Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

ตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 เป็นต้นมา ที่บรรยากาศการเมืองเริ่มคลี่คลายไปสู่โหมดเลือกตั้ง (แม้จะมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมทางการเมืองมากมาย) บรรดานักการเมืองหรือคนที่สนใจการเมืองเริ่มขยับตัวกันอย่างคึกคัก ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ 

การเลือกตั้งครั้งนี้ มีคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง (ชาวเขา) เข้าสู่เวทีการเมืองอย่างคึกคัก แม้ว่าจะยังเข้าถึงบรรดาพรรคเล็กพรรคน้อยก็ตาม (เพราะพรรคใหญ่มีขาประจำหมดแล้ว) อันที่จริงเคยมีตัวแทนของกลุ่มชาติบนพื้นที่สูงได้รับเลือกให้เป็น สส. จังหวัดแม่ฮ่องสอนมาแล้ว แต่น่าเสียดายเขาไม่สามารถแสดงบทบาทการเป็นตัวแทนได้มากนัก และครั้งนี้ คนที่แสดงตัวเล่นการเมือง มีทั้งเป็นคนระดับแกนนำหรือคนที่มีการศึกษาและเป็นที่ยอมรับกันภายในกลุ่ม ซึ่งต่างจากสมัยก่อนๆ ที่คนที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. มักเป็นคนที่แม้แต่สังคมกลุ่มชาติบนพื้นที่สูงด้วยกันไม่ค่อยยอมรับ  

เมื่อถามว่าคะแนนเสียงของกลุ่มชาติบนพื้นที่สูงมีผลต่อการแพ้หรือชนะในการเลือกตั้งระดับชาติหรือไม่ ผมคิดว่าในระดับชาตินั้นมีผลน้อยมาก เนื่องจากคะแนนเสียงเฉลี่ยแล้วคงมีไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงทั้งประเทศ แต่ถ้ามองในระดับพื้นที่แล้ว ผมคิดว่าคงมีเฉพาะเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนกับฝั่งตะวันตกของจังหวัดตาก ที่ฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติบนพื้นที่สูงจะมีผลอย่างมาก สำหรับเขตอื่นๆ คงเป็นเพียงตัวประกอบ ส่วนจะมากบ้าง น้อยบ้างก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ไป อย่างไรก็ตามการจะรวมฐานเสียงของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น เป็นเรื่องยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ พรรคประชาชาติของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีหลายพรรคที่พยายามดึงตัวแทนของกลุ่มชาติบนพื้นที่สูงเข้าไปด้วย โดยมีเป้าหมายหลักๆ คือ เพื่อจะยึดกุมฐานเสียงของกลุ่มชาติบนพื้นที่สูง ด้วยความเชื่อที่ว่าคนจะเลือกพวกเดียวกันเองหรืออย่างน้อยก็เป็นกลุ่มชาติบนพื้นที่สูงด้วยกัน สำหรับคนที่ลงการเมืองคงมีความคิดที่หลากหลาย แต่สำหรับระดับแกนนำ พวกเขาตั้งความหวังลึกๆ ว่าจะสามารถส่งตัวแทนที่เป็นคนของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงไปนั่งในสภา 

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ได้เห็นคนที่เป็นกลุ่มชาติบนพื้นที่สูง สนใจเข้าสู้เวทีการเมืองระดับชาติ เพราะปัญหาพื้นฐานของกลุ่มชาติบนพื้นที่สูง เช่น ปัญหาสิทธิในที่ดินทำกิน ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาการศึกษาบุตรหลานที่ด้อยคุณภาพ ล้วนเป็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งหากจะแก้ไขก็ต้องไปผลักดันทางการเมือง 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ทั้งผู้ประสงค์ลงเป็นผู้สมัคร สส. และคนที่เป็นกลุ่มชาติบนพื้นที่สูงจะต้องคิดให้ดีคือ ทิศทางของพรรคที่จะเข้าสังกัดหรือจะเลือกเทคะแนนให้ ด้วยเหตุผล  2 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก การเลือกตั้งครั้งนี้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย เพราะจะมีผลต่อการทำให้ได้ สส. เขต หรือไม่ก็จะถูกส่งไปรวมที่ส่วนกลางเพื่อรับโควตา สส. บัญชีรายชื่อ ดังนั้น ประการที่สอง จึงต้องคิดให้ดีว่านอกจากดูตัวแทนที่ชอบแล้วยังต้องดูพรรคที่สังกัดอีกด้วย เพราะต้องดูให้แน่ใจว่าพรรคที่สังกัดหรือเลือกนั้นจะไปแก้ไขปัญหาให้เรา ไม่ใช่นำปัญหามาให้เรา ผมเชื่อว่าคนที่เป็นกลุ่มชาติบนพื้นที่สูงคงยังไม่ลืมความรู้สึกหวาดผวาจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช.และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ส่งผลให้ที่ดินทำกินของกลุ่มชาติบนพื้นที่สูงถูกยึดไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งราคาพืชผลตกต่ำแต่หนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับคำพูดของรัฐบาลที่ว่าจะแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และทำให้คนจนหมดสิ้นไปจากประเทศ 

ช่วง 4 ปีกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลนี้มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ สามารถขจัดอุปสรรคการลงทุนให้แก่นายทุนได้มากมาย แต่ไม่ขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกินของกลุ่มชาติบนพื้นที่สูง หรืออาจจะกล่าวได้ว่ากลับเพิ่มอุปสรรคให้ด้วยซ้ำไป ซึ่งเห็นได้ชัดว่าปัญหาของกลุ่มชาติบนพื้นที่สูง ไม่อยู่ในความสนใจของ คสช.และผู้มีอำนาจในรัฐบาลชุดปัจจุบัน 

ดังนั้น ผมคิดว่า สำหรับผู้สมัคร สส. จะต้องทำให้แน่ใจว่าถ้าคุณได้รับเลือกเป็น สส. จริง คุณจะไม่ไปร่วมสังฆกรรมกับกลุ่มคนที่ต้องการสืบทอดอำนาจของ คสช. หรือเอาตัวเองไปดึงฐานเสียงของกลุ่มชาติบนพื้นที่สูงไปสนับสนุนพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. แล้วหันมาสร้างปัญหาให้กลุ่มชาติบนพื้นที่สูง 

สำหรับชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติบนพื้นที่สูงนั้น ผมคิดว่าจะต้องคิดให้ดีว่าคนหรือพรรคที่เรากาคะแนนให้นั้น จะไม่ไปสมทบกับรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจของ คสช. ... เพราะถึงเวลานั้น ก็ไม่ต่างจากการดั้นด้นขุดขุมทรัพย์ แต่กลับได้หลุมฝังตัวเอง
 

เกี่ยวกับผู้เขียน: เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เป็นนักกฎหมายที่ต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนของคนชาติติพันธุ์บนพื้นที่สูง สิทธิในที่ดินทำกิน วิถีชีวิต รวมทั้งสัญชาติ

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net