Skip to main content
sharethis

สนช. มีมติ 133 ต่อ 0 เสียง เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ได้บังคับใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ รวมทั้ง 161 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

28 ก.พ.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีวาระการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในชุดกฎหมายดิจิทัล ที่กระทรวงดีอีเป็นผู้เสนอ นั้น

ล่าสุด The MATTER รายงานว่า ที่ประชุม สนช. มีมติ 133-0 เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ได้บังคับใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ

(ดูภาพขนาดใหญ่ที่นี่)

สำหรับข้อกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.นี้มีเรื่องการนิยามภัยคุกคามยังไม่ยกเว้นเรื่องเชิงเนื้อหา เช่น โพสต์เฟสบุ๊ค
จะมีการตั้งองค์กร 3 หน่วย ได้แก่คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช. - NCSC) คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ขึ้นมากำกับหน่วยงานโครงสร้างสารสนเทศสำคัญทั้งในภาครัฐและเอกชน กำหนดระดับความรุนแรงของภัยคุกคามไซเบอร์ และกำหนดมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์

กฎหมายให้อำนาจหน่วยงานทั้งสามสั่งการและปฏิบัติการเฝ้าระวัง แก้ไข และป้องกันภัยไซเบอร์ได้สารพัดวิธี ตั้งแต่ขอศาลยึดหรืออายัดอุปกรณ์หรือคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงเข้าค้นอสังหาริมทรัพย์ และขอข้อมูลเรียลไทม์ได้โดยไม่ผ่านศาล 

และในกรณีเกิดภัยคุกคามไซเบอร์ระดับวิกฤตินั้น ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสภาความมั่นคงแห่งชาติ สมช. ให้รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามกฎหมายนี้ว่าด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เป็นภัยคุกคามไซเบอร์ระดับวิกฤติ คณะกรรมการอาจมอบหมายให้เลขาธิการมีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายล่วงหน้าก่อน แล้วค่อยแจ้งรายละเอียดการดำเนินการต่อศาลที่มีเขตอำนาจทราบโดยเร็ว แต่ไม่มีการกำหนดกรอบเวลา

161 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ในการประชุม สนช. วันเดียวกัน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า สนช.ได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เป็นผู้เสนอ  มีผลให้ร่าง พ.ร.บ. นี้พร้อมบังคับใช้เมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาทันที โดย สมาชิก สนช. ที่เข้าประชุมทั้งหมด 166 คน ลงมติเห็นชอบกับร่างกฎหมายนี้ 161 คน ไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย และมีสมาชิก 5 คนงดออกเสียง

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลคือ กำหนดให้การเก็บรวบรวม การใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลอย่างชัดเจน  และสามารถถอนความยินยอมได้ในภายหลัง  รวมถึงเจ้าของข้อมูลมีสิทธิขอให้ลบหรือทำลายเมื่อการเก็บ ใช้ เปิดเผย ทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเมื่อถอนความยินยอม

โดยหลังจากประกาศใช้จะมีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยประธานจะได้มาจากการสรรหาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการสรรหา

มีปลัดกระทรวงดีอีเป็นรองประธาน กรรมการโดยตำแหน่งคือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ อัยการสูงสุด  และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 9 คน

เสาวณี สุวรรณชีพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุว่า หลังจากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้จะต้องมีการออกประกาศที่เป็นกฎหมายลูกอีกราว 30 ฉบับเพื่อกำหนดระเบียบวิธีการต่างๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net