Skip to main content
sharethis

อัยการแถลงได้รับสำนวนคดีกรณี คสช. ฟ้อง ธนาธร และ 2 แกนนำอนาคตใหม่ ผิด พ.ร.บ.คอมฯ ปมไลฟ์เฟซบุ๊ควิจารณ์พลังดูดของ คสช. จากพนักงานสอบสวนแล้ว เตรียมตั้งกรรมการตรวจสอบสำนวน เพราะเป็นคดีที่ประชาชนสนใจต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เผยผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาขอฝากขังตั้งแต่แรก

27 ก.พ. 2562  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 09.00 น. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไกลก้อง ไวทยการ นายทะเบียนพรรค และจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค ได้เดินทางไปที่ สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก ตามคำสั่งพนักงานสอบสวน เพื่อนำตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานยื่นต่ออัยการพิจารณาสั่งฟ้อง กรณีที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เข้าแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) จากการจัดรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” ผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ในเพจอนาคตใหม่ - The Future We Want และเพจ Thanathorn Juangroongruangkit วิจารณ์กระแสข่าวกรณีพลังดูดของ คสช. เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2561 

ธนาธร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าพบอัยการว่า ขอขอบคุณทุกคนที่มาให้กำลังใจ วันนี้ให้รอดูอัยการจะมีคำสั่งเป็นอย่างไร โดยวันนี้มีกำลังใจดี และเชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรม พวกเราทั้งสามคนไม่หนักใจ ซึ่งตนยังมั่นใจในสิทธิการแสดงความคิดเห็นวิจารณ์ผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ดีไม่เป็นห่วงเรื่องกระแสคดีต่อผลกระทบของพรรคเราในการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าประชาชนเข้าใจ ซึ่งกระแสของพรรคอนาคตใหม่ดีขึ้นทุกวัน จึงมีความพยายามเตะตัดขาด แต่ก็ไม่หนักใจ เราจะทำงานตามแผนและอุดมการณ์ของพรรคให้กับประชาชนต่อไป

หลังจากพนักงานสอบสวนได้ส่งมอบสำนวนคดีให้กับอัยการแล้ว วิเชียร ถนอมพิชัย อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้แถลงว่า ได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนแล้ว 2 สำนวน คือ 1.คดีอาญาที่ 32/2561 คดีระหว่าง คสช. โดยพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้รับมอบอำนาจ (ผู้กล่าวหา) กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ , ไกลก้อง ไวทยการ และจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ (ผู้ต้องหาที่ 1-3 ตามลำดับ) ในข้อหาร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 2.คดีอาญาที่ 33/2561 ในข้อหา ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน โดยผู้ต้องหาทั้ง 3 ได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2561  และให้การปฏิเสธทั้งสองคดี

อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ระบุว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่สื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจ จึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ หลักจากที่ได้รับสำนวนแล้ว จะมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบสำนวน ตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป และมีนัดฟังผลการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ในวันที่ 26 มี.ค. 2562

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า วันนี้อาจจะมีการฝากขังผู้ต้องหาทั้งสามคนนั้น ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอัยการ กล่าวว่า ตามแนวทางปฏิบัติของพนักงานอัยการ การจะคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในระหว่างการสอบสวน หรือระหว่างการพิจารณาในชั้นอัยการ จะต้องมีเหตุตามกฎหมาย คือ ผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี หรือมีโอกาสเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ซึ่งในคดีนี้ไม่มีพฤติการณ์ดังกล่าว และที่สำคัญที่สุดในชั้นพนักงานสอบสวนผู้ต้องหาเองได้เข้าพบพนักงานสอบสวน และได้มีการปล่อยตัวไปแล้ว วิเชียร กล่าวเสริมว่า การฝากขังในคดีนี้เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม่มีการจับกุม และผู้ต้องหาได้เข้ามอบตัวตั้งแต่แรก จึงไม่มีเหตุให้พิจารณาฝากขัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net