Skip to main content
sharethis

ขณะที่ผู้มีฐานะดีในหลายประเทศมีความฝันอยากมีบ้านที่แถบชานเมืองห่างไกลความวุ่นวายของเมืองใหญ่ แต่ในเกาหลีใต้มีงานศึกษาวิจัยเมืองค้นพบว่าชาวเกาหลีใต้มีความฝันต่างออกไป คืออยากเข้าไปอยู่อาศัยในตัวเมืองใหญ่ๆ มากขึ้น

สี่แยกมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ด้านหลังคือย่านที่อยู่อาศัย ที่มาภาพจากWikipedia

18 ก.ย. 2560 เรื่องนี้มาจากการค้นคว้าวิจัยของจุนเมียงจิน ศาตราจารย์ด้านการวิจัยเมืองของมหาวิทยาลัยจุงอังในกรุงโซล เขาเคยศึกษาในมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย รัฐลอสแองเจลิส ที่ทำให้เขามองเห็นสภาพเมืองที่แออัดในย่านนั้นของสหรัฐฯ ยุค 2531-2536 และในเกาหลีใต้สมัยนั้นเองที่ยังไม่ไม่ได้เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็มีสภาพผู้คนแออัดในกรุงโซลเช่นกัน เขาเคยทำนายไว้ว่าถ้าหากชาวเกาหลีใต้มีรายได้มากขึ้นพวกเขาจะเริ่มออกจากพื้นที่แออัดไปสู่นอกเมือง ทำให้มูลค่าที่ดินย่านชานเมืองสูงขึ้น

สิ่งที่จุงเมียงจินทำนายไว้เป็นความจริงกับกรณีสหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น และที่อื่นๆ หลายที่ในโลก แต่ไม่ใช่กับเกาหลีใต้ "การคาดการณ์ของผมผิดโดยสิ้นเชิง" จุนเมียงจินกล่าว ขณะที่อพาร์ทเมนต์ที่เชาซื่อไว้ในชานเมืองโอซานราคาไม่ได้ขึ้นมาก แต่เพื่อนของเขาที่มีอพาร์ทเมนต์ในกรุงโซลมีราคาสูงขึ้นมากจนกลายเป็นคนร่ำรวย

ในเกาหลีใต้กรุงโซลเป็นเมืองใหญ่ที่มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทำการของประธานาธิบดี มีวิทยาลัยชื่อดัง มีสถานทำการของบริษัทใหญ่ๆ เกือบทั้งหมด เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมวัฒนธรรมป็อบ เป็นแหล่งศิลปะ แฟชั่น และอาหาร มีประชากรอาศัยอยู่ 1 ใน 5 ของประเทศ อย่างไรก็ตามกรุงโซลก็ไม่ใช่สถานที่ที่มีคุณภาพชีวิตดีนัก มีสวนสาธารณะอยู่น้อย อาคารดูทึมเทา มีมลภาวะทางอากาศมากจนทำให้ต้องสวมหน้ากากกันมลภาวะ การจะเช่าอพาร์ทเมนต์มอซอในกรุงโซลต้องวางเงินประกันไว้ถึง 5,000,000 วอน (ราว 145,000 บาท) แต่ความฝันของชาวเกาหลีใต้ก็ยังเป็นการเข้าไปอยู่ในกรุงโซลอยู่ดี เพราะอะไร?

รายงานในเว็บไซต์ซิตีแล็บสัมภาษณ์คนบางส่วนที่อาศัยอยู่ในซองนาซึ่งเป็นเมืองเล็กกว่า มีค่าที่อยู่อาศัยถูกกว่า ในแง่การเดินทางชองนาใช้เวลามากกว่าในการเข้าถึงใจกลางเมืองเมื่อเทียบกับโซลจากการเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดินและรถประจำทาง คนที่อาศัยในเมืองนี้พูดคุยกับซิติแล็บบอกว่าเธอรู้สึกว่าเมืองชองนา "มันก็โอเคนะ"

ซิตีแล็บระบุว่าเมืองชองนาดูสบายตามากกว่า มีพื้นที่สีเขียวมากกว่าและมีแม่น้ำ กระทรวงการคลังของเกาหลีใต้เคยอนุมัติเมื่อปี 2549 ให้เมืองชองนาเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนต่างชาติ และนักท่องเที่ยวเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนที่พักอาศัยในกรุงโซลด้วย แต่ทว่าหลังจากผ่านไปแล้ว 11 ปีก็ยังไม่มีการดำเนินการอะไรจริงจังปล่อยให้ชองนาเป็นเมืองร้าง มีแต่ธุรกิจเฉพาะเล็กน้อยกับธุรกิจเครือเกาหลีใต้ทั่วไป ขาดความน่าตื่นตาตื่นใจในแบบกรุงโซล

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือชาวเกาหลีใต้มักจะชอบอยู่ในอพาร์ทเมนต์มากกว่าบ้าน จากบริการข้อมูลทางสถิติของเกาหลีใต้ระบุว่าในเมืองใหญ่ๆ อย่างโซลและเมืองใกล้เคียงอย่างจังหวัดกยองกีโดก็มีคนอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ถึงร้อยละ 85 โดยรวมทั้งประเทศแล้วมีราวร้อยละ 60 ที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ และมีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่อาศัยอยู่ใน "ที่พักอาศัยแบบเดี่ยวๆ ทั่วไป" และในกรุงโซลก็มีคนอาศัยในบ้านเดี่ยวแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น

จุนเมียงจินอธิบายว่าที่ชาวเกาหลีชอบอยู่อพาร์ทเมนต์มากกว่ามาจากสาเหตุเรื่องความปลอดภัยและบริการต่างๆ อย่างคนเปิดประตู คนทำความสะอาด และความสามารถเข้าถึงขนส่งสาธารณะได้ง่าย อาคารส่วนใหญ่สร้างใหม่ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ไม่ต้องกังวลเรื่องของเสีย หากถ้ามีอะไรเสียก็ติดต่อผู้จัดการอาคารให้มาจัดการได้

ในทางตรงกันข้ามการอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวสำหรับชาวเกาหลีใต้แล้วมีความเกี่ยวข้องกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ค่อยดีนัก พวกบ้านเดี่ยวเหล่านี้สร้างมาตั้งแต่ช่วงยุคเศรษฐกิจเฟื่องเมื่อราวทศวรรษ 1960s-1990s ซึ่งบ้านที่สร้างในช่วงนั้นยังจะไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกสมัยใหม่อย่างเครื่องทำน้ำอุ่นหรือครัวสมัยใหม่ เทียบกับอพาร์ทเมนต์ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้แล้ว ในการสำรวจปี 2552 มีชาวเกาหลีใต้เพียงร้อยละ 5.9 เท่านั้นที่อยากอยู่ในบ้านแถบชานเมือง เกือบ 3 ใน 4 อยากอยู่ใน "อพาร์ทเมนต์สูง"

จุนเมียงจินเปิดเผยว่าอีกหนึ่งสาเหตุที่ผู้คนแออัดกันในเมืองหลวงเป็นเพราะเรื่องการขนส่งมวลชนจากจังหวัดรอบนอกเข้ากรุงโซลไม่สะดวก คนที่อาศัยแถบจังหวัดรอบนอกแต่ต้องเดินทางไปทำงานในกรุงโซลใช้เวลาเดินทางนาน 2.5 ชั่วโมง และจ่ายค่าเดินทางมากกว่าคนอื่นๆ จุนเมียงจินเคยเขียนเรียกร้องให้รัฐบาลเล็งเห็นปัญหานี้มาก่อน

ทั้งนี้เกาหลีใต้เองยังเป็นประเทศที่พื้นที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแบบเดียวกับฮ่องกงและสิงคโปร์ การทำให้เป็นเมืองอย่างสุดโต่งของเกาหลีใต้เป็นเรื่องดีสำหรับความยั่งยืน อพาร์ทเมนต์เองก็เป็นทางเลือกที่อยู่อาศัยที่ดีสำหรับจำนวนประชากรเช่นนี้ด้วย แต่ทว่าเกาหลีใต้ก็มีปัญหาตรงที่ปล่อยให้ความเจริญกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองหลวงมากเกินไป ในเรื่องที่อยู่อาศัย การจ้างงาน โอกาสทางการศึกษานั้น คนต่างเมืองนอกกรุงโซลราวกับอยู่คนละประเทศ คนในกรุงโซลได้รับโอกาสที่ดีกว่าทั้งการงานและการศึกษา แม้กระทั่งคำในภาษาเกาหลีก็แสดงให้เห็นความสูงต่ำอย่างชัดเจน อย่างคำว่าไปที่กรุงโซลจะใช้คำความหมายเดียวคำว่า "ไปข้างบน" ออกจากกรุงโซลใช้คำว่า "ลงข้างล่าง"

 

เรียบเรียงจาก

Why Koreans Shun the Suburbs, City Lab, 14-09-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net