Skip to main content
sharethis

ศาลพม่าจำคุก 2 นักข่าวรอยเตอร์ "วะลง" และ "จ่อซออู" รายละ 7 ปี จากข้อหา "ล้วงความลับทางราชการ" จากกรณีที่นักข่าวสองรายนี้รายงานข่าวเรื่องการสังหารหมู่โรฮิงญา โดยคำตัดสินของศาลสร้างความไม่พอใจให้หลายฝ่ายเพราะมองว่าเรื่องนี้เป็นการโจมตีเสรีภาพสื่อ ขณะที่นักข่าว 2 คนให้การในศาลว่าพวกเขาถูกตำรวจนัดรับซองเอกสารราชการที่พวกเขาไม่รู้ว่าในซองมีเนื้อหาอะไร เพื่อเป็นข้ออ้างจับกุมดำเนินคดีพวกเขาในข้อหาล้วงความลับทางราชการ

การรณรงค์เรียกร้องปล่อยตัววะลง และจ่อซออู (ที่มา: Free Wa Lone and Kyaw Saw Oo - Myanmar)

วะลง (ซ้าย) และจ่อซออู (ขวา) (แฟ้มภาพ)

เจ้าหน้าที่พม่าขุดศพ 10 ร่างขึ้นมาจากหลุมศพขนาดใหญ่ที่ค้นพบที่หมู่บ้านอินดิน ห่างจากเมืองซิตตะเหว่ เมืองหลวงรัฐยะไข่ไปทางเหนือ 50 กม. ภาพถ่ายเมื่อ 19 ธันวาคม 2560 ล่าสุดรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของรอยเตอร์ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นพลเรือนที่ถูกเจ้าหน้าที่พม่าร่วมกับชาวบ้านยะไข่สังหาร (ที่มา: Office of the Commander-in-Chief)

สภาพของหมู่บ้านอินดิน ในรัฐยะไข่ เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีประชากร 6,000 คน ในภาพเป็นภาพถ่ายจากดาวเทียมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 แสดงให้เห็นสภาพของชุมชนที่ถูกเผาทำลาย (กรอบสีแดง) โดยมีชุมชนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ไม่ได้ถูกเผาทำลาย (กรอบสีเขียว) (ที่มา: วิกิพีเดีย)

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2561 ศาลพม่าก็ตัดสินลงโทษจำคุกนักข่าวรอยเตอร์สัญชาติพม่า 2 คน วะลง (Wa Lone) อายุ 32 ปี และ จ่อซออู (Kyaw Soe Oo) อายุ 28 ปี โดยลงโทษจำคุกพวกเขา 7 ปี นักข่าวสองคนนี้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำอินเส่ง กรุงย่างกุ้ง มาตั้งแต่ถูกจับกุมตัวเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 จนถึงเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาพวกเขาถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายมาตรา 3 (1) ที่ระบุถึงกรณีความลับทางราชการ ซึ่งเป็นกฎหมายมีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษแล้ว

คดีนี้ทำให้เกิดเสียโต้ตอบด้วยความไม่พอใจจากประชาคมนานาชาติเพราะถือเป็นการที่ทางการพม่าพยายามปิดกั้นไม่ให้มีการรายงานข่าวกรณีกองกำลังความมั่นคงสังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาในรัฐยะไข่ กรณีการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้วส่งผลให้ชาวโรฮิงญา 700,000 ราย ต้องลี้ภัยไปที่บังกลาเทศ นอกจากนี้ยังมีอาชญากรรมจากน้ำมืฝ่ายกองกำลังความมั่นคงพม่าทั้งการข่มขืน การฆาตกรรม และการวางเพลิง

ในการพิจารณาคดีนักข่าว 2 คน ปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ทางการพม่าสร้างสถานการณ์เพื่อกล่าวหาเอาผิดพวกเขา นักข่าว 2 คน เล่าว่าพวกเขาถูกเชิญไปทานอาหารค่ำกับตำรวจ โดยที่ในขณะนั้นพวกเขากำลังหาข้อมูลทำข่าวเกี่ยวกับการสังหารชาวโรฮิงญา ในการนัดครั้งนั้นตำรวจก็ยื่นเอกสารให้พวกเขารับแล้วทำการจับกุมพวกเขาขณะที่พวกเขากำลังจะออกจากร้านอาหารโดยอ้างว่าพวกเขามีเอกสารลับทางราชการไว้ในครอบครอง

แต่ผู้พิพากษา เย ลวิน (Ye Lwin) ก็ไม่ได้รับรู้อะไรเกี่ยวกับคำให้การของนักข่าว 2 รายนี้เลย โดยในคำตัดสินอ้างว่านักข่าว 2 รายนี้ "มีเจตนาทำให้รัฐเสียผลประโยชน์" จึงตัดสินพวกเขาว่ามีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความลับทางราชการ

นักข่าวสองคนนี้เคยทำข่าวเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านอินดิน ขณะที่ฝ่ายกองทัพพม่าเผยแพร่เหตุการณ์ในแบบของตนเองระบุว่าชาวโรฮิงญาถูกสังหารขณะถูกควบคุมตัว แต่ก็นำเสนอในทำนองว่ามีการใช้กำลังรุนแรงจากทั้งฝ่ายกองทัพและชาวบ้านในพื้นที่

คำตัดสินในครั้งนี้ทำให้องค์กรแอมเนสตีออกแถลงการณ์โต้ตอบในเรื่องนี้โดยระบุว่ามันเป็นคำตัดสินที่ "มีแรงจูงใจทางการเมือง" และเป็นสัญญาณเตือนว่าควรมีการพิจารณาอย่างใกล้ชิดในเรื่องที่กองทัพพม่าจะจ้องเล่นงานสื่อ 

ฟ้อง 2 นักข่าวรอยเตอร์ 'เผยความลับราชการ' หลังรายงานข่าวสังหารหมู่โรฮิงญา, 12 ก.ค. 2018

สื่อรอยเตอร์เผยรายงานสืบสวน: กองกำลังพม่าสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาที่หมู่บ้านอินดิน, 9 ก.พ. 2018

ทิรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการฝ่ายรับมือวิกฤตการณ์ของแอมเนสตีระบุว่า "คำตัดสินในวันนี้เป็นการลงโทษผู้บริสุทธิ์ 2 คนให้ต้องจำคุกหลายปี วะลงและจ่อซออูต้องจำคุกเพียงเพราะพวกเขากล้าถามคำถามที่ชวนให้รู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับความโหดร้ายของกองทัพในรัฐยะไข่" ฮัสซันเรียกร้องให้ "ควรจะมีการยกเลิกคำตัดสินในครั้งนี้ และปล่อบตัวทั้ง 2 คนอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยทันที"

ฮัสซันระบุในแลถงการณือีกว่า "คำตัดสินในวันนี้ไม่สามารถปกปิดความจริงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ได้ ต้องขอบคุณความกล้าหาญของนักข่าวอย่างวะลงและจ่อซออูที่ทำให้มีการเปิดโปงความโหดร้ายของกองทัพ แทนที่จะตั้งเป้าหมายกับนักข่าว 2 คนนี้ ทางการพม่าควรจะไปดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหาร, ข่มขืน, ทารุณกรรม และจุดไฟเผาหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาหลายร้อยคน"

ก่อนหน้าการตัดสินลงโทษนักข่าว 2 คนนี้ มีนักกิจกรรมและนักข่าวรวมกันมากกว่า 100 คน เดินขบวนในกรุงย่างกุ้งเพื่อแสดงการสนับสนุนนักข่าว 2 คนนี้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา

การตัดสินลงโทษนักข่าวสองคนนี้มีขึ้นในช่วงที่สหประชาชาติเพิ่งนำเสนอข้อมูลจากการลงพื้นที่ระบุว่าผู้นำทหารพม่าควรถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในกรณีโรฮิงญา

เรียบเรียงจาก
2 Reuters Reporters Jailed For 7 Years In Landmark Myanmar Secrets Case,
NDTV, 03-09-2018

Myanmar: Guilty verdict against Reuters journalists sends stark warning on press freedom, Amnesty, 03-09-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net