญิงที่รับเลี้ยงหลานสาวแท้ๆ ของเธอในฐานะลูก กล่าวว่า ตนดีใจกับคู่รักที่ได้รับสิทธิการเลี้ยงดูน้องคาร์เมน เพราะเธอมีทัศนะว่าใครก็ตามที่มีความตั้งใจที่จะเลี้ยงดูลูก สังคมควรต้องเคารพสิทธินี้ ไม่ว่าเขาจะมีความหลากหลายทางเพศหรือไม่ เนื่องจากเหตุแห่งเพศย่อมไม่ใช่เหตุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ

“กรอบเรื่องครอบครัวคือมีพ่อ แม่ และลูก และต้องอบอุ่นด้วย แต่จริงๆ ครอบครัวมีความซับซ้อนมาก หมายความว่าหลายครอบครัวไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย เช่น ครอบครัวที่มีเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือบางครอบครัวก็มีความรุนแรงในครอบครัว ภาพมายาคตินี้มันทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่าไม่ Fit In และไม่สามารถเป็นไปตามอุดมคติได้ แต่สำหรับเรา นิยามของครอบครัวมันเป็นได้หลากหลายกว่านั้น

“LGBT (หมายถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ L-Lesbian, G-Gay, B-Bisexual และ T-Transgender) ลึกๆ แล้วหลายครอบครัวไม่ได้ยอมรับในอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศเขา แปลว่าพ่อแม่จำนวนมากที่มีลูกเป็น LGBT ก็รักลูกแบบครอบครัวอื่นๆ แต่ไม่สามารถยอมรับอัตลักษณ์ของลูกได้ หรือบางคนยอมรับสิ่งที่ลูกเลือก ลูกเป็น แต่ก็ไม่ยอมรับคู่ชีวิตของลูก เพราะมีมายาคติ ว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่น่าจะอยู่ด้วยกันได้ ทำให้ LGBT จำนวนมากไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ หลายคนต้องออกไปจากครอบครัว ซึ่งเมื่อออกไปแล้วก็พบว่าสามารถสร้างความหมายใหม่ได้ เป็นครอบครัวที่เรารู้สึกจริงๆ คือเราเจอคนกลุ่มหนึ่งที่เราสามารถสร้างนิยามความหมายร่วมกัน รู้สึกเป็นครอบครัว ดูแลกัน แบ่งปันกัน รู้สึกอบอุ่นที่ได้อยู่ด้วยกัน”

สอดคล้องกับความเห็นของสุชาดา ทวีสิทธิ์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ที่เห็นว่ามายาคติเรื่องครอบครัวที่สมบูรณ์ที่มีพ่อ-แม่-ลูกสร้างแรงกดทับทั้งต่อผู้ชายและผู้หญิง และแน่นอนว่าต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย เนื่องจากในยุคปัจจุบันนิยามความเป็นครอบครัวลื่นไหลและหลากหลายไปจากเดิมมาก

ศาลพิจารณาบนพื้นฐานของประโยชน์สูงสุดที่เด็กจะได้รับ

ปัจจุบัน ในทางปฏิบัติคู่รักเพศเดียวกันจำนวนมากอยู่กินและสร้างครอบครัวกันอย่างเปิดเผย แม้ว่าในทางกฎหมายจะยังไม่รองรับสิทธิดังกล่าว เมื่อผลคดีน้องคาร์เมนออกมาในลักษณะดังกล่าว จึงเกิดการตื่นตัวว่าคำพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางน่าจะช่วยสร้างบรรทัดฐานใหม่ในมิติด้านสิทธิให้แก่คนหลากหลายทางเพศ

ทว่า มันอาจจะเร็วเกินไปที่สรุปเช่นนั้น

สุชาดา กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมคณะผู้พิพากษาชุดนี้ที่ค่อนข้างใจกว้าง แม้ว่าสิ่งที่เน้นจะเป็นเพื่อประโยชน์และสิทธิของเด็กเป็นสำคัญ แม้ว่าทัศนคติแบบอนุรักษ์นิยมเรื่องครอบครัวของสังคมไทยยังมองว่าคนรักเพศเดียวกันไม่สามารถเลี้ยงเด็กได้ เพราะจะทำให้เด็กมีปัญหา เกิดปมด้อย แต่คณะผู้พิพากษาชุดนี้ก็ยอมรับครอบครัวคนรักเพศเดียวกัน จึงยอมให้เด็กอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครองซึ่งเป็นชายรักชาย

"วันหนึ่งต้องเดินทางไปต่างประเทศ รู้เลยว่าถ้าเราเสียชีวิต แฟนเราจะไม่ได้สิทธิดูแลลูกเรา เพราะแฟนเราไม่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือด ทำให้ตระหนักเลยว่าถ้าเราเป็นอะไรไป สองคนนั้นจะไม่ได้อยู่ด้วยกันทั้งที่เขาก็รักกันมากและเป็นแม่ลูกกัน"

แต่นี่อาจไม่ได้สร้างบรรทัดฐานใดๆ สำหรับการตัดสินในกรณีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อมิติด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการสร้างครอบครัว

“แต่มันก็ไม่ได้เป็นมาตรฐานของการตัดสิน เพราะเขาตัดสินตามบทเฉพาะกาลมาตรา 56 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ พ.ศ.2558 ที่บอกว่าให้ผู้พิพากษาใช้ดุลยพินิจกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ. นี้ประกาศใช้ กรณีน้องคาร์เมนเกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ เพราะฉะนั้นการใช้ดุลยพินิจของศาลก็จะเป็นกรณีๆ ไป โดยเอาประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง ซึ่งจะไม่สามารถใช้เป็นมาตรฐานคำพิพากษาได้ ถ้าหากเราจะบอกว่าคำพิพากษานี้จะเป็นมาตรฐานต่อไป ถ้ามีปัญหากรณีเดียวกัน มีผู้ชายรักเพศเดียวกันมาฟ้องเพื่อเป็นผู้ปกครองเด็กที่เกิดจากอสุจิของคนใดคนหนึ่ง คณะผู้พิพากษาอื่นเมื่อมองสภาพแวดล้อมแล้ว เขาอาจไม่ตัดสินแบบนี้ก็ได้ เขาอาจใช้ดุลยพินิจต่างก็ได้ ซึ่งคิดว่ามีความเป็นไปได้”

สุชาดาขยายความว่า กรณีน้องคาร์เมนก็มีการดูข้อเท็จจริงหลายอย่าง เช่น การเปรียบเทียบระหว่างแม่ที่อุ้มบุญมาแต่ไม่มีความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมกับพ่อซึ่งมีความเชื่อมโยงทางพันธุกรรม การที่พ่อสามารถดูแลเด็กได้ดี ดูสถานะทางเศรษฐกิจ ดูความเป็นไปได้ที่เด็กจะเติบโตมาในครอบครัวหรือสถานะครอบครัวที่จะสนับสนุนให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุดได้ กล่าวคือคำตัดสินนี้วางอยู่บนพื้นฐานที่อิงกับประโยชน์สูงสุดที่เด็กจะได้

ขณะที่ถ้าเป็นคู่ชายรักชายที่ไม่มีความเกี่ยวพันทางพันธุกรรมแบบในกรณีน้องคาร์เมน ไม่ได้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ศาลเห็นว่าเด็กจะได้รับประโยชน์สูงสุดในอนาคต และมองว่าแม่อุ้มบุญอาจมีสถานะที่ดีกว่า เด็กจะได้ประโยชน์มากกว่า ก็อาจจะตัดสินให้แม่อุ้มบุญเป็นฝ่ายชนะ ขึ้นอยู่ที่สภาพข้อเท็จจริง โดยศาลจะพิจารณาประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก

กรณีน้องคาร์เมนไม่ได้ยืนยันสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันในการมีครอบครัว

“ถ้าเกิดหลังการใช้กฎหมายอุ้มบุญ ซึ่งการจ้างอุ้มบุญถือว่าผิดกฎหมาย การนับญาติทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีความประสงค์จะทำอุ้มบุญ คู่สามีภรรยาจะต้องแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าในคู่ที่เป็นคนต่างชาติก็จะต้องจดทะเบียน อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาไม่น้อยกว่า 3 ปี แต่ไม่ได้อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันทำอุ้มบุญได้ในกฎหมายฉบับนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเด็กเกิดมา คู่สามีภรรยาที่ต้องการอุ้มบุญสามารถดำเนินตามกระบวนการกฎหมายและให้ผู้หญิงที่เป็นญาติมาอุ้มบุญ ถ้าฟ้องร้องกัน เด็กจะต้องเป็นสิทธิของพ่อแม่ที่ตั้งใจจะมีลูกและเป็นเจ้าของพันธุกรรม

“ดิฉันไม่คิดว่าจะเป็นบรรทัดฐานให้ได้ เพราะว่าเขาใช้บทเฉพาะกาลใน พ.ร.บ.อุ้มบุญ และศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้ใช้ ซึ่งพิจารณาบนประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง แต่ผู้พิพากษาคณะนี้ไม่ได้มีอคติต่อครอบครัวคนรักเพศเดียวกัน ที่มองว่าคู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถมีลูก หรือสร้างครอบครัวได้ หรือไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ดีได้ แต่ถ้าผู้พิพากษาคณะอื่นมีอคติต่อคนรักเพศเดียวกัน เขาก็อาจจะตัดสินอีกแบบก็ได้”

กล่าวโดยสรุปอีกครั้งก็คือ คำพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางกรณีน้องคาร์เมน ศาลพิจารณาอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเด็กจะได้รับประโยชน์สูงสุด มิได้พิจารณาบนฐานของสิทธิของคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันแต่อย่างใด

ขณะที่มัจฉาก็ตั้งคำถามผ่านมิติของความเหลื่อมล้ำในทำนองเดียวกันว่า สิ่งที่ตนสนใจคือถ้าผู้ร้องไม่ใช่คนผิวขาว เป็นคนข้ามเพศ อยู่ในประเทศไทย และอาจจะไม่ได้มีฐานะดี คำตัดสินจะเป็นอย่างที่ปรากฏหรือไม่ ดูเหมือนว่านี่จะเป็นอภิสิทธิ์ที่ซ้อนอยู่ในสังคม พ่อแม่หลากหลายทางเพศต้องมีฐานะดีเท่านั้นหรือจึงจะได้รับเลี้ยงลูก เธอเชื่อว่าคนหลากหลายทางเพศสามารถเลี้ยงดูลูกได้ และไม่จำเป็นต้องวางอยู่บนเงื่อนไขว่าต้องมีฐานะดี แต่ต้องใช้มาตรฐานเดียวกันว่า พ่อแม่หลากหลายทางเพศไม่ว่าจะเป็นใครที่มีความตั้งใจอยากดูแลลูก เขาก็ต้องได้รับสิทธิในการดูแลลูก

คู่รักเพศเดียวกันเลี้ยงเด็ก เด็กจะมีปัญหา?

มัจฉาเชื่อว่า ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่ข้อจำกัดใดๆ ต่อการให้ความรัก ความเอาใจใส่ และการดูแลลูก ความเข้าใจกรอบเรื่องเพศต่างหากที่ทำให้เธอสามารถเลี้ยงดูลูกสาวของเธอได้อย่างไม่ตีกรอบผ่านเพศที่สังคมวางเอาไว้

“ลูกสาวเราหรือเด็กที่อยู่ในครอบครัวแบบนี้ เขาก็จะไม่มีกรอบว่าขึ้นต้นไม้ไม่ได้หรือเรียนมวยไทยไม่ได้ เขาก็จะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้และดึงศักยภาพของตัวเองออกมา เขาจะกลายเป็นคนมั่นคง ไม่ต้องพึ่งพิงใคร”

ประเด็นหนึ่งที่คนภายนอกมักจะวิตกกังวลแทนครอบครัวหลากหลายทางเพศก็คือ จะทำให้เด็กรู้สึกมีปมด้อย ถูกล้อล้อเลียนหรือกลั่นแกล้ง ซึ่งมัจฉาเห็นว่า ประเด็นนี้เป็นปัญหาของมาระบบการศึกษาที่ไม่มีความเข้าใจ ไม่ตระหนัก ไม่ระมัดระวัง และไม่ได้สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อความแตกต่างหลากหลายในห้องเรียน เด็กชาติพันธุ์ เด็กพิการ หรือมีบุคลิกภาพที่แตกต่างหลากหลาย เด็กที่มีขนาดของร่างกายต่างๆ กัน ก็มักจะถูกล้อเลียน รังแกอยู่เสมอ ดังนั้น

“สิ่งที่เราต้องจัดการไม่ใช่ว่าลูกเราจะถูกรังแกมั้ย แต่เราต้องกลับไปตั้งคำถามว่าเราอยู่ในสังคมและระบบการศึกษาที่มีวิธีคิดอย่างไร จึงปล่อยให้เด็กและเยาวชนในสถานศึกษาจำนวนมากถูกล้อเลียนรังแก ซึ่งทางออกที่เราจะเสนอคือ ระบบการศึกษา ซึ่งหมายถึงโรงเรียน ครู และเด็ก จะต้องอยูในบรรยากาศที่ปลอดภัย แปลว่าต้องไม่มีการล้อเลียน รังแก และทำโทษ เพื่อเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ การตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและความแตกต่างหลากหลาย เคารพในเนื้อตัวร่างกายและวิธีคิดที่แตกต่างกัน”

‘กฎหมายคู่ชีวิตเพราะการสร้างครอบครัวเป็นสิทธิของทุกคน

ชีวิตครอบครัวของคนหลากหลายทางเพศทุกวันนี้ยังคงเต็มไปด้วยอุปสรรคจากกรอบกฎหมายที่ดำรงอยู่ ในกรณีของมัจฉาและคู่ชีวิต เธอเล่าว่า ห้วงเวลาแรกๆ ที่คบหากัน พวกเธอไม่คิดว่ากฎหมายจะมีความสำคัญอะไรต่อการใช้ชีวิตคู่ ภายหลังเมื่อเริ่มก่อร่างทรัพย์สินด้วยกัน จากสิ่งของที่เคยเป็นของ ‘ฉัน’ หรือของ ‘เธอ’ เปลี่ยนเป็นของ ‘เรา’ จึงทำให้รู้ว่า หากใครคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต ด้วยความที่กฎหมายยังไม่ยอมรับรูปแบบการใช้ชีวิตคู่ของคู่รักเพศเดียวกัน คนที่ยังมีชีวิตอยู่จะไม่มีสิทธิใดๆ ในทรัพย์สินที่สร้างร่วมกันมา เพราะถือว่าไม่ใช่ ‘คู่ชีวิต’ นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างเท่านั้น ส่วนในกรณีการเลี้ยงดูบุตร...

“พอเรามีลูก ตอนแรกเราก็รู้สึกว่าไม่มีปัญหาอะไรหรอก ถึงแม้เราจะไม่สามารถรับเขาเป็นลูกบุญธรรมได้ เพราะเรารักกันมาก แต่ปรากฏว่าวันหนึ่งต้องเดินทางไปต่างประเทศ รู้เลยว่าถ้าเราเสียชีวิต แฟนเราจะไม่ได้สิทธิดูแลลูกเรา เพราะแฟนเราไม่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือด ทำให้ตระหนักเลยว่าถ้าเราเป็นอะไรไป สองคนนั้นจะไม่ได้อยู่ด้วยกันทั้งที่เขาก็รักกันมากและเป็นแม่ลูกกัน

“หนักกว่านั้นคือเราวางแผนจะพาลูกไปต่างประเทศ แต่ปรากฏว่ากระบวนการที่จะพาเด็กคนหนึ่งออกนอกประเทศจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าคุณไม่สามารถหาพ่อแม่เด็กมาเซ็นต์เอกสารและต้องทำเอกสารเยอะแยะมากมาย เราจะไม่สามารถพาลูกเดินทางไปต่างประเทศด้วยได้ ถ้าเจี๊ยบไม่มีสิทธิเป็นครอบครัวโดยชอบธรรม แต่ก็อาจพูดได้ว่าก็ให้เขาเซ็นต์เอกสารอนุญาตให้พาไปได้มั้ย มันก็พอได้ แต่ประเด็นในกรณีของเรา แม่ (หมายถึงแม่ผู้ให้กำเนิด) ของลูกสาว เขาก็ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ก็ไม่สามารถให้เขามาเซ็นต์เอกสารได้ จึงทำให้เราตระหนักว่าเราไม่มีสิทธิทำอะไรเลยในเรื่องเอกสารของลูก”

นี้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่การผลักดัน ‘กฎหมายคู่ชีวิต’ ให้มีผลบังคับใช้เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้คนทุกคนไม่ว่าจะมีเพศสภาพหรือเพศวิถีแบบใด หากต้องการสร้างครอบครัวร่วมกันย่อมสามารถทำได้ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากกฎหมายของรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท