Skip to main content
sharethis

ส่วยวิน หัวหน้ากองบรรณาธิการ "เมียนมานาว" ถูกจับที่สนามบินย่างกุ้ง ก่อนถูกส่งไปขังและได้ประกันตัวที่มัณฑะเลย์ หลังจากที่เขาถูกกลุ่มพุทธขวาจัดฟ้องด้วยมาตรา 66(d) กฎหมายโทรคมนาคมโดยถูกกล่าวหาว่าหมิ่น "วีระธู" พระสงฆ์ผู้นำชาวพุทธพม่าหัวรุนแรง ทั้งนี้มาตรา 66(d) กลายเป็นข้อหาครอบจักรวาลใช้ดำเนินคดีสารพัดเรื่องออนไลน์ในพม่า โดยก่อนหน้านี้เคยมีผู้สนับสนุนรัฐบาลชุดก่อนถูกตัดสินจำคุก 6 เดือนเนื่องจากแชร์โพสต์เฟสบุ๊กหมิ่นอองซานซูจี

(ซ้าย) ส่วยวิน หัวหน้ากองบรรณาธิการสำนักข่าวเมียนมานาว ซึ่งกำลังมีคดีฟ้องร้องตามกฎหมายโทรคมนาคม มาตรา 66(d) โดยผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่าเขาหมิ่นพระวีระธู ล่าสุดเขาถูกจับที่สนามบินย่างกุ้งเมื่อวันอาทิตย์นี้ หลังตำรวจได้รับแจ้งจากผู้ฟ้องคดีว่าเขากำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ ก่อนที่ในวันจันทร์เขาจะได้รับการประกันตัว (ขวา) พระวีระธู ผู้นำกลุ่มพุทธพม่าขวาจัด "มะบ๊ะธะ" (ที่มา: Myanmar Now/เฟซบุ๊ค Wira Thu

 

ส่วยวิน หัวหน้ากองบรรณาธิการสำนักข่าวเมียนมานาว (Myanmar Now) ถูกจับที่ท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้งเมื่อเวลา 19.00 น. วันอาทิตย์นี้ (30 ก.ค.) ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวในวันจันทร์ (31 ก.ค.) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจท่าอากาศยานย่างกุ้งให้ข้อมูลกับสำนักข่าว "อิระวดี" ระบุว่าบุคคลที่อยู่ระหว่างมีคดีความ หากจะเดินทางออกนอกประเทศจะถูกควบคุมตัว

ทั้งนี้เมื่อเดือนมีนาคม จ่อเมียวชเว ผู้สนับสนุนกลุ่มมะบ๊ะธะได้ฟ้องส่วยวินด้วยมาตรา 66(d) ตามกฎหมายโทรคมนาคม ( Telecommunications Law) โดยแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจมหาอ่องมเย ภาคมัณฑะเลย์ โดยกล่าวหาว่าส่วยวิน ผู้เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการเมียนมานาวหมิ่นประมาทวีระธูพระนักเทศน์ขวาจัด

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์นี้ (31 ก.ค.) ศาลแขวงที่เขตมหาอ่องมเย ภาคมัณฑะเลย์ ปล่อยตัวส่วยวินแล้ว โดยเขาต้องลงนามในคำแถลงฉบับหนึ่ง โดยเป็นการลงนามต่อหน้าผู้พิพากษา ระบุว่าเขาจะต้องมาศาลทุกนัดที่มีการไต่ส่วนเขาตามคดีมาตรา 66(d) กฎหมายโทรคมนาคม ทั้งนี้เขาต้องประกันตัวด้วยเงิน 5 ล้านจ๊าต หรือราว 1.2 แสนบาท

ส่วยวินให้สัมภาษณ์อิรวะดีว่า เขาประหลาดใจมากที่ตำรวจมาจับกุมเขา เพราะเขาไม่เคยถูกจำกัดการเดินทางมาก่อนนับตั้งแต่ถูกฟ้องร้อง และเขาไม่มีเจตนาหลบหนี โดยก่อนหน้านี้เขาต้องเดินทางไปที่ชายแดนบ่อยครั้งอยู่แล้วเพราะต้องไปทำข่าว และประสานงานกับตำรวจในช่วงที่มีคดีความมาโดยตลอด "ถ้าผมต้องการจะหนี ผมหนีไปต่างประเทศตั้งแต่เริ่มถูกฟ้องแล้ว" ส่วยวินกล่าว โดยเขายืนยันว่าจะต่อสู้ในคดีที่ถูกฟ้องร้องดังกล่าว

หัวหน้ากองบรรณาธิการเมียนมานาวกล่าวถึงเพื่อนสื่อมวลชนในพม่าคนอื่นๆ ด้วยว่า นักข่าวที่ถูกควบคุมตัวถูกปฏิบัติราวกับเป็นอาชญากร "เคยมีเพื่อนนักข่าวถูกจับกุมที่รัฐฉาน พวกเขาถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมายที่ล้าหลังและไม่มีความยุติธรรม" ทั้งนี้เขาหมายถึงผู้สื่อข่าว 3 ราย ในจำนวนนี้รวมถึง "ละวิ เว็ง" ผู้สื่อข่าวอิระวดี ซึ่งทั้งหมดถูกดำเนินคดีจากกฎหมายว่าด้วยองค์กรนอกกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอาณานิคม โดยพวกเขาถูกจับกุมและดำเนินคดีหลังจากที่พวกเขาไปทำข่าวการเผาทำลายยาเสพติดในเขตยึดครองของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งยังคงปะทะกับกองทัพพม่า

"ในฐานะที่ผมเป็นนักข่าว ผมขอบอกกับรัฐบาลว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่ยุติธรรม" ส่วยวินกล่าวหลังได้รับการประกันตัว

อนึ่งจากรายงานบันทึกการจับกุมของตำรวจ ซึ่งได้ข้อมูลจากจ่อเมียวชเวผู้ฟ้องร้องส่วยวินระบุว่า ส่วยวินกำลังจะเดินทางออกจากประเทศในวันอาทิตย์ (30 ก.ค.) อย่างไรก็ตามไม่แน่ชัดว่าจ่อเมียวชเวได้ข้อมูลมาอย่างไร

รายงานของตำรวจระบุด้วยว่า จ่อเมียวชเวยังทำหนังสือไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคมนาคมและการสื่อสารเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ระบุว่าเขาต้องการดำเนินคดีนี้ต่อ และรัฐมนตรีได้ตอบเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ว่าคดีนี้ควรดำเนินการต่อ โดยจ่อเมียวชเวบอกกับตำรวจว่าเขาเชื่อว่าส่วยวินกำลังจะหนีออกนอกประเทศและเรียกร้องให้จับกุมเขา

ทั้งนี้ตำรวจที่มัณฑะเลย์ได้แจ้งกับตำรวจที่อำเภอมิงกลาดง ที่ตั้งของสนามบินนานาชาติย่างกุ้ง ซึ่งให้ข้อมูลว่าส่วยวิน หัวหน้าบรรณาธิการสำนักข่าวเมียนมานาว มาถึงสนามบินในเวลา 19.15 น. โดยเขาถูกร้อยตำรวจเอก มยะทุนจ่อ จากสถานีตำรวจมิงกลาดงควบคุมตัวที่เทอร์มินัล 2 เมื่อเวลา 19.20 น. โดยต่อมามีการส่งตัวส่วยวินไปควบคุมตัวที่เรือนจำมัณฑะเลย์

เพื่อนร่วมงานของส่วยวินที่สำนักข่าวเมียนมานาว ระบุว่าส่วยวินมีกำหนดเยือนกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยเพื่อนร่วมงานยืนยันด้วยว่าเขาถูกจับและเบื้องต้นถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจมิงกลาดง เพื่อนร่วมงานของส่วยวินระบุด้วยว่า ส่วยวินมีข้อตกลงด้วยวาจากับตำรวจที่มัณฑะเลย์ว่าเขาจะไปรายงานตัวในวันที่ 3 ส.ค. อย่างไรก็ตามก็มีเหตุจับกุมเขาเสียก่อน

สำหรับกลุ่ม "มะบ๊ะธะ" หรือ "สมาคมผู้รักชาติแห่งพม่า" ก่อตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2013 ในระหว่างการประชุมของพระสงฆ์กลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยกลุ่มนี้ซึ่งมีพระ "วีระธู" เป็นหนึ่งในแกนนำเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อปกป้อง “เชื้อชาติและศาสนา” ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2015 ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จากพรรครัฐบาล USDP ลงนามในกฎหมาย 1 ใน 4 ฉบับซึ่งเป็นที่ถกเถียง หนึ่งในนั้นคือกฎหมาย "เพื่อปกป้องเชื้อชาติและศาสนา" ซึ่งผลักดันโดยกลุ่มดังกล่าว และต่อมาประธานาธิบดีพม่าก็ลงนามในกฎหมายอีก 3 ฉบับที่เหลือ โดยมีเสียงต่อต้านเล็กน้อยในรัฐสภา ซึ่งในเวลานั้นพรรครัฐบาลคือพรรค USDP กุมเสียงข้างมาก

สำหรับกฎหมายโทรคมนาคม บังคับใช้เมื่อ ค.ศ. 2013 สมัยรัฐบาลเต็งเส่ง โดยมาตรา 66(d) ระบุว่า "ผู้ใดก็ตาม ขู่กรรโชก บีบบังคับ กักขังหน่วงเหนี่ยวโดยมิชอบ ทำให้เสียชื่อเสียง เป็นเหตุให้ใครก็ตามตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือข่มขู่ โดยใช้เครือข่ายโทรคมนาคม" จะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยมาตรา 66(d) ดังกล่าว ถูกนำมาใช้ฟ้องร้องหมิ่นประมาทออนไลน์แบบครอบจักรวาลในพม่า โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคม ศาลในพม่าตัดสินจำคุก ซานดี้ มิ้น อ่อง ผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลพม่าชุดก่อนเป็นเวลา 6 เดือน โดยเธอถูกกล่าวหาว่าแชร์เนื้อหาหมิ่นอองซานซูจีบนเฟซบุ๊ก โดยผู้ฟ้องคือชาวเมืองพะโครายหนึ่ง

ข้อมูลในเดือนเมษายน ทีมวิจัยด้านกฎหมายโทรคมนาคมเปิดเผยว่านับตั้งแต่มีการปกครองภายใต้รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ก็มีคดีความที่อ้างใช้มาตรา 66(d) ในกฎหมายโทรคมนาคมพม่าแล้ว 60 คดี มีการตัดสินแล้ว 11 คดี โดยที่มี 6 คดีที่จำเลยถูกสั่งคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวหรือบางส่วนก็ยังรอการไต่สวนคดีอยู่ ทีมวิจัยยังระบุอีกว่าในสมัยของอดีตประธานาธิบดีเต็งเส่งมีคดีจากกฎหมายนี้ 7 คดี และมีการตัดสิน 5 คดี

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 66(d) ของกฎหมายนี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกเพราะเกรงว่าจะถูกเอามาใช้ในทางการเมืองหรือด้วยข้ออ้างอื่นๆ ขณะที่อาร์ติเคิล 19 ระบุว่า กฎหมายโทรคมนาคมของพม่าแม้จะมีข้อดีบางส่วนอย่างการส่งเสริมความหลากหลายของสื่อผ่านการแข่งขันกับภายนอก แต่กฎหมายนี้ก็ล้มเหลวในการคุ้มครองเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสิทธิความเป็นส่วนตัว รวมถึงมีนิยามบางส่วนในกฎหมายที่ไม่ชัดเจน

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Jailed Myanmar Now Editor Released on Bail, Zarni Mann, The Irrawaddy, 31 July 2017

Breaking: Myanmar Now Editor Arrested, The Irrawaddy, 30 July 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net