Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีอนุญาตให้ประชาชนระบุเพศของตัวเองเป็นเพศแบบที่สามนอกจากชายหรือหญิงได้ โดยพูดถึงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่คนที่มีสิทธิจะนิยามเพศได้คือตัวคนๆ นั้นเองเท่านั้น ถือเป็นการขยายสิทธิให้กับคนที่มีสองเพศ/เพศกำกวม (Intersex) และคนข้ามเพศ (Transgender)

อาคารศาลรัฐธรรมนูญกลางแห่งเยอรมนี ที่เมืองคาร์ลสรูห์ (ที่มา: Tobias Helfrich/Wikipedia/CC BY-SA 3.0)

10 พ.ย. 2560 ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีตัดสินให้ทางการเยอรมนีควรรองรับประเภทของเพศแบบที่สามไว้ด้วยสำหรับคนที่อยากระบุตัวตนของตัวเองเป็นเพศอื่นนอกจากหญิงหรือชาย หรือสำหรับผู้ที่เกิดมามีลักษณะทางเพศกำกวม ศาลยังตัดสินอีกว่าการเจาะจงเพศให้เป็นชายหรือหญิงตามระบบสองเพศโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าตัวถือเป็นการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว

จากที่ก่อนหน้านี้ในปี 2556 เยอรมนีเป็นประเทศแรกในยุโรปที่อนุญาตให้พ่อแม่จดทะเบียนสูติบัตรของเด็กโดยไม่ระบุเพศว่าเป็นชายหรือเป็นหญิงได้ ถ้าหากเด็กที่เกิดมามีลักษณะของทั้งสองเพศ กระทั่งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีก็ตัดสินเพิ่มในเรื่องที่ก้าวหน้าไปกว่าเดิมอย่างการกำหนดให้ระบุตัวตนของเพศในแบบที่สามได้ โดยจะนำเสนอเรื่องนี้ในสภาเยอรมนีปี 2561

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าการตัดสินในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ทั้งสังคม การแพทย์ และกฎหมาย เริ่มยอมรับว่าเพศสภาพเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นและไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดตายตัวหรือคงอยู่แบบเดิมไปตลอดชีวิต

องค์กรแลมดาลีกัลซึ่งเป็นองค์กรสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ในสหรัฐฯ ระบุด้วยว่าขณะนี้มีอยู่อย่างน้อย 8 ประเทศที่ยอมรับให้ระบุตัวตนของเพศสภาพเป็นอย่างอื่นนอกจากชายหรือหญิงในบัตรประจำตัวประชาชน คือออสเตรเลีย, บังกลาเทศ, เยอรมนี, อินเดีย, มอลตา, เนปาล, นิวซีแลนด์ และปากีสถาน

ขณะที่แคนาดานั้นมีการออกบัตรสาธารณสุขโดยไม่ระบุเพศได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาก็อนุญาตให้มีการออกหนังสือเดินทางเพศแบบที่สามได้ ส่วนในสหรัฐฯ ก็มีบางรัฐที่ให้ตัวเลือกระบุ "เป็นกลางทางเพศ" ไว้ในใบขับขี่ได้ รัฐแคลิฟอร์เนียก็เพิ่งออกกฎหมายอนุญาตให้คนที่มีลักษณะของทั้งสองเพศ/เพศกำกวม (Intersex) และคนที่นิยามตัวเองไม่ได้อยู่ในระบบสองเพศ (nonbinary)

นอกจากสิทธิจะเอื้อต่อคนข้ามเพศแล้วยังเอื้อต่อผู้มีลักษณะของทั้งสองเพศหรือเพศกำกวมแต่กำเนิดด้วย

จากรายงานของสหประชาชาติในปี 2556 ระบุว่า เด็กที่เกิดมาโดยมีลักษณะทางเพศแตกต่างจากลักษณะทั่วไปมักจะถูกระบุเพศในแบบที่ย้อนกลับไปไม่ได้เช่นการตอนหรือผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศแบบที่ไม่ได้รับความยินยอมพร้อมใจเพื่อให้เป็นเพศใดเพศหนึ่ง การทำให้คนเพศกำกวมเหล่านี้เป็นหมันสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจของพวกเขาอย่างมาก

เฮย์ลีย์ โกเรนเบิร์ก ที่ปรึกษาทั่วไปของแลมดาลีกัลกล่าวถึงการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีว่า เป็นการทำให้เด็กที่มีลักษณะของทั้งสองเพศสามารถรอจนเมื่อโตพอที่จะตัดสินใจได้ว่าเขาอยากจะเป็นเพศใด หรือแม้กระทั่งจะนิยามตัวเองว่าไม่เป็นเพศใดเลยก็ได้

ตามความคิดเห็นของเฮย์ลีย์แล้วคำสั่งนี้เยอรมนีแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากที่ไม่ควรบีบให้คนๆ หนึ่งถูกแปะป้ายว่าเป็นเพศใดโดยที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้นิยามตนเอง และเพศสภาพก็เช่นเดียวกับคุณลักษณะของตัวบุคคลอย่างอื่นคือมันมีลักษณะเป็นแถบที่มีหลายสีและบางคนก็ไม่ได้จัดประเภทตัวเองเป็น "ชาย" หรือ "หญิง" ได้

ผู้ที่ริเริ่มเรียกร้องเรื่องนี้ในเยอรมนีคือกลุ่มรณรงค์ที่ชื่อ "ทางเลือกที่สาม" (Dritte Option) ในเยอรมนีที่สนับสนุนโจทก์ชาวเยอรมนีผู้เกิดในปี 2532 ที่เรียกตัวเองว่า "วานจา" ชาวเยอรมนีคนนี้เป็นโจกท์เรียกร้องต่อศาลเมื่อปี 2557 ว่าเธออยากเปลี่ยนการระบุเพศตัวเองจาก "หญิง" เป็น "หลากเพศ" (Inter/diverse) แต่ที่จดทะเบียนไม่ยอมให้เธอเปลี่ยน โดยอ้างว่าการระบุเปลี่ยนแพศของเธอไม่มีระบุไว้ตามกฎหมาย ศาลท้องถิ่นไม่ยอมรับข้อรองเรียนของวานจาจนกระทั่งมีการนำเรื่องนี้พิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาในลักษณะที่ยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของวานจา โดยระบุว่าการการกำหนดเพศเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล มันเป็นกุญแจสำคัญทั้งเรื่องภาพลักษณ์ที่ตัวคนนั้นมองตัวเองและเรื่องที่ว่าเขาถูกมองจากคนอื่นๆ อย่างไร การแทรกแซงบุคคลนั้นๆ ในการกำหนดเพศของตัวเองรวมถึงการกำหนดให้มีแค่สองเพศจึงเป็นการเหยียดหรือกีดกันชนิดหนึ่ง ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญเยอรมนีว่าด้วยสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลยังระบุคุ้มครองอัตลักษณ์ทางเพศด้วย

ในปี 2556 กฎหมายของเยอรมนีอนุญาตให้พ่อแม่มีสิทธิไม่ต้องกำหนดเพศชายหรือหญิงก็ได้ โดยทางสภาจริยธรรมของเยอรมนีระบุว่าผู้ที่จะกำหนดเพศได้ควรจะเป็นตัวบุคคลคนนั้นเอง

มอริตซ์ ชมิดต์ โฆษกขององค์กรทางเลือกที่สามกล่าวแสดงความยินดีที่กฎหมายเยอรมนีคุ้มครองคนที่ไม่ระบุว่าเป็นชายหรือหญิง พวกเขาหวังว่าความสำเร็จในครั้งนี้จะนำไปใช้ต่อสู้เพื่อขจัดการเหยียดหรือกีดกันคนที่มีลักษณะของทั้งสองเพศ/เพศกำกวม กับคนข้ามเพศด้วย

ซูซาน สไตรเกอร์ ผู้ช่วยศาตราจารย์จากเพศสภาพและสตรีศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งแอริโซนาและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับคนข้ามเพศกล่าวว่ามันเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นที่รัฐยอมรับว่าร่างกายของมนุษย์มีความหลากหลาย การจัดประเภทของคนเป็นสองเพศมีโอกาสเป็นสาเหตุไปสู่ความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตามมันอาจจะไม่ถึงขั้นเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของการปลดแอกเพศสภาพ เพราะการตัดสินประเด็นนี้ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์เสียเป็นส่วนใหญ่

สหประชาชาติระบุว่ามีประชากรที่เป็นคนที่มีลักษณะของทั้งสองเพศ/เพศกำกวมอยู่ราวร้อยละ 0.5 ถึงร้อยละ 1.7 ของประชากรโลกทั้งหมด

 

เรียบเรียงจาก

Germany Must Allow Third Gender Category, Court Rules, New York Times, 08-11-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net