Skip to main content
sharethis

ผู้อพยพชาวฮอนดูรัสหลายพันคนเคลื่อนขบวนเป็นคาราวานอพยพจากฮอนดูรัส มุ่งหน้าสู่สหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศ จะสกัดกั้นผู้อพยพเหล่านี้ ทางผู้อพยพรวมตัวกันอีกครั้งที่ชายแดนกัวเตมาลา-เม็กซิโก ข้อมูลปี 2559 ระบุ ผู้อพยพมีจำนวนร้อยละ 13.5 ของประชากรสหรัฐฯ เอเชียมากเป็นอันดับหนึ่ง

ขบวนผู้คนพร้อมธงทีมฟุตบอลฮอนดูรัส(ซ้าย) และธงที่คาดว่าเป็นธงชาติฮอนดูรัสที่อยู่แถวที่สอง (ที่มา: Facebook: Honduras NO TE Rindas)

23 ต.ค. 2561 สื่อเอ็นดีทีวีรายงานว่ามีขบวนคาราวานผู้อพยพจากฮอนดูรัส ประเทศในภูมิภาคอเมริกากลางเดินขบวนทางไกลและกำลังต่อแพเพื่อข้ามฝั่งแม่น้ำไปยังเม็กซิโก คลื่นมนุษย์ดังกล่าวกระตุ้นให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ โต้ตอบเรื่องนี้โดยบอกว่าจะมีการใช้ "ความพยายามอย่างเต็มที่" ในการสกัดกั้นฝูงชนที่จะข้ามแดนเข้ามาทางตอนใต้ของสหรัฐฯ

ทางการเม็กซิโกทำการปิดกั้นสะพานข้ามฝั่งระหว่างกัวเตมาลากับเม็กซิโก ทำให้ผู้อพยพแก้ปัญหาด้วยการต่อแพชั่วคราวเพื่อข้ามฝั่งแทนและรวมตัวกันอีกครั้งในเม็กซิโกเมื่อ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ข้อมูลของผู้บัญชาการตำรวจเม็กซิโกซึ่งเฝ้าจับตามองกลุ่มผู้อพยพอย่างใกล้ชิดระบุว่า ยังมีผู้อพยพราว 3,000 คน ที่ยังคงเดินขบวนเป็นคาราวานภายในเม็กซิโก ขณะที่ผู้อพยพรวมถึงผู้หญิงและเด็กจำนวนมากยังคงติดอยู่ที่ชายแดนตรงสะพานโดยหวังว่าจะสามารถเข้าสู่เม็กซิโกได้อย่างถูกกฎหมาย โดยทางการเม็กซิโกยืนกรานว่าคนที่รออยู่ที่สะพานควรจะยื่นเรื่องขอลี้ภัยเป็นรายบุคคลถึงจะเข้าสู่ประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ผู้อพยพแสดงความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการที่จะข้ามเขตแดนจากเม็กซิโกเป็นระยะทางอย่างน้อย 3,000 กม. ไปจนถึงชายแดนสหรัฐฯ

มีผู้อพยพรายหนึ่งชื่ออาร์รอน ฮัวเรซ อายุ 21 ปี ที่มาพร้อมกับลูกและเมียเดินทางด้วยความยากลำบากเพราะกำลังบาดเจ็บ แต่เขาก็บอกว่า "ไม่มีใครจะหยุดพวกเราได้ หลังจากสิ่งที่พวกเราต้องฟันฝ่ามา" ผู้อพยพอีกรายหนึ่งชื่อ เอ็ดวิน จีโอวานนี เอนาโมราโด  เป็นชาวนาผู้ที่ถูกคุกคามจากกลุ่มแกงค์อาชญากรขู่กรรโชกทรัพย์ เขาบอกว่าถึงจะเหนื่อยแต่ก็มีความสุขพวกเขาได้ผนึกกำลังร่วมกันและมีความเข้มแข็ง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกลุ่มคาราวานชาวฮอนดูรัสเริ่มเดินขบวนออกจากเมืองซานเปโดรซูลาไปทางตอนใต้ 700 กม. ตามคำเรียกร้องบนโซเชียลเน็ตเวิร์คของนักการเมืองฝ่ายซ้ายและนักกิจกรรมของฮอนดูรัส บาร์โตโล ฟูเอนเตส ผู้ที่อยู่พรรคการเมืองเดียวกับอดีตประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ที่ถูกรัฐประหารโค่นล้มไปเมื่อหลายปีก่อน 

ทั้งนี้ ทางฟูเอนเตสระบุว่า เขาเพียงเอาโปสเตอร์ทางโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ชวนให้ผู้คนออกมา "เดินขบวนอพยพ" พร้อมทั้งคำขวัญที่ว่า "พวกเราไม่ได้ออกมาเพราะพวกเราต้องการ แต่เพราะพวกเราถูกขับไล่โดยความรุนแรงและความยากจน" มาโพสท์ใหม่บนเพจเฟสบุ๊กเท่านั้น เขาระบุกับซีเอ็นเอ็นว่าเขาถูกรัฐบาลกล่าวหาเป็นแพะรับบาปกรณีคาราวานใหญ่ครั้งนี้ แต่รัฐบาลกลับมองข้ามความย่ำแย่ของชีวิตที่ความจนและความรุนแรงคร่าชีวิตคนเป็นแสนในฮอนดูรัส

ผู้เดินขบวนอพยพราว 3,000-5,000 รายพากันยกขบวนไปที่กัวเตมาลาซึ่งผู้นำกัวเตมาลาเปิดเผยว่ามีชาวฮอนดูรัสอพยพเข้าเมืองมากกว่า 5,000 ราย แต่ยังคงมีอีกราว 2,000 รายที่ไม่กลับบ้าน

ในวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ทางการเม็กซิโกได้เปิดพรมแดนให้กับผู้หญิงและเด็กเข้าประเทศได้หลังจากที่พวกเขาออกันอยู่บนสะพานแออัดที่ไปด้วยฝูงชน ทางการเม็กซิโกเปิดให้ผู้อพยพเข้าไปอยู่ในที่พักพิงของเมืองทาปาชูลาผู้อพยพบางส่วนทนรอไม่ไหวเริ่มต่อแพข้ามมาสู่ตลิ่งโคลนฝั่งเม็กซิโกด้วยตัวเองโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปขัดขวางพวกเขา แต่ผู้นำกัวเตมาลาและฮอนดูรัสต่างก็วิจารณ์ในเรื่องนี้หลังประชุมร่วมกันว่าเป็นการ "ละเมิดพรมแดนและความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ"

ทั้งนี้ผู้นำฮอนดูรัสยอมรับว่าปัญหาทางสังคมมีส่วนทำให้มีผู้อพยพจำนวนมากจริง และผู้อพยพเองก็บอกว่าการเดินขบวนอพยพใหญ่ในครั้งนี้ไม่ได้มีแรงจูงใจทางการเมือง เอ็ดการ์ อะกีลาร์ บอกว่าแรงจูงใจในการเดินขบวนใหญ่มาจากเรื่อง "ความอดอยาก ปัญหาภัยแล้ง มันเป็นเรื่องการทำเพื่อความกินดีอยู่ดี เพื่อชีวิตที่ดีกว่า มันไม่ใช่เรื่องการเมือง" ผู้อพยพอีกคนหนึ่งชื่อจาเล็ดบอกว่าเพราะในฮอนดูรัสไม่มีงานทำ ไม่มีการศึกษา ไม่มีอะไรดี และข้าวของก็มีแต่แพงขึ้น

สื่อเอ็นดีทีวีระบุอีกว่าปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ชาวฮอนดูรัสแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในที่อื่นคือปัญหาจากแกงค์อาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง การวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮอนดูรัสระบุว่ามีอัตราการฆาตกรรมเกิดขึ้นกับชาวฮอนดูรัส 43 คนต่อ 100,000 คน ทำให้ฮอนดูรัสกลายเป็นประเทศที่มีความรุนแรงสูงที่สุดในโลก

ผู้อพยพมีจำนวนร้อยละ 13.5 ของประชากรสหรัฐฯ เอเชียมากเป็นอันดับหนึ่ง

ข้อมูลเมื่อปี 2561 ของศูนย์วิจัย Pew Research Center ให้ข้อมูลว่า มีผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ เฉลี่ยปีละมากกว่าหนึ่งล้านคน ข้อมูลในปี 2559 พบว่าอัตราส่วนของผู้อพยพมีสัดสว่นเป็นร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับประชากรสหรัฐฯ ทั้งประเทศ โดยทั่วประเทศมีผู้อพยพที่เข้ามาอย่างไม่ถูกกฎหมายราว 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 24.5 องจำนวนผู้อพยพทั้งหมดที่มีทั้งสิ้น 44.7 ล้านคน

ข้อมูลจากที่เดียวกันแสดงให้เห็นว่า ในปี 2559 ผู้อพยพส่วนใหญ่ (ร้อยละ 26) กำเนิดที่ประเทศเม็กซิโก รองลงมาคือจีนที่นับรวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวันและฮ่องกง (ร้อยละ 6) และอินเดียในสัดส่วนเท่ากัน แต่หากประเมินตามภูมิภาคจะพบว่า ผู้อพยพส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก (ร้อยละ 27) ส่วนอเมริกากลางและใต้อยู่ที่ร้อยละ 8 และ 7 ตามลำดับ

ในทางเชื้อชาติ ผู้อพยพที่เป็นชาวเอเชียมีจำนวนแซงหน้าชาวฮิสแปนิกตั้งแต่ปี 2553  ทาง PEW Research Center คาดการณ์ว่าในปี 2598 ชาวเอเชียนจะเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38 ตามาด้วยชาวฮิสแปนิกที่ร้อยละ 31 คนขาวร้อยละ 20 และคนดำร้อยละ 9

เรียบเรียงจาก

Thousands Of Migrants March At Least 3,000 Kilometres To Reach US, NDTV, Oct. 22, 2018

Key findings about U.S. immigrants, PEW Research Center, Sep. 14, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net