Skip to main content
sharethis
อะเหด ทามีมี นักกิจกรรมชาวปาเลสไตน์อายุ 16 ปี ถูกจับกุมตั้งแต่เดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวท่ามกลางการเรียกร้องของกลุ่มสิทธิมนุษยชนให้มีการปล่อยตัวเธอ ขณะที่ผู้สนับสนุนรัฐบาลอิสราเอลชี้ว่าเธอเป็น 'โฆษณาชวนเชื่อ' แต่ชาวปาเลสไตน์มองว่าเธอเป็นผู้กล้า ที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะไม่หวาดกลัวต่อทหาร
 

อะเหด ทามีมี (Ahed Tamimi) นักกิจกรรมอายุ 16 ปี ชาวปาเลสไตน์ ที่มาภาพ: Haim Schwarczenberg, https://schwarczenberg.com Creative Commons Attribution-Share Alike 4.0 International
 
20 ม.ค. 2561 อะเหด ทามีมี เป็นนักกิจกรรมที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนาบีซาเลห์ เขตเวสต์แบงค์ ซึ่งหมู่บ้านของเธอได้รับความเดือดร้อนยากลำบากจากการยึดครองของกองกำลังอิสราเอล มีที่ดินของหมู่บ้านบางส่วนถูกผนวกรวมกับพื้นที่ที่ชาวอิสราเอลมาตั้งถิ่นฐานใกล้ๆ กัน มีทหารคอยวางจุดตรวจการเคลื่อนไหวเข้า-ออกหมู่บ้านของพวกเขา
 
ครอบครัวของทามีมีเป็นกลุ่มคนหลักๆ ที่เป็นแกนนำการประท้วงอย่างสันติต่อการสูญเสียที่ดินของคนในหมู่บ้าน โดยมีการจัดการชุมนุมเป็นประจำทุกสัปดาห์มาตังแต่ปี 2552 ทำให้ครอบครัวของทามีมีถูกตั้งเป้าหมายจากกองทัพอิสราเอลมาโดยตลอดไม่ว่าจะถูกจับกุม ถูกบุกรื้อค้นช่วงกลางคืน และแม้กระทั่งการใช้ความรุนแรงบางครั้งก็รุนแรงในระดับสาหัส เช่นกรณีที่ลูกพี่ลูกอายุ 14 ปี ของทามีมีถูกยิงที่ศีรษะจนอาการโคมาไป 7 วัน
 
จานา จิฮาด ลูกพี่ลูกน้องอีกคนหนึ่งของทามีมีอายุ 11 ปี เรียกตัวเองว่าเป็นนักกิจกรรมที่เด็กที่สุด เธอเล่าถึงตอนที่ทหารปราบปรามการชุมนุมและยิงใส่ลูกพี่ลูกน้องอีกคนหนึ่งของพวกเขาว่า ขณะที่คนอื่นๆ กำลังเศร้าและกังวลว่าคนในครอบครัวของพวกเขาที่ถูกยิงจะมีชีวิตรอดหรือไม่ในตอนนั้นที่มีทหารเข้ามายึดบ้านของพวกเธอเพื่อยิงผู้ประท้วงคนอื่นๆ มันทำให้ทามีมีโกรธมาก และเข้าไปผลักกับทหารทำให้มีทหารนายหนึ่งตบหน้าเธอ แต่ทามีมีก็ตบสวนกลับ จิฮาดบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่ทามีมีทำแบบนั้นเพราะเธอไม่อยากให้คนอื่นๆ ถูกสังหารหรือทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่
 
ทามีมีต้องอยู่ในคุกนับตั้งแต่ถูกจับกุมในเดือน ธ.ค. 2560 เธอถูกตั้งข้อหาที่อาจจะทำให้เธอถูกสั่งจำคุกสูงสุด 14 ปี อย่างข้อหา "ใช้กำลังต่อเจ้าหน้าที่ทหารจนได้รับอันตรายสาหัส" กับข้อหา "ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่" นอกจากจากนี้แม่ของเธอ นารีมาน ยังถูกจับกุมข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" หลังจากแชร์วิดีโอการตบหน้าผ่านโซเชียลมีเดีย
 
วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นทามีมีพยายามขับไล่ทหารอิสราเอลสองนายที่อยู่หน้าบ้านเธอโดยบอกให้ "ออกไป" มีการผลักกันไปมาจนกระทั่งทหารนายหนึ่งสลัดแขนเหวี่ยงเธอให้พ้นตัวทำให้ทามีมีโต้ตอบด้วยการตบหน้าเขา
 
ชาวอิสราเอลผู้สนับสนุนรัฐบาลหลายคนกล่าวถึงทามีมีโดยเรียกฉายาเธอว่า "เชอร์รี เทมเพอร์" ซึ่งเป็นการล้อชื่อดาราฮอลลีวูดเด็กเชอร์รี่ เทมเพิล และแปลความหมายตรงตัวว่าได้ "เชอร์รี่เจ้าอารมณ์" รวมถึงวิจารณ์ว่าเป็นการแสดงของชาวปาเลสไตน์ที่พยายามทำให้อิสราเอลเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ในสายตาของชาวปาเลสไตน์จะมองว่าเธอเป็นวีรสตรีผู้ไม่กลัวเกรงอำนาจของทางการอิสราเอล
 
การแสดงออกของเธอทำให้หลังจากนั้นทามีมีถูกจับกุมตัวในช่วงการบุกค้นบ้านตอนกลางคืน จนทำให้มีการเรียกร้องปล่อยตัวเธอ รวมถึงการแสดงออกผ่านแฮชแท็กทวิตเตอร์ #FreeAhedTamimi
 
ขณะที่จิฮาดมองว่าทหารอิสราเอลไม่ควรนำเด็กอายุ 16 อย่างทามีมีเข้าคุก แต่สภาพภายใต้การยึดครองโดยอิสราเอล เด็กในพื้นที่แบบหมู่บ้านนาบีซาเลห์ไม่ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษในแบบที่อื่นๆ ที่มีคนโดนจับ ถูกทำร้าย และเด็กบางคนก็ถูกสังหาร เช่น ลูกพี่ลูกน้องอายุ 16 ปีอีกคนหนึ่งของทามีมี
 
เด็กในนาบีซาเลห์ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกระสุนยางที่ทหารอิสราเอลใช้ว่ามีลักษณะเป็นยางบางๆ ที่หุ้มกระสุนเหล็กด้านใน เด็กเหล่านี้มีโอกาสเผชิญกับแก๊สน้ำตาและมีญาติถูกกองทัพอิสราเอลจับตัวไป พ่อของทามีมีเองก็ถูกจับตัวไปหลายครั้ง ส่วนแม่ของทามีมีที่มีบทบาทในการประท้วงก็เคยถูกยิงที่ขา นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ครอบครัวของเธอต้องต่อสู้กับทหารอิสราเอลเพื่อปกป้องคนในครอบครัว
 
ทามีมีเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเตลาซูร์ในปี 2559 ว่าการยึดครองของทหารอิสราเอลทำให้วัยเด็กของพวกเขาผุพัง พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา อาจจะถูกจับหรือถูกสังหารได้ทุกเมื่อ ความรุนแรงที่กองทัพอิสราเอลก่อกับครอบครัวของเธอยังทำให้ทามีมีมองทหารในภาพลบอย่างช่วยไม่ได้ บาสเซมพ่อของเธอกล่าวว่าสภาพการครอบครองพื้นที่โดยอิสราเอลแบบนี้ทำลายความฝันของเด็กอย่างเธอจากเดิมที่อยากเป็นนักฟุตบอล
 
หมู่บ้านนาบีซาเลห์ถูกจัดเป็นพื้นที่ประเภท C ของเขตเวสต์แบงค์ตามสนธิสัญญาออสโลซึ่งระบุให้เป็นเขตของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอล พื้นที่เหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมของทางการอิสราเอล มีกองกำลังอิสราเอลตั้งด่านตรวจตัดขาดหมู่บ้านของพวกเขาออกจากโลกภายนอก อย่างไรก็ตามการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปอย่างฝ่าฝืนกฎหมายนานาชาติเพราะเป็นการตั้งถื่นฐานบนอาณาเขตที่มีเจ้าของแล้ว ซึ่งบาสเซมบอกว่าเป็นการทำลายโอกาสในการที่จะหาทางออกร่วมกันแบบสองรัฐ
 
สิ่งที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่เดือดร้อนทั้งนาบีซาเลห์และหมู่บ้านอื่นคือการถูกกีดกันออกจากแหล่งน้ำคือน้ำพุอัลคาวาสและผืนดินทางการเกษตร ขณะที่สงวนเอาไว้ให้แต่ชาวอิสราเอลเอาไว้ใช้ปิกนิคอย่างเดียว โดยจะจ่ายน้ำให้ชาวบ้านแค่ 12 ชม. ต่อวันเท่านั้น นั่นทำให้กลุ่มชาวบ้านเริ่มประท้วงสกัดกั้นไม่ให้มีการเข้าถึงผืนดินของพวกเขาในวันหนึ่งของปี 2551 จากนั้นก็มีการประท้วงรายสัปดาห์จากชาวบ้านนาบีซาเลห์ จนเกิดการการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนจริง มีการจับกุมผู้คนแม้กระทั่งเด็กซึ่งมีโอกาสเผชิญกับความรุนแรงหลังถูกจับกุม
 
แบรด ปาร์กเกอร์ เจ้าหน้าที่นักรณรงค์นานาชาติและทนายความจากศุนย์พิทักษ์เด็กสากล-ปาเลสไตน์ (DCI-Palestine) กล่าวว่าเด็กที่ถูกจับกุม 3 ใน 4 เผชิญความรุนแรงทางกายภาพหลังถูกจับกุม มีเด็กชาวปาเลสไตน์ถูกจับกุมโดยกองทัพอิสราเอลแล้วอย่างน้อย 8,000 ราย นับตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งเด็กมักจะต้องเผชิญความรุนแรงทางวาจา การข่มขู่คุกคาม ความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ ในบางกรณีก็อาจจะเข้าข่ายทารุณกรรม
 
การตั้งข้อหาหลายข้อหาต่อทามีมีกลับทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชนชาวอิสราเอล อาหมิต กิลูตซ์ โดยบอกว่ามันคือการลงโทษทามีมีเพียงเพราะเธอไม่กลัวเกรงต่อทหารและแสดงออกต่อต้านกองทัพอิสราเอล การตัดสินเช่นนี้เองจะเปิดเผยให้เห็นความบิดเบี้ยวของระบบอิสราเอลเองที่ต้องการลงโทษเด็กอายุ 16 ปี คนหนึ่งผู้แสดงออกว่า "เธอไม่กลัว"
 
กิลูตซ์ยังเปิดเผยว่าถ้าหากทามีมีเป็นชาวยิวเธอคงมีโอกาสถูกจับกุมน้อยมาก ในเวสต์แบงค์มีแต่ชาวปาเลสไตนเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีโดยศาลทหารอิสราเอลและมีโอกาสแทบจะเต็มร้อยที่จะถูกตัดสินให้มีความผิด
 
ในรายงานขององค์กรเบ็ตเซเล็ม องค์กรสิทธิมนุษยชนอิสราเอลที่กิลูตซ์ทำงานเป็นโฆษกเคยนำเสนอรายงานระบุว่ากองทัพอิสราเอลกระทำการละเมิดสิทธิในการชุมนุมของชาวนาบีซาเลห์ทั้งจากการข่มขู่คุกคามให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านในช่วงวันศุกร์ที่มีการชุมนุมเป็นประจำ อีกทั้งยังจำกัดการเดินทางโดยประกาศให้หมู่บ้านเป็น "พื้นที่ปิดของกองทัพ" มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่โยนแก๊สน้ำตาใส่เด็กในชุดคอสตูมที่กำลังเล่นว่าวอยู่
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Palestinian Teenager Remains Imprisoned Because She "Has No Fear", Renee Lewis, Truth-out, 18-01-2018 
 
Israelis call her ‘Shirley Temper.’ Palestinians call her a hero., Washington Post, 19-12-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net