Skip to main content
sharethis

เป็นเอก-ประจักษ์  ร่วมเสวนาฉายผลงานเก่า ‘ประชาธิปไทย’ ชี้เสียงที่หายไปในหนังคือบาดแผล สะท้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคนี้ที่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่พูดได้


เป็นเอก และประจักษ์

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2561 Doc Club Theater จัดกิจกรรม “B-Side of Pen-ek” ฉายผลงานหน้า B เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ภาพยนตร์ของ เป็นเอก รัตนเรือง ณ Doc Club Theater Warehouse30 ซอยเจริญกรุง 30 โดยกิจกรรมจัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 13 – 14 ม.ค. มีการฉายผลงานเก่าของ เป็นเอก รวมถึงภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘ประชาธิปไทย’ (Paradoxocracy) ที่เขาเป็นผู้กำกับ พร้อมการเสวนาระหว่างเป็นเอก กับ ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงประเด็นเนื้อหาในภาพยนตร์ดังกล่าว (ดูเสวนาย้อนหลังได้ที่ goo.gl/7NJ4eu )


บาดแผลใน “ประชาธิปไทย”

ช่วงหนึ่งของการเสวนา ประจักษ์กล่าวถึงข้อเขียนของนักศึกษาว่า ช่วงที่นักศึกษาหงุดหงิดเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้คือตอนที่เสียงหายไป ซับไตเติ้ลก็โดนคาดดำ ซึ่งเป็นตอนที่ทุกคนตั้งใจที่สุดแต่มันหายไป พอจบคลาส นักศึกษาก็ถามกันเข้ามาว่าเขาพูดอะไรกัน โดยเป็นเอกอธิบายว่ามีสาเหตุจากการโดนสั่งตัด 5 จุดโดยกองเซ็นเซอร์ เพราะคำพูดที่ให้สัมภาษณ์ แต่เนื่องจากภาพไม่ได้มีปัญหาจึงเลือกเอาแค่เสียงออก

“พอผมนั่งดูก็พบว่าหนังเรื่องนี้เกิดแผล 5 แผล แล้วหนังที่มีแผลมันบอกอะไรบางอย่างกับคนดู มันมีบางอย่างในประเทศนี้ที่พูดไม่ได้ ก็เท่ากับว่ากองเซ็นเซอร์มาช่วยกำกับหนังเรา ทำให้หนังเราดีขึ้น มันเป็นการบอกกับยุคสมัยว่า ณ ยุคนึงของประเทศนี้ มันมีเรื่องบางเรื่องที่พูดไม่ได้” เป็นเอก กล่าวเสริม พร้อมอธิบายว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายในปี 2556 ใช้เวลาเตรียมการก่อน 1 ปี โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากความสงสัยของตนเองเกี่ยวกับความขัดแย้งการเมืองไทยเรื่องสีเสื้อ และได้อ่านหนังสือ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะทำออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดีโดยใช้เวลาอยู่พอสมควร จนกระทั่งได้ผลิตออกมา โดยมีความต้องการหลักคือตอบสนองความไม่รู้ของตนเอง

ประจักษ์ กล่าวว่า ตนเองใช้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสอนนักศึกษาในคณะ ทั้งยังให้นักศึกษาวิจารณ์เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าอะไรคือประเด็นที่ชอบและไม่ชอบที่สุดจากเรื่องนี้ และได้นำข้อวิจารณ์บางส่วนที่ได้รับจากผลงานนักศึกษามาเปิดเผยและแลกเปลี่ยนกับเป็นเอกในกิจกรรมนี้
 

ความทรงจำของเป็นเอกในการเมืองไทย

เป็นเอกเล่าความทรงจำในวัยเด็กเคยพบเห็นผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ทั้งยังมีประสบการณ์ร่วมชุมนุมสมัยพฤษภาทมิฬ 2535 ซึ่งเขาคิดว่าตนเองโชคร้ายเพราะไม่ได้เห็นเหตุการณ์การปะทะกัน แต่ก็คิดว่าโชคดีที่ตนเองรอดมาได้ ต่อมาในการชุมนุมประท้วงราวปี 2549 – 2550 เขาก็อยู่ในเหตุการณ์นั้น

“ตอนเสื้อแดงปิดราชประสงค์ก็ไปวันนึงแต่เสียงดัง ทนไม่ได้ ตอนที่เขาเป่านกหวีด ก็ไปวันนึง ไปกินขนมจีน เพราะคนใต้ขนมจีนอร่อย ผมก็ไปตามหาซุ้มขนมจีน กินเสร็จก็ถ่ายรูปตึกอยู่แถวนั้น ก็โดนการ์ด กปปส. จะยึดกล้อง ก็เปิดรูปให้เค้าดู ก็ไม่มีอะไร ได้น้ำเก็กฮวยมาขวดนึง แต่ผมไม่ชอบไปม็อบ มันเสียงดัง ร้อน แล้วมันก็มีอาการคนบนเวทีต้องบิ้ว พูดจาไม่ดี ต้องให้คนไม่กลับบ้าน” เป็นเอกกล่าว

ประจักษ์ให้ความเห็นเสริมว่าก็มีลูกศิษย์ที่ไม่ชอบการเมืองแต่ก็ไปกินอาหารที่กลุ่มผู้ชุมนุมแจกเป็นหลัก
 

ใครเปิดโลกทัศน์เรื่องการเมืองไทยในเรื่องนี้มากที่สุด?

ภาพยนตร์เรื่องนี้ในมุมมองของผู้กำกับ ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน และอดีตนักกิจกรรมนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เป็นคนที่เปิดโลกทัศน์เรื่องการเมืองไทยให้กับเป็นเอกมากที่สุด

“ผมรู้สึกว่าแก (ธงชัย) มีความลึกซึ้งจากที่แกผ่านประสบการณ์จริง ซึ่งประสบการณ์ที่แกผ่านมามันเลวร้ายมาก เรียกได้ว่ามันทำให้คุณเกลียดทุกอย่างในประเทศนี้ได้ แต่แกไม่มีตรงนั้นเลย แกอยู่เหนืออารมณ์แบบนั้น แม้ว่าจะมีอยู่บ้าง แต่โดยรวมๆ แล้วแกสามารถให้ความรู้เราได้โดยที่ไม่ได้เป็นกลางด้วยนะ ความเป็นกลางนี่มันก็น่ากลัว มันใช้ไม่ได้ แกก็ไม่ได้เป็นกลาง ขณะเดียวกันมันไม่ได้มีอารมณ์หรือความบาดเจ็บที่มาทำให้เป็นอุปสรรคในการนั่งพูดเรื่องพวกนี้ให้เราฟัง ทั้งที่บาดแผลแกเยอะมาก แกก็เลยกลายเป็นคนที่ผมเลื่อมใสไปเลย” เป็นเอก กล่าว

ในส่วนของประจักษ์เองได้อธิบายว่านักศึกษาที่ได้ดูเรื่องนี้ก็ชอบธงชัยเหมือนกัน ทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จัก อีกคนคือ อ.สุลักษณ์ ศิวลักษณ์

“คือ อ.สุลักษณ์ เวลาดูเนี่ย จะมีเสียงหัวเราะอะไรออกมาเวลานักศึกษาดู และนักศึกษาก็ไม่ได้รู้จักว่า อาจารย์คนนี้คือใคร เขาบอกว่าคนนี้เก๋ามาก ผมบอก คุณไม่รู้เหรอ นี่ปัญญาชนสยามอันดับหนึ่ง” ประจักษ์ กล่าวพร้อมเสริมด้วยว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่รู้จักนักวิชาการในภาพยนตร์เรื่องนี้ยกเว้น ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เนื่องจากเป็นรองอธิการบดีประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความเป็นกลางทางการเมือง

ประจักษ์ ได้อธิบายว่านักศึกษาที่ได้ชมมีมุมมองต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ 2 มุมมอง มุมมองแรก พวกเขามองว่าเรื่องนี้นำเสนอได้หลากหลายมิติ แลดูเป็นกลาง ในขณะที่อีกมุมมองนั้นตรงกันข้าม

“มีนักศึกษาบางคนคอมเมนต์ว่าท้ายที่สุดผู้กำกับไม่ได้ Paradoxocracy จริง จริงๆ ก็เข้าข้าง Democracy (ประชาธิปไตย) แบบเนียนๆ” ประจักษ์ กล่าว

เป็นเอกตอบว่า ตนเข้าข้างประชาธิปไตยอยู่แล้ว ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน อย่างเต็มตัว ซึ่งมันก็ถูกถ้าเขาคิดแบบนั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นมุมมองไหนในตอนทำออกมาก็ไม่ได้มีความตั้งใจขนาดนั้น มันคือการสร้างสมดุลให้กับภาพยนตร์ปกติ ภาพยนตร์ทั่วไปก็ทำ ตนไม่ได้ใส่ใจเรื่องการสมดุลมุมมองของทั้งสองฝั่งเท่ากับการที่หนังมันต้องค่อยๆ สร้างอารมณ์ให้คนดู

เป็นเอกกล่าวเพิ่มเติมว่า มีอีกมุมหนึ่งจากคนดูที่ตนรับรู้มาคือ คนดูประเภทหนึ่งที่เขาเป็นคอการเมือง เลือกฝั่งชัดเจน เขาบอกว่าหนังเรื่องนี้หน่อมแน้มมาก ประวัติศาสตร์ 101 มาก เหมาะสำหรับฉายในโรงเรียนมัธยมฯ คล้ายๆ ว่าเป็นบุหรี่มาร์ลโบโลไลท์ไม่ได้เป็นบุหรี่มาร์ลโบโลแดง มันก็จริง แต่ตนก็ไม่รู้จะอธิบายกับคนที่มีมุมมองเช่นนี้อย่างไร ตนทำได้แค่นี้ รู้แค่นี้ จากข้อคิดเห็นนั้นมันกลับเป็นจุดแข็งของภาพยนตร์ไปด้วย เพราะเอาเข้าจริงประชาชนไทยเกินครึ่ง เขาไม่ได้รู้การเมืองขนาดนั้น แต่กลับพาไปไกลกว่าที่เขารู้ อีกประเภทหนึ่งคือตนก็มีทั้งเพื่อนที่เป็นเหลืองและแดง เพื่อนที่เป็นแดงดูแล้วร้องไห้ ตนก็สงสัยว่าไปร้องไห้ตรงฉากไหน เขาก็บอกว่าร้องไห้กับฉากที่ บก.ลายจุด (สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมเสื้อแดง) พูดว่า คนทำงานจะไม่ให้เขาซื้อมอเตอร์ไซค์เหรอ อีกฝ่ายเขาไม่คิดแบบนี้เหรอ ส่วนเพื่อนที่เป็นเหลืองก็พูดถึงฉากเดียวกันว่าโคตรสะใจ ดูสะเหล่อมาก มันเป็นเรื่องบังเอิญที่สองคนนี้พูดถึงฉากเดียวกันจากคนละมุมมอง
 

อนาคตของภาพยนตร์การเมืองไทย

เป็นเอก อธิบายว่าเป็นเรื่องที่ยากมากในสังคมไทยที่จะมีภาพยนตร์การเมืองออกมาในกระแสหลัก ยกเว้นว่าจะทำเงินได้ร้อยล้าน หรืออาจทำเป็นเนื้อหาที่เน้นการเมืองผ่านสัญลักษณ์แทน

“ไม่เห็นภาพว่ามัน (หนังการเมือง) จะมีในบ้านเรา ไม่ใช่มองไปที่รัฐอย่างเดียว ตัวคนผลิตหนังมันต้องมีความกล้าหาญ ถ้ามันไม่มีก็ไม่มีทางเกิดขึ้น” เป็นเอก กล่าว

เป็นเอกกล่าวด้วยว่า ภาพยนตร์เรื่อง ‘ประชาธิปไทย’ ยังไม่ได้สมบูรณ์ ต้องเพิ่มในส่วนของสีสันและเนื้อหาเข้าไปอีก โดยจะมีการจัดทำและฉายต่อไปในอนาคต เกี่ยวกับเรื่องการเมืองไทยที่ไม่มีทางจบสิ้นและยังต้องบันทึกกันต่อไปเรื่อยๆ

 

สำหรับ อัฐพล ปิริยะ ผู้รายงานเสวนาชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 2/2560 จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความสนใจด้าน One Piece, Star Wars, วรรณกรรม, การเมืองวัฒนธรรม และการศึกษา 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net