Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมเห็นวิดิโอการรณรงค์ของเหล่าดาราคนดังในวงการบันเทิงว่าด้วยเรื่องการใช้คำหยาบคายรุนแรงทำร้ายจิตใจคนฟังในการรณรงค์เรื่อง WordHurtCampaignTH เมื่อสักช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา และคิดว่าท่านผู้อ่านก็คงได้เห็นผ่านตามาบ้างไม่มากก็น้อย หรืออย่างน้อยๆท่านผู้อ่านก็คงจะคุ้นเคยอยู่บ้างกับเรื่องพวกนี้ผ่านกระแสเรื่อง Political Correctness ที่เป็นการดีเบตถกเถียงอย่างกว้างขวางบนพื้นที่โลกออนไลน์ของบรรดาปัญญาชนทั้งหลาย

อันที่จริงเรื่องการใช้คำพูดล้อเลียนหรือการเหยียดอะไรตั่งต่าง นี่เป็นประเด็นที่เห็นกันมานานสักระยะหนึ่ง ผมจะไม่ขอพูดถึงเรื่องที่ดาราคนหนึ่งซึ่งร่วมรณรงค์ในแคมเปญนี้มีพฤติกรรมที่ขัดกับการรณรงค์ คือไม่ใช่ว่ามันไม่มีประเด็น แต่ผมเห็นว่ามันออกจะยิบย่อยไปหน่อย ประเด็นที่ผมต้องการจะนำเสนอคือจุดบอดของแคมเปญดังกล่าวและความไม่เข้าใจต่อเรื่องการเหยียด บทความชิ้นนี้ผมพยายามใช้ทฤษฎีและกรอบการมองแบบมาร์กซิสต์สำนักโครงสร้างนิยมเพื่อจะวิเคราะห์และอธิบายรวมทั้งอภิปรายถึงกรณีดังกล่าว

คำด่าและการเหยียดมาจากไหน?

ประการแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือเรื่องนี้ ชาว Political Correctness มักเสนอว่ามันคือเรื่องโครงสร้างทางภาษาซึ่งสร้างขึ้นเพื่อกดทับและแบ่งแยกคนในสังคมเป็นความรุนแรงทางจิตใจ ขณะที่คนทั่วๆไปหรือผู้สนับสนุนแคมเปญ WordHurtCampaignTH มีแนวโน้มจะเข้าใจว่าคำด่าหรือการเหยียดนั้นเป็นเพียงคำพูดหยาบคายในทำนองที่ผู้พูดนั้นพูดแบบไม่ได้คิดหรือพูดไปโดยไม่สนใจความรู้สึกของคนฟัง แน่นอนว่าทั้งสองคำอธิบายนั้นไม่ผิดเลย แต่คำอธิบายทั้งสองนั้นหลงลืมการอธิบายสะท้อนไปถึงเรื่องชนชั้นและสังคมชนชั้น

ภาษาหรือโครงสร้างทางภาษานั้นไม่ได้ถือกำเนิดมาโดยเอกเทศ หรือตัดขาดจากสังคม ดังนั้นโครงสร้างทางภาษาหรือระดับทางภาษาย่อมสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางชนชั้นของผู้คนในสังคม คำพูดโจมตีหรือเหยียดหยามคนผิวสีในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นด้วยสังคมชนชั้นของระบบทุนนิยมที่เคยใช้แรงงานทาส มันดำรงอยู่เพื่อกดทับให้คนผิวสีมีสถานะที่ต่ำกว่าคนผิวขาว หรือในไทยเองการมีคำสรรพนามแทนตัวเองที่หลากหลายสำหรับเลือกใช้กับบุคคลในระดับต่างๆก็สะท้อนความเป็นสังคมชนชั้นอย่างชัดเจน การเหยียดหรือการด่าทอจึงไม่ได้เป็นแค่การพูดหยาบคายของคนจิตใจหยาบช้าสันดานเลว แต่มันสะท้อนการดำรงอยู่ของระบบชนชั้นในสังคม

จนกระทั่งเมื่อก้าวเข้าสู่สังคมทุนนิยม คำด่าในหลายคำนั้นถูกให้คุณค่าในทางลบมากขึ้นก็ด้วยผลพวงของระบบทุนนิยม เช่น ทำไมเราจึงต้องเจ็บปวดเมื่อถูกเรียกว่าอีอ้วน ไอ้อ้วน อีดำ ไอ้ดำ ไอ้หัวล้าน อีฟันเหยิน ฯลฯ นั่นก็เพราะระบบทุนนิยมได้สร้างมาตรฐานบางอย่างขึ้นมาให้มนุษย์ มันเป็นมาตรฐานความงามขั้นพื้นฐานในแต่ละสังคมเพื่อเบียดขับคนกลุ่มหนึ่งออกไป คำถามคือทุนนิยมทำอะไรต่อหลังจากเชิดชูมายาคติความงามแบบหนึ่งขึ้นมา? คำตอบก็คือระบบทุนนิยมจะผลิตสินค้าและบริการขึ้นมาเพื่อตอบสนองให้คนซื้อมันและเข้าสู่การเป็นผู้มีความงามตามมาตรฐาน เช่น คุณอ้วนหรอ ถ้าอยากผอมก็ซื้อบริการฟิตเนสสิ หรือจะเข้าคอร์สลดน้ำหนัก ซื้ออาหารคลีนกิน หรือยาลดน้ำหนักก็ได้ คุณนมเล็กหรอ ทุนนิยมศัลยกรรมให้คุณได้ ฯลฯ

ดังนี้แล้วจะเห็นว่าคำด่าหรือคำเหยียดนั้นไม่ได้ลอยตัวอยู่โดยเอกเทศแต่มันสัมพันธ์กับความสัมพันธ์ทางชนชั้น และความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลกับโครงสร้างในระบบทุนนิยมด้วย

เราจะแก้ไขปัญหาของการใช้ถ้อยคำด่า/ล้อเลียนอย่างไร?

ผมไม่สามารถจะปฏิเสธได้ว่าการใช้ถ้อยคำล้อเลียนนั้นไม่ได้ก่อปัญหาใดๆเลย แน่นอนว่าตัวผมอาจจะ “ยักไหล่” ให้กับคำด่าทั้งหลายแหล่ที่เข้ามาหาตัวผมได้ แต่ในความเป็นจริงเงื่อนไขต่างๆอาจจะทำให้ใครหลายคนในสังคมไม่อาจจะยักไหล่ได้เหมือนกับผม ประเด็นก็คือเมื่อเรามองว่ามันเป็นปัญหาแล้วอะไรที่เป็นใจกลางของปัญหา?

แคมเปญ WordHurtCampaignTH นั้นเสนอว่าคำหยาบและการพูดล้อเลียนเป็นใจกลางของปัญหา แต่อย่างที่ผมได้เสนอไปแล้วในตอนต้นว่านั่นเป็นเพียงเปลือกนอกของปัญหา ใจกลางที่แท้จริงของปัญหานั้นคือระบบค่านิยมที่ถูกสร้างขึ้นด้วยโครงสร้างของระบบทุนนิยม เพราะเหตุนั้นเองต่อให้แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จสามารถยกเลิกคำด่าไปได้ทั้งหมด แต่ในอนาคตมันก็จะมีคำด่าใหม่ๆปรากฏออกมาอีกเสมอ เพราะระบบทุนนิยมจะยังคงสร้างคุณค่าบางอย่างขึ้นมาเชิดชูและกดคุณค่าอีกแบบลงไป

เพราะเหตุนั้นผมจึงไม่คิดว่าการใช้คำพูดล้อเลียนพวกนี้จะเป็นปัญหาหรืออย่างน้อยที่สุดมันก็ไม่ใช่ต้นตอของปัญหา [กรุณาอย่าสับสนกับย่อหน้าก่อนนี้ ที่ผมเสนอว่าการใช้คำล้อเลียนว่า “ก่อ” ปัญหา แน่นอนว่ามันก่อปัญหาในระดับหนึ่งแต่มันไม่ใช่ “ต้นตอ” ของปัญหา] หากเราสามารถทำลายค่านิยมร่วมซึ่งระบบทุนนิยมสร้างขึ้นมาลงได้ คำด่าพวกนี้ก็จะกลายเป็นเพียงคำพูดทั่วๆไป เหมือนคำหยาบคายอื่นๆที่ไม่ได้มีนัยยะของการเหยียด เช่น ไอ้เหี้ย ไอ้สัส ฯลฯ

อันที่จริงในความคิดของผม ผมไม่ได้อยากได้สังคมที่มันปราศจากการใช้คำหยาบคายหรือตลกล้อเลียนเท่าไหร่ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นขึ้นมามันคงเป็นโลกที่น่าเบื่อเอามากๆ ผมกลับคิดว่าผมต้องการสังคมที่คนทุกคนมันล้อเลียนกันได้อย่างเปิดเผย แต่ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อกันมากกว่า

เราล้อเลียนกันได้เพราะเราเป็นมนุษย์เหมือนกันผมปรารถนาสังคมแบบนั้นมากกว่าสังคมที่ไร้เสียงหัวเราะ.

 

อ้างอิง

อุดมการณ์และกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ หลุยส์ อัลธูแซร์, กาญจนา แก้วเทพ แปล

ข่าวแคมเปญ WordsHurtCampaignTH

                http://abcgossip.com/?p=17363

                https://www.youtube.com/watch?v=Vlo6_Q91Aak

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net