แท้ง-ท้อง ยังไม่มี ‘ทางเลือก’ ให้ผู้หญิงในกฎหมายและศีลธรรม

ทำไมกฎหมายและศีลธรรมไม่มีทางเลือกให้ผู้หญิง ทำไมการทำแท้งจึงผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม เมื่อผู้ต้องแบกรับทุกสิ่งอย่างจากการตั้งครรภ์หรือทำแท้งคือผู้หญิง

‘ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจท้องเพื่อไปทำแท้ง’ เป็นคำพูดที่ประมาณการได้ว่าจริงมากกว่าเท็จ การเลือกที่จะยุติชีวิตในครรภ์จึงไม่ใช่เรื่องที่ตัดสินได้ง่าย

ตรงนี้มี 2 คำที่เป็นคู่โต้แย้งกันมานมนานในประเด็นการทำแท้ง-การเลือกและชีวิต

ฟากฝั่งหนึ่งเชื่อว่าการทำแท้งคือการทำลายชีวิต การทำลายชีวิตคือบาปและผิดศีลธรรม คนกลุ่มนี้จึงไม่อาจยอมรับให้มีการทำแท้งได้ คำถามว่าชีวิตเริ่มต้นที่ใดจึงมีความสำคัญต่อประเด็นนี้ เพราะแม้ว่าในทางกฎหมายจะชัดเจนว่าความเป็นบุคคลเริ่มต้นเมื่อคลอดและมีชีวิตอยู่ นั่นก็ใช่ว่านิยามทางกฎหมายจะเป็นนิยามเดียวที่สังคมยอมรับ ในมิติของศาสนาและศีลธรรมชีวิตเริ่มต้นแล้วตั้งแต่ปฏิสนธิ

อีกฟากหนึ่งเชื่อว่าผู้หญิงควรมีสิทธิที่จะเลือกกำหนดชีวิตของตน ควรมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตน คนอื่นหรือศีลธรรมไม่ควรก้าวก่ายหรือบอกว่าอะไรเลือกได้หรือไม่ได้ เนื่องจากบริบทในชีวิตของปัจเจกไม่เหมือนกัน การใช้ชุดความเชื่อมาตัดสินชีวิตคนอื่นอาจจบลงเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่งที่กดทับลงมาบนตัวผู้หญิง

การทำแท้งในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน (อันที่จริง ทุกสังคมก็ละเอียดอ่อนต่อเรื่องนี้เกือบทั้งนั้น) รายงานชิ้นนี้มุ่งตั้ง 2 คำถามว่าการทำแท้งผิดกฎหมายหรือไม่และผิดบาปหรือไม่ เมื่อกฎหมายและศีลธรรมทางศาสนาคือสองแกนหลักที่ควบคุมชีวิตของเรา ความลำเอียงที่ซ่อนอยู่หลังม่านต่างหากที่ทำให้ศีลธรรมและกฎหมายปิดทางเลือกของผู้หญิง

ผิดบาป?

ถ้ามองการทำแท้งผ่านแว่นพุทธศาสนา ไม่เหลือที่ว่างให้ถกเถียงเลยว่าบาปหรือไม่ ศาสนาพุทธเชื่อว่าชีวิตเกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ว่ากันตามบรรทัดฐานนี้ หากมีการตั้งครรภ์ขึ้น ไม่ว่าอายุครรภ์จะแค่ 1 วันหรือ 3 เดือน การทำแท้งผิดศีลปาณาติบาตเสมอเพราะชีวิตได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว

ไม่มีทางแยกบนถนนของความบาปต่อเรื่องนี้ สถานการณ์ย่ำแย่งลงไปอีกเมื่อศีลธรรมเปลี่ยนสภาพเป็นตราบาปสำหรับผู้หญิงที่ทำแท้ง (ใช่ ผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงต้องทำแท้งบริสุทธิ์จากบาปโดยสิ้นเชิง) อย่างไรก็ตาม ศีลธรรมทางศาสนาไม่ได้อยู่ตามลำพัง มันจึงปะทะกับหลักการเสรีภาพของบุคคล พระชาย วรธัมโม นักบวชในพุทธศาสนาและเป็นผู้ที่สนใจประเด็นเรื่องเพศและสิทธิทางเพศ เสนอว่าบาปหรือไม่บาปเป็นสิ่งที่ผู้หญิงต้องตัดสินใจ ไม่ใช่เรื่องของคนนอก

“เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ชีวิตก็เกิดขึ้น เมื่อมีการยุติก็คือการทำให้ชีวิตนั้นไม่มีชีวิตอยู่ต่อไป คำถามคือมันบาปมั้ย เราว่าบาปหรือไม่บาปก็ไม่สร้างความรุนแรงให้กับตัวความรู้สึกของผู้หญิงเองที่ตั้งท้องและทำแท้ง อันนี้เป็นความรู้สึกที่รุนแรงมากกว่าเรื่องบาป คำว่าบาปที่พูดกัน ส่วนใหญ่เป็นการพูดจากคนที่ไม่ได้ตั้งท้องและไม่ได้ทำแท้งเอง คำว่าบาปจึงเกิดจากคนนอก เพราะฉะนั้นเวลาพูดว่าการทำแท้งมันมีแง่มุมของการประณามและตีตรา

“เรามองว่าการทำแท้งควรเป็นเรื่องการตัดสินใจของผู้ตั้งท้องมากกว่า ว่าเขามีมุมมองต่อชีวิตที่จะเกิดขึ้นมาอย่างไร ถ้าเขาไม่พร้อม มันควรเป็นเรื่องที่เขาต้องตัดสินใจ แล้วคนภายนอกไม่มีสิทธิประณาม คิดแทน หรือบอกว่าบาป จะบาปหรือไม่ควรเป็นสิทธิของคนคนนั้นที่จะนิยามตัวเขาเองมากกว่า”

พระชายกล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบคิดแทนคนอื่นและไม่ได้มองบริบทรอบตัวของคนที่ต้องตกระกำลำบากว่าต้องเผชิญอะไรและอย่างไร หากใช้โยนิโสมนสิการเข้าไปตรวจสอบบริบทรอบตัวของผู้ที่ทำแท้ง จะช่วยให้เห็นว่าไม่ควรคิดแทนและเปิดโอกาสให้เจ้าของชีวิตคิดและตัดสินชีวิตของตนเอง

“คนที่ตั้งท้องบางคนก็ไม่พร้อมที่จะให้กำเนิด แล้วจะเลี้ยงเด็กให้มีคุณภาพได้อย่างไร แม้ว่าศาสนาจะบอกว่าเป็นบาปก็ตาม แต่สุดท้ายควรเป็นเรื่องของคนคนนั้นที่จะตัดสินใจกับสิ่งที่เขากำลังเผชิญมากกว่าที่จะให้คนอื่นชี้นำเขา”

ด้าน วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ยอมรับว่าตนเคยผ่านประสบการณ์การทำแท้งและยอมรับด้วยว่าศาสนาหรือความเชื่อทางศีลธรรมไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทั้งก่อนและหลัง

“เรามองว่าการทำแท้งควรเป็นเรื่องการตัดสินใจของผู้ตั้งท้องมากกว่า ว่าเขามีมุมมองต่อชีวิตที่จะเกิดขึ้นมาอย่างไร ถ้าเขาไม่พร้อม มันควรเป็นเรื่องที่เขาต้องตัดสินใจ แล้วคนภายนอกไม่มีสิทธิประณาม คิดแทน หรือบอกว่าบาป จะบาปหรือไม่ควรเป็นสิทธิของคนคนนั้นที่จะนิยามตัวเขาเองมากกว่า”

“แต่ก็ไม่ปฏิเสธอิทธิพลของคำสอน การตีความทางศาสนา และความเชื่อที่ครอบคลุมสังคมอยู่ ส่วนตัวคิดว่ามีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ทำแท้งแล้วไม่รู้สึกผิดบาปและรู้สึกว่าเป็นทางเลือกที่ดีแล้วที่ตัดสินใจทำแท้ง เพียงแต่ว่าเราไม่ค่อยมีพื้นที่พูดในสังคมมากนักเพราะมีโอกาสที่จะถูกตีตราซ้ำซ้อนว่าไปทำแท้งก็แย่แล้ว แล้วยังไม่สำนึกผิดอีก”

อย่างไรก็ตาม วราภรณ์ย้ำว่าการที่ผู้หญิงคนหนึ่งรู้สึกผิดบาปจากการทำแท้งก็ไม่ใช่เรื่องล้าหลังแต่อย่างใด เนื่องจากอิทธิพลของศาสนาและความเชื่อแทรกซึมอยู่ในชีวิต เธอเสนอทางเลือกว่า

“ส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหลสำหรับคนที่จะประกอบพิธีกรรมเพื่อคลี่คลายสิ่งที่ติดอยู่ในใจ ขบวนการของเราจะมีส่วนในการคิดสร้างสรรค์พิธีกรรมแบบสตรีนิยมที่จะคลี่คลายปมในใจ เพื่อให้มีวิธีแก้กรรมแบบทางเลือกที่ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่แสวงหาประโยชน์ด้วยเงิน และไม่ซ้ำเติมให้ผู้หญิงรู้สึกผิดอย่างไรต่างหาก”

ผิดกฎหมาย?

สังคมรู้สึกว่าการทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่การที่มันผิดกฎหมายก็เพราะความคิดอนุรักษ์นิยมที่แข็งแรงในช่วงที่เขียนกฎหมายนี้ขึ้น

รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่าปัจจุบันมีกำหนดความผิดเกี่ยวกับการทำแท้งในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301-305 ซึ่งมีจุดกำเนิดตั้งแต่ปี 2500 ซึ่งคนในยุคนั้นมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม มองว่าการทำแท้งเป็นบาปและผิดศีลธรรม กฎหมายจึงห้ามทำแท้งทุกกรณี ยกเว้นไว้เพียง 2 กรณีคือเหตุจำเป็นด้านสุขภาพของฝ่ายหญิงหรือถูกข่มขืน เมื่อถึงปี 2548  มีการขยายกรอบออกไป โดยทางแพทยสภาออกข้อกำหนดว่าให้รวมเอาความจำเป็นด้านสุขภาพจิตด้วย แต่ต้องผ่านกฎเกณฑ์ของแพทยสภา ทำให้เห็นว่ากฎหมายเปิดช่องไว้น้อยมากและไม่เคยให้สิทธิแก่ผู้หญิงในการตัดสินใจ

“ปี 2500 ยังไม่มีนักกฎหมายผู้หญิงสักคน การทำแท้งจึงมีความผิด ข่มขืนชำเราก็ยอมความได้ ไม่ร้องทุกข์ ไม่เอาเรื่อง ก็ไม่มีการเอาผิด”

ปกป้องยกตัวอย่างฝรั่งเศสที่มีการถกเถียงเรื่องนี้กระทั่งตกผลึกเป็นกฎหมายที่ประนีประนอมกันระหว่างฝั่งเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม เขากล่าวว่า ในอดีต การทำแท้งในฝรั่งเศสมีโทษถึงประหารอันเป็นอิทธิพลจากศาสนาที่มองว่า การเกิดและตายเป็นเรื่องของพระเจ้า มนุษย์ไม่มีสิทธิก้าวล่วง แต่แล้วก็เกิดขบวนการเรียกร้องเพื่อให้เกิดการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย

“ฝ่ายอนุรักษ์นิยมบอกว่าเป็นสิทธิของเด็กที่จะเกิด ฝั่งเสรีนิยมบอกว่าเป็นสิทธิของผู้หญิงที่จะตัดสินใจกับร่างกายตัวเอง เมื่อสองแนวคิดมาปะทะกัน จนในที่สุดตกลงกันได้ว่าช่วงอายุครรภ์สามเดือนเป็นสิทธิของผู้หญิงที่จะเก็บหรือทำแท้ง ถ้าเกินสามเดือนถือเป็นสิทธิของเด็กที่จะมีชีวิต

“ดังนั้น ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ผู้หญิงฝรั่งเศสสามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด เดินเข้าไปหาหมอได้ทุกตำบล ทุกคลินิก สวัสดิการออกค่าบริการให้ฟรี สามารถยุติการตั้งครรภ์โดยชอบด้วยกฎหมาย แล้วใครที่ขัดขวางสิทธิของหญิงที่จะทำแท้งย่อมถูกลงโทษ เพราะเป็นสิทธิแล้ว ละเมิดสิทธิไม่ได้ มีสวัสดิการสังคมเข้าไปช่วย มีบริการทางการแพทย์คอยให้การปรึกษา”

ปกป้องอธิบายว่า ศีลธรรมกับกฎหมายต้องแยกจากกัน การทำผิดกฎหมายเพราะการกระทำนั้นกระทบคนอื่นและสังคม ขณะที่การทำผิดศีลธรรมอาจไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้น การทำแท้งอธิบายด้านศีลธรรมไม่ได้ ต้องอธิบายว่ามันกระทบความสงบของสังคมหรือไม่ ถ้าไม่ การทำแท้งก็ไม่ต้องเป็นความผิดและจะช่วยให้ผู้หญิงไม่ต้องบาดเจ็บ 80,000 คนต่อปีจากการทำแท้งแบบหลบๆ ซ่อนๆ

“เรื่องนี้กฎหมายต้องชัดเจน แต่ปัจจุบันคลุมเครือมาก สิ่งที่สนับสนุนให้เกิดทางเลือกของผู้หญิงได้คือความเสมอภาคที่รับรองในรัฐธรรมนูญ กฎหมายปัจจุบันไม่เสมอภาคอย่างไร เวลาญทำแท้ง กฎหมายลงโทษฝ่ายหญิง ไม่ลงโทษฝ่ายชายที่ทำให้ท้องเลย มันจึงเป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค”

ผิดบาปหรือไม่? ผิดกฎหมายหรือไม่? ทำไมผู้หญิงไม่มีสิทธิกำหนด?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท