Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ผมรู้สึกยินดีที่ประชาไทเสนอบทสัมภาษณ์มูฮัมหมัด อิลลิยาส หญ้าปรัง เรื่อง “รัฐ-ศาสนาอยู่ร่วมกันได้แต่ต้องปฏิรูปและเป็นประชาธิปไตย” โดยกฤษฎา ศุภวรรธนะกุล เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีของการถกเถียงประเด็นการทำให้ศาสนากับประชาธิปไตยไปด้วยกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องเก่ามากของโลกตะวันตก แต่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ผมขอแลกเปลี่ยนในประเด็นพื้นฐานสำคัญคือ

1. ปัญหาการสร้างมายาคติว่า “แนวคิดแบบ Secular State เป็นเพียงชุดประสบการณ์หนึ่งของคริสเตียน” โดยบทสัมภาษณ์กล่าวว่า “แนวคิดแบบ Secular State เป็นเพียงชุดประสบการณ์หนึ่งของคริสเตียน แต่ศาสนิกอื่นไม่ได้มีชุดประสบการณ์เดียวกัน จึงไม่จำเป็นต้องมีตัวแบบเดียวของความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐในโลกสมัยใหม่” 

การพูดเช่นนี้อาจทำให้เข้าใจผิดไปได้ว่า การจะเป็นรัฐโลกวิสัย (Secular State) ขึ้นอยู่กับประสบการณ์หรือประวัติศาสตร์ของศาสนาแต่ละที่ หรือขึ้นอยู่กับ “ความต้องการ” ของศาสนาแต่ละที่ (ซึ่งทำนองเดียวกับการอ้างว่าประชาธิปไตยเป็นของตะวันตก) ที่จริงแล้วรัฐโลกวิสัยเกิดจากปรัชญามนุษยนิยมและเสรีนิยมตั้งคำถามต่อรัฐศาสนา

จริงอยู่ ถ้าจะพูดถึงประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ยุโรปก็คือว่า รัฐคริสเตียนยุคกลางกดขี่เสรีภาพ เกิดการปฏิรูปศาสนา สงครามศาสนา และระหว่างนิกายศาสนายาวนาน จนเกิดบทเรียนให้ศาสนาต้องปรับตัว ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอื่นๆ เป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดรัฐโลกวิสัย

แต่เราต้องเข้าใจว่า ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาตะวันตกไม่ได้มีศาสนาเป็นศูนย์กลางเพียงหนึ่งเดียว หากเป็นประวัติศาสตร์ทางภูมิปัญญาที่ต่อสู้ ต่อรองระหว่างศาสนา (faith) ปรัชญา (reason) และวิทยาศาสตร์ (science) ตลอดเวลาที่ยาวนาน การเกิดขึ้นของรัฐโลกวิสัยก็คือผลอย่างมีนัยสำคัญของการต่อสู้ต่อรองดังกล่าว

พูดเจาะจงที่ประเด็นศาสนา รัฐโลกวิสัยก็คือการนำเอาเสรีประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากลมาปฏิบัติกับ (treat) ความแตกต่างหลากหลายทางความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม เพื่อสร้าง “ความเป็นธรรม” (fairness) บนกติกาที่ฟรีและแฟร์ในการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมของความแตกต่างหลากหลายดังกล่าว

โดยรัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา ให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาของประชาชนทุกคน ไม่มีบุคคลใดหรือกลุ่มใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบในเรื่องใดๆ เพราะเหตุแห่งการนับถือศาสนาและไม่นับถือศาสนา พร้อมกับให้หลักประกันเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการแสดงออก การวิจารณ์ศาสนา การเปลี่ยนศาสนา การไม่นับถือศาสนา กระทั่งการแอนตี้ศาสนา ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพบุคคลอื่น

เพื่อให้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ จึงต้อง “แยกศาสนาจากรัฐ” คือแยกความเชื่อ อุดมการณ์ทางศาสนาออกจากการปกครอง แยกองค์กรศาสนาจากโครงสร้างสถาบันของรัฐ ให้องค์กรทุกศาสนาเป็นเอกชน เพื่อเป็นหลักประกันว่า คนที่นับถือศาสนาต่างๆ ความเชื่อ คุณค่าต่างๆ รวมทั้งคนที่ไม่เชื่อหรือไม่นับถือศาสนาจะมีความเสมอภาคทางความเชื่อ มีเสรีภาพทางความเชื่อ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบเพราะถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐในเรื่องศาสนา ความเชื่อ ความไม่เชื่อใดๆ อย่างแท้จริง

ดังนั้น การเกิดขึ้นของรัฐโลกวิสัยจึงเป็นเรื่องของการให้กำเนิดเสรีภาพ ความเสมอภาคทางศาสนา ซึ่งแต่เดิมรัฐศาสนาไม่สามารถให้หลักประกันได้ ขณะเดียวกันก็ให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคแก่คนที่ปฏิเสธศาสนา แอนตี้ ไม่นับถือศาสนา หรือยึดถือความเชื่อ ปรัชญาอื่นๆ ด้วย พร้อมกับให้หลักประกันเสรีภาพในการพูด การแสดงออก การวิจารณ์ศาสนาด้วย ซึ่งแต่เดิมรัฐศาสนาไม่สามารถให้หลักประกันได้

เราจึงไม่อาจ “ลดทอน” ความหมาย ขอบเขต คุณค่า ผลกระทบของการเกิดรัฐโลกวิสัยให้เป็นเพียงประสบการณ์เฉพาะของศาสนาใดศาสนาหนึ่งได้ และไม่มีศาสนาใดๆ มีความชอบธรรมที่จะ “ผูกขาด” ความยินยอม หรือไม่ยินยอมให้กับการสถาปนารัฐโลกวิสัยได้

2. ปัญหาของการไม่แยกศาสนาจากรัฐแต่ตีความให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย ควรเข้าใจก่อนว่าเรื่องการสร้างความเป็นธรรมโดยให้ทุกศาสนา ทุกความเชื่อ และความไม่เชื่อหรือการไม่นับถือศาสนา คนปฏิเสธศาสนา แอนตี้ศาสนาอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กติกาที่ฟรีและแฟร์ตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนดังกล่าวแล้ว เป็น “อุดมคติ” เราไม่อาจบอกได้ว่ามีรัฐโลกวิสัยของประเทศใดบรรลุอุดมคตินี้สมบูรณ์แล้ว (แต่รัฐศาสนาหรือทุกรัฐก็อิงอุดมคติบางอย่างเช่นกัน) จึงยากที่จะบอกว่า ประเทศไหนคือต้นแบบรัฐโลกวิสัยที่ดีสุด ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นๆ ในยุโรป

บทสัมภาษณ์อ้างว่า ไม่จำเป็นต้องแยกศาสนากับรัฐ แต่เราตีความศาสนาให้สนับสนุนประชาธิปไตยและเปิดกว้างต่อเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนได้ ปฏิรูปให้องค์กรศาสนาไปด้วยกันกับประชาธิปไตยได้ โดยยกตัวอย่างการตีความศาสนาสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคแบบในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

แต่ความเป็นจริงคือ สหรัฐฯ แยกองค์กรศาสนาจากรัฐ องค์กรทุกศาสนาเป็นเอกชน รัฐไม่อุปถัมภ์ศาสนา ไม่บังคับเรียนศาสนาในโรงเรียน ห้ามสถาปนาศาสนาแห่งรัฐ แม้จะมีสัญลักษณ์บางอย่างในพิธีการของรัฐเช่น พิธีสาบานตนต่อไบเบิลในการรับตำแหน่งประธานาธิบดี แต่รัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายต่างๆ ของรัฐไม่ได้อิงความเชื่อทางศาสนาใดๆ และรัฐก็ไม่ใช่เวทีต่อสู้ต่อรองเพื่อสิทธิประโยชน์ในเรื่องตอบสนองความเชื่อเฉพาะของศาสนาใดๆ

ประวัติศาสตร์การตีความศาสนาสนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน จึงเป็นเรื่องของการ “ยึดหลักการทั่วไป” คือหลักเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนสากลเป็นตัวตั้ง แล้วตีความหลักศาสนาให้สอดคล้องกับหลักการทั่วไปที่คนทุกศาสนาและคนไม่นับถือศาสนายึดถือร่วมกัน แล้วนำมาสู่การเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและอื่นๆ ให้สอดคล้องกับหลักการนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ดังการต่อสู้ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นต้น

ในแง่นี้การตีความศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย จึงไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อโฆษณาชวนเชื่อคำสอนศาสนา (ว่า “ทันสมัย”) และไม่ได้ตีความเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขเรียกร้องให้รัฐสนับสนุนศาสนาใดๆ กลุ่ม หรือองค์กรศาสนาใดๆ โดยเฉพาะ เพราะองค์กรศาสนาเป็นเอกชนทั้งหมด การตีความศาสนาสอดคล้องกับประชาธิปไตยจึงมีความหมาย และก่อเกิดนขวนการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าขึ้นได้

แต่ถ้าไม่แยกศาสนาจากรัฐอย่างไทย การตีความศาสนาสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตยย่อม “ขัดแย้งในตัวเอง” เพราะสมมติว่าองค์กรศาสนาต่างๆ ของรัฐต่างตีความว่าหลักการศาสนาของตนสอดคล้องและสนับสนุนเสรีภาพ ความเมสมอภาค ประชาธิปไตย แต่องค์กรศาสนาของรัฐทุกศาสนาต่างมี “อภิสิทธิ์” เอาอำนาจสาธารณะ (กฎหมาย) และภาษีประชาชนมาใช้ปกป้อง สนับสนุนการเผยแผ่ การบังคับเรียนในโรงเรียนซึ่งศาสนาอันเป็น “ความเชื่อเฉพาะ” ของกลุ่มพวกตน การตีความศาสนาสนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาคจึงมีความหมายเพียงโฆษณาชวนเชื่อหลักคำสอนของศาสนาต่างๆ เท่านั้น ไม่มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด เนื่องจากยังดำรงโครงสร้างทางอำนาจศาสนาแบบไม่แยกจากรัฐที่ทำให้องค์กรศาสนาต่างๆ มีอภิสิทธิ์เหนือความเชื่ออื่นๆ ของประชาชนที่ไม่นับถือศาสนา ปฏิเสธ หรือแอนตี้ศาสนา

3. ข้ออ้างที่ว่าศาสนาของรัฐไม่เกี่ยวการเมืองเป็นเพียงมายาคติ บางทีผู้ยืนยันการไม่แยกศาสนาจากรัฐมักอ้างว่า ในอดีตศาสนาก็เป็นอิสระจากการเมือง นักบวชและผู้นำศาสนาไม่ใช่นักปกครอง เพียงทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ปกครอง

คำถามคือ ถ้าคุณอ้างว่าในอดีตที่ศาสนาเคยเป็นอิสระจากการเมือง ตรวจสอบผู้ปกครองเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ดี แล้วทำไมปฏิเสธการแยกศาสนาจากรัฐในโลกสมัยใหม่ ที่จะทำให้ศาสนาเป็นอิสระจากอำนาจครอบงำของชนชั้นปกครองได้จริง และทำให้ศาสนิกมีเสรีภาพในการตรวจสอบและมีส่วนร่วมทางการเมืองเสมอภาคกับคนไม่มีศาสนา คนปฏิเสธ หรือแอนตี้ศาสนา

ความจริงแล้ว ในภาวะที่องค์กรศาสนายังมีอภิสิทธิ์ใช้อำนาจและงบประมาณสาธารณะเพื่อปกป้องและสนับสนุนการเผยแผ่ความเชื่อของพวกตน องค์กรศาสนาของรัฐไม่ได้เป็นอิสระจากการเมืองเลย เพราะนักบวชและผู้นำศาสนาถูกแต่งตั้งตำแหน่งและได้รับผลตอบแทนต่างๆ จากรัฐ จึงถูกกำหนดให้เป็นกลไกของรัฐไม่ต่างอะไรมากนักจากระบบราชการ ในแง่นี้ศาสนาจึงไม่มีทางเป็นอิสระจากการเมืองในเรื่องสนับสนุนการปลูกฝังอุดมการณ์รัฐ หรืออำนาจของชนชั้นปกครองได้

ในประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญในบ้านเรา จึงแทบจะไม่พบขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยแบบในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ (ถ้ามีก็เป็นเรื่องของตัวบุคคลซึ่งน้อยมาก) บรรดานักบวชหรือผู้นำศาสนาจะลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าไม่เป็นเรื่องสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ก็เป็นเรื่องสิทธิประโยชน์เฉพาะทางศาสนาของพวกตนเอง เช่นเรียกร้องศาสนาประจำชาติ กระทรวงศาสนา การบัญญัติกฎหมายศาสนา ศาลศาสนา และอื่นๆ

4. ภายใต้สภาวะที่ศาสนาไม่แยกจากรัฐ ศาสนาสนับสนุนศีลธรรมทางสังคมหรือไม่? คำตอบคือไม่ได้สนับสนุน เพราะศีลธรรมทางสังคมต้องสอดคล้องกับคุณค่าสมัยใหม่คือสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือการเคารพสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาที่ฟรีและแฟร์ แต่เนื่องจากตัวองค์กรศาสนาของรัฐมีสถานะ อำนาจที่มีอภิสิทธิ์ขัดกับคุณค่าสมัยใหม่ดังกล่าว ต่อให้ตีความศาสนาสนับสนุนคุณค่าสมัยใหม่ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติดังที่กล่าวแล้ว

มันจึงย้อนแย้งมากที่ศาสนามีอภิสิทธิ์ใช้อำนาจและเงินสาธารณะ แต่สถานะองค์กรศาสนาขัดกับคุณค่าสาธารณะเสียเอง สิ่งที่ศาสนาพอให้ได้คือสอนให้คนเป็น “คนดี” ตามศีลธรรมศาสนานั้นๆ แต่คนดีตามศีลธรรมของศาสนานั้นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพลเมืองที่มีมโนธรรมทางสังคมที่เคารพคุณค่าสมัยใหม่แต่อย่างใด

5. ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่? ข้ออ้างที่ว่าศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องสังคม เป็นเรื่องส่วนรวม และจึงไม่สามารถแยกจากการเมือง เป็นเพียงข้ออ้างที่เกิดจากมุมมองของนักวิชาการ นักคิด หรือบุคคลที่ยึดมั่นศรัทธาในศาสนาโดยทั่วๆ ไป ที่ใช้โลกทัศน์สังคมศาสนายุคโบราณ ยุคกลาง  (และบางรัฐศาสนาในโลกสมัยใหม่) มาเป็น “กรอบ” ตัดสิน ซึ่งไม่ย่อมตรงกับข้อเท็จจริงที่เป็นภววิสัยในสังคมสมัยใหม่

จริงอยู่ในอดีต ศาสนาเป็นเครื่องมือในการรวมชนเผ่า ชาติพันธุ์ หรือรวมผู้คนเข้าด้วยกันในรัฐต่างๆ แต่ในโลกสมัยใหม่ที่ศาสนาไม่ได้เป็นภูมิปัญญาหลัก มีภูมิปัญญาหลากหลาย วัฒนธรรมความเชื่อ ทางเลือกของชีวิตหลากหลาย ศาสนาไม่อาจทำหน้าที่รวมคนในชาติเป็นเนื้อเดียวกันได้อีกแล้ว นอกจากไม่ได้ ศาสนายังกลายเป็นเครื่องมือแบ่งแยกคนในชาติเดียวกันอีกด้วย

เช่น ในพื้นที่บางแห่งที่คนศาสนา ก.มาก คนศาสนา ข.น้อย คนศาสนา ข.กลายเป็นประชากรชั้นสองของพื้นที่นั้นๆ ในประเทศหนึ่งๆ ที่มีคนศาสนา ก.มาก คนศาสนา ข.ก็กลายเป็นประชากรชั้นสองของประเทศนั้นๆ ความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือความขัดแย้งทางสังคมการเมืองใดๆ ถ้าหากมีประเด็นศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง การแก้ปัญหาด้วยเหตุผลจะกลายเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นนับหลายเท่าทวีคูณ

แน่นอน เงื่อนไขหนึ่งของความขัดแย้งก็คือการไม่แยกศาสนาจากรัฐ ทำให้รัฐกลายเป็นเวทีต่อสู้ ต่อรองอำนาจและสิทธิประโยชน์ขององค์กร หรือกลุ่มศาสนาต่างๆ และเมื่อขัดแย้งเรื่องตีความคำสอน การปฏิบัติพิธีกรรมต่างๆ รัฐก็ต้องเข้าไปดูแลรับผิดชอบแก้ปัญหาเรื่อง “ความเชื่อส่วนบุคคล” ของศาสนานั้นๆ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของรัฐเลย

แท้จริงแล้ว เมื่อว่าโดย “เนื้อคำสอน” ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบจิตวิญญาณตนเอง เพราะคุณคือคนที่ “เชื่อ” และสนทนากับพระเจ้าที่คุณเชื่อ หรือปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุนิพาน หรือได้บุญกุศลตามความเชื่อของคุณ และเมื่อว่าใน “ทางสังคมวัฒนธรรม” ศาสนาก็เป็นความเชื่อเฉพาะของสังคมวัฒนธรรมหนึ่งๆ ซึ่งในรัฐย่อมมีหลากหลายสังคมวัฒนธรรม หลายกลุ่มคน รัฐจึงไม่อาจให้ “อภิสิทธิ์” แก่ความเชื่อหรือศาสนาของสังคมวัฒนธรรมหรือกลุ่มคนไหนๆ ได้ วิธีที่แฟร์ที่สุดคือให้แต่ละกลุ่มศาสนา กลุ่มความเชื่อ หรือแต่ละสังคมวัฒนธรรมศาสนานั้นๆ รับผิดชอบตนเองในรูปขององค์กรเอกชนเหมือนกันหมด

พูดในสาระสำคัญ การแยกศาสนาจากรัฐย่อมไม่ใช่ “การตัดตัดทิ้งศาสนา” ออกไปจากสังคม  แต่คือการ “ยกเลิก” อภิสิทธิ์ของกลุ่มหรือองค์กรทางศาสนาใดๆ ในรัฐ องค์กรศาสนา กลุ่มศาสนาต่างๆ ก็ยังอยู่ หรือพัฒนาปรับเปลี่ยนไปในรูปเอกชน และปัจเจกบุคคลย่อมมีเสรีภาพทางศาสนามากขึ้น

กลุ่มศาสนาต่างๆ ที่เป็นเอกชนสามารถมีส่วนร่วมต่อรองสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ แต่เป็นสิทธิประโยชน์สาธารณะต่างๆ เช่น สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐ การศึกษา การรักษาพยาบาล การพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม ฯลฯ  แต่ไม่ใช่เรียกร้องเอาอำนาจและเงินสาธารณะไปใช้เพื่อปกป้อง ตอบสนอง ส่งเสริมการเผยแผ่ศาสนาของตนเอง เรื่องความเชื่อเฉพาะทางศาสนาเป็นเรื่องที่กลุ่มศาสนา สังคมหรือชุมชนศาสนานั้นๆ ต้องรับผิดชอบสร้างกติกา กฎเกณฑ์ การบริหารจัดการและดูแลอุปถัมภ์กันเอง ไม่ใช่เรื่องอของรัฐ

สุดท้าย เราควรพูดกันตรงไปตรงมาว่า แนวคิดรัฐโลกวิสัยไม่ใช่เรื่องของการ “ครอบงำศาสนา” แต่เป็นเรื่องของการยกเลิก “อภิสิทธิ์” ของกลุ่มศาสนา มันไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ศาสนาหายไปจากชีวิตและสังคม และมันไม่ใช่เรื่องว่าตัวแทนองค์กรศาสนาต่างๆ นักวิชาการหรือกลุ่มศาสนาใดๆ จะมาบอกว่าคนที่เสนอแยกศาสนาจากรัฐต้องการเอา secular state มากดดัน ครอบงำศาสนา บังคับให้แยกศาสนาจากรัฐ โดยไม่ฟังเสียงกลุ่มศาสนาต่างๆ ก่อนว่าอยากแยกหรือไม่ ยินยอมหรือไม่

แท้จริงแล้ว คนเสนอแยกศาสนาจากรัฐในประเทศนี้แทบจะนับเป็น “ศูนย์” ไม่มีอภิสิทธิ์ถืออำนาจและเงินสาธารณะเหมือนกลุ่มหรือองค์กรศาสนาใดๆ เราเพียงกวักมือเรียกกลุ่ม องค์กรศาสนาต่างๆ ให้มาอยู่ร่วมกันกับเราอย่าง “คนเท่ากัน” ภายใต้กติกาที่ฟรีและแฟร์บนหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้ได้จริงๆ เท่านั้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net