ไทยส่งนักกิจกรรมกัมพูชากลับไปดำเนินคดีแล้ว นักสิทธิฯ ชี้ ยุค คสช. มีบ่อย-เยอะ

สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ยืนยัน รัฐ ร็อท โมนี ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาในไทยถูกส่งตัวกลับแล้วหลังถูกจับตัวในไทยเมื่อ 7 ธ.ค. ไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาของศาล ไม่ให้พบทนายความ ถือว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ยุค คสช. ส่งผู้ลี้ภัยกลับบ่อยและเยอะมาก ทำให้ไทยไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัย เพราะพร้อมร่วมมือรัฐบาลเผด็จการอื่นๆ ส่งคนกลับไปเผชิญอันตราย

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซอยสวนพลู (ที่มา: Lost Limbs)

12 ธ.ค. 2561 ประชาไทสอบถามไปยังสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กรณีที่วันนี้ทางการไทยส่งตัวรัฐ ร็อท โมนี ประธานสหพันธ์สหภาพแรงงานก่อสร้างกัมพูชา (CCTUF) กลับประเทศกัมพูชา หลังถูกกักตัวไว้ที่สถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู กทม. ตั้งแต่ 7 ธ.ค.

สุนัยระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ เพิ่งได้รับการยืนยันไม่กี่ชั่วโมงที่แล้วว่ามีการส่งตัวโมนีกลับไปแล้ว การส่งตัวกลับเกิดขึ้นโดยไม่ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของศาล เป็นการส่งตัวโดยตรง ขณะที่โมนีถูกคุมขังในไทยนั้น ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนพยายามจัดหาทนายความเพื่อให้คำปรึกษาแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบ การส่งตัวกลับครั้งนี้สะท้อนได้ชัดว่าไทยไม่ฟังข้อท้วงติง ข้อกังวลขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) องค์กรสิทธิฯ และนานาชาติว่าโมนีจะถูกพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงโอกาสที่จะถูกปฏิบัติโดยมิชอบในคุกกัมพูชา ถือเป็นการละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน เพราะไทยมีพันธะภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน ซึ่งห้ามมิให้ส่งตัวบุคคลกลับไปยังที่ๆ บุคคลมีความเสี่ยงที่จะถูกซ้อมทรมาน

“สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกภายใต้รัฐบาล คสช. รัฐบาลอื่นก็มีปัญหาแบบนี้ แต่ในยุค คสช. มันเกิดบ่อยมากกว่ารัฐบาลอื่นๆ และเกิดในจำนวนที่เยอะมากกว่า โดยไม่แยแสต่อเสียงท้วงติงของนานาชาติและองค์กรสิทธิ์อย่างหนักหนาสาหัสมากกว่า เริ่มตั้งแต่มีการส่งตัวชาวอุยกูร์เป็นร้อยคนให้จีนนำเครื่องบินมารับกลับไป จากนั้นก็มีกรณีของนักกิจกรรมที่วิจารณ์รัฐบาลจีนคนอื่นๆ ที่ถูกนำตัวไปจากประเทศไทย มีเรื่องของคนตุรกีที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ถูกเอาตัวไป คนกัมพูชาก็ถูกเอาตัวไปมากมาย”

“ไทยเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัยสำหรับคนที่แสวงหาการลี้ภัยและการคุ้มครอง เพราะว่าไทยพร้อมจะร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการใดๆ ทั่วโลกในการไล่ล่า ติดตามคนที่เป็นนักกิจกรรม คนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชน คนที่อยู่ฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาลเผด็จการเหล่านั้น รัฐบาลไทย รัฐบาล คสช. ยินดีให้ความร่วมมือในการติดตาม ไล่ล่า จับตัวคนเหล่านี้ส่งตัวกลับไปให้โดยไม่คำนึงถึงข้อกังวลว่าคนเหล่านี้จะเผชิญกับอันตรายร้ายแรงแค่ไหน” สุนัยระบุ

แม้ไทยไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ซึ่งทำให้ไทยไม่มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย แต่สุนัยก็ให้ชี้แจงว่าไทยมีพันธะตามจารีตและกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องการไม่ส่งตัวบุคคลกลับไปเผชิญอันตราย ซึ่งระบุไว้ในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานที่ไทยให้สัตยาบัน และมีประกาศว่าจะนำกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานเข้าสภาอีกในไม่กี่วัน แต่พฤติกรรมกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

ทางการไทยได้รับคำร้องขออย่างเป็นทางการจากกัมพูชาให้ส่งตัวรัฐกลับประเทศ และในวันที่ 7 ธ.ค. ทางการไทยก็ได้ควบคุมตัวนักกิจกรรมด้านสหภาพแรงงาน โดยทางการกัมพูชาดำเนินคดีอาญาต่อเขาในข้อหา “ยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติ” จากการช่วยเหลือสถานีโทรทัศน์ Russia Today ทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการเอาเปรียบทางเพศต่อเด็กในกัมพูชาในชื่อ “ แม่ขายฉัน กัมพูชา ที่ๆ พรหมจรรย์คือสินค้า (My Mother Sold Me. Cambodia, where virginity is a commodity)” ออกอากาศเมื่อเดือน ต.ค. 2561 โดยเมื่อวานนี้ (11 ธ.ค. 2561) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ว่า ข้อหาดังกล่าวมักถูกนำมาใช้ในเหตุทางการเมือง เพื่อเอาผิดกับบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือผู้นำของกัมพูชา

แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องไทยปล่อยตัวนักกิจกรรมสหภาพแรงงานกัมพูชา-ไม่ส่งกลับ

“การส่งตัวรัฐ ร็อท โมนีกลับไปกัมพูชา เท่ากับประเทศไทยละเมิดหลักการพื้นฐานว่าด้วยการไม่ส่งกลับ ซึ่งเป็นหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ห้ามส่งตัวบุคคลไปยังประเทศหรือเขตอำนาจศาลใด ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าเขาจะตกเป็นเหยื่อการประหัตประหาร หากรัฐ ร็อท โมนีถูกตัวกลับไป มีความเสี่ยงว่า เขาจะถูกคุมขังโดยพลการ หรือที่เลวร้ายกว่านั้น อาจจะถูกทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้าย” แถลงการณ์แอมเนสตี้ฯ ระบุ

“ก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำร้องขอที่มิชอบ เพื่อให้ส่งตัวบุคคลกลับไปให้รัฐบาลต่างประเทศ อย่างเช่น กรณีของแซม โสกา นักกิจกรรมด้านแรงงานซึ่งมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย แต่ก็ยังถูกทางการไทยบังคับส่งกลับไปกัมพูชาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ต่อมาเธอถูกตัดสินคดีอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นการไต่สวนลับหลังในข้อหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” และ “ยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติ” อันเป็นผลมาจากการขว้างรองเท้าแตะสองครั้งใส่ป้ายข้างถนน ซึ่งเป็นป้ายหาเสียงของพรรครัฐบาลในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อปี 2560 และเธอถูกคุมขังโดยทันทีเมื่อเดินทางกลับกัมพูชา”

ส่งตัว 'แซม โสกา' กลับกัมพูชา สะท้อนสถานะผู้ลี้ภัยที่อ่อนแอและความสัมพันธ์รัฐที่ชื่นมื่น

นอกจากกรณีของโมนีแล้ว ในสัปดาห์นี้ ศาลอาญาของไทยเพิ่งมีคำสั่งฝากขังฮาคิม อัล อาไรบี นักฟุตบอลผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรนที่ถูกจับตัวในไทยเป็นเวลา 60 วัน โดยกระทรวงการต่างประเทศไทยระบุว่า ฮาคิมสามารถถูกส่งตัวกลับได้หากทางการบาห์เรนขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักประติบัติต่างตอบแทนและความร่วมมือซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระหว่างประเทศ

ฝากขังแข้งบาห์เรนลี้ภัย 60 วัน ไม่ให้ประกันตัว กต. ระบุ ถูกส่งกลับต้นทางได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท