เผยปี 60 มีผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลกถูกสังหารรวม 197 ราย

ข้อมูลจากองค์กรสิ่งแวดล้อมโกลบอลวิตเนสส์ (Global Witness) แสดงให้เห็นว่าในปี 2560 ที่ผ่านมามีคนที่ถูกสังหารเพราะปกป้องสิ่งแวดล้อมรวม 197 ราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกป้องผืนดินของตัวเอง ผู้พิทักษ์สัตว์ป่า หรือปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เฉลี่ยแล้วมีนักสิ่งแวดล้อมถูกสังหารสัปดาห์ละเกือบ 4 คน

2 ก.พ. 2561 เดอะการ์เดียนและโกลบอลวิตเนสส์ร่วมกันนำเสนอเรื่องนี้เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยจากการสำรวจของพวกเขาระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 197 รายนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 4 เท่าเทียบกับการสำรวจในครั้งแรกเมื่อปี 2545 แสดงให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจโลกแบบทุกวันนี้กลายเป็นสาเหตุพื้นฐานให้เกิดความรุนแรงต่อนักสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
 
เบน เลทเธอร์ นักรณรงค์อาวุโสของโกลบอลวิตเนสส์กล่าวว่าสถานการณ์ในเรื่องนี้ยังคงวิกฤต ถ้าหากชุมชนยังไม่สามารถมีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องการใช้ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของตัวเองได้อย่างจริงจัง คนที่พูดเรื่องนี้ออกมาดังๆ ก็จะยังถูกคุกคาม ถูกคุมขัง และถูกขู่ฆ่า
 
กระนั้นพวกเขาก็ยังพอมีความหวังมากขึ้นบ้างจากการที่ผู้คนในโลกมีความตระหนักรู้ในเรื่องนี้มากขึ้น และมีการผลักดันให้บรรษัทข้ามชาติมีความรับผิดชอบมากขึ้นและให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการลอยนวลไม่ต้องรับผิด
 
ข้อมูลของโกลบอลวิตเนสส์ระบุอีกว่าการสังหารส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในลาตินอเมริกา โดยมีอุตสาหกรรมการขุดเจาะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการสังหารเมื่อนับจากสถิติแล้ว โดยข้อมูลระบุว่ามีคนที่ถูกสังหารจากความขัดแย้งเหมืองแร่รวม 36 รายในปี 2560 เนื่องจากมีความต้องการวัตถุดิบก่อสร้างมากขึ้นในระดับโลก
 
มีการยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับครอบครัวยาดาฟในอินเดียที่มีสมาชิกครอบครัว 3 รายถูกสังหารเมื่อเดือน พ.ค. 2560 เพราะพวกเขาพยายามปกป้องไม่ให้มีการขุดทรัพยากรทรายออกไปจากตลิ่งของหมู่บ้านจัตปุระของพวกเขา อีกกรณีหนึ่งในตุรกีมีคู่รักเกษียณอายุ 2 คน ถูกยิงที่บ้านตัวเองหลังจากพวกเขาชนะคดีทำให้มีการปิดเหมืองหินที่จะนำไปใช้สร้างโรงแรมหรูและอนุสรณ์สถาน ความกระหายทรัพยากรเหมืองแร่ยังทำให้เทือกเขาแอนดิสกลายเป็น "สมรภูมิ" ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนพื้นเมืองต่างๆ กับเจ้าของเหมืองแร่ในเปรูและโคลอมเบีย
 
ธุรกิจการเกษตรยังเป็นอีกหนึ่งในแรงขับดันให้เกิดความรุนแรงจากการที่ซูเปอร์มาร์เก็ตมีความต้องการถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม อ้อย และเนื้อ สูงขึ้น ทำให้ต้องมีการรุกล้ำทำไร่ในพื้นที่ชุมชนต่างๆ จุดที่มีการสังหารสูงมากคือในพื้นที่แอมะซอน ประเทศบราซิล ที่มีผู้ถูกสังหาร 46 ราย ในโคลอมเบียก็มีการสังหารเนื่องจากเหตุเรื่องความขัดแย้งที่ดินจนมีผู้เสียชีวิต 32 ราย ความขัดแย้งในโคลอมเบียเพิ่มสูงขึ้นหลังจากมีการตกลงสันติภาพกับกลุ่มกบฏฟาร์ค (FARC) ในปี 2558 จนทำให้เกิดสูญญากาศทางอำนาจในพื้นที่ที่ฟาร์คเคยปกครองมาก่อน
 
ในเปรูก็มีเหตุชาวนา 6 คนถูกสังหารโดยแก๊งอาชญากรที่ต้องการได้ที่ดินของพวกเขาในราคาถูกแล้วขายให้กับธุรกิจน้ำมันปาล์มในราคาแพงๆ ประเทศอื่นๆ ที่มีความรุนแรงจากแก๊งอาชญากรคือเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ซึ่งฟิลิปปินส์มีผู้เสียชีวิต 41 ราย กลายเป็นประเทศที่มีการสังหารผู้คุ้มครองสิ่งแวดล้อมสูงที่สุดในเอเชีย ปัจจัยสำคัญยังมาจากการขยายผลปราบปรามผู้คนโดยประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต เช่น ในกรณีที่ทหารฟิลิปปินส์สังหารหมู่ชาวลูมาดที่ทะเลสาปเซบูเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2560
 
ข้อมูลของโกลบอลวิตเนสส์ระบุต่อไปว่าในกรณีของแอฟริกานั้นภัยส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มคนล่าสัตว์และค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในคองโกที่มีอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ถูกลอบสังหารเมืองเดือน ก.ค. 2560 ในประเทศแทนซาเนียก็มีนักอนุรักษ์ชื่อดังที่ถูกสังหารหลังจากถูกขู่ฆ่า
 
อย่างไรก็ตามโกลบอลวิตเนสส์เชื่อว่าอาจจะมีตัวเลขผู้ถูกสังหารมากกว่านี้ที่ไม่ได้รับการรายงานไว้ รวมถึงมีกรณีการข่มเหงรังแกหรือคุกคามในแบบอื่นๆ นอกจากการสังหาร ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายหรือการใช้กฎหมายลงโทษ เช่นกรณีนักสิ่งแวดล้อมเอกวาดอร์ถูกขว้างหินทะลุกระจกแล้วมีคนตะโกนขู่ฆ่าเธอ
 
จากการสำรวจขององค์กรความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมแอตลาสระบุว่ามีกรณีความขัดแย้งด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อมรวม 2,335 กรณี และจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
 
มีความน่ากังวลว่าเหตุความรุนแรงที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ก็มีบางประเทศที่พัฒนาการดีขึ้นจากตัวเลขความรุนแรงลดลงถึงแม้ว่านักกิจกรรมจะยังอยู่ในสภาพเสี่ยงภัย กลุ่มภาคประชาสังคมและสถาบันระดับนานาชาติเองก็ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันของ 116 องค์กรในฟิลิปปินส์ที่ล่ารายชื่อเพื่อประกาศว่า "การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่อาชญากรรม" กลุ่มชุมชนชนพื้นเมืองก็ได้เข้าร่วมพูดถึงปัญหาตัวเองในเวทีเกี่ยวกับโลกร้อนและต่อสหประชาชาติ
 
อีกทั้งหลังจากกรณีการเสียชีวิตของเบอร์ตา คาเซเรส ธนาคารเพื่อการพัฒนาของเนเธอร์แลนด์ (FMO) ประกาศว่าความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาในการตัดสินใจลงทุนในอนาคต จอห์น น็อกซ์ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมก็เรียกร้องให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงปัญหาวัฒนธรรมการลอยนวลไม่ต้องรับผิด และบอกว่าสื่อมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความโปร่งใส
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Almost four environmental defenders a week killed in 2017, The Guardian, 02-02-2018
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท