Skip to main content
sharethis

การแก้ไขวิ.อาญา ให้พนักงานสอบสวนดักข้อมูลต่างๆ กับผู้ต้องสงสัยได้ ยังคงมีแง่มุมให้ถกเถียง แม้ร่างดังกล่าวจะถูกปรับแก้จนจำเพาะคดีความมั่นคง-ก่อการร้ายแล้วก็ตาม เรื่องนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับสิทธิเสรีภาพของคนสมัยใหม่ทุกคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือและแชทกันตลอดเวลา

13 พ.ย.2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดเสวนาหัวข้อ ร่างแก้ไขวิ.อาญาเพิ่มอำนาจดักฟังโทรศัพท์ เป็นหนึ่งในกิจกรรมงานรพีวิชาการประจำปี 2560 โดยวิทยากรประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และนักวิชาการด้านกฎหมายอาญา

อันที่จริง ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.... ไม่ได้ดักข้อมูลเฉพาะโทรศัพท์ แต่หมายรวมถึง เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใดซึ่งส่งทาง ไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด

ประเภทความผิดที่จะดักข้อมูลได้คือ คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือคดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดที่เป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม หรือคดีความผิดที่มีความซับซ้อนซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป

ร่างกฎหมายนี้ สตช.ยกร่างมาตั้งแต่ปี 2556 มีการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและปรับแก้หลายระลอก จนขณะนี้อยู่ในคณะกรรมาธิการยุติธรรม เพื่อรอคิวเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.
 


ไม่น่าจะผ่าน สนช. รัฐบาลทหารกลัวเสียภาพพจน์ (หนักกว่าเดิม)

“ไม่ต้องกังวล ผมคิดว่ากฎหมายนี้ในที่สุดคงไม่ผ่าน วิปรัฐบาลบอกว่ารัฐบาลทำความดีมหาศาลจะมาย่อยยับอับจนด้วยกฎหมายนี้ได้อย่างไร” พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้กำกับการส่วนตรวจสอบสำนวนคดีอุทธรณ์และฎีกา สตช.กล่าว

พ.ต.อ.ศิริพล เป็นตัวแทนของ สตช.และมีบทบาทในการยกร่างและผลักดันกฎหมายนี้ เขากล่าวว่า เนื้อหาในกฎหมายเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะช่วยคุ้มครองเหยื่อเพิ่มมากขึ้นและเพิ่มเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยกำหนดกระบวนการเข้าถึงไว้อย่างรัดกุม เชื่อว่าการมีเครื่องมือเช่นนี้จะช่วยลดกระบวนการซ้อมทรมานผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ได้อีกด้วย นอกจากนี้ในกฎหมายยังคุ้มครองข้อมูลที่ได้มาให้เป็นความลับและมีบทลงโทษหนักสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ละเมิด

พ.ต.อ.ศิริพล ชี้ว่า ปัจจุบันมีพนักงานสอบสวนทั่วประเทศราว 10,000 คนต่อประชากรเกือบ 70 ล้านคน ต้องทำคดีอาชญากรรมเฉลี่ย 600,000 คดีต่อปี หากพนักงานสอบสวนใช้เวลารวบรวมหลักฐานเกิน 1 ปีก็จะถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัย พนักงานสอบสวนทำงานหนักมากและได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าดีเอสไอ 100% น้อยกว่าอัยการหรือศาล 300-400%

“แต่ถ้าจะกังวลว่าอาจมีเจ้าหน้าที่เอาไปใช้ในทางที่ไม่ดี แบบนี้สังคมนี้ไม่ต้องมีกฎหมายใดๆ แล้ว เพราะมันเกิดขึ้นได้กับทุกกฎหมาย...และผมยืนยันว่าพนักงานสอบสวนของเรามีคุณภาพ เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพมากที่สุดในองค์กรแล้ว” พ.ต.อ.ศิริพลกล่าว

การให้อำนาจเจ้าพนักงานดักข้อมูลผู้ต้องสงสัยไม่ใช่เรื่องใหม่ มันปรากฏอยู่ในกฎหมายอื่นๆ หลายฉบับ  เช่น กฎหมายยาเสพติด กฎหมายค้ามนุษย์ กฎหมายดีเอสไอ แต่ที่ใหม่เพราะการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นจะทำให้เรื่องนี้เป็นมาตรการ “ทั่วไป” สำหรับพนักงานสอบสวน แม้ว่าจะมีขั้นตอนในการตรวจสอบโดยต้องยื่นคำร้องต่ออธิบดีศาลเพื่อขออนุญาตพร้อมอธิบายเหตุความจำเป็นและไม่สามารถหาวิธีการอื่นที่ดีกว่าได้
 

ดีเอสไอระบุที่ผ่านมาใช้การดักฟังน้อย เปลืองทรัพยากร

มหิธร กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองกฎหมายของดีเอสไอ ให้ข้อมูลว่า ดีเอสไอมีพนักงานสอบสวนอยู่ 300 คน รับคดีพิเศษปีละประมาณ 300 คดีมีงบประมาณเพียงพอในการทำคดีใหญ่ๆ และมีอำนาจพิเศษกว่าพนักงานสอบสวนทั่วไปตาม พ.ร.บ.ดีเอสไอ เช่น การเข้าค้นโดยไม่มีหมาย แต่โดยปกติจะขอหมายศาลเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่, การตรวจสอบบัญชีและอายัดการเงินผู้ต้องสงสัย, การดักข้อมูลไม่ว่าจะเป็นจดหมาย โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชันต่างๆ นอกจากนี้ยังมีอาวุธยุทธภัณฑ์เท่ากับทหาร 1 กรม

มหิธรกล่าวด้วยว่า อันที่จริงไม่ต้องถึงกับต้องดักฟังการสนทนาซึ่งเป็นการเปลืองทรัพยากรมากเกินไป เพียงแค่ทราบเบอร์โทรศัพท์เป้าหมายแล้วขอข้อมูลการโทรก็รู้ความเคลื่อนไหวในชีวิตคนได้เกือบหมด สามารถเห็นการโทรเข้าออกตลอดหนึ่งปี ความถี่ ตลอดจนเครือข่ายผู้ติดต่อ ฯลฯ

“การดักฟังโทรศัพท์เป็นการใช้ทรัพยากรที่ฟุ่มเฟือยมาก ถ้าผมดักฟังโทรศัพท์ท่าน ก็ต้องบันทึกเป็นคลิปเสียง ต้องให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ ถอดเทปนำส่งศาล ถอดเฉพาะส่วนที่ต้องการก็ไม่ได้ ต้องถอดตั้งแต่วันที่ขอดักฟังจนถึงวันสุดท้ายเพื่อไม่ให้ถูกหาว่าตัดต่อ เราจึงใช้การดักฟังโทรศัพท์น้อยมาก หลังๆ แทบไม่ได้ใช้เลย” เจ้าหน้าที่จากดีเอสไอกล่าว
 

ปัจจุบันหลายแอปพลิเคชันดักข้อมูลได้แน่นอน

มีผู้เข้าร่วมฟังเสวนาถามว่าหากโทรศัพท์ทางไลน์ (LINE) นั้นสามารถดักฟังได้หรือไม่ มหิธรตอบว่า ในทางทฤษฎีการสื่อสารทุกระบบดักได้เสมอ แต่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคนิค ขณะที่เทคโนโลยีก็จะก้าวหนีไปเรื่อยๆ ให้ต้องวิ่งไล่ตาม  

“ไลน์ก็เหมือนกัน ผมมั่นใจว่าต้องแกะได้ แต่ถ้าถามว่าวันนี้แกะได้ไหม ยังตอบไม่ได้ แต่ฝ่ายพัฒนาเทคนิคก็คงทำให้จนได้” เจ้าหน้าที่ดีเอสไอกล่าว

สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า พวก instant message  (การส่งข้อความสนทนาระหว่างสองคนหรือกลุ่มในเน็ตเวิร์กเดียวกัน) ทั้งหลายที่ให้บริการหลากหลายยี่ห้อนั้นดักข้อมูลได้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเสียงหรือเป็นถ้อยคำ เว้นแต่บางยี่ห้อที่มีการเข้ารหัส หรืออย่างกรณีของกองทัพก็มีการจ้างทำแอปพลิเคชันเฉพาะแบบเข้ารหัสเพื่อจะแชทกันเองภายใน

ต่อคำถามว่า หากกฎหมายนี้ผ่าน ต้นทุนในการดำเนินการดักข้อมูลของผู้ให้บริการ (operator) เช่นบริษัทมือถือค่ายต่างๆ จะสูงหรือไม่ เจ้าหน้าที่จากดีเอสไอ กล่าวว่า สูงแน่นอนและผู้ประกอบการต้องเป็นผู้แบกรับ แม้แต่กฎหมายของดีเอสไอก็กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือหากมีการร้องขอไป เพียงแต่กรณีเหล่านี้เกิดไม่มากนัก ขณะที่ พ.ต.อ.ศิริพลระบุว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการเพราะในการรับฟังความคิดเห็นของกฎหมายนี้มีการเชิญบริษัทใหญ่หลายแห่งแล้วแต่ไม่มีตัวแทนเข้าร่วม

ส่วนคำถามว่ากฎหมายนี้จะใช้แก้ปัญหากรณีที่เจ้าของพื้นที่กลางอย่างเฟสบุ๊คหรือยูทูบไม่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้บริการแก่รัฐไทยได้หรือไม่ พ.ต.อ.ศิริพลกล่าวว่า กฎหมายนี้ใช้บังคับเฉพาะในราชอาณาจักร กรณีที่ยกมาเป็นนโยบายของสหรัฐอเมริกา หากสหรัฐฯ ยังมีนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นหลัก ผู้ประกอบการก็ยังคงไม่ให้ความร่วมมืออยู่เช่นเดิม
 

ซ้ำซ้อนหรือไม่ รัดกุมเพียงพอหรือยัง

สาวตรี ให้ความเห็นว่า ร่างกฎหมายนี้ฉบับล่าสุดนั้นมีการปรับปรุงจนดีขึ้นมากกว่าฉบับแรกที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้ แต่ก็ยังมีคำถามสำคัญเรื่องความซ้ำซ้อนกับดีเอสไอและกฎหมายเฉพาะต่างๆ ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานดักข้อมูลได้ในคดีสำคัญๆ เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว นอกจากนี้นิยาม “คดีที่มีความซับซ้อน” ก็เป็นถ้อยคำที่อาจถูกตีความได้กว้างขวางครอบคลุมอาชญากรรมทั่วไป

“สิ่งสำคัญอีกอย่าง การค้นข้อมูลหรือดักฟังโทรศัพท์ มีลักษณะการล่วงละเมิดสิทธิที่พิเศษกว่าการค้นบ้าน ค้นรถ ตรงที่ผู้ถูกล่วงละเมิดอาจไม่ใช่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย เพราะผู้ต้องสงสัยก็ต้องติดต่อกับคนอื่นๆ อีกมากมาย ก้อนข้อมูลนั้นมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ ในต่างประเทศจึงกังวลมากกับกฎหมายลักษณะนี้” สาวตรีกล่าว

สาวตรีให้ข้อมูลว่า ในระดับสากลก็มีการใช้กฎหมายลักษณะนี้ แต่จะระบุมาตรการต่างๆ ไว้อย่างรัดกุมและมีการตรวจสอบหลายขั้น เช่น ในสหประชาชาติมี “เทคนิคการสืบสวนพิเศษ” ข้อ 20 ในกฎหมายเพื่อต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ยอมรับให้มีการสะกดรอยด้วยเครื่องมือโทรคมนาคม โดยให้หมายถึงการสังเกตการณ์หรือดักฟังบุคคล สถานที่หรือกิจกรรมโดยเป็นความลับไม่ให้ผู้ถูกดักฟังรู้ตัว แต่มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้มาตรการสะกดรอยไว้ด้วยโดยอย่างน้อยต้องมี 2 ขั้นตอน

1. มาตรการก่อนใช้อำนาจ เช่น กำหนดประเภทความผิดที่จะใช้มาตรการสะกดรอยให้ชัดเจน ไม่ใช่คำว่า “คดีที่ซับซ้อน”, กำหนดองค์กรผู้มีอำนาจพิจารณาและอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการสะกดรอย ไม่ได้ให้เจ้าพนักงานทุกคนใช้ได้, กำหนดกระบวนการในการอนุญาตที่ชัดเจน, กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ฯลฯ

2. มาตรการหลังการใช้อำนาจ เช่น กระบวนการแจ้งให้ผู้ตกเป็นเป้าหมายได้รับรู้, การเก็บรักษา ใช้ประโยชน์และทำลายข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง, การรายงานต่อผู้มีอำนาจตรวจสอบโดยตรง, บทลงโทษและคุ้มครองตัวเจ้าของข้อมูล

“บ้านเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตอนนี้ยังร่างกันอยู่เลย แต่เรามีกฎหมายดักข้อมูลแล้ว” สาวตรีกล่าว

สาวตรี กล่าวเพิ่มเติมโดยยกตัวอย่างประเทศเยอรมนีว่า เคยพยายามออกกฎหมายลักษณะนี้ตั้งแต่ปี 2550 ชื่อร่างกฎหมายการค้นออนไลน์ ช่วงแรกมีการหยั่งเสียงประชาชนพบว่ามีผู้สนับสนุนมาตรการนี้ถึงร้อยละ 65 ในปี 2550 ต่อมาอีกหนึ่งปีปรากฏว่าผู้สนับสนุนลดลงเหลือร้อยละ 57 และในการสำรวจอีกครั้งปี 2554 ผู้สนับสนุนเหลือร้อยละ 43 ขณะที่มีบางมลรัฐเริ่มใช้ไปก่อน แต่ประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ศาลตัดสินว่ามาตรการนี้ขัดรัฐธรรมนูญจริง ให้เลิกบังคับใช้ แต่บอกด้วยว่ารัฐจะสามารถทำได้ต้องออกกฎหมายให้ชัดเจนกว่านี้และมีมาตรการตรวจสอบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net