Skip to main content
sharethis

ตุรกีติด 2 สาขา-หน้าบางและใช้กฎหมายปราบสื่อ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ได้รางวัลบ่อนทำลายเสรีภาพสื่อสำเร็จระดับโลกจากความล้มเหลวในการสนับสนุนเสรีภาพสื่อจนทำให้ผู้สื่อข่าวติดคุกเพิ่มขึ้นทั่วโลก 'อองซานซูจี' ชนะเลิศ สาขาถอยหลังเข้าคลอง


ภาพจาก wikipedia.org

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการเพื่อปกป้องนักข่าว (Committee to Protect Journalism - CPJ) ประกาศให้มี “รางวัลสำหรับผู้กดขี่สื่อ” ขึ้นมาท่ามกลางกระแสสังคมในประเด็นข่าวลวงและทวิตเตอร์จากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ว่ามีแผนที่จะจัดพิธีมอบรางวัลข่าวปลอม

เพื่อตอบโต้กระแสจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซีพีเจได้กางรายชื่อผู้นำชาติต่างๆ ที่มีพฤติกรรมล่วงละเมิดต่อนักข่าวและบ่อนทำลายหลักเสรีภาพสื่อด้วยวิธีการสารพัด ตั้งแต่การไม่กล้าฟังข้อวิจารณ์และข้อเท็จจริงไปจนถึงการปิดกั้นการนำเสนออย่างไม่ลดละ ซีพีเจเลือกผู้นำจำนวน 5 ชาติ เข้ารับรางวัลในสาขาต่างๆ นอกจากนั้นในแต่ละรางวัลยังมีผู้ที่ได้รับรางวัลชมเชยอีกด้วยสำหรับพฤติกรรมการปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์และบ่อนทำลายประชาธิปไตยของพวกเขาและเธอ


สาขาหน้าบาง

ชนะเลิศ: ประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิป เออร์โดกาน จากตุรกี

ทางการตุรกีได้ฟ้องร้องเหล่านักข่าว สำนักข่าวและผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียฐานดูหมิ่นเออร์โดกานและผู้นำตุรกีคนอื่นๆ รวมไปถึงการดูหมิ่น “ความเป็นตุรกี” อีกด้วย หนังสือพิมพ์รายวัน Cumhuriyet ของตุรกี นำเสนอข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรม เรื่องจำนวนคดีดูหมิ่นสารพัด ตั้งแต่ตัวประธานาธิบดี ชาติและสาธารณรัฐตุรกี รัฐสภา รัฐบาล สถาบันยุติธรรมต่างๆ ที่เข้าสู่ชั้นศาลในปี 2559 มีจำนวนถึง 46,193 คดี

รองชนะเลิศ: ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากสหรัฐฯ

ทรัมป์เลือกที่จะตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อด้วยการขู่ว่าจะบัญญัติกฎหมายตีพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาท (libel laws) ขู่ว่าจะฟ้องร้องสื่อ และทบทวนใบอนุญาตการแพร่ภาพกระจายเสียง ทั้งนี้ ประธานาธิบดีชื่อดังยังได้โจมตีสื่อผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวและการออกมาพูดเองอยู่เนืองนิจ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกสื่อว่า “น่าเศร้า” “ล้มเหลว” หรือกระทั่ง “ขยะ”

ตั้งแต่รับตำแหน่งในปี 2558 ทรัมป์ทวีตโจมตีสื่อไปแล้วกว่า 1,000 ทวีต งานวิจัยจากซีพีเจรายงานว่า การตัดสินใจโต้ตอบ ดูหมิ่นสื่อของเหล่าผู้นำทางการเมืองและบุคคลสาธารณะ จะเป็นแรงหนุนให้สื่อเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง ทั้งยังทำให้นักข่าวอาจพบเจอกับภาวะเสี่ยงอันตรายโดยไม่จำเป็น


สาขาการใช้กฎหมายสร้างความหวาดกลัวกับสื่ออย่างอุกอาจ

ชนะเลิศ: ประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิป เออร์โดกาน จากตุรกี

กวาดคนเดียวสองรางวััลสำหรับผู้นำแห่งประเทศที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นคุกคุมขังสื่อที่ย่ำแย่ที่สุด ซีพีเจนับจำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกจำคุกล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมามีจำนวนอย่างน้อย 73 คน โดยผู้สื่อข่าวที่ถูกจำคุกเพราะการทำงานในตุรกีกำลังถูกสอบสวน และถูกกล่าวหาในข้อหากระทำอาชญากรรมต่อต้านรัฐ ข้อกล่าวหาส่วนมากระบุว่าจำเลยให้การช่วยเหลือ จัดทำโฆษณาชวนเชื่อ หรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรผู้ก่อการร้าย

รองชนะเลิศ: ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัลซิซี จากอียิปต์

ประธานาธิบดีที่ขึ้นมาจากการรัฐประหารรัฐบาลเลือกตั้งของโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ภายใต้การปกครองโดยอัลซิซี ทางการอียิปต์จำคุกนักข่าวไปแล้ว 20 คนเป็นอย่างน้อย โดย 18 คนถูกจับในข้อหาอาชญากรรมต่อรัฐ เช่นให้การสนับสนุน ปลุกระดมการก่อการร้าย หรือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ถูกแบน

ในปี 2560 รัฐบาลอัลซิซีผ่านกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายฉบับใหม่ที่เป็นผลให้การปราบปรามสื่อยิ่งหนักข้อ รายงานข่าวระบุว่า กฎหมายดังกล่าวให้อำนาจทางการขึ้นบัญชีนักข่าวที่ถูกตัดสินว่าไม่เกี่ยวข้องกับข้อหาก่อการร้าย โดยนักข่าวที่ถูกขึ้นบัญชีโดนควบคุมสิทธิทางการเงินและอื่นๆ
 

สาขายึดกุมสื่ออย่างแน่นหนาที่สุด

ชนะเลิศ: ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จากจีน

รัฐบาลปักกิ่งภายใต้การนำของสีจิ้นผิงผสมผสานการเซ็นเซอร์ในแบบฉบับของจีนกับการควบคุมอินเทอร์เน็ตเพื่อให้สื่ออยู่ในระเบียบ จีนเป็นประเทศหนึ่งที่คุมขังนักข่าวมากที่สุดในโลก ในปี 2560 จำนวนนักข่าวที่ถูกจำคุกในจีนมีจำนวน 41 คน เป็นอันดับสองรองจากตุรกี

ในประเทศจีน สื่อดั้งเดิม (สื่อที่มาก่อนยุคสื่อดิจิตัล เช่น โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ - ที่มา igi-global) ส่วนมากถูกรัฐบาลควบคุม นักข่าวเองก็มีความเสี่ยงที่จะตกงานหรือถูกสั่งห้ามเดินทางถ้าหากนำเสนอเนื้อหาที่เป็นการท้าทายขอบเขตการเซ็นเซอร์ไม่ว่าจะผ่านพื้นที่สื่อหรือบล็อกส่วนตัว นอกจากนั้น แหล่งข่าวหรือผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศเองก็ถูกกีดกันและถูกกดขี่ การควบคุมอินเทอร์เน็ตถูกนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นเซอร์ด้วยมนุษย์ เครื่องจักร หรือโดยการพิจารณาอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า เกรตไฟร์วอลล์รวมไปถึงการกดดันบริษัทด้านเทคโนโลยีให้ยอมปฏิบัติตามข้อบังคับ

รองชนะเลิศ: ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จากรัสเซีย

ภายใต้การปกครองของปูติน สื่ออิสระถูกกำจัดมาตรการข่มขู่ผ่านการใช้ความรุนแรงและการคุมขัง รวมไปถึงการล่วงละเมิดด้วยวิธีอื่น รัฐบาลปูตินเพิ่งสั่งให้สื่อต่างชาติรวมถึงสื่อ วอยซ์ ออฟ อเมริกา เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ให้จดทะเบียนเป็นสื่อต่างชาติและปิดกั้นไม่ให้ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวดังกล่าวเข้าไปในรัฐสภา นอกจากนั้นรัสเซียยังประสบความสำเร็จในการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตผ่านการลอกเลียนแบบอย่างจากจีน

*การจัดอันดับสาขานี้ไม่นับประเทศที่ไม่มีสื่ออิสระ ยกตัวอย่างเช่นเกาหลีเหนือและเอริเทรีย
 

สาขาถอยหลังเข้าคลอง

ชนะเลิศ: ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำพม่าในทางพฤตินัย อองซานซูจี

ภายหลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่นำโดยอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งและขึ้นเถลิงอำนาจในปี 2559 ความหวังต่อเสรีภาพสื่อมีมากขึ้นหลังจากมีการอภัยโทษให้กับนักข่าว 5 คนสุดท้ายที่ถูกจำคุกอยู่ อย่างไรเสีย โครงสร้างกฎหมายที่มีอยู่เดิมที่มีลักษณะควบคุมการทำงานของสื่อไม่ได้ถูกแก้ไข นักข่าวยังคงถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจากความพยายามในการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในตอนเหนือของรัฐยะไข่ที่องค์การสหประชาชาติระบุว่าเป็น “ตัวอย่างในหนังสือเรียนว่าด้วยเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ในวันที่ 12 ธ.ค. 2560 นักข่าวรอยเตอร์ 2 คนที่ทำข่าวประเด็นข้างต้นถูกจับกุมและถูกตั้งข้อสงสัยว่าล่วงละเมิดกฎหมายว่าด้วยความลับทางราชการ ผู้สื่อข่าวทั้งสองถูกคุมขังโดยไม่ให้ติดต่อผู้ใดอยู่เป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้พบครอบครัวและทนายความ รอยเตอร์เปิดเผยว่าโทษสูงสุดที่ทั้งคู่จะได้รับคือการจำคุกเป็นเวลา 14 ปี

รองชนะเลิศ: ประธานาธิบดีอันเดรซ ดูดา จากโปแลนด์

ชื่อเสียงของโปแลนด์เปลี่ยนสภาพไปอย่างมากภายใต้การปกครองของรัฐบาลชาตินิยม-อนุรักษ์นิยมนำโดยพรรคกฎหมายและความยุติธรรม เดิมโปแลนด์เป็นที่รู้จักในฐานะสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยจากการเปลี่ยนผ่านจากระบอบคอมมิวนิสต์สู่การเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) และสื่อเองก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว แต่ปัจจุบัน รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลกลับเข้าควบคุมสื่อสาธารณะโดยตรง ทั้งยังประกาศแผนที่จะเปลี่ยนข้อปฏิบัติในทางที่จะบังคับให้เจ้าของสำนักข่าวที่เป็นชาวต่างชาติต้องสูญเสียสถานะการเป็นหุ้นส่วนใหญ่

ในขณะเดียวกัน กลุ่มจับตาเสรีภาพแห่งสหรัฐฯ (U.S. watchdog Freedom House) รายงานว่า รัฐบาลโปแลนด์ได้ยกเลิกการติดตาม (subscription) สื่อที่มีจุดยืนสนับสนุนฝ่ายค้าน แต่ในขณะเดียวกันบริษัทรัฐวิสาหกิจกลับให้เงินสนับสนุนสื่อที่เป็นมิตรกับรัฐบาล

เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ช่อง TVN 24 ของโปแลนด์ถูกหน่วยงานควบคุมด้านสื่อของโปแลนด์ปรับเงินจำนวนราว 415,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังทำข่าวเรื่องการประท้วงที่เกิดขึ้นภายในรัฐสภาเมื่อปี 2559 รายงานข่าวระบุว่ารัฐบาลโปแลนด์พยายามส่งสัญญาณให้สื่อทำการเซ็นเซอร์ตัวเอง
 

สาขาความสำเร็จในการบ่อนทำลายเสรีภาพสื่อทั่วโลก

ชนะเลิศ: ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากสหรัฐฯ

แม้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนๆ จะวิพากษ์วิจารณ์สื่อ แต่พวกเขายังคงแสดงความตั้งใจว่าจะเชิดชูเสรีภาพสื่อในฐานะปัจจัยสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย แต่ทรัมป์กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามด้วยการบ่อนทำลายเสรีภาพสื่ออย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่สหรัฐฯ มีสถานะเป็นผู้นำในเรื่องเสรีภาพสื่อให้กับทั่วโลกมาอย่างยาวนานข้อบัญญัติเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญข้อที่ 1 ว่าด้วยเสรีภาพสื่อ แต่ปัจจุบันผู้นำที่กดปราบสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสีจิ้นผิง เออร์โดกาน อัลซิซี รวมถึงทางการจีน ซีเรียและรัสเซียต่างก็สมาทานแนวคิดเรื่อง “ข่าวปลอม(Fake News)” ที่มาจากทรัมป์

ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ กระทรวงยุติธรรมประสบความล้มเหลวในการจัดทำแนวทางเพื่อปกป้องแหล่งข่าว กระทรวงการต่างประเทศเองก็ได้เสนอให้ตัดการสนับสนุนงบประมาณต่อองค์กรต่างชาติที่ช่วยสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก นอกจากนั้น ความล้มเหลวของรัฐบาลทรัมป์ที่ไม่สามารถสร้างแรงกดดันให้กับผู้นำที่ทรงอำนาจให้สร้างเสริมเสรีภาพสื่อก็ยิ่งทำให้จำนวนผู้สื่อข่าวที่ต้องเข้าไปอยู่หลังลูกกรงสูงขึ้นทั่วโลก

 

แปลและเรียบเรียงจาก

In response to Trump's fake news awards, CPJ announces Press Oppressors award, CPJ, Jan. 8, 2018

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net