Skip to main content
sharethis

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร้องปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยทันที และยุติการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม 'คนอยากเลือกตั้ง' หยุดการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นเครื่องมือในการจำกัดหรือปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ

 

22 พ.ค.2561 จากที่กลุ่มประชาชนในนาม “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” จัดการชุมนุมในวาระครบรอบ 4 ปีการรัฐประหารของ คสช. เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้งภายในปลายปี 2561 และให้ คสช. หยุดสืบทอดอำนาจ  โดยการชุมนุมเริ่มขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 21 พ.ค.และมีการเคลื่อนขบวนไปใกล้ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ช่วงสายวันนี้ (22 พ.ค.61) แต่ได้ถูกสกัดกั้นจากเจ้าหน้าตำรวจหลายกองร้อยทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเคลื่อนขบวนไปถึงทำเนียบรัฐบาลได้ และในที่สุดช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ก็ได้ทำการจับกุมแกนนำการชุมนุมและผู้ชุมนุม และแกนนำบางส่วนตัดสินใจเข้ามอบตัว รวมแล้วมีผู้ถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 15 คน โดยถูกแยกควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม และสถานีตำรวจนครบาลพญาไทนั้น

เมื่อช่วงหัวค่ำที่ผ่านา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ออกแถลงการณ์ ขอให้ยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ปิดกั้นเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปล่อยตัวผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งโดยทันที

โดย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระบุว่ามีความกังวลอย่างยิ่งต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ในกรณีดังกล่าว และมีความเห็นว่าการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ถือเป็นสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองในทางการเมืองของประชาชน และเป็นเรื่องที่ชอบธรรมในสังคมที่เรียกตนเองว่าเป็นประชาธิปไตย โดยสิทธิประการดังกล่าวได้ถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ดังนั้น รัฐควรที่จะเคารพสิทธิที่จะแสดงออกถึงเจตจำนงอย่างเสรีของประชาชน ไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย และผู้ที่แสดงออกถึงเจตจำนงดังกล่าวไม่ควรถูกดำเนินคดี

การจัดกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และอยู่ในขอบข่ายของการชุมนุมโดยสงบตามที่ถูกรับรองไว้ในมาตรา 34 และ 44  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม แม้การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะสามารถทำได้ แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายและจำเป็นแก่สังคมประชาธิปไตยเพื่อผลประโยชน์ทางความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น  ซึ่งตามข้อเท็จจริงแม้ในการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะมีการโต้เถียงและกระทบกระทั้งกับเจ้าหน้าที่เป็นระยะๆ แต่การกระทบกระทั้งดังกล่าวก็มีสาเหตุมาจากการปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและการพยายามจับกุมผู้ชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ อีกทั้ง ก่อนเริ่มการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้มีความพยายามในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการดำเนินการแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่ใช้ดูแลการชุมนุมสาธารณะของประเทศไทยในปัจจุบันแล้ว แต่เป็นรัฐเองที่ไม่ยอมดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว กลับนำคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 อันเป็นกฎหมายที่ถูกกำหนดขึ้นโดยคณะรัฐประหาร คสช. และถูกนำมาบังคับใช้อย่างไร้ขอบเขตเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนในช่วงเกือบสี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งคำสั่งดังกล่าวยังไม่ใช่เงื่อนไขทางกฎหมายที่จะนำมาใช้จำกัดเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบได้ตามหลักสิทธิมนุษยชนดังที่กล่าวไป

นอกจากนี้ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ 9 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 ได้กำหนดว่าห้ามมิให้มีการจับกุมหรือควบคุมบุคคลโดยอำเภอใจ เว้นแต่โดยเหตุและเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย  ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้กำหนดให้การจับกุมโดยทั่วไปจะต้องมีหมายจับที่ออกโดยศาล การจับกุมควบคุมตัวบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง อันไม่ได้เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายปกติใดๆ และกระทำไปโดยไม่มีหมายหรือคำสั่งของศาล มีการอ้างเพียงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่เจ้าหน้าที่และขาดระบบการตรวจสอบที่เพียงพอ ย่อมถือเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลอันสมควรและเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยอำเภอใจ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยทันที และยุติการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม รวมทั้งหยุดการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นเครื่องมือในการจำกัดหรือปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ

สสส. ร้องปล่อยตัวแกนนำและสมาชิกกลุ่มคนอยากเลือกตั้งโดยไม่มีเงื่อนไข

ขณะที่ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ระบุว่า การชุมนุมของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและพลเมือง อีกทั้งการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับรัฐบาลประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ก็ต้องมีความจริงใจที่จะรับฟังเสียงของทุกฝ่ายและสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาต่างๆต่อบุคคลดังกล่าว รวมทั้งข้อหาความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช.ที่ 3/2558 อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรมเนื่องจากเป็นคำสั่งของกลุ่มบุคคลที่ใช้กำลังก่อการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐ จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักของความยุติธรรมและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ และอาจถูกมองได้ว่า เป็นการใช้กฎหมายเพื่อกลั่นแกล้ง ปิดปาก ผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาล
 
สสส. เรียกร้องต่อหัวหน้า คสช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ 1.  ขอให้ปล่อยตัวแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทั้ง 15 คน โดยเร็วอย่างไม่มีเงื่อนไข 2.  ขอให้ยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 และคำสั่งหรือประกาศอื่น ๆ ของ คสช. ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
3.  ยุติการปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองและการชุมนุมสาธารณะ และ 4. รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาชนและนานาประเทศว่าจะมีการเลือกตั้งโดยเร็ว
 
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอีก เช่น กลุ่มผู้จดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ สมัชชาแม่โจ้เสรีเพื่อประชาธิปไตย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และ สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นต้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net