นักการเมือง-ผู้นำองค์กรโลก ร้องรัฐบาลฮ่องกงตรวจสอบตำรวจใช้กำลังปราบผู้ชุมนุม

จดหมายเปิดผนึกจากนักการเมืองและผู้นำองค์กรต่างๆ จากหลายประเทศเช่น แคนาดา สหรัฐฯ อังกฤษ ลิทัวเนีย เรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงทำตามหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ตั้งกรรมการสืบสวนการใช้กำลังของตำรวจต่อผู้ชุมนุม ในการชุมนุมที่มีมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ มิ.ย. 62 ฝ่ายทางการฮ่องกงโต้ ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งใช้ความรุนแรงและมีตำรวจหลายร้อยนายบาดเจ็บขณะ ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุม "ไม่มีผู้เสียชีวิต" เลย

เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยโปลิเทคนิคฮ่องกง เมื่อ 18 พ.ย. (ที่มา: Wikipedia/VOA)

2 ม.ค. 2563 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (1 ม.ค. 63) สื่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่า นักการเมืองและผู้นำองค์กรต่างๆ จาก 18 ประเทศ เรียกร้องให้ แคร์รี แลม ผู้ว่าการฮ่องกงจัดให้มีชุดสืบสวนอิสระในเรื่องที่ตำรวจใช้กำลังกับการประท้วงในฮ่องกงไม่เช่นนั้นจะเรียกร้องให้มีการสืบสวนในเรื่องนี้ในระดับนานาชาติ

กลุ่มนักการเมืองจากหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น จอห์น เบอร์คาว อดีตประธานสภาสามัญชนของอังกฤษ มัลคอล์ม ริฟไคน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ คาร์ดินาล ชาร์ลส์ มอง โบ สหพันธ์พระสังฆราชแห่งเอเชีย (Federation of Asian Bishop's Conference-FABC) อลิสซา วาฮีด นักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนผู้เป็นลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีอับดุลรอห์มัน วาฮีด ของอินโดนีเซีย และนักการเมืองต่างๆ จากประเทศออสเตรเลีย แคนาดา ไอร์แลนด์ ลิทัวเนีย และสหรัฐฯ

พวกเขาเรียกร้องให้แลมคำนึงถึงจุดยืนของรัฐบาลฮ่องกงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และรับฟังข้อเรียกร้องจากผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล พวกเขาบอกอีกว่าพวกเขารู้สึกหวาดวิตกที่มีการใช้แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยกับผู้ชุมนุมและผู้ที่เดินผ่านไปมาในช่วงเทศกาลคริสตมาสที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตำรวจของฮ่องกงเปิดเผยว่ามีกลุ่มผู้ประท้วงส่วนหนึ่งที่ก่อเหตุทำลายข้าวของร้านค้าต่างๆ ในเมือง และทางการก็จับกุมประชาชนมากกว่า 200 รายจากการ "ก่อเหตุวุ่นวาย" ในหลายพื้นที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ถูกจับกุมในฮ่องกงรวมกัน 6,494 ราย แล้วในตอนนี้นับตั้งแต่มีการประท้วงอย่างต่อเนื่อง 7 เดือน

ในจดหมายของกลุ่มนักการเมืองและสมาชิกองค์กรจากหลายชาติระบุว่าพวกเขาขอให้ทางการ "ทำให้กำลังของตำรวจกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล เพื่อให้มีการรับผิดชอบและหยุดยั้งไม่ให้เกิดการลอยนวลจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง รวมถึงให้มีการเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นประชาธิปไตย"

จดหมายระบุอีกว่าถึงแม้จะไม่มีอะไรที่จะสามารถให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงได้ แต่สาเหตุที่ผู้ประท้วงส่วนเล็กๆ เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นมาจากความรู้สึกเข้าตาจนที่รัฐบาลไม่ยอมรับฟังพวกเขา ในจดหมายระบุอีกว่าถ้าหากรัฐบาลฮ่องกงยังคงปฏิเสธข้อเรียกร้องเหล่านี้ต่อไป พวกเขาก็จะขอให้ประชาคมโลกจัดตั้งกระบวนการไต่สวนอย่างอิสระขึ้นมาในระดับนานาชาติ โดยที่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะใช้กลไกอะไรในระดับนานาชาติ

ผู้ลงนามในจดหมายยังระบุว่าจะเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ทางการฮ่องกงโดยอาศัยกฎหมายแม็กนิตสกีว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้ทางการสหรัฐฯ คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างชาติที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ใดๆ ในโลกได้ โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งจะผ่านร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกงซึ่งอาจจะนำไปสู่การคว่ำบาตรหรือปฏิบัติการทางการทูตต่อรัฐบาลฮ่องกงได้

ชาวฮ่องกงประท้วงต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงและจีนมาตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย. 2562 โดยมีชนวนมาจากความกังวลเรื่องที่สภามีการพิจารณาร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งอาจจะเปิดทางให้จีนแผ่นดินใหญ่อ้างใช้จัดการกับคนวิพากษ์วิจารณ์ได้ง่ายขึ้น และในเวลาต่อมาผู้ชุมนุมก็ยกระดับเพิ่มข้อเรียกร้องอื่นๆ ต่อรัฐบาล

ถึงแม้ว่าผู้ว่าการฮ่องกงจะถอนกฎหมายนี้อย่างเป็นทางการแล้ว แต่แลมก็ปฏิเสธจะยอมตามข้อเรียกร้องอื่นๆ ของผู้ชุมนุมในฮ่องกง รวมถึงข้อเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการที่นำโดยตุลาการในการสืบสวนการใช้กำลังของตำรวจ แลมเปิดเผยว่าเธอจะไม่ใช้วิธีการสืบสวนในแบบดังกล่าว แต่จะอาศัยการเชิญผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าร่วมคณะกรรมาธิการสิบสวนเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นแทน และในขณะเดียวกันสภาอิสระรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับตำรวจซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบตำรวจของฮ่องกงก็จะเผยแพร่รายงานชั่วคราวเกี่ยวกับเรื่องการใช้กำลังกับการชุมนุมภายในช่วงปลายเดือน ม.ค. ถึงต้นเดือน ก.พ. นี้

อดีตอธิบดี InvestHK เสนอทุกฝ่ายปลดล็อกความรุนแรงจากเหตุชุมนุมฮ่องกง

โฆษกของรัฐบาลฮ่องกงได้แถลงโต้ตอบจดหมายเปิดผนึกจากนักการเมืองและผู้นำองค์กรประเทศอื่นๆ ว่า เป็นการกล่าวหารัฐบาลฮ่องกงในแบบที่ "มีอคติและชวนให้ไขว้เขว" และระบุว่าพวกเขาต้องโต้แย้งในเรื่องนี้เพื่อให้พวกเขาเข้าใจขอบเขตของความรุนแรงจากผู้ประท้วงที่สุดโต่งจากการที่พวกเขาโจมตีตำรวจและประชาชนทั่วไป โฆษกรัฐบาลเปิดเผยอีกว่าในปฏิบัติการที่เกิดขึ้น "ไม่มีผู้ประท้วงเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว" ขณะที่มีตำรวจบาดเจ็บ 520 นาย

โฆษกรัฐบาลฮ่องกงยังโต้ตอบในเชิงไม่เห็นด้วยกับการใช้กลไกการตรวจสอบจากนานาชาติในเรื่องนี้ รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องคว่ำบาตร โดยระบุว่ามันจะเป็นการ "แทรกแซงอย่างรุนแรงต่อการปกครอง ความเป็นเอกราช และอำนาจอธิปไตยของฮ่องกง"

เรียบเรียงจาก
Hong Kong protests: lawmakers and leaders from 18 countries urge Carrie Lam to set up independent panel to probe police conduct,
South China Morning Post, Jan. 1, 2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://www.kaiciid.org/alissa-wahid

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท