นักข่าวสหรัฐถูกจับที่สนามบินย่างกุ้ง คาดถูกพาไปคุกอินเส่ง

แดนนี เฟนสเตอร์ นักข่าวสหรัฐฯ และ บก.บริหาร สำนักข่าว Myanmar Frontier ถูกเจ้าหน้าที่จับที่สนามบินย่างกุ้ง คาดว่าถูกพาตัวไปเรือนจำอินเส่ง ด้านกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ รับทราบเรื่องแล้ว และกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด ด้าน FCCT ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลนานาชาติ แสดงจุดยืนปกป้องเสรีภาพสื่อในพม่า

สนามบินนานาชาตินครย่างกุ้ง (ที่มา wiki common)

25 พ.ค. 64 สำนักข่าว Myanmar Frontier โพสต์แถลงการณ์บนหน้าเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า แดนนี เฟนสเตอร์ นักข่าวสัญชาติอเมริกัน และบรรณาธิการบริหารของสำนักข่าว Myanmar Frontier ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้ง ก่อนขึ้นเครื่องบินไปกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เบื้องต้น มีการคาดการณ์ว่าถูกพาตัวไปที่คุกอินเส่ง ในนครย่างกุ้ง 

“เรายังไม่ทราบเหตุผลที่ทำให้ แดนนี ถูกจับ และไม่สามารถติดต่อเขาได้ตั้งแต่เมื่อเช้าวันจันทร์ (24 พ.ค. 64) เราเป็นห่วงสวัสดิภาพของเขาอย่างมา และขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเขาโดยทันที” ข้อความบางส่วนจากแถลงการณ์ พร้อมระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้เป็นเรื่องความปลอดภัย และทางสำนักข่าว Myanmar Frontier จะช่วยเหลือแดนนี ทุกอย่างตามที่เขาต้องการ  

สำนักข่าวสัญชาติอเมริกัน 'CNN' สัมภาษณ์ไบรอัน เฟนสเตอร์ น้องชายของแดนนี เฟนสเตอร์ เมื่อเย็นวันที่ 24 พ.ค. 64 ถึงกรณีที่แดนนี ถูกทางการพม่าจับกุมตัวที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้ง โดยไบรอัน ระบุว่า เขาไม่มีข้อมูลเรื่องสถานการณ์ของพี่ชายเท่าใดนัก

“ผมนึกออกถึงการต้องเป็นนักข่าวในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบทหาร และต้องการควบคุมการนำเสนอข่าวมันเป็นยังไง เขาแสดงตัวว่าเป็นผู้สื่อข่าวตอนที่เขาอยู่ที่สนามบิน จินตนาการไม่ออกเลยว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดขึ้นกับเขา” ไบรอัน กล่าว พร้อมระบุว่า “แดนนีมีเอกสารที่ถูกต้อง ทำวีซ่าอย่างถูกต้อง มีพาสสปอร์ต มีทุกอย่าง เขาเดินทางออกนอกประเทศโดยสมัครใจ เพื่อไปเยี่ยมครอบครัว เราก็ไม่เห็นว่ามันจะมีปัญหาตรงไหน” 

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยการช่วยเหลือทั้งหมดตอนนี้ เราจะพาเขา (ผู้สื่อข่าว - แดนนี) ออกมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” ไบรอัน กล่าว

ก่อนหน้านี้ แดนนี เฟนสเตอร์ เดินทางมาที่สหรัฐฯ ประเทศบ้านเกิดของเขา เพื่อเยี่ยมพ่อ-แม่ ที่ไม่ได้เจอกันนานกว่า 2 ปี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ทางครอบครัวรู้สึกกังวลถึงสถานการณ์ความปลอดภัยของนักข่าวมะกันคนนี้ตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารเมื่อเดือน 1 ก.พ. 64 และตอนนี้ก็รู้สึกตกใจและวิตกอย่างมากต่อข่าวที่เขาถูกจับกุมตัวโดยทางการพม่า ซึ่งไบรอัน ระบุว่านี่มันคือ ‘ฝันร้าย’

นอกจากนี้ ไบรอัน เฟนสเตอร์ กล่าวว่า ตอนนี้เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“เรา (ผู้สื่อข่าว - เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ) ได้รับรายงานแล้วว่ามีพลเรือนสหรัฐฯ ถูกจับกุมในพม่า และนี่ถือเป็นความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวงของเราในการให้ความช่วยเหลือพลเมืองสหรัฐฯ ที่อยู่ในต่างประเทศ ขณะนี้เรากำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่เรื่องนี้ต้องมีการพิจารณาตัดสินใจเป็นการภายใน จึงไม่สามารถให้รายละเอียดมากกว่านี้ได้” เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว 

ขณะที่ช่วงกลางดึกเมื่อวันที่ 24 พ.ค.64 สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ออกแถลงการณ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ‘เฟซบุ๊ก’ เพื่อแสดงความเป็นห่วงต่อกรณีการจับกุม แดนนี เฟนสเตอร์ 

สาระสำคัญของแถลงการณ์ ระบุว่า ก่อนหน้ามาทำงานที่ Myanmar Frontier เฟนสเตอร์ทำงานให้กับสำนักข่าวอิสระ Myanmar Now มาก่อน ทั้ง Frontier และ Myanmar Now ถือเป็นสื่อที่นำเสนอข่าวอย่างกล้าหาญ และมากล้นด้วยคุณภาพในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. สองสำนักข่าวได้ยืนหยัดนำเสนอข่าวที่ไม่อาจประเมินค่า เพื่อให้คนทั่วโลกได้เข้าใจสถานการณ์อันรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่าช่วงที่ผ่านมา  

“เฟนสเตอร์ ถือเป็นนักข่าวรายล่าสุดในจำนวนนักข่าว 70 คนที่ถูกจับกุมโดยกองทัพนับตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพียงเพราะเขาทำงานของตัวเอง รายงานสิ่งที่พวกเห็น บางคนถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายที่ทำให้ผู้ใดก็ตามที่แสดงความคิดเห็น หรือตีพิมพ์สื่อ อันส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์กองทัพพม่าในสายตาชาวโลก หรือขวัญกำลังใจของกองทัพ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลายเป็นอาชญากรรม” 

การจับกุมนักข่าว และการใช้กำลังโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกับใครก็ตามที่รายงานและบันทึกกระทำของพวกเขา ถือเป็นการโจมตีอันมีจุดประสงค์ เพื่อคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนในพม่า กองกำลังความมั่นคงเหล่านั้นสมควรได้รับการประณามร่วมกันอย่างกว้างขวาง

FCCT จึงขอเรียกร้องให้ทางการเมียนมา เคารพบทบาทหน้าที่การทำงานของสื่ออิสระ ในการนำเสนอข้อมูล และเพื่อแสดงให้เห็นว่า ทางกองทัพมีเจตนาที่จะรักษาคนมั่นว่าจะฟื้นคืนประชาธิปไตยกลับมาอีกครั้ง และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในการปล่อยตัวทุกคนที่ถูกควบคุมตัวช่วงระหว่างวิกฤตครั้งนี้

นอกจากนี้ FCCT ขอเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศออกมาสนับสนุนเสรีภาพสื่อในพม่า โดยการประท้วงการจับกุมครั้งนี้ และทุกครั้งที่มีการคุมขังนักข่าวคนอื่น ๆ

ญาตินักข่าวหญิง Myanmar Now ที่ถูกกองทัพจับกุม แสดงความกังวลเรื่องสุขภาพ หลังถูกห้ามไม่ให้เยี่ยม

เมื่อ 24 พ.ค. 64 สำนักข่าว Myanmar Now รายงานเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 64 ระบุว่า เคซอนหน่วย นักข่าวในสังกัด ซึ่งถูกจับกุมตั้งแต่เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ระหว่างรายงานข่าวผู้ประท้วงต้านรัฐประหารในนครย่างกุ้ง โดยเธอถูกเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งข้อ มาตรา 505[a] ตามประมวลกฎหมายอาญาเมียนมา ซึ่งระบุว่า ใครก็ตามที่ให้ความคิดเห็น อันจะก่อให้เกิดความหวาดกลัว หรือเผยแพร่ ‘ข่าวลวง’ หรือ ‘ปลุกปั่น’ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้กระทำอาชญากรรมต่อต้านเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล’ ถือว่ามีความผิด อาจถูกจำคุกสูงสุด 3 ปี 

หมายเหตุ : ประมวลกฎหมายอาญา เมียนมา มาตรา 505[a] ถือเป็นกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อเล่นงานผู้ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับกองทัพพม่า โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ นักข่าว ตลอดจนคนดังวงการบันเทิง ที่ออกมาเรียกร้องให้สาธารณชนเข้าร่วมขบวนการอารยขัดขืนจะถูกทางการตั้งข้อหา 505[a] เป็นส่วนมาก ขณะที่ดาราและนายแบบชื่อดังชาวเมียนมาที่คนไทยส่วนใหญ่น่าจะคุ้นหูมาบ้าง ไป่ต่านคูน ก็ถูกกฎหมายตัวนี้เล่นงานเช่นกัน

แต่ไม่นานมานี้ สมาชิกครอบครัวของเคซอนหน่วย ออกมาแสดงความกังวลต่อสภาพสุขภาพของเธอ หลังถูกห้ามไม่ให้เข้าเยี่ยมที่คุกอินเส่ง ที่นครย่างกุ้ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 64  

นอกจากนี้ ทางญาติของนักข่าวสาว ระบุเพิ่มว่า ตัวเธอตอนนี้กำลังประสบอาการป่วยจากปัญหาด้านระบบประสาท และทางญาติยังมีการดำเนินการส่งความช่วยเหลือทางเวชภัณฑ์เพื่อช่วยให้เธอรับมือกับอาการป่วยทางเส้นประสาท และกระเพาะอาหารแล้ว 

“เธอกำลังรู้สึกโกรธ ไม่มีความสุข และเจ็บปวด เนื่องจากเธอเชื่อว่าเธอไม่ได้ทำอะไรผิด” ญาติของเคซอนหน่วย กล่าวโดยอ้างข้อมูลจากการสนทนากับนักโทษคนอื่น ๆ ที่ได้เจอนักข่าวสาว ก่อนได้รับการปล่อยตัว 

“เราถามจากนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัว ที่เจอเคซอนหน่วยในเรือนจำ พวกเขาบอกว่า เธอมีอาการนอนไม่หลับในตอนกลางคืน เนื่องจากอากาศที่ร้อน และถูกรบกวนโดยยุงจำนวนมาก” ญาติของเคซอนหน่วย กล่าว

นอกจากนี้ ทนายความผู้รับทำคดีของเคซอนหน่วย ระบุว่า เธอเพิ่งถูกแยกขังเดี่ยวเมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เหตุจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กล่าวหาว่า เธออดอาหารประท้วงรัฐบาล ทั้งที่จริงแล้ว นักข่าวจาก Myanmar Now กำลังทำตามธรรมเนียมอดอาหารช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งตามธรรมเนียม ชาวมุสลิม จะอดทานอาหารเป็นเวลา 14 ชม. และจะเริ่มทานอาหารอีกครั้งหลังพระอาทิตย์ตกดิน

อองซานซูจี ถูกย้ายสถานที่คุมตัว 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 64 มีภาพเผยแพร่ผ่านช่องโทรทัศน์ของรัฐบาลพม่า “MRTV” ขณะอองซานซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD และอดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ กำลังฟังพิจารณาคดีที่ศาลพิเศษ กรุงเนปิดอ   

อองซานซูจี (ซ้าย) และ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.สส.กองทัพพม่า (ขวา)

25 พ.ค. 64 สำนักข่าวอิระวดี รายงานเมื่อ 25 พ.ค. 64 ระบุว่า อองซานซูจี ที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหาร ถูกย้ายสถานที่คุมตัวหลังการฟังพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยตอนนี้ยังไม่ทราบว่าเธอถูกควบคุมตัวที่ไหน 

ก่อนหน้านี้ หัวหน้าพรรค NLD ถูกควบคุมตัวที่บ้านพักในเขตซะบูติริ กรุงเนปิดอ อย่างไรก็ตาม ทนายของอองซานซูจี ขินหม่องซอ กล่าวว่า อองซานซูจีถูกย้ายสถานที่คุมตัวเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 64 

“อองซานซูจี กล่าวว่า เธอไม่ทราบว่าตอนนี้เธอถูกคุมตัวอยู่ไหน เพราะถูกพาตัวไปช่วงกลางดึกของวันที่ 23 พ.ค. 64” ทีมทนายของอองซานซูจี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเสียงแห่งอเมริกา ประจำประเทศพม่า (Voice of America)

นอกจากนี้ หัวหน้าพรรค NLD ยังถูกตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง ทำให้ขณะนี้เธอแทบไม่รู้เรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นด้านนอกบ้าง  

“เธอ (ผู้สื่อข่าว - อองซานซูจี) กล่าวว่า เธอไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านหนังสือพิมพ์ รับชมโทรทัศน์หรือวิทยุ เธอไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศบ้าง รวมถึงจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม” ทนายความของเธอ กล่าว 

อย่าไรก็ตาม เธอทราบข่าวเรื่องที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการผู้แทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลคู่ขนานเพื่อช่วงชิงการบริหารประเทศพม่า ช่วงที่ผ่านมา ทั้งสองกลุ่มถูกกองทัพพม่าแปะป้ายว่าเป็นองค์กรนอกกฎหมาย 

“เธอทราบข่าวผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะมีคนมาถามเธอ เนื่องจากมีชื่อเธอปรากฏอยู่บนรายชื่อคณะรัฐมนตรี NUG” ขินหม่องซอ ให้สัมภาษณ์กับอิระวดี พร้อมระบุว่า เธอขอไม่แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ เนื่องจากเธอไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับรัฐบาล NUG เลย

 

แปลและเรียบเรียง 

Detained Myanmar Leader Daw Aung San Suu Kyi Moved, Kept in Isolation

American journalist detained in Myanmar while trying to fly out of country

American Journalist Detained in Myanmar

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท