Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

วรรคทองอันหนึ่งที่ผมได้ยินมาแต่เป็นเด็กในการเรียกร้องหรือปกป้องเสรีภาพก็คือ เสรีภาพนั้นเหมือนอากาศ ที่เราไม่เห็นคุณค่า ต่อเมื่อขาดไปเมื่อไรจึงจะรู้สึก

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เคยใช้วรรคทองนี้ต่อสู้กับรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทั้งๆ ที่ตัวท่านเองมีส่วนร่วมในการก่อรัฐประหาร 2490 อันเป็นเหตุให้จอมพล ป.พิบูลสงครามกลับมาเป็นผู้นำทางการเมืองได้อีก

และท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยกล่าวอะไรในทำนองวรรคทองนี้ เพื่อเตือนสติผู้คนภายใต้เผด็จการทหารซึ่งมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ผมออกจะมั่นใจว่า วรรคทองนี้น่าจะมีกำเนิดในอเมริกา เพราะจำได้แม่นว่าได้เห็นครั้งแรกในนิตยสาร “เสรีภาพ” ซึ่งสำนักข่าวสารอเมริกันแปลและพิมพ์แจกในเมืองไทย ส่วนใครเป็นผู้พูดก็จำไม่ได้เสียแล้ว

และในบัดนี้ผมยังมั่นใจด้วยว่า เสรีภาพไม่เหมือนและไม่เคยเหมือนอากาศที่ใช้หายใจในเมืองไทย หากจะเปรียบน่าจะเหมือนกลิ่นหอมที่ไม่คุ้นเคยมากกว่า บางคนก็ว่าหอมดี บางคนก็ว่าหอมไปจนแสบจมูก บางคนรู้สึกเหมือนดมสารเคมี พาลจะหน้ามืดเป็นลมเอาด้วย

เรามักคิดว่าเสรีภาพเป็นอะไรที่ดีในตัวของมันเอง หรือดีโดยปราศจากเงื่อนไข อย่างเดียวกับพระนิพพานหรือพระผู้เป็นเจ้า แต่เสรีภาพก็เหมือนอะไรอื่นๆ อีกมากในโลก (เช่น การประหยัด, ความรักชาติ, ระเบียบ, หรือแม้แต่ศาสนา ฯลฯ) จะดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสร้างเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อให้เสรีภาพอำนวยผลดี หรือสร้างเงื่อนไขปัจจัยที่เอื้อให้เสรีภาพอำนวยผลร้าย

ด้วยเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้คนเห็นแก่ตัวถ่ายเดียว ประหยัดก็อาจกลายเป็นตระหนี่และใจแคบ ด้วยเงื่อนไขปัจจัยอีกบางอย่าง รักชาติก็อาจกลายเป็นหลงชาติและเหยียดชาติอื่น, ศรัทธาทางศาสนากลายเป็นความคลั่ง ฯลฯ

ไม่มีอะไรหรอกที่ดีในตัวของมันเอง หรือชั่วในตัวของมันเอง จะดีจะชั่วก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ (ในระดับหนึ่ง) เพื่อให้มันอำนวยผลตามที่เราต้องการ เสรีภาพก็เหมือนกัน อยู่ๆ มันจะดีเองไม่ได้ ถ้าเราไม่สร้างเงื่อนไขปัจจัยให้มันอำนวยผลดีแก่สังคม มันก็อาจอำนวยความไร้ระเบียบ, อนาธิปัตย์, และความไม่มั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจได้

เราได้ยินนักปราชญ์ไทยพร่ำเตือนถึงภยันตรายของเสรีภาพมากว่า 100 ปีแล้ว แต่แทนที่ท่านเหล่านั้นจะช่วยกันผลักดันให้เสริมสร้างเงื่อนไขปัจจัยที่จะทำให้เสรีภาพอำนวยผลดีมากกว่าผลเสีย ท่านได้แต่ใช้ความสุขุมคัมภีรภาพของท่านในทางระมัดระวังเสรีภาพเท่านั้น

และสังคมไทยก็เหมือนสังคมก่อนสมัยใหม่ทั่วโลก คือไม่มีเงื่อนไขปัจจัยอะไรที่เสรีภาพจะอำนวยผลดีแก่สังคม อย่าลืมว่าเสรีภาพทางโลกย์ (ซึ่งต่างจากเสรีภาพทางธรรม) ไม่เคยถูกมองว่าเป็นคุณความดีในสังคมใดเลยสักแห่งมาก่อน ตรงกันข้ามมนุษย์ควรถูกผูกมัดด้วยกฎระเบียบ, ประเพณี, คำสั่งของผู้อาวุโส, ฯลฯ ต่างหาก จึงจะทำให้เกิดคุณความดีที่มีค่าแก่สังคมโดยรวมได้

ดังนั้นทุกสังคมจึงสร้างเงื่อนไขปัจจัยที่ไม่เอื้อให้เสรีภาพอำนวยผลดีแก่สังคม ตรงกันข้ามกลับสร้างเงื่อนไขปัจจัยที่ความไม่มีเสรีภาพต่างหาก ที่จะอำนวยผลดีแก่สังคม

จนเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง ที่คนในโลกตะวันตกบางสังคมเริ่มคิดว่าเสรีภาพย่อมดีกว่าไม่มีเสรีภาพ และต้องช่วยกันสร้างเงื่อนไขปัจจัยที่จะทำให้เสรีภาพอำนวยผลดีแก่สังคม

เงื่อนไขปัจจัยดังกล่าวประกอบด้วยอะไรที่สำคัญๆ บ้าง ขอกล่าวถึงโดยสังเขป

เสรีภาพจะดีได้ก็ต่อเมื่อเสรีภาพนั้นเปิดให้มนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองไปจนถึงจุดสูงสุดของแต่ละคนได้ ถ้าพ่อค้าของชำคนนั้นไม่ถูกเจ้าสัวหรือรัฐ “ปิดตลาด” เขาอาจสะสมทุนด้วยการเปิดสาขาไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นเจ้าสัวอีกคนหนึ่งก็ได้ ช่างประปาคนนั้นหากได้เรียนมหาวิทยาลัย (ที่ดี) เขาอาจเป็นผู้คิดทฤษฎีสัมพัทธภาพก่อนไอน์สไตน์ ข้าราชการต๊อกต๋อยคนหนึ่ง อาจก้าวขึ้นเป็นอธิบดีกรมศุลกากรที่ไม่เคยคอร์รัปชั่นเลย ฯลฯ

มนุษย์แต่ละคนล้วนมีศักยภาพในตัวเองที่อาจพัฒนาไปได้ไกล และเป็นประโยชน์แก่สังคมหรือมนุษยชาติโดยรวม หากเขามีเสรีภาพที่ไม่ถูกขวางกั้นจากระบบเส้นสาย, ประเพณี, องค์กรทางสังคมและการเมือง ฯลฯ

เฉพาะศักยภาพของมนุษย์แต่ละคนเพียงเรื่องเดียว ก็ต้องมีสถาบัน, แบบปฏิบัติ, กฎหมาย, การบริหารทางเศรษฐกิจ, สังคม, และการเมือง อีกหลายอย่างที่จะเอื้อให้แต่ละคนสามารถใช้เสรีภาพไปในทางพัฒนาศักยภาพของตนได้ การศึกษาที่จัดให้ลูกคนรวยอย่างหนึ่ง ลูกคนจนอีกอย่างหนึ่ง ไม่ช่วยให้คนจำนวนมากได้พัฒนาศักยภาพเฉพาะของตนเองขึ้นได้ ดังนั้นเสรีภาพทางการศึกษาจึงไม่มีความหมายอะไรในทางปฏิบัติ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้

เสรีภาพจะทำงานที่มีคุณค่าต่อสังคมได้ จึงรวมเอาความเสมอภาคเข้าไว้ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เสรีภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมเสมอหน้า ไม่เฉพาะแต่ด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงอำนาจทางการเมือง, สถานะทางสังคม, สิทธิเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะ, ฯลฯ ความไม่เท่าเทียมกีดขวางบุคคลที่ด้อยกำเนิด, ฐานะเศรษฐกิจ, สถานภาพทางสังคม, เพศ, ฯลฯ มิให้ได้ใช้เสรีภาพในการพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ รัฐจึงต้องเข้ามาลดทอนความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ด้วยวิธีต่างๆ

รัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องของการช่วยคนจนเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าก็คือทำให้ทุกคนมีความมั่นคงในชีวิต เพียงพอที่จะใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มที่ จนบรรลุจุดที่แต่ละคนสามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้ตามศักยภาพของเขา

ศักยภาพของคนแต่ละคนก็สำคัญ ศักยภาพของความคิด, แนวคิด, แบบปฏิบัติ, ทางเลือกในชีวิต, ฯลฯ ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ผู้คนควรมีเสรีภาพใช้ชีวิตแบบคอมมูน หากวิถีชีวิตเช่นนั้นเป็นไปได้ยากในเศรษฐกิจ-สังคมสมัยใหม่ วิถีชีวิตนั้นก็จะหดตัวลงหรือสลายตัวลงเอง แต่การใช้เสรีภาพที่จะเลือกวิถีชีวิตคอมมูนทำให้ศักยภาพอย่างหนึ่งของวิถีชีวิตแบบนั้นพัฒนาไปได้ไกลขึ้น ในทุกวันนี้การจัดสถานที่พักคนชราหลายแห่ง ได้เรียนรู้สิ่งดีๆ ที่ทำให้สมาชิกคอมมูนมีความสุขจากประสบการณ์ของชาวคอมมูนซึ่งส่วนใหญ่เลิกราไปหมดแล้ว

เสรีภาพทำให้ความคิดที่เป็นหน่ออ่อนทางวิชาการสามารถพัฒนาขึ้นเป็นทฤษฎีที่อธิบาย “โลก” ได้อย่างงดงามที่สุดสักวันหนึ่งข้างหน้า หรือมันฝ่อไปเพราะไม่มีศักยภาพจะพัฒนาได้ ก็ไม่เกิดความเสียหายแก่ใครอย่างไร เสรีภาพเปิดโอกาสให้เสี่ยงกับความคิดใหม่ อันเป็นความเสี่ยงที่จำเป็น เพราะความก้าวหน้าทางความคิดของมนุษย์เกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่เสี่ยง เสรีภาพทำให้ต้นทุนการเสี่ยงมีน้อย จนใครๆ ก็กล้าเสี่ยง

(ผมขอไม่พูดถึงความเสมอภาคว่าก็เหมือนกับเสรีภาพ มีเงื่อนไขปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เสมอภาคนำมาซึ่งคุณประโยชน์แก่สังคม แทนที่จะนำมาซึ่งความ “ไม่มีหัวมีก้อย” เพียงอย่างเดียว โดยสรุป เงื่อนไขปัจจัยดังกล่าวก็คือทำให้เสมอภาคกอปรด้วยภราดรภาพอย่างชัดเจน อะไรที่ทำให้คนอย่างเรารู้สึกเป็นพี่น้องกับเจ้าสัว เพราะเจ้าสัวไม่มีโอกาสเอาเปรียบเราอย่างไม่เป็นธรรม)

ผมคิดว่าในเมืองไทย เราดูเบาเสรีภาพจนเกินไป เพราะไม่เข้าใจว่าเสรีภาพเป็นเหตุนำไปสู่ความสุขความเจริญของสังคมอย่างไร ปัญญาชนไทยใช้เสรีภาพเป็นเพียงเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง และมักอธิบายเสรีภาพว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ (เช่นเหมือนอากาศที่เราต้องใช้หายใจ) ทั้งๆ ที่มนุษยโลกต่างมีชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบและระบบที่ไร้เสรีภาพมาเป็นพันๆ ปี (รวมทั้งคนไทยด้วย) ปัญญาชนบางท่านประกาศว่า ทำหรือพูดได้ตามใจคือไทยแท้ ประหนึ่งว่าเสรีภาพเป็นธรรมชาติของคนไทย แต่ดังที่ทราบกันดีว่าคนไทยมีวิธีพูดที่ “สำรวม” มาก เราหลีกเลี่ยงที่จะพูดต่อหน้า แต่ถนัดในการนินทากว่าใครหลายพวกในโลก

เสรีภาพในหมู่นักปกครองไทย เป็นเพียงวาล์วไว้ปล่อยความดันที่ล้นเกินเท่านั้น ปล่อยๆ มันบ้าง เพื่อให้มันสยบ คนไทยอีกมากก็ยอมรับคุณค่าของเสรีภาพของนักปกครองเพียงเท่านี้

และนั่นคือเสรีภาพที่นักท่องเที่ยวจีนแสดงให้ดูไงครับ แต่อย่าตำหนิแต่นักท่องเที่ยวจีน คนไทยก็เป็นอย่างเดียวกัน เราใช้เสรีภาพที่ไม่เป็นสาระสำคัญเยอะแยะในชีวิตประจำวัน นับตั้งแต่ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ไปจนถึงเปิดวิทยุ-ทีวีดังรบกวนเพื่อนบ้าน ฯลฯ ทั้งนี้เพราะทั้งเราและจีนต่างไม่ได้สร้างเงื่อนไขปัจจัยให้เสรีภาพที่เป็นสาระสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์และสังคม เสรีภาพที่เหลือให้เราใช้จึงเป็นเสรีภาพในการทำอะไรอย่างที่เห็นๆ กันอยู่

เสรีภาพไม่ใช่วัฒนธรรมที่ดำรงอยู่กับมนุษย์มาเป็นพันๆ ปี แต่เป็นวัฒนธรรมที่เพิ่งสร้างขึ้นในโลกตะวันตกไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง แน่นอนว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย เช่นเดียวกับไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมตะวันตกด้วย จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพูดว่าเสรีภาพไม่ใช่วัฒนธรรมไทย ประเด็นอยู่ที่ว่าเราเห็นคุณค่าของเสรีภาพที่มีต่อบุคคลและสังคมของเราหรือไม่ ถ้าเห็นว่ามีคุณค่า ก็ต้องสร้างมันให้เกิดขึ้นจนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยเท่านั้น

ในช่วงที่เสรีภาพถูกระงับใช้อย่างอุจาดในทุกวันนี้ เราควรทำความเข้าใจเรื่องเสรีภาพให้ดี ไม่ใช่เพียง “พูดได้ตามใจคือไทยแท้” แต่ควรคิดเลยไปถึงเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดเงื่อนไขปัจจัยที่เสรีภาพจะนำมาซึ่งการพัฒนาศักยภาพทุกด้าน ทั้งของปัจเจกบุคคลและสังคมโดยรวม

ตราบเท่าที่เสรีภาพยังมีความหมายในเมืองไทยเพียงอากาศไว้หายใจ หรือความเป็นไทยแท้ ตราบนั้นก็จะมีกลุ่มบุคคลถืออาวุธเข้ามาระงับใช้เสรีภาพอย่างอุจาดอีก

 

ที่มา: www.matichon.co.th

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net