Skip to main content
sharethis

อัยการจังหวัดจังหวัดธัญบุรีเผย อธิบดีอัยการภาค 1 มีความเห็นไม่ฟ้องคดี 3/2558 กับ 8 เดินมิตรภาพ ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8 คน เดินทางไปยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำสั่ง 3/2558 ขัด รธน. หรือไม่ หวังผู้ตรวจฯ จะมีความกล้าหาญ

8 ผู้จัดกิจกกรมเดินมิตรภาพ ของเครือข่าย People Go Network ได้เดินทางมาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ที่ถูก คสช. ดำเนินการแจ้งความฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2561 ที่มาภาพ : เพจ Banrasdr Photo 

7 ส.ค. 2561 อัยการจังหวัดธัญบุรี ได้นัด 8 ผู้ถูกกล่าวหาปมขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามมั่วสุม ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน จากกรณีจัดกิจกรรม เดินมิตรภาพ มาเพื่อฟังคำสั่งของอัยการ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 8 ผู้ถูกกล่าวหาคดีเดินมิตรภาพได้แต่งตั้งทนายมอบอำนาจมาฟังคำสั่งแทน โดยอัยการที่รับผิดชอบสำนวนได้แจ้งว่า อธิบดีอัยการภาค 1 มีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ และทางอัยการได้ส่งความเห็นถึงผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ทั้งตำรวจก็มีความเห็นไม่ฟ้องเช่นเดียวกัน ทั้งนี้อัยการยังไม่ได้แจ้งถึงเหตุผลของคำสั่งไม่ฟ้อง จึงต้องรอทั้ง 8 คนมาทำคำร้องขอคัดถ่ายเอกสารด้วยตนเอง โดยการนัดฟังคำสั่งในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 6 ซึ่งในทุกครั้งที่ผ่านมาอัยการได้เลื่อนฟังคำสั่งออกไปก่อน

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานด้วยว่า คำวินิจฉัยของอัยการชี้ว่า การชุมนุมของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ มิได้กระทบความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2560 อีกทั้งได้มีการแจ้งการชุมนุมและวัตถุประสงค์ของการชุมนุมต่อผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว โดยการชุมนุมไม่ได้มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8 คนจึงไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา 

เดินมิตรภาพคืออะไร

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่า ที่มาของคดีนี้เกิดขึ้นจากการการจัดกิจกรรม เดินมิตรภาพ หรือ We Walk ของเครือข่าย People Go ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนที่พัฒนามาจาก 97 องค์กร ที่มีทั้งคณาจารย์ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นิสิต นักศึกษา และองค์กรเครือข่ายชาวบ้านจากทั่วประเทศเข้ามาทำงานร่วมกัน 

โดยกิจกรรมเดินมิตรภาพ เป็นกิจกกรมเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจังหวัดขอนแก่น ระยะทางกว่า 450 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมร้อยประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหา สร้างความเข้าใจกัน ยืนยันสิทธิของประชาชนทุกด้านในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ เริ่มต้นเปิดกิจกรรมเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเริ่มออกเดินทางเมื่อวันที่ 20 ม.ค. สิ้นสุดกิจกรรมเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

ถาม-ตอบ สั้นๆ ทำความเข้าใจ 'เดินมิตรภาพ' คือใคร ทำไมต้องเดิน?

ถูกแจ้งความเพราะอะไร

ชนวนสาเหตุที่นำมาสู่การแจ้งความดำเนินคดีเกิดจาก พ.ท.ภูษิต คล้ายหิรัญ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่4 กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 ปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้บังคับกองร้อย รักษาความสงบกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้รักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่ง คสช. ในพื้นที่อ.คลองหลวง และอ.สามโคก จ.ปทุมธานี โดยได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทางกฎหมายในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จากกรณีการจัดกิจกรรมเปิดงานเดินมิตรภาพ โดยมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 8 คนดังนี้

1.เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา 2.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3.นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 4.สมชาย กระจ่างแสง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 5.แสงศิริ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 6.นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัม 4 ภาค 7.อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก และ 8.จำนงค์ หนูพันธ์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค

โดยทั้ง 8 คนนี้ถูกกล่าวโทษว่าเป็นแกนนำการชุมนุมและผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมอีกประมาณ 150 คน ได้มีการมั่วสุมจัดการชุมนุมปราศรัยบิดเบือนโจมตีการทำงานของรัฐบาล โดยมีการผัดกันปราศรัยและแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจน ซึ่งทั้งหมดได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา และให้การปฏิเสธในชั้นพนักงานสอบสวน จากนั้นได้มีการทำสวนเพื่อสั่งอัยการจังหวัดธัญบุรี มีการนัดฟังคำสั่งอัยการแล้ว 5 ครั้ง แต่ก็ถูกเลือนออกไปก่อน จนในครั้งล่าสุด(7 ส.ค.) อัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง

ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้าม ตร. ขัดขวางเสรีภาพการชุมนุม

ทั้งนี้ระหว่างการจัดกิจกรรมทางกลุ่มได้มีการขอให้ศาลปกครองพิจารณาและสั่งคุ้มครอง โดยนิมิตร์ เทียนอุดมได้ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) , ผกก.สภ.คลองหลวง , ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี , ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา , ผบช.ภ.1 , ผบชภ.3 , ผบช.ภ.4 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-7 เมื่อวันที่ 22 ม.ค. จากข้อพิพาทเรื่อง การปฏิบัติหน้าที่มิชอบกระทำการละเมิดต่อเสรีภาพการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ภายหลังจากที่มีพฤติการณ์กดดันทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความหวาดกลัวในการใช้สิทธิและเสรีภาพการชุมนุม โดยคณะจัดกิจกรรมยืนยันว่าก่อนการทำกิจกรรมได้ยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมและชี้แจงรายละเอียดว่าจะมีการเดินไปที่ไหนอย่างไรแล้วตามกระบวนการที่ถูกต้องของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 

ต่อมาวันที่ 27 ม.ค. ศาลปกครองกลาง ได้แจ้งคำสั่งให้คู่ความทราบว่าศาลได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนคำพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องร้องขอ มีเนื้อหาดังนี้

1.มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องที่ 4 ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายและอาจมีการปิดกั้นขัดขวาง ทำให้ผู้ฟ้องทั้งสี่รู้สึกหวาดกลัวในการใช้เสรีภาพการชุมนุมอีกต่อไป

2.น่าเชื่อว่าอาจจะมีการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปของเจ้าหน้าที่ตำรวจในลักษณะการปิดกั้นขัดขวาง ทำให้ผู้ฟ้องหวาดกลัวการใช้เสรีภาพการชุมนุม ซึ่งทำให้ผู้ฟ้องกับพวกได้รับความเสียหายต่อไปได้ ในระหว่างการทำกิจกรรมเดินมิตรภาพส่วนที่เหลือตามแผนที่วางไว้

3.ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ ได้เคยมีคำสั่งให้การชุมนุมหรือห้ามการเดินขบวนเคลื่อนย้าย หรือประกาศให้เลิกการชุมนุม แก้ไขการชุมนุม หรือร้องต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม

4.มีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องทั้งสี่ โดยศาลมีคำสั่งสรุป ดังนี้

1.ให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 โดย ผบ.ตร. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ มิให้กระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวางในการใช้เสรีภาพการชุมนุมของผู้ฟ้องและผู้ร่วมชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

2.ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 19 วรรคสี่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชน การดูแลการชุมนุมสาธารณะ และการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยเคร่งครัด แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้อง และผู้ร่วมชุมนุมกระทำการใดอันทำให้เป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะหรือเจ้าพนักงานตำรวจในบังคับบัญชาของ ตร.ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ก็ชอบที่จะพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม หรือแก้ไข หรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม หรือดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะหรือกฎหมายอื่นได้

ทหารแจ้งความ 8 แกนนำเดินมิตรภาพ อ้างฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.

“เดินมิตรภาพ” 20 คน วันแรก หลังคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวศาลปกครอง

เดินมิตรภาพ ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำสั่ง คสช. 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมขัด รธน. หรือไม่

สำหรับวันนี้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8 ราย พร้อมด้วยเครือข่าย People Go ได้เดินทางไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา คําสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 26 และมาตรา 44 หรือไม่ โดยขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาตรวจสอบและมีความเห็นถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลวินิจฉัย และให้ผู้ตรวจการเสนอแนะต่อหัวหน้า คสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการใช้คำสั่งดังกล่าว 

ไอลอว์ รายงานว่า เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า ปัญหาของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ไม่เพียงส่งผลกระทบแค่เฉพาะคดี we walk แต่ยังกระทบถึงประชาชนอีกกว่า 400 คนที่ถูกดำเนินคดีนี้ นี่เป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง ทั้งที่เรามีรัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพขั้นพื้นฐานเอาไว้ แต่กลับมีคำสั่งแปลกๆ มาเล่นงานประชาชน ถ้าไม่หยุดยั้ง จะมีคนไทยโดน คดี 3/2558 อยู่เรื่อยๆ

เลิศศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ที่เดินมาวันนี้เรายังต้องการทดสอบผู้ตรวจการแผ่นดินเนื่องจากเป็นองค์กรอิสระ และรับภาษีจากประชาชน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบกฎหมายที่ละเมิดสิทธิ และหวังว่าจะมีความกล้าหาญในอำนาจหน้าที่ของตัวเองในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากไม่ยื่นจะถือว่าไม่ทำตามอำนาจหน้าที่ของตัวเองตามที่กฎหมายมีอยู่ 

อมรินทร์ สายจันทร์ ทีมทนายของเครือข่ายฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการใช้สิทธิยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญตอบกลับว่าต้องทำโดยผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วหลายครั้งที่พยายามยื่นต่อผู้ตรวจการก็ไม่สำเร็จ การมายื่นคำร้องครั้งนี้เนื่องจาก คสช. ออกคำสั่งมาขัดต่อหลักนิติธรรมของรัฐธรรมนูญ และมีการตีความใช้กันอย่างเกินขอบเขตและไม่มีกลไกที่สามารถตรวจสอบได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกเลิก ครั้งนี้หากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ทำหน้าที่เราก็จะไปยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net