Skip to main content
sharethis

27 ธ.ค.2561 ที่ศาลธัญบุรี มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายอานันต์ (ขอสงวนชื่อนามสกุล) วัย 70 ปี เป็นจำเลยในคดีความผิดหมิ่นประมาทต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และหมิ่นประมาทบุคคลมาตรา 326 จากกรณีที่อัยการฟ้องว่าจำเลยได้กล่าวพาดพิงสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษตามความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคล มาตรา 326 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 2 กรรมให้จำคุกกรรมละ 1 ปี รวม  2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และให้ปรับกรรมละ 20,000 บาทรวมเป็น 40,000 บาท (รายละเอียดคำพิพากษาศาลฎีกาอยู่ในล้อมกรอบด้านล่าง)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จำเลยไม่มาฟังคำพิพากษาในวันนี้ แต่ทนายจำเลยได้จ่ายค่าปรับแทนจำเลย 

รายงานข่าวแจ้งว่า เหตุแห่งคดีเกิดขึ้นในปี 2555 ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้สั่งไม่ฟ้องคดีและอัยการก็มิได้ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล กระทั่งหลังการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 คดี 112 ต่างๆ ถูกนำมาพิจารณาอีกครั้ง คณะกรรมการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ฟ้องคดีดังกล่าว พนักงานสอบสวนที่สั่งไม่ฟ้องคดีถูกลงโทษทางวินัย จากนั้นจึงมีการตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่ทำการสอบสวนใหม่และดำเนินการฟ้องคดีตามขั้นตอน

นอกจากนี้ธิติพงษ์ ศรีแสน ทนายจำเลยได้ตั้งข้อสังเกตถึงคำพิพากษาในวันนี้ว่า 1.ศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานคดีที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวไว้ใหม่ว่า ในคดีความผิดต่อส่วนตัว (มาตรา 326) แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ก็ตาม แต่ถ้าได้มีการสอบสวนความผิดดังกล่าวไว้แล้ว พนักงานอัยการก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ทั้งที่โดยหลักกฎหมายปกติ หากไม่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษจากผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน แม้จะสอบสวนไว้ อัยการก็ไม่สามารถฟ้องได้ ถือว่าเป็นการสอบสวนไม่ชอบ 2.ศาลฎีกาได้กล่าวอ้างรัฐธรรมนูญปี 2560 ไว้เป็นหลักเกณฑ์ในการวางความชอบธรรมของการสอบสวนไว้ (รัฐมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของรัฐ) แต่คดีนี้เหตุเกิดเมื่อปี 2555 และฟ้องคดีเมื่อปี 2558 เท่ากับว่าศาลฎีกาได้วางหลักการใหม่ของระบบกฎหมายว่า กฎหมายมีผลย้อนหลังเพื่อลงโทษจำเลยได้

คดีนี้จำเลยได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดี กระทั่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก จำเลยจึงถูกคุมขัง 21 วันก่อนจะได้รับการประกันตัว ใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 400,000 บาท ในชั้นอุทธรณ์จำเลยยื่นประกันอีกครั้งโดยศาลอุทธรณ์ให้เพิ่มเติมหลักทรัพย์เป็น 800,000 บาท

อัยการบรรยายฟ้องสรุปความได้ว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2555 จำเลยพูดคุยกับ รปภ.ของบริษัทแห่งหนึ่ง โดยกล่าววาจาใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเป็นองค์รัชทายาท และยังกล่าววาจาหมิ่นประมาทดูหมิ่นพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ  ต่อหน้าหัวหน้า รปภ. เหตุเกิดที่จังหวัดปทุมธานี จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559 สรุปความได้ว่า พิเคราะห์แล้วพยานโจทก์และพยานแวดล้อมเบิกความยืนยันเหตุการณ์การสนทนาและตรงกับบันทึกคำให้การของพยานที่ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนทันทีในวันเกิดเหตุ ยากที่จะมีเวลาคิดต่อเติมเสริมแต่งข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างอื่น นอกจากนี้พยานทั้งหมดยังไม่รู้จักกับจำเลยและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะเบิกความปรักปรำจำเลย จึงมีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง อีกทั้งการแจ้งความเท็จ เบิกความเท็จ ผู้กระทำอาจต้องรับโทษตามกฎหมาย เชื่อว่าพยานโจทก์ทุกปากเบิกความไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จำเลยเองก็นำสืบรับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุ และตามคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ ดังนั้นการนำสืบปฏิเสธข้อเท็จจริงภายหลังมีน้ำหนักน้อย พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาไม่เพียงพอหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยพูดใส่ร้ายทั้งสองพระองค์ให้เสื่อมเสียเกียรติ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลชั้นต้นระบุด้วยว่า คำว่า “รัชทายาท” องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 หมายถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เท่านั้นตามเอกสารยืนยันจากสำนักพระราชวัง การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 คงมีปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 112 เท่านั้น มิได้ขอให้ลงโทษฐานดูหมิ่นผู้อื่น แม้ข้อเท็จจริงจะไม่ได้ความว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยได้ใส่ความสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ หรือไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลย เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา112 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แม้ไม่มีการร้องทุกข์มาก่อนแต่ก็มีการกล่าวโทษไว้ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องคดีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(8), 120, 122 และ 127 ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ให้ลงโทษจำคุกกรรมละ 1 ปีรวมโทษจำคุก 2 ปี

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาลงโทษ แต่น.ส.มยุรี ชีพพานิชไพศาล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ได้ทำความเห็นแย้งประกอบไว้ด้วยว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลนั้น พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง แต่ไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้มาก่อน มีเพียงบุคคลที่มาแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับจำเลยฐานหมิ่นประมาท แต่ไม่ปรากฏว่าผู้กล่าวหามีอำนาจหรือได้รับมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ตามกฎหมาย การสอบสวนความผิดนี้จึงไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 สรุปความได้ว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคท้ายเพราะไม่มีการร้องทุกข์นั้น เห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นเป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 333 วรรคแรก พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง แม้ได้ความตามคำให้การชั้นสอบสวนของหัวหน้า รปภ.ว่า เป็นผู้กล่าวหาแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่าบุคคลนั้นมีอำนาจหรือได้รับมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ตามกฎหมาย คดีนี้จึงไม่มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ กรณีไม่มีเงื่อนไขตามกฎหมายที่จะให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลแล้วแต่กรณีจะมีอำนาจสอบสวนฟ้องร้องหรือพิพากษาลงโทษจำเลยได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

 

คําพิพากษาศาลฎีกา

วันที่ ๒๕ เดือน กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

ความอาญา

ระหว่าง

พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี โจทก์
นาย xxxxxxxxxxxxx  จําเลย

เรื่อง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ต่อพระราชินี ต่อรัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ หมิ่นประมาท

โจทก์ฎีกาคัดค้านคําพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ลงวันที่ ๓๐ เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ศาลฎีกา รับวันที่ ๑๖ เดือน มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

 

โจทก์ฟ้องว่า ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์รัชทายาท และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ อดีตพระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท และทรงเป็นพระราชมารดาในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา องค์รัชทายาท เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ เวลากลางวัน จําเลยกระทําความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จําเลยกล่าววาจาหมิ่นประมาท ใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเป็นองค์รัชทายาท ต่อหน้าพันตรีสมศักดิ์ ศรีมงคล ให้ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ และจําเลยกล่าววาจาหมิ่นประมาท ใส่ความให้ร้ายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ซึ่งเป็นองค์รัชทายาท ต่อหน้าพันตรีสมศักดิ์ ให้ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เหตุทั้งหมดเกิดที่ตําบลคลองหนึ่ง อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๑๑๒, ๓๒๖

จําเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ การกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ จําคุกกระทงละ ๑ ปี รวม ๒ กระทง เป็นจําคุก ๒ ปี ข้อหาอื่นให้ยก

จําเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จําเลยใส่ความ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ต่อพันตรีสมศักดิ์ ศรีมงคล และจําเลยใส่ความพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ต่อพันตรีสมศักดิ์อีก สําหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการ แทนพระองค์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง  โจทก์และจําเลยมิได้อุทธรณ์ คดีในความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลยว่ากระทําความผิดฐานนี้ จําเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้มีว่า โจทก์มีอํานาจฟ้องจําเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เป็นความผิดในภาค ๒ ลักษณะ ๑ ของประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นความผิดเกี่ยวกับ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งพันตรีสมศักดิ์เป็นผู้กล่าวโทษให้ดําเนินคดีแก่จําเลยโดยชอบแล้ว แต่คดีไม่อาจลงโทษจําเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้เนื่องจากไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ คดีเป็นอันยุติไปตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า จําเลยพูดใส่ความพระองค์ท่านทั้งสองจริง อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ เมื่อความผิดทั้งสองฐานเป็นความผิดที่รวมการกระทําหลายอย่างซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองและมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของรัฐ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของรัฐ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เช่นนี้ การกล่าวโทษในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ พนักงานสอบสวนทําการสอบสวนไว้โดยชอบแล้ว จึงเท่ากับมีการสอบสวนโดยชอบในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย ดังนั้น เมื่อมีการสอบสวนความผิดทั้งสองฐานแล้ว โจทก์ย่อมมีอํานาจฟ้องความผิดทั้งสองฐาน และศาลมีอํานาจลงโทษจําเลยฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี ขณะกระทําความผิดจําเลยมีอายุมากถึง ๗๐ ปี นับว่าอยู่ในวัยชรา ซึ่งตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ ได้ความว่า จําเลยเจ็บป่วยมีอาการเส้นเลือดในสมองแตก เป็นอาการเกือบอัมพาตไปครึ่งซีกทางข้างขวา ประกอบกับตามคําให้การพร้อมเอกสารแนบท้ายของจําเลย ปรากฏว่าจําเลยพร้อมครอบครัวได้ไปกล่าวขอพระราชทานอภัยโทษและเข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติหลายครั้ง กับได้บริจาครถสามล้อเพื่อการบรรทุกให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา จํานวน ๑ คัน มูลค่า ๒๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งยังแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ อีกทั้งไม่ปรากฏว่า จําเลยเคยได้รับโทษจําคุกมาก่อน เมื่อคํานึงถึงอายุ สุขภาพ สภาพความผิด และพฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรปรานีเพื่อให้โอกาสจําเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีและจักได้มีจิตสํานึกเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งต่อไป จึงให้รอการลงโทษจําคุกแก่จําเลย แต่เพื่อให้จําเลยหลาบจําจึงให้ลงโทษปรับจําเลยอีกสถานหนึ่งด้วย

พิพากษากลับเป็นว่า จําเลยมีความผิดตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ลงโทษปรับจําเลยกระทงละ ๒๐,๐๐๐ บาท รวม ๒ กระทง ปรับ ๔๐,๐๐๐ บาทอีกสถานหนึ่ง และให้รอการลงโทษจําคุกจําเลยไว้ ๓ ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคําพิพากษาศาลฎีกาให้จําเลยฟังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐.

 

นายอดิศักดิ์ ปัตรวลี
นายชัยชนะ ตัญจพัฒน์กุล
นางพนมวรรณ ทองวิทูโกมาลย์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net