Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: http://www.lokwannee.com/web2013/?p=250266

ท่อนหนึ่งในเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” ที่สะท้อนวัฒนธรรมทางความคิดและระบบอำนาจนิยมในสังคมไทยได้อย่างถึงแก่น คือท่อนที่ว่า “ประเทศที่มีกฎหมายไม่รู้พระธรรมและไบเบิล” ทำให้เราคิดต่อได้อีกมาก

ยุคกลางพระธรรมและไบเบิลคือกฎหมาย เพราะในยุโรปศาสนจักรมีอำนาจทางกฎหมายในการลงโทษใครก็ตามที่เสนอความคิดขัดแย้งกับคำสอนในไบเบิล ขณะที่เอเชียอาคเนย์ธรรมราชาคือกฎหมาย กล่าวคือ นอกจากนครรัฐแถบนี้จะใช้กฎหมายพระธรรมศาสตร์ตามคติฮินดูเป็นหลักแล้ว ธรรมราชาอิงคติพุทธยังทรงอำนาจสิทธิ์ขาดในการออกกฎหมายตามพระราชอัธยาศัยอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ธรรมะและไบเบิลจึงไม่ได้ดำรงอยู่มาได้ยาวนาน เพียงเพราะว่าเป็น “สัจธรรม” หรือความจริงที่ “ทนต่อการพิสูจน์” จากการตั้งคำถาม วิพากษ์ โต้แย้งอย่างเสรี แต่ดำรงอยู่อย่างยาวนานได้เพราะอำนาจเผด็จการของศาสนจักรและรัฐยุคกลางให้ความคุ้มครอง อุปถัมภ์ และสนับสนุนการเผยแผ่ 

พูดในมุมกว้างออกไปคือ ศาสนาหลักๆ ของโลกเจริญรุ่งเรืองมาได้เพราะถูกทำให้เป็นศาสนาของชาติพันธุ์ ของนครรัฐ จักรวรรดิและรัฐชาติ (และยังแข่งขันกันพยายามทำให้กลายเป็นศาสนาของโลก) ซึ่งกลายเป็นพันธะระหว่างรัฐกับศาสนจักรต้องอุปถัมภ์ค้ำจุนกัน เป็นพันธะที่รัฐต้องมีหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองและขจัด “ภัย” ต่างๆ ของศาสนา ขณะเดียวกันก็กลายเป็นพันธะของบรรดาผู้ใต้ปกครองหรือไพร่ ทาสที่ต้องเสียสละแรงงานและกำลังทรัพย์เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของศาสนา เช่นถูกเกณฑ์แรงงานมาสร้างวัด-วังที่อลังการมีหน้าตาจำลองแบบเมืองสวรรค์ชั้นฟ้าตามจินตนาการทางศาสนา เพราะถูกชนชั้นปกครองและศาสนจักรปลูกฝังให้เชื่อว่าศาสนาคือสิ่งเชื่อมโยงผู้คนเข้าเป็นพวกเดียวกัน หรือเป็นสมาชิกของรัฐเดียวกัน การเป็นคน “นอกรีต” จึงเป็นเรื่องผิดบาปที่สมควรตาย

เราจึงไม่ควรเข้าใจศาสนาแบบไร้เดียงสาว่า ศาสนาคือ “คำสอน” ที่สอนให้เป็นคนดี ละกิเลส เข้าถึงนิพพานหรือพระเจ้าเท่านั้น เพราะถ้าศาสนาเป็นเพียงคำสอน ก็ไม่จำเป็นต้องมีศาสนจักร และไม่จำเป็นต้องทำให้ศาสนาผูกโยงเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ หรือเป็น “รัฐศาสนา” แบบที่เคยเป็นมาและเป็นอยู่แต่อย่างใด ความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เมื่อเกิดศาสนจักรและรัฐศาสนา อำนาจของศาสนจักรและรัฐศาสนาก็มักตรงกันข้าม หรือ “สวนทาง” กับคำสอนของพระศาสดาที่มุ่งให้ละกิเลส เข้าถึงนิพพาน รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง ให้อภัยแก่ศัตรู รักสันติฯลฯ 

สำหรับพุทธศาสนาไทย ถ้าเชื่อกันจริงๆ ว่า คำสอนเรื่อง “ทุกข์กับความดับทุกข์” คือ “แก่นแท้” ของพุทธศาสนา ก็ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรปกครองสงฆ์ที่มีอำนาจทางกฎหมาย มีสมณศักดิ์หรือศักดินาพระ หรือไม่จำเป็นต้องผนวกพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในอุดมการณ์หลักของชาติ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนสวนทางกับคำสอนให้ปล่อยวาง ไม่ยึดติดอัตตา ละกิเลส บรรลุนิพพาน ปัญญาและกรุณาแทบทั้งนั้น 

แท้จริงแล้วคำสอนเรื่องทุกข์และความดับทุกข์ของพุทธศาสนาย่อมดำรงอยู่ได้และอยู่ได้อย่างมีความหมายต่อชีวิตผู้คนมากกว่าหากแยกศาสนาจากรัฐ และเมื่อแยกศาสนาจากรัฐแล้ว ธรรมะ ศีลธรรมของพุทธศาสนาเองก็จะไม่ถูกนำมาอ้างอิงใช้ในทางที่ขัดหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยแบบที่เป็นมาและเป็นอยู่ 

ในบ้านเราปัจจุบัน สิ่งที่สะท้อนว่า “กฎหมายไม่สู้พระธรรม” ก็คือมีการนำธรรมะ ศีลธรรมพุทธศาสนามาใช้ในทางการเมือง ซึ่งเป็นการนำเรื่องที่เป็น “ความดีส่วนบุคคล” มาใช้เป็น “ความดีสาธารณะ” แต่ก็ไม่สามารถเป็นความดีสาธารณะได้จริง เพราะอ้างธรรมะ ศีลธรรมแบบ “สองมาตรฐาน” คืออ้างเพื่อยกย่องชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม และอ้างเพื่อจับผิดนักการเมืองที่ประชาชนเลือก

เมื่อพิจารณาด้วยหลักเหตุผล ธรรมะ ศีลธรรมที่เป็น “ความดีส่วนบุคคล” โดยตัวมันเองก็ไม่สามารถเป็นหลักการสาธารณะได้อยู่แล้ว เมื่อถูกนำมาใช้เสมือนเป็นหลักการสาธารณะ เช่นอ้างว่าชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมของนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชนในชาติ เสมือนว่าแบบอย่างนั้นเป็น “แบบอย่างที่เป็นสาธารณะ” แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มีความเป็นสาธารณะ เพราะประชาชนไม่สามารถตั้งคำถามวิจารณ์ตรวจสอบได้ด้วยหลักเสรีภาพอันเป็นหลักการสาธารณะ 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดการแบ่งขั้วอำนาจภายในรัฐออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายนักการเมืองที่ประชาชนเลือก ฝ่ายนี้มักจะถูกอ้างธรรมะ ศีลธรรมวิจารณ์ ตรวจสอบ และจับผิดเสมอ กับฝ่ายเครือข่ายอำนาจของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ที่อ้างว่าพวกตนสมาทานธรรมะ ศีลธรรมตามแบบอย่างชนชั้นนำ คนเหล่านี้ก็จะกลายเป็น “คนดี” แต่การทำดีหรือทำถูกต้องของพวกเขาไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับหลักการทั่วไปของสังคม คือหลักเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติรัฐ

จอห์น สจ๊วต มิลล์ เขียนไว้ในบทที่ 5 ของ “On Liberty” ว่า “ถ้าไม่มีการยึดหลักการทั่วไปร่วมกัน ก็จะทำให้มีเสรีภาพในเรื่องที่ไม่ควรมีและไม่มีเสรีภาพในเรื่องที่ควรมี” ในโลกปัจจุบันหลักการทั่วไปที่เราต้องยึดถือร่วมกันคือ หลักเสรีภาพ (freedom) ประชาธิปไตย (democracy) สิทธิมนุษยชน (human rights) และหลักนิติรัฐ (rule of law) แต่เพราะบ้านเรานิยมอ้างธรรมะ ศีลธรรมอันเป็นความดีส่วนบุคคลเหนือหลักการทั่วไปดังกล่าว จึงทำให้คนส่วนหนึ่งเข้าใจว่าพวกตนมีเสรีภาพ (ในเรื่องที่ไม่ควรมี) เช่น เชื่อว่าพวกตนมีเสรีภาพสนับสนุนรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีเสรีภาพชุมนุมขวางเลือกตั้ง มีเสรีภาพสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการที่ละเมิดอำนาจ สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน มีเสรีภาพสนับสนุนการเอาผิดนักการเมืองด้วยกระบวนการที่ขัดหลักนิติรัฐ ฯลฯ

แต่การสนับสนุนรัฐประหารหรือเผด็จการ คือการสนับสนุนการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ เพราะในหลักสิทธิและเสรีภาพถือว่า “เราไม่มีสิทธิและเสรีภาพในการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น” การสนับสนุนรัฐประหารหรือเผด็จการจึงไม่ใช่เรื่องของการใช้สิทธิและเสรีภาพ มันคือการสนับสนุนการปล้นสิทธิและเสรีภาพของตนเองและทุกคน ซึ่งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงหลักการแห่งสิทธิและเสรีภาพ 

น่าเศร้าที่จนป่านนี้แล้ว สื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน กวี นักเขียน ดารา นักร้อง พระ นักศีลธรรมจำนวนไม่น้อยในบ้านเรายังหลับหูหลับตาเชื่อว่าพวกตนมีสิทธิและเสรีภาพในการสนับสนุนรัฐประหารหรือเผด็จการ

ส่วน “เสรีภาพในเรื่องที่ควรจะมี” เช่น เสรีภาพในการพูด การแสดงออก การชุมนุมทางการเมือง สิทธิเลือกตั้งภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรม และอื่นๆ ก็ไม่มีอีกต่อไป เพราะเมื่อมวลมหาประชาชนฝ่ายที่อ้างธรรมะ ศีลธรรมสนับสนุน “คนดี” ให้ทำรัฐประหารได้สำเร็จ เสรีภาพที่ควรมีทุกอย่างก็เป็นอันถูกยกเลิกไป จึงเท่ากับประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ต้านรัฐประหาร หรือเฉยๆ รวมทั้งมวลมหาประชาชนที่สนับสนุนรัฐประหารเองก็ไม่มีเสรีภาพที่ควรมีอีกต่อไป

ที่เป็นโศกนาฏกรรมแห่งยุคสมัยคือ ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยืนยัน “เสรีภาพที่ควรมี” คือการใช้เสรีภาพในการพูด การแสดงออก ยืนยันประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติรัฐต้องบาดเจ็บ ล้มตาย สูญเสียอิสรภาพ และหนีไปต่างประเทศ ซึ่งโศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดต่อเนื่องมายาวนาน ตั้งแต่หลัง 2475 จวบจนปัจจุบัน

นี่คือปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นใน “ประเทศที่กฎหมายสู้พระธรรมไม่ได้” เพราะสังคมนี้มีวัฒนธรรมทางความคิดแบบอำนาจนิยม นั่นคือมีค่านิยมในการอ้างธรรมะ ศีลธรรมพุทธศาสนา อันเป็น “ความดีส่วนบุคคล” ให้สำคัญกว่าการยึดถือหลักการสาธารณะคือหลักเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติรัฐ

ท่อนหนึ่งของเพลงประเทศกูมีที่ว่า “ประเทศที่กฎหมายไม่สู้พระธรรมและไบเบิล” มันจึงไม่ใช่แค่การเสียดสี แต่คือการสะท้อนความเป็นจริงของปัญหาระดับรากฐานวัฒนธรรมทางความคิดและโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของสังคมไทยที่แก้ยากมาก เพราะเราไม่มีเสรีภาพจะพูดถึงปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมาและถึงที่สุด  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net