ครม.ผ่าน หลักเกณฑ์การกำหนดระดับความร้ายแรงของภัยคุกคามในด้านการก่อการร้าย

ครม.มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการร่างประกาศสภาความมั่นคงแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และการยกเลิกการประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคาม และการกำหนดระดับความร้ายแรงของภัยคุกคามในด้านการก่อการร้าย 

17 ต.ค. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (17 ต.ค.60)  เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยประเด็นหนึ่งคือ ครม.มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการร่างประกาศสภาความมั่นคงแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และการยกเลิกการประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคาม และการกำหนดระดับความร้ายแรงของภัยคุกคามในด้านการก่อการร้าย ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้                       

สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศสภาความมั่นคงแห่งชาตินั้น มีดังนี้

1. กำหนดบทนิยามคำว่า “สถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ” หมายความว่า สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง สลับซับซ้อน หากไม่ดำเนินการแก้ไขจะเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อเอกราช อธิปไตยหรือที่กระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ

2. กำหนดระดับความร้ายแรงของภัยคุกคามจากการก่อการร้ายเป็น 2 ระดับ ได้แก่ (1) ภัยคุกคามระดับเฝ้าระวัง ในกรณีสถานการณ์ที่การก่อการร้ายมีโอกาสเกิดขึ้นสูงและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศอย่างมาก และ (2) ภัยคุกคามระดับเฝ้าระวังพิเศษ ในกรณีสถานการณ์ที่การก่อการร้ายมีโอกาสเกิดขึ้นสูงสุดหรืออย่างแน่นอนและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศอย่างร้ายแรง

3. กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาและประเมินระดับภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ประกอบด้วย 3.1 เจตนา ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ของผู้ก่อเหตุ และความมุ่งมั่นที่จะบรรลุวัตถุประสงค์นั้นของผู้ก่อเหตุ 3.2 ขีดความสามารถ ประกอบด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญของผู้ก่อเหตุ และทรัพยากรของผู้ก่อเหตุ 3.3 สภาพแวดล้อม ประกอบด้วยระดับความดึงดูดของพื้นที่ เป้าหมาย มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของพื้นที่เป้าหมาย และผลกระทบจากการก่อการร้าย

4. กำหนดขั้นตอน วิธีการ เงื่อนไขการประกาศและการยกเลิกประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคาม 4.1 ให้ สมช. ประชุมหารือกับหน่วยงานด้านการข่าวและความมั่นคงเพื่อประเมินสถานการณ์ตามหลักเกณฑ์ และให้ข้อเสนอแนะการประกาศระดับภัยคุกคามพร้อมทั้งความเห็นและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ  4.2 พิจารณาการประเมินสถานการณ์เพื่อประกาศระดับภัยคุกคาม  4.3 ให้หน่วยงานของรัฐกำหนดมาตรการรองรับและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสอดคล้องกับระดับความร้ายแรงของภัยคุกคาม

5. ให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามเมื่อสิ้นสุดห้วงระยะเวลาหรือมีประกาศยกเลิก หรือมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก

6. การพิจารณาสถานการณ์ใดเข้าข่ายเป็นการก่อการร้ายให้เป็นไปตามความหมายของการก่อการร้ายตามมาตรา 135/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท