Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: http://music.sanook.com/2401443/

เหล่าสาวก BNK 48 คงได้ดู MV เพลง เธอคือเมโลดี้ หรือ Kimiwa Melody กันแล้ว โอตะหลายคนคงสะดุดตากับชุดแต่งกายของเหล่า “ โอชิ” ที่มีชื่อเรียกว่า  Siam Lolita  ชุดดังกล่าวมีต้นแบบมาจากเครื่องแต่งกายสตรีในพระราชสำนักฝ่ายในสมัย ร.5 เป็น “อาภรณ์ ”  ในสมัยดังกล่าวรูปแบบเสื้อผสมผสานความเป็นควีนวิคตอเรีย เสื้อแขนหมูแฮม คอเสื้อนิยมคอตั้งสูง นุ่งโจงกระเบน ติดเครื่องประดับ ห่มสไบ สวมถุงเท้า ใช้ออกงานรับรองแขกบ้านแขกเมือง ชุดดังกล่าวมีความโดดเด่นและขับเน้นให้ BNK เมื่อวงไปปรากฏตัวท่ามกลางวง 48 ที่กำลังได้รับความนิยมในอาเซียน

แฟชั่นโลลิตา(Lolita ) เป็นวัฒนธรรมย่อยแฟชั่นที่มีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น ที่แต่เดิมนั้นได้รับอิทธิพลจากเสื้อผ้าแบบวิกตอเรียน เช่นเดียวกับเครื่องแต่งกายจากยุคโรโคโค ญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้าไปเพื่อสร้างวัฒนธรรมการแต่งกายขึ้นใหม่ส่วนหนึ่งที่ดูน่ารักหรือ kawaii  โลลิต้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรทางวัฒนธรรมทั้งการ์ตูน มังงะ อานิเมะ  ที่ญี่ปุ่นส่งออกไปยังประเทศต่างๆในช่วงปีศตวรรษที่ 19-20 (1) 

จาตุรณ แร่เพชร ดีไซน์เนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังการตัดเย็บ Siam Lolita กล่าวถึงการเลือกใช้ชุดแต่งกายในยุคสมัยของรัชกาลที่ 5 มาเป็นต้นแบบของชุด BNK ว่าในยุคดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงแฟชั่นเครื่องแต่งกายของสตรีชนชั้นสูงและคนทั่วไป หลังได้รับอิทธิพลของแฟชั่น Victorian การรับวัฒนธรรมของชาติตะวันตกของชนชั้นสูงของไทยถือเป็นการแลกรับวัฒนธรรมและประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม (2)

นอกจากนี้ ความนิยมแต่งกายชุดไทยในกลุ่มชนชั้นกลางเมื่อต้นปีซึ่งเห็นได้จากในหน้า news feed ของ facebook ของคนที่รู้จักต่างเช่าชุดไทยไปเซลฟี่ในงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ในตรีมย้อนยุคสมัย ร.5 ทำให้คิดว่าทำไมชนชั้นกลางจึงสนใจและหันกลับมาส่วมใส่ชุดไทยอีกครั้ง


พระราชอำนาจนำผ่านชุดประจำชาติ

ชุดไทยเป็นสิ่งที่พึ่งถูกสร้างขึ้น แต่เดิมไทยเรายังไม่มีชุดประจำชาติที่เป็นทางการ แม้ในสมัยรัชกาลที่ 5  จะมีชุดราชปะแตนที่ถูกคิดขึ้นสำหรับผู้ชายและชุดเสื้อแขนหมูแฮมสำหรับผู้หญิง แต่ก็เป็นชุดของเจ้านายภายในวัง เสื้อดังกล่าวหมดความนิยมไปในยุครัฐนิยมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ส่งเสริมให้แต่งชุดสากล ส่วนหนึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม อาจต้องการสร้างชาติขึ้นใหม่โดยตัดขาดความเป็นไทยออกจากราชสำนัก เมื่อพิจารณาจากกลุ่มนิยมเจ้าอธิบายถึงอำนาจนำในการกำหนดวิถีชีวิตมวลชนได้หายไปตั้งแต่ในรัชสมัยที่ไม่มีฝ่ายในเป็นแบบอย่างและเป็นผู้นำด้านการแต่งกาย ดังจะเห็นได้จากความตอนหนึ่งในนิยายพีเรียดที่จับใจชนชั้นกลาง “สี่แผ่นดิน”  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แสดงทรรศผ่านแม่พลอยว่า “ แต่ก่อนนี้ ไม่ว่าอะไรออกมาจากในวังทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแต่งเนื้อแต่งตัว น้ำอบ ของกินของเล่น ในวังเริ่มก่อน แล้วข้างนอกก็ตามอย่าง เมื่อเราเป็นสาวๆ มักจะทำอะไรก่อนนคนอื่นเสมอ ของใช้เราก็มีใหม่ก่อนคนข้างนอก เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวแบบไหนๆ เราก็เริ่มก่อน แล้วข้างนอกจึงค่อยๆ ตามไปจนใช้เหมือนกันทั่ว ”  

กระทั่งในช่วงปลายรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม สถาบันกษัตริย์เริ่มกลับมามีบทบาทางสังคมมากขึ้นดังเห็นได้จากราชสำนักฟื้นฟูและเผยแพร่ชุดไทยตั้งแต่ยุคสุโขทัยถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อจัดแสดงภายในงานฉลองรัฐธรรมนูญในปี  พ.ศ.2497 โดยมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้เปิดงานดังกล่าว     

ความนิยมในชนชั้นสูงได้หวนกลับมาอีกครั้งในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐบาลดังกล่าวรื้อฟื้นพระราชพิธีและให้สถาบันกษัตริย์ได้แสดงพระองค์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น เมื่อ พ.ศ.2503 สมเด็จพระนางเจ้าฯมีพระราชดำริเครื่องแต่งกายประจำชาติของสตรีขึ้นสำหรับใช้เป็นฉลองพระองค์ในช่วงที่พระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เครื่องแต่งกายประจำชาติดังกล่าวสำหรับเป็นฉลองพระองค์และเป็นเครื่องแต่งกายข้าราชบริพารฝ่ายในที่ต้องเสด็จพระราชดำเนินติดตามรัชกาลที่ 9 เยือนอเมริกา

สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงสอบค้นข้อมูลที่เกี่ยวกับลักษณะเครื่องแต่งกายของสตรีไทยโดยทรงศึกษาจากพระบรมฉายาลักษณ์อดีตสมเด็จพระบรมวงศานุวงศ์ในหลายพระองค์โดยย้อนกลับไปตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากทรงค้นด้วยพระองค์เองแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ โปรดเกล้าให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค นางสนองพระโอษฐ์และพระยาอนุมานราชธนศึกษาค้นคว้าเรื่องเครื่องแต่งกายสตรีไทยสมัยต่างๆ และโปรดเกล้าฉลองพระองค์เลือกแบบและตัดเป็นชุดไทยประยุกต์สำหรับเยือนต่างประเทศ หลังจากเสด็จนิวัตพระนคร พ.ศ.2507 สมเด็จพระนางเจ้าฯทรงพระราชวินิจฉัยเลือกชุดไทยประยุกต์ 8 แบบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ท่านผู้หญิงณีรัตน์ บุนนาค เป็นผู้ตั้งชื่อโดยนำชื่อพระตำหนักและพระที่นั่งต่างๆ มาใช้เป็นชื่อชุดดังกล่าว

จนกระทั่งยุคที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นมาของเสื้อชุดพระราชทานสำหรับผู้ชาย ด้วยการกราบบังคัมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ ขอพระราชทานแบบเสื้อเพื่อใช้เป็นเครื่องแบบประจำชาติเพื่อตอบรับแขกบ้านแขกเมือง พลเอกเปรมในฐานะนายกรัฐมนตรีจึงเป็นผู้ที่ทำให้เสื้อ ราชปะแตนพระราชทานกลายเป็นที่นิยมในวงกว้างจวบจนสมัยนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ความนิยมสวมเสื้อสูทแบบสากลกลับมาแทนที่อีกครั้ง  

กระทั่งในรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ กระทรวงวัฒนธรรมขอความร่วมมือจากประชาชน ข้าราชการ ภาคเอกชนให้แต่งกายชุดผ้าไทยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อร่วมอนุรักษ์เอกลักษณ์ประจำชาติไทยและน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษ 80 พรรษา นอกจากนี้คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมในสมัยนั้นมีนโยบายให้ตัดเสื้อชุดไทยสำหรับพิธีกรและผู้ปราศข่าวสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ส่วมใส่ออกอากาศเพื่อเป็นต้นแบบแก่ประชาชน ดังนั้นชุดไทยจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่พยายามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการนิยามความเป็นไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทหาร (3)


ชุดไทยกับอำนาจในการต่อรองของชนชั้นกลาง 

ความนิยมชนชั้นกลางต่อสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นเมื่อไร? ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์คนสำคัญกล่าวถึงที่มาของสถาบันกษัตริย์เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตและสังคมวัฒนธรรมไทยเกิดจากการเผยแพร่เรื่องราวของสถาบันกษัตริย์สู่มวลชนผ่าน นิยาย รายการทีวี พระบรมฉายาลักษณ์และพิธีกรรมในตรีมสถาบันกษัตริย์เป็นผู้กอบกู้และรักษาเอกราชของชาติ อาทิ ล้นก้าวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระปรีชาสามารถแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้สยามไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 (4)

แต่ในอีกด้านหนึ่งอุดมการณ์กษัตริย์นิยมในกลุ่มชนชั้นกลางเป็นผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของไทย ดังเช่นกัน นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ มองว่าผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจช่วงหลังปี 2540 ทำให้เกิดชนชั้นใหม่ คือ ชนชั้นกลางระดับล่าง พวกเขามีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและกลายแป็นฐานเสียงสำคัญ ชนชั้นกลางเดิม เช่น ผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้าแผนก รู้สึกไม่พอใจกับอำนาจต่อรองทางการเมืองของพวกตนที่ถูกบั่นทอนลงจึงทำให้เข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยขอ “พึ่งพระบารมี” จากสถาบันกษัตริย์ นอกจากนี้ชนชั้นกลางเดิมมีความเชื่อสอดคล้องกับชนชั้นนำของไทยว่าสิทธิในการปกครองมาจากบุญหรือการสะสมความดีงามจึงทำให้คนแต่ละกลุ่มมีสิทธิไม่เท่าเทียมกัน (5)

สิ่งของที่เชื่อมโยงชนชั้นกลางเดิมเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ชุดไทย ส่วนหนึ่งความนิยมในชุดไทยของชนชั้นกลางได้รับการปลูกฝังในยุครัฐบาลทหาร และชุดไทยดังกล่าวเป็นสิ่งแสดงสถานภาพทางสังคมของผู้สวมใส่ เพราะ ชุดดังกล่าวต้องสั่งตัดจากร้าน ไม่ได้มีขายตามท้องตลาดทั่วไป เนื้อผ้าที่นำมาใช้เป็นผ้าไหมซึ่งมีราคาสูงและดูแลยากกว่าเนื้อผ้าทั่วไป ในอีกด้านชุดไทยเป็นตัวแทนของชนชั้นสูงที่กลุ่มชนชั้นกลางยอมรับและลุกขึ้นมาส่วมใส่ตามกระแสสังคม เช่น ละครบุพเพสันนิวาส(กรุงศรีอยุธยา)และงานอุ่นไอรัก( รัชกาลที่ 5 ) พวกเขาแต่งกายชุดไทยเพื่อไปถ่ายรูปกับโบราณสถานหรือพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ที่เคยได้รับรู้ผ่านบทเรียนและสื่อมวลชน

นอกจากนี้อาภรณ์แห่งชาติไม่ใช่แค่เนื้อผ้าเปลือยเปล่า แต่ชนชั้นกลางให้ความหมายกับการส่วมใส่ชุดไทยในเรื่องความเหมาะสม ที่ต่ำที่สูงและศักดิ์สิทธิ์ เห็นได้จากโลกออนไลน์โจมตีบางกลุ่มอาชีพไม่เหมาะสมในการส่วมใส่ขณะทำงาน เช่น “ ออเจ้าตู้กระจก” หรือผู้หญิงขายบริการ (4) ร่วมถึงสัตว์บางชนิดที่มีฐานะต่ำกว่าคน เช่น สุนัขชื่อว่า “น้องยาริส”  เจ้าของสุนัขกล่าวว่า “ อยากให้คนที่ด่า มองมุมที่กว้างขึ้น การนำน้องหมามาใส่ชุดไทย ไม่ได้จะจาบจ้วงล่วงเกิน ชุดที่ใส่ก็เป็นชุดชั้นธรรดา ไม่ใช่ชุดเจ้านาย ”(6)

แม้ว่าความเป็น Lolita ของวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีต้นทางบางประการที่ร่วมกับ Siam Lolita คือ วัฒนธรรมแบบวิกตอเรียน แต่ความเป็นไทยที่ถูกเชื่อว่ามีความเป็นเอกราช ไม่เป็นเมืองขึ้นของใครก็เป็นสิ่งที่อยู่ในความเข้าใจของคนทั่วไป ดังนั้น Lolita  ต้องถูกทำให้กลายเป็นไทยด้วยชื่อ Siam Lolita และหยิบเอาวัฒนธรรมการแต่งกายที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยชนชั้นนำ


ความเป็นไทยที่ต้องใจกว้างมากกว่าเดิม    

ความเป็นไทยในความเข้าใจของชนชั้นกลางเป็นสิ่งที่ “พึ่งถูกสร้าง” และไหลลื่นตามช่วงเวลา อาจเป็นสิ่งที่ตายตัวและคับแคบเกินไปสำหรับยุคสมัยนี้  ในการนิยามความเป็นไทยต้องให้สิทธิที่เท่ากันในการนำเสนอภาพของทุกกลุ่มชนในฐานะเป็นพลเมืองของชาติ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องอคติทางชาติพันธุ์ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ เช่น กลุ่มม้งมีภาพลักษณ์ที่ผูกติดกับการค้ายาเสพติด ความเป็นไทยควรเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทย เช่น ชุดไทยประยุกต์ชื่อว่า ธิดาดอย ของนางสาวไทยมิสยูนิเวิร์ส 2007 จากห้องเสื้อธีระ (T-ra) ซึ่งเป็นชุดที่นำผ้าจากกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มมาผสมผสานกันโดยเสื้อด้านในทำจากผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ปักหมุดสีดำ และคลุมด้วยเสื้อนอกทำจากผ้าไหมพร้อมกับปักหมุดสีเงิน ส่วนกระโปรงทำจากผ้าชาวเขากว่า 20 ผืน มาตัดเย็บซ้อนกัน

นอกจากนี้ความเป็นไทยควรมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนวาระสำคัญที่ไปไกลมากกว่าแค่ขอบเขตประเทศตนเองในฐานะประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลก เช่น ชุดประจำชาติสหรัฐฯ คารา แมคคัล มิสยูนิเวิร์สสหรัฐฯ ปี 2017 ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบชุดในชุดสีน้ำเงิน-แดง สีประจำชาติอเมริกัน และธีมชุดที่ทรงพลังแบบซูเปอร์วูเมน แต่กิมมิกอยู่ที่เครื่องประดับศีรษะที่ทำเป็นโครงสร้างอะตอม เธอเป็นนางงามที่มีดีกรีเป็นนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ประจำคณะกรรมาธิการด้านการออกกฎหมายควบคุมนิวเคลียร์ของรัฐ ชุดนี้จึงสะท้อนความภาคภูมิใจของสหรัฐฯ ไม่ใช่แค่ในฐานะมหาอำนาจทางการทหาร แต่รวมถึงการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยและยังสะท้อนว่านิวเคลียร์ไม่ใช่เป็นได้แค่อาวุธร้ายแรง แต่ยังสามารถเป็นสิ่งสวยงามและสร้างสรรค์ (7)

ดังนั้นที่มาของชุดอันน่ารักสดใสของสาวๆ BNK 48 แสดงออกถึงความเป็นไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 5 กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ชนชั้นกลางพยายามยึดกุมอุดมการณ์ดังกล่าวไว้ แต่ความเป็นไทยในยุคสมัยปัจจุบันเป็นสิ่งที่เปิดกว้างให้กับทุกคนเข้ามาร่วมกันนิยามซึ่งไม่ควรผูกขาดด้วยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญในสังคมไร้พรมแดนความเป็นไทยอาจมิใช่สิ่งที่ถูกจำกัดไว้แค่เพียงขอบเขตดินแดนของตนเอง หากแต่เปิดกว้างและรับเอาค่านิยมความเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลกด้วยเช่นกัน

 

 

(1)Miller, L. (2011), “Cute Masquerade and the Pimping of Japan,” International Journal of Japan, November 20: 18–29

(2) https://www.brickinfotv.com/news/costume-kimi-wa-melody-bnk48-interview

(3) วิไลวรรณ สมโสภณ. จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา.(2559).ชุดไทยพระราชนิยม และเสื้อชุดพระราชทาน.ขอนแก่น : หจก. ขอนแก่นการพิมพ์

(4) พนธกร วรภมร. (2560). “รูปที่มีทุกบ้าน”: สถาบันกษัตริย์กับวัฒนธรรมสายตาในประเทศ. สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(5) อัสมา หวังกุหลำ.(2553).บทบาททางการเมืองของชนชั้นกลางไทยในขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภายใต้ระบอบทักษิณ .วิทยานิพนธ์ (ร.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(6) https://mgronline.com/live/detail/9610000034975

(7) https://voicetv.co.th/read/rkdsF-eeM

 

 

                                                                                            

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net